9 มี.ค. 2022 เวลา 02:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 18
#ฟินเทค (FinTech)
Photo by David Shares on Unsplash
เทคโนโลยีใหม่ๆ มาพร้อมกับคำศัพท์ใหม่ๆ เสมอๆ จนจำกันแทบจะไม่หวาดไม่ไหว คำว่า “ฟินเทค (FinTech)” ก็เป็นหนึ่งในคำศัพท์ใหม่ที่มาแรงในช่วงนี้ ฟินเทคคืออะไรกันแน่
#เทคโนโลยีไม่มีครีบ
“ฟิน” ในฟินเทคไม่เกี่ยวอะไรกับครีบ และไม่ได้ย่อมาจาก finish ที่แปลว่า เสร็จสิ้น แต่มาจาก financial ที่แปลว่า “เกี่ยวกับการเงิน”
ยกตัวอย่างฟินเทคหรือ financial technology แบบง่ายๆ คุ้นหูคนไทยก็ต้องกล่าวถึง “พร้อมเพย์” ที่โหมโฆษณากันก่อนหน้านี้โดยแทบทุกธนาคาร ก็จัดเป็นฟินเทคแบบหนึ่งนั่นเอง
โดยอาจเรียกให้จำเพาะว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับโมบายล์แบงกิง (mobile banking) หรือการทำธุรกรรมกับธนาคารผ่านทางโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
พร้อมเพย์ออกแบบให้โอนเงินและช่วยให้เรารับเงินโอนรูปแบบต่างๆ จากทางราชการได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม เพราะโยงอยู่กับเบอร์ของโทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่ ซึ่งแม้ว่าจะสะดวกดี แต่สำหรับคนทั่วไปก็ชวนให้กังวลหากทำโทรศัพท์มือถือหาย หรือทำรหัสเข้าใช้งานรั่วไหลนะครับ
ฟินเทคยังมีอีกสารพัดครับ นิยามแบบแคบๆ ของฟินเทคก็คือ
เทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้เราเข้าถึง
บริการทางการเงินได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น
เรียกว่าอะไรเข้าเค้าแบบนี้ ก็ถือว่าใช่หมด
ยังมีอีกนิยามหนึ่งที่ค่อนข้างนิยมที่ระบุว่า
ฟินเทคนั้นรวมเอาทั้ง
“กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และโมเดลธุรกิจ”
เข้าไว้หมด
ซึ่งก็แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ที่ว่าก็ควรต้องรวม “แอป(พลิเคชัน)” บนมือถือที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง
จากนิยามแบบนี้ บิตคอยน์ (Bitcoin) ที่เป็นระบบเงินดิจิทัล ก็ควรจะถือได้ว่าเป็นฟินเทคแบบหนึ่งนะครับ
Photo by Kanchanara on Unsplash
บิตคอยน์ที่ว่านี่ก็คือ ระบบการรับจ่ายเงินแบบเข้ารหัสลับที่มีประวัติที่มาประหลาดอยู่สักหน่อยคือ ไม่ปรากฏชื่อจริงผู้คิดค้นสร้างระบบขึ้นมา แต่ใช้ชื่อปลอมว่า ซาโตชิ นะกะโมะโตะ (Staoshi Nakamoto)
โดยเปิดตัวผ่านระบบอีเมลเข้ารหัสจำเพาะในวันที่ 31 ตุลาคม 2008 และอีกหนึ่งปีให้หลังก็มีการเปิดเผยรหัสคอมพิวเตอร์แบบโอเพ่นซอร์ซให้ด้วย (แปลว่าคนอื่นเอาไปเขียนต่อยอดได้ด้วย)
วิธีใช้จ่ายเงินแบบนี้เกิดขึ้นระหว่างผู้จ่ายกับผู้รับโดยตรง ไม่ผ่านคนกลางใดๆ ทั้งสิ้น
โดยการโอนเงินจะอนุมัติกันผ่านทางศูนย์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ (network node) และบันทึกผลแบบเปิดเป็นสาธารณะ และใช้หน่วยเงินเป็น “บิตคอยน์”
อาศัยการออกแบบระบบแบบนี้ จึงมีผู้ถือว่าระบบเงินดิจิทัลแบบนี้เป็นแบบ “กระจายอำนาจจากส่วนกลาง” ต่างจากระบบสกุลเงินต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมศูนย์โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ
นวัตกรรมเรื่องนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก ถ้ามีโอกาสจะกล่าวถึงอีกครั้งนะครับ
(ยังมีต่อ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา