9 มี.ค. 2022 เวลา 12:46 • ดนตรี เพลง
เมื่อวันวานยังหวานอยู่มิรู้ลืม : บทที่สาม
9 วงดนตรีร็อกยุค 90s ตอนปลาย (ภาค 1)
Cr. รูปภาพจาก pixabay.com
คำเตือน : บทความนี้มิใช่การจัดอันดับแต่อย่างใด หากแต่เขียนไปตามที่นึกได้ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นใครกันบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากความชอบส่วนตัว และวัดจากกระแสผู้ฟังในยุคนั้น ๆ
ในบทความที่แล้ว ผมได้มีโอกาสนำเสนอ "7 วงดนตรีร็อกยุค 90s ตอนต้น" อาจจะมีตกหล่นบ้างสำหรับศิลปินบางวง อาจตรงใจใครหลายคน หรืออาจขัดแย้งในความคิดบ้าง สำหรับวงที่ตกหล่นไป ทั้งในบทความที่แล้ว รวมถึงบทความนี้ ผมรับปากว่าจะมีภาคผนวกอีกบทความหนึ่งอย่างแน่นอน
ท่านผู้อ่านกำลังติดตามบทความของเพจ "เมื่อวันวานยังหวานอยู่มิรู้ลืม" ซึ่งเป็นบทความเกี่ยวกับความทรงจำ ความประทับใจหลาย ๆ อย่างในชีวิตช่วงยุค 80s , 90s และยุค 2000s เกี่ยวกับดนตรี ภาพยนตร์ กีฬา การ์ตูน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของเล่น ขนม ฯลฯ ในช่วงยุคสมัยดังกล่าว โดยผมเองจะทยอยเขียน ทยอยลงในทุกเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ภายใต้คอนเซ็ปท์เดียวกับชื่อเพจ ให้ได้อ่าน ได้รำลึกถึงความหลังกัน
ฝากเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนและเพจ "เมื่อวันวานยังหวานอยู่มิรู้ลืม" รบกวนคุณผู้อ่านช่วยกดแสดงความรู้สึก กดแชร์ กดติดตาม หรือคอมเมนต์ เพื่อให้ได้มีโอกาสสร้างรายได้บ้าง อันจะเป็นกำลังใจอันมีค่าที่นักเขียน นักเล่าคนหนึ่งพึงปรารถนา ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ทุกท่านครับ
สำหรับบทความนี้ ขอนำเสนอ "9 วงดนตรีร็อก ยุค 90s ตอนปลาย" ในภาค 1 นี้ จะมีวงดนตรีวงใดบ้าง ขอเชิญติดตามด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจได้ ณ บัดนี้
1. โลโซ (Loso)
Cr. รูปภาพจาก Thairath.co.th
วงดนตรีที่สร้างปรากฏการณ์และสถิติต่าง ๆ ไว้อย่างมากมาย วงดนตรีที่ในปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในตำนานของวงการเพลงไทย อยู่ในระดับขึ้นหิ้งเลี่ยมทองฝังเพชร วงดนตรีที่ในยุค 90s ไปจนถึงยุค 2000s ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงยันผู้เฒ่าผู้แก่ก็รู้จักกันดีทุกบ้านทุกครัวเรือน เคยได้ยินได้ฟังและร้องเพลงของพวกเขาได้ และจะมีนักดนตรีรุ่นหลังและแฟนเพลงพูดถึงพวกเขาไปตลอดกาล
เมื่อปี 2536 เสก (เสกสรรค์ ศุขพิมาย) กับใหญ่ (กิตติศักดิ์ โคตรคำ) ต่างก็เล่นดนตรีประจำอยู่ที่จ.นครสวรรค์ เสกเล่นอยู่กับวง "บั๊ดดี้" ที่ร้านสี่แคว ส่วนใหญ่เล่นกับวง "ไดมอนด์" ที่ร้านพาราไดซ์
ต่อมาเมื่อมือกีต้าร์ของวงไดมอนด์ได้ขอลาออกวงไป โจอั๋น นักร้องนำ(ต่อมาคืออั๋น มือกีต้าร์วงเครซี่) เสนอว่ามีมือกีตาร์คนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนเก่าสมัยที่ตนเล่นดนตรีอยู่จันทบุรี เล่นกีตาร์ดีมาก ตอนนี้เล่นอยู่ที่ร้านสี่แคว และอีก 4 -5 วัน วง "บั๊ดดี้" ก็กำลังจะแยกย้ายกันพอดี จึงอยากชวนไปดู
หลังจากได้ไปเห็นเสกเล่นแล้ว ทุกคนต่างก็ชื่นชอบฝีมือกีต้าร์ของเขามากๆ จึงได้ชักชวนมาร่วมวง ซึ่งเสกก็ตอบตกลง ซึ่งนั่นเป็นการพบกันของแรกของเสกและใหญ่
