9 มี.ค. 2022 เวลา 03:53 • สัตว์เลี้ยง
ประเทศลาวเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกับประเทศไทยพรมแดนบางช่วงก็ถูกกั้นไว้ด้วยแม่น้ำโขง
ในตลาดปลาสวยงามเมื่อมีปลาสวยงามข้ามแดนมาจากทางฝั่งลาว ปลากลุ่มนี้มักไม่ถูกรวมอยู่ในกลุ่มปลานำเข้าจากต่างประเทศ แปลกเนอะ? เวลาเข้าไปในร้านปลาแล้วเห็นปลาแปลกก็ถามเค้าว่าปลานำเข้าเหรอ ? คำตอบคือ “อ๋อปล่าวครับ อันนี้ปลาจากลาว”
อ๊าว.. ลาวก็คนละประเทศกับเรานี่หว่าแล้วมันไม่ใช่ปลานำเข้ายังไง(ฟระ) ลองนั่งคิดนั่งนึกดูหลายรอบเดาเอาเองว่า คนส่วนใหญ่คงเข้าใจว่าปลาที่ได้จากลาวก็คงจับได้จากแม่น้ำโขงนั่นแหละ ทีนี้แม่น้ำโขงด้านนึงเป็นไทยอีกด้านเป็นลาว ถ้าปลาว่ายข้ามมาฝั่งเราแล้วถูกจับ มันก็ไม่ใช่ปลานำเข้าไง มันว่ายน้ำข้ามมาเองไม่ได้นำเข้ามา !!
แม่น้ำโขงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยเหตุผลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัยบริเวณที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านทั้งหมดหกประเทศก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม รวมความยาวแม่น้ำได้เกือบห้าพันกิโลเมตร โดยความยาวประมาณครึ่งหนึ่งไหลอยู่ในประเทศจีน
วันนี้แอดมินจะเล่าถึงปลาจากประเทศลาวชนิดหนึ่ง ลองเดาซิว่ามันจากแม่น้ำไหน ?
แม่น้ำ Xe Pian (อ่านว่า เซเปียน) เป็นคำตอบสุดท้าย !!
“ถ ถ ถ ถ ถูกต้องครับ !!” แล้วตรูจะเล่าเรื่องแม่น้ำโขงมาทำไม 555 แม่น้ำเซเปียนเป็นแม่น้ำสายรองที่แยกออกมาจากแม่น้ำโขงนั่นแหละครับ อยู่ทางตอนล่างของประเทศลาวในแขวงจำปาสัก
คำว่า Xe Pian เป็นทั้งชื่อแม่น้ำ หมู่บ้าน รวมถึง “พื้นที่คุ้มครองแห่งชาติ เซเปียน” กินพื้นที่กว้างถึง 2400 ตารางกิโลเมตร มีความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สูงเป็นพิเศษ นอกเหนือจากนั้นยังเป็นชื่อของเขื่อนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย Xe Pian Xe Namnoy ออกเสียงว่า เซเปียนเซน้ำน้อย
คงเป็นเพราะแถวนั้นมีน้ำน้อย ก็เลยต้องสร้างเขื่อนเก็บน้ำไว้ใช้นี่เอง (มุขนะครับ ใครอย่าไปจำเป็นเรื่องจริง) อันที่จริงเขื่อนนี้สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาขายไทยนี่แหละ แต่เมื่อสี่ปีก่อนเกิดอุบัติเหตุเขื่อนแตกเป็นอุทกภัยใหญ่โตกระทบต่อประชาชนในประเทศลาวเหลือคณานับ สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันของคนละแวกนั้นก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่เลย แต่ก่อนจะไถลออกนอกรันเวย์ เรากลับมาที่เรื่องปลาของเราที่จะคุยกันในวันนี้ดีกว่า
เครดิตภาพประกอบ https://tropical-fish-keeping.com/.../yellow-tail-polka...