วงไดมอนด์เล่นอยู่ที่จ.นครสวรรค์ จนถึงต้นปี 2537 ก็ย้ายขึ้นไปเล่นที่ มดยิ้มผับ จ.ลำปาง แต่เล่นได้เพียงสองเดือนวงไดมอนด์ก็แยกทางกัน เสกและใหญ่จึงตั้งวงชื่อ ไคลแม็กซ์ เล่นที่ผับมดยิ้มต่อเนื่องถึงกลางปี 2537 ก่อนจะยุบวงไปเพราะรู้สึกอิ่มตัวกับการเล่นดนตรีในต่างจังหวัด
ทั้งคู่ตัดสินใจเดินทางเข้า กทม. เพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพนักดนตรีอีกขั้นหนึ่ง การเดินทางมาครั้งนั้น เสกกับใหญ่ได้ชักชวนนักดนตรีมือเบสรุ่นพี่ซึ่งชอบพอกันและเล่นดนตรีอยู่อีกผับหนึ่งลงมาด้วยชื่อ พี่รัฐ (อภิรัฐ สุขจิตร์)
การลงมาหางานที่กรุงเทพฯ สำหรับนักดนตรีต่างจังหวัดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลังใช้เวลาอยู่ 2-3 เดือน สุดท้ายต่างคนต่างต้องแยกย้ายกันไปก่อน เสกไปเล่นกับวงดนตรีชื่อ Cannon พี่รัฐย้ายไปเล่นที่จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ไปเล่นกับวงชื่อ Opera ซึ่งในเวลาต่อมาใหญ่ก็ได้ดึงเสกเข้ามาเป็นมือกีต้าร์แทนคนเก่าที่ลาออกไป
เสกนั้นเริ่มฝึกฝนการเขียนเพลงเองมาตั้งแต่สมัยที่อยู่ลำปาง เมื่องานเล่นดนตรีใน กทม.เริ่มเข้าที่เข้าทาง เสกจึงได้ทุ่มเทเวลาเขียนเพลงอย่างต่อเนื่อง จนย่างเข้ากลางปี 2538 ทั้งคู่ก็เริ่มต้นทำเดโมสำหรับวงใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น
หลังทำเดโมไปได้ 2-3 เพลง เสกจึงติดต่อชวนพี่รัฐมาร่วมวง พี่รัฐตอบตกลง และลาออกจากผับที่ปราจีนบุรีกลับเข้ากรุงเทพฯ เมื่อได้สมาชิกครบแล้ว ก็เดินหน้าทำเดโมต่อ ระหว่างนั้นก็ได้งานเล่นดนตรีไปด้วย โดยเล่นเป็นวงแบ็คอัพให้ "พี่แท่ง" ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง ในงานโชว์ตัวต่างๆ
สำหรับชื่อวง "โลโซ" นั้นเป็นไอเดียของเสก ซึ่งได้แนวคิดมาจากเนื้อหาของเพลง ที่สื่อสารด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา เข้าถึงง่าย ถ่ายทอดผ่านเสียงร้องและดนตรีที่มีเอกลักษณ์ ไม่ซับซ้อนแต่หนักแน่นมีพลัง รวมถึงภาพลักษณ์ของสมาชิกในวงที่เป็นคนเรียบง่ายติดดินไม่ใช่ไฮโซ ดังนั้นคำว่า "โลโซ" จึงลงตัวและเหมาะสมที่สุด
Cr. รูปภาพจาก komchadluek.net
ช่วงปลายปี 2538 เดโมชุดแรกของโลโซก็เสร็จเรียบร้อย วงนำเดโมไปเสนอตามค่ายเพลงต่างๆหลายค่าย สุดท้ายก็ลงตัวกับค่ายเพลงน้องใหม่ในตอนนั้นชื่อ มอร์มิวสิค สังกัด จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ บริหารงานโดยพี่ป้อม อัสนี โชติกุล
ชุดแรกของโลโซอัดเสียงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ใช้เวลาทั้งหมด 21 วัน อัลบั้มแรกก็เสร็จเรียบร้อยใช้ชื่อว่า "โลโซไซตี้"
โลโซไซตี้ วางแผงเมื่อเดือน เมษายน 2539 ในช่วงแรกยังไม่เป็นที่รู้จักและนิยมมากนัก แต่หลังผ่านไปได้สามเดือน เพลง "ไม่ต้องห่วงฉัน" ก็ได้เปลี่ยนชีวิตพวกเราไปโดยสิ้นเชิง เพลงนี้ขึ้นอันดับหนึ่งแทบทุกชาร์ตของสถานีวิทยุทั่วประเทศ และนำพาให้เพลงอื่นในอัลบั้มได้รับความนิยมตามไปด้วย
หลังจากนั้นโลโซก็ได้รับเชิญไปออกรายการทอล์กโชว์ยอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศคือ รายการทไวไลท์โชว์ ของพิธีกรชื่อดัง คุณไตรภพ ลิมประพัทธิ์ ซึ่งก็ยิ่งส่งผลให้โลโซโด่งดังขึ้นไปอีก จนยอดขายอัลบั้มทะลุไปถึง 1,000,000 ตลับ (คาสเซ็ทเทป) ตามมาด้วยการทำอัลบั้มเปลี่ยนปกเพิ่มเพลงใหม่ชื่อ "ไม่ตายหรอกเธอ" ซึ่งทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นไปได้ถึง 1,700,000 ตลับ
ปีต่อมา ( พ.ศ. 2540) โลโซก็ตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งด้วยการออกอัลบั้มพิเศษ เพลงประกอบภาพยนตร์จักรยานสีแดง ซึ่งนำแสดงโดย มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และ ทาทา ยัง มีเพลงฮิตคือ"จักรยานสีแดง" "เคยบอกว่ารักกัน" และ "แทบขาดใจ"
ถึงปี พ.ศ. 2541 โลโซก็ได้ฤกษ์ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่สองชื่อโลโซเอ็นเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งอัลบั้มนี้ก็ได้ลบอาถรรพ์ชุดสองไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีเพลงได้รับความนิยมเพลงแล้วเพลงเล่าจนเกือบครบอัลบั้ม เช่น "ซมซาน" "อะไรก็ยอม" "อยากเห็นหน้าคุณ" "เลิกแล้วต่อกัน" "แม่" "ด้วยตัวเราเอง" ฯลฯ เรียกได้ว่าเพราะทุกเพลงเลยดีกว่า ชุดนี้ทำยอดขายสูงสุดตลอดกาลของศิลปินกลุ่มสังกัด จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ โดยทำได้ 2,200,000 ตลับในขณะนั้น และโลโซก็ได้รางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยมจากงานสีสันอวอร์ดประจำปี พ.ศ. 2541 มาครองอีกด้วย
Cr. รูปภาพจาก The Standard
ในปี พ.ศ. 2542 รัฐได้ออกจากวงโลโซไปเนื่องจากเหตุผลส่วนตัว ทำให้วงโลโซต้องหยุดการทัวร์คอนเสิร์ตและพักวงไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมาทำอัลบั้มชุดที่ 3 ของวงต่อ ชื่อชุดว่า "Rock & Roll" โดยที่มีนักดนตรีในห้องบันทึกเสียงเพียงแค่ 2 คนคือ เสกและใหญ่ เพลงในอัลบั้มได้ดึงเอาความเป็นอเมริกันร็อกเข้ามาเพิ่มสีสันทางอารมณ์ดนตรีเข้าไป แต่ยังคงความเป็นร็อกไทยแบบโลโซเหมือนเดิม อัลบั้มนี้ได้ชักชวนกลาง (ณัฐพล สุนทรานู) เพื่อนนักดนตรีด้วยกันและอดีตมือเบสสมาชิกวงเฌอ เข้ามาร่วมงานกับวงโลโซในฐานะนักดนตรีแบ็คอัพชั่วคราว
มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง "ร็อคแอนด์โรล" มีเพลงช้าอย่าง "ใจสั่งมา" ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงและได้เสียงตอบรับมากที่สุดเพลงหนึ่งของโลโซ และยังมีเพลง "ท้าวสุรนารี" เพลงที่กล่าวถึงวีรกรรมอันแสนกล้าหาญของท้าวสุรนารี วีรสตรีแห่งเมืองโคราช และเป็นเพลงเดียวของโลโซที่มีการใช้คอรัสหญิงในเพลง นอกจากนี้มีเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่างเพลง "สาหัส" "เจ็บใจ" และ "คืนจันทร์" อัลบั้มชุดนี้ยังคงประสบความสำเร็จด้วยยอดขายเกินหนึ่งล้านชุด เหมือนอัลบั้มชุดก่อนหน้า ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในวงก็ตาม และทำให้โลโซมีงานทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
ปลายเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 ใช้ชื่อว่า "Losoland" เปิดตัวด้วยเพลง "เข้ามาเลย" แต่ที่ดังสนั่นและฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง ทุกตรอกซอกซอย ก็คือเพลง "มอไซค์รับจ้าง" และยังมี "หมาเห่าเครื่องบิน" "คนบ้า" และ "รอยยิ้มนักสู้" อัลบั้มนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายสักเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่เพลงนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ฐานแฟนเพลงยังคงรักและชื่นชอบไม่เสื่อมคลาย เหตุเพราะปัญหาเทปผี ซีดีเถื่อนในประเทศไทย ซึ่งระบาดอย่างรุนแรงในยุคนั้น