“ปลาหมูหางดอกใหญ่” เดิมทีตามบันทึกบอกว่าปลาหมูชนิดนี้เคยถูกพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในจำนวนเพียงน้อยนิด มันคงน้อยมากจริงๆ จะเรียกว่าปลาหายากของไทยก็คงได้ ยากเสียจนหลายคนเชื่อว่ามันสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว เพราะไม่มีใครพบเจ้าตัวนี้มานานแสนนาน อย่าว่าแต่ที่ไทยเลย ที่เซเปียนในลาวเองปลาชนิดนี้ก็พบได้ในปริมาณที่เรียกว่าน้อยเช่นกัน
อย่างไรก็ดีปลาชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อปลาที่พบในไทยอ้างอิงจากหนังสือของ ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์
ปลาชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มปลาหมูขนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์เป็นของตัวเองว่า Yasuhikotakia splendida ตัว Genus ตั้งไว้เป็นเกียรติต่อ ดร. ยาสุฮิโกะ ทากิ ผู้ชำนาญปลาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนสปีชีย์มาจากคำว่า splendid ที่แปลว่า แจ๋วเลย สวยงาม ไฉไล เมื่อเรานำความหมายของทั้ง Genus และ Specie มารวมกันก็จะแปลได้ว่า ดร.ยาสุฮิโกะที่สวยงาม
ไม่ใช่ !! ที่ถูกต้องคือปลาหมูที่สวยจับใจต่างหาก ชื่อเดิมของเจ้าปลาตัวนี้คือ Botia splendid แล้วค่อยมาเปลี่ยนเพื่อเป็นเกียรติต่อ ดร. ยาสุฮิโกะ ในภายหลัง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า Yasuhikotakia เป็นคำเดียวกับปลาหมูฟ้าหางแดงในบทความเมื่อวาน
กล่าวคือเป็นปลากลุ่มเดียวกันนั่นแหละ ลักษณะของปลาหมูกลุ่มนี้คือมีเงี่ยงใต้ตาขนาดใหญ่ ลำตัวแบนข้าง หลังโค้งยกสูง ลำตัวสั้นป้อม จะงอยปากสั้น หนวดสั้น และพบได้ในอาเซียนคันทรี่ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะลวดลาย จุด หรือสีที่แตกต่างกันไป และปลาหมูหางดอกใหญ่มีลักษณะดังต่อไปนี้
ลำตัวสีเทาเหลือบสีเหลืองจาง หลังโค้งยกสูง มีแถบดำตำแหน่งข้อหางขนาดใหญ่ ครีบทุกครีบมีสีเหลือง โดยตำแหน่งครีบหางจะเป็นสีเหลืองสดและมีจุดประสีดำขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วหาง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้ สอดคล้องกับชื่อสามัญที่ใช้เรียกปลาชนิดนี้ว่า Jaguar loach และ Yellow Tail Polka Dot loach
จะว่าไปเจ้าปลาตัวนี้ก็มีลักษณะคล้ายกับปลาหมูอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ง่ายในประเทศไทยนั่นคือ “ปลาหมูค้อ” หรือ “ปลาหมูคอก” โดยจุดแตกต่างสำคัญคือ ปลาหมูคอกจะมีแถบสีดำคาดตามแนวหลังเด่นชัด ครีบทั่วลำตัวจะเป็นสีเหลืองจาง จุดประที่หางมีขนาดเล็กและบาง
ในแหล่งน้ำธรรมชาติปลาหมูหางดอกใหญ่อาศัยอยู่ตามต้นน้ำของแหล่งน้ำ ในบริเวณที่น้ำไหลค่อนข้างแรงใต้ท้องน้ำเป็นหินกรวดทรายขนาดเล็ก น้ำใสมีความสะอาดสูง ว่ายอยู่ตามพื้นน้ำเป็นกลุ่มเล็กไม่เกินสิบตัว อาหารตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำพวกหนอน แมลงน้ำ ลูกปลา ซากพืช ซากสัตว์ พบในบริเวณแม่น้ำเซเปียน แขวงจำปาสัก
ปลาตัวผู้มีลักษณะเพรียวยาวสีสันจัดจ้านกว่าตัวเมีย ครีบท้องด้านล่างยาวจรดครีบก้นในขณะที่ตัวเมียครีบท้องจะสั้นกว่า ขนาดโตเต็มวัยตัวผู้ไม่เกิน 8 ซม. ส่วนตัวเมียโตได้ถึง 10 ซม.
ภาพเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย เครดิตภาพประกอบ http://hobomaps.com/XePianXeNamnoyDamsInfo.html
ตามที่กล่าวไว้ด้านว่าเป็นปลาหายากชนิดหนึ่ง มูลค่าในตลาดทั้งในและต่างประเทศคือแพงมากถ้าเทียบกับปลาหมูปลาค้อชนิดอื่นๆ ถ้าเทียบกับหมูแดงนี่คือราคาแพงกว่าสิบกว่าเท่า แพงขนาดนี้ลูกค้ายังแจ้งความจำนงว่า “ไอรับไม่อั้นเลยเทรวิส มีเท่าไหร่ส่งให้ไอได้เลยนะ”
ต้องขยายความกันหน่อยคือ ลูกค้าเค้ารู้แหละว่าหาได้ทีนึงไม่กี่สิบตัวหรอกเค้าก็เลยบอกไว้ว่ารับไม่อั้น ถ้าลองบอกเค้าว่าไอเก็บไว้ให้ยูแล้วห้าพันตัวมาเอาไปด้วยนะตามสัญญารับไม่อั้นไง เค้าคงร้องจ๊าก 555
ด้วยความที่มันหายาก แม่แต่คนไทยด้วยกันเองแอดมินก็เชื่อเหลือเกินว่าน้อยคนที่จะเคยเห็นหรือรู้จักปลาชนิดนี้ และน้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะเคยได้เห็นปลาชนิดนี้แบบเป็นๆ พอมันหายากคนก็เลยรู้จักน้อย พอคนรู้จักน้อยข้อมูลสำหรับการหามาเขียนบทความก็ยิ่งสุดแสนจะน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย งมหาอยู่ตั้งสองสามวันหามาได้นิดนึงแถมข้อมูลส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากคนไทยด้วย ทั้งที่บ้านเราเป็นคนส่งออกแท้ๆ
การเลี้ยงปลาชนิดนี้ในตู้ปลาสวยงามมีอะไรเป็นข้อควรทราบบ้างน้า... อย่างแรกก็ต้องระวังเรื่องโรคจุดขาวเหมือนปลาหมูปลาค้อทุกชนิดนั่นแหละ ปกติปลาหมูปลาค้อเป็นปลาไม่ก้าวร้าว หมูหางดอกใหญ่ก็เช่นกัน ออกจะเป็นปลาขี้กลัวนิดนึงด้วย สามารถเลี้ยงได้เป็นกลุ่มเล็ก 3-4 ตัว อาหารกินได้ทุกอย่างเม็ดจม เม็ดลอย แผ่น ผง สดแห้ง กินได้หมด
สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาตะเพียนขนาดเล็ก ปลาเรนโบว์ กระดี่แคระชนิดต่างๆ รวมถึงปลาที่ไม่ดุร้ายชนิดอื่นๆที่ไม่ได้มีขนาดเล็กจนเกินไป เพราะต้องไม่ลืมว่าปลาหมูกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก จะให้เอาไปเลี้ยงกับปลาบู่หมาจูคงไม่ได้นะ เล่นว่ายไล่จับกันแป๊บเดียวกลายเป็นเล่นซ่อนหาแน่นอน ซ่อนแล้วหาไม่เจออีกเลย
เล่ามาจนถึงตอนท้ายแล้วมีใครนึกสงสัยขึ้นมาบ้างรึยังครับว่า ในเมื่อมันใกล้หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากบ้านเรา แล้วมีหน่วยงานไหนสั่งห้ามมีไว้ในครอบครองเหมือน “หมูอารีย์” รึเปล่า ?
เท่าที่หาข้อมูลดูก็ไม่มีใครห้ามนะครับก็แปลว่ามีได้ครอบครองได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่แอดมินก็ยังสงสัยอีกว่าแล้วทำไมมันไม่ผิดล่ะในเมื่อหมูอารีย์ยังผิดเลย คือไม่ได้มีเจตนาจะทำให้คนอยากเลี้ยงหามาเลี้ยงได้ยากขึ้นนะครับ แต่แค่ไม่เข้าใจว่ากฎเกณฑ์การบังคับใช้มีมาตรฐานอย่างไร
จะอธิบายว่าปลาในไทยหมดแล้วแต่ที่ลาวยังไม่หมดก็เลยไม่เข้าเกณฑ์ ? หรือปลาชนิดนี้ไม่ได้นับเข้าเกณฑ์เป็นปลาไทยตั้งแต่ต้นเพราะมีปริมาณพบเจอน้อยจัด ? ปลาหมูอารีย์เนี่ยเค้าก็เพาะพันธุ์ได้กันมายี่สิบสามสิบปีแล้วในธรรมชาติมันก็สูญพันธุ์ไปแล้ว เมื่อไหร่จะอำนวยความสะดวกให้ฟาร์มที่เพาะพันธุ์ได้เค้าขึ้นทะเบียนได้โดยสะดวกสักที หรือไม่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มีในครอบครองเลยได้มั๊ย เพราะจะว่าไปมันก็สถานการณ์เดียวกับปลาหมูหางดอกใหญ่นี่นา หรือจะรอให้คนเพาะพันธุ์ปลาหมูหางดอกใหญ่สำเร็จก่อนค่อยประกาศว่าห้ามมีในครอบครองเพราะมันสูญพันธุ์ไปแล้วอีก ?
ลูกเพจท่านไหนมีความรู้ความเข้าใจด้านนี้ เรียนเชิญอำนวยความรู้ให้กับท่านผู้อ่านได้ที่ช่องคอมเมนต์เลยครับ
โฆษณา