ทำให้อีก 6 เดือนต่อมา อัลบั้มชุดที่ 5 "ปกแดง" ได้ถูกวางแผงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 มีเพลงเด่นอย่าง "พันธ์ทิพย์" เพลงที่เสกแต่งเพื่อเสียดสี ประชดประชันห้องสรรพสินค้าชื่อดัง "พันธ์ุทิพย์" ห้างที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งจำหน่ายเทปผีซีดีเถื่อนที่มีขนาดใหญ่และเยอะที่สุดในเมืองไทย ณ เวลานั้น และยังมีเพลงดังอีกมากมายอย่าง "เคยรักฉันบ้างไหม" "ฝนตกที่หน้าต่าง" และ " 5 นาที" ซึ่งอัลบั้มนี้ก็ยังคงประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมเหมือนเช่นเคย และยังได้รัฐกลับมาเป็นสมาชิกวงเหมือนเคย หลังจากหายหน้าไป 3 ปี แทนที่กลางที่ตัดสินใจออกจากวงไป
เดือนมกราคม พ.ศ. 2545 โลโซก็ได้หยุดทัวร์คอนเสิร์ต และในปี พ.ศ. 2546 เสกได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ยุบวงโลโซ และสมาชิกในวงก็แยกย้ายกันไปแล้ว เนื่องจากถึงจุดอิ่มตัวของวง ก็อย่างที่ผมเคยเรียนไว้ว่าบนถนนสายดนตรี มักจะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงอยู่แทบจะตลอดเวลา มันเป็นไปตามวิถีของศิลปิน ไม่มีใครรู้เหตุผลที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหลังจากนั้น เสก โลโซ ก็ยังคงมีผลงานออกมาให้แฟนเพลงหายคิดถึงอยู่เรื่อย ๆ แต่สำหรับผม ภาพจำในยุค 90s ถึงรอยต่อยุค 2000s คือความคลาสสิค ความสวยงาม ความสุดยอดของ "โลโซ" อย่างแท้จริง
2. ซิลลี่ ฟูลส์ (Silly Fools)
Cr. รูปภาพจาก sanook.com
เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีที่เริ่มก่อตั้ง และเป็นที่รู้จักในช่วงปลายยุค 90s แต่มาดังเป็นพลุแตกชนิดแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เมื่อเข้าสู่ยุค 2000s ประดิษฐ์สำเนียงดนตรีที่สร้างอัตลักษณ์เป็นของตัวเองขึ้นมาอย่างชัดเจน ด้วยการผสมผสานดนตรี ระหว่าง ออลเทอร์นาทิฟเมทัล โพสต์กรันจ์ นูเมทัล และฮาร์ดร็อกเข้าด้วยกัน บวกด้วยพลังเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวนักร้องนำ เนื้อร้องที่เป็นสำนวนเฉพาะของวง ฝีไม้ลายมือของดนตรีทุกตำแหน่ง ทำให้พวกเขาผลักดันตัวเองขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการเพลงไทย จนในปัจจุบัน ถูกยกย่องให้เป็นตำนานอีกวงหนึ่ง
ซิลลี่ ฟูลส์ (Silly Fools) เดิมวงมีชื่อว่า "ซิลลี่ ฟูลลิช (Silly Foolish)" โดยมีต้น (จักรินทร์ จูประเสริฐ) กีตาร์ และเต้ย (กอบภพ ใบแย้ม) กลอง เป็นผู้ก่อตั้งวง แล้วรวมตัวกับโต (ณัฐพล พุทธภาวนา) ร้องนำ และหรั่ง (เทวฤทธิ์ ศรีสุข) เบส ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ต่อมาได้นำเดโมไปเสนอกับค่ายเบเกอรี่มิวสิค ซึ่งทางค่ายดังกล่าวให้ทำแค่อัลบั้มอีพีและร่วมโครงการ Bakery Sampler กับอีกสองวง ได้แก่วง "วิเศษนิยม" กับวง "สโตนโซล" ซึ่งเป็นอัลบั้มทดลองขาย ซึ่งถ้าอัลบั้มดังกล่าวขายได้ถึง 20,000 ชุด วงจะได้เซ็นกับทางค่าย แต่ทว่ายอดขายอัลบั้มกลับไม่เข้าเป้าที่วางไว้ ทำให้วงซิลลี่ ฟูลลิช ไม่ได้ร่วมงานกับค่ายเบเกอรี่มิวสิค ต่อมาต้นได้เปลี่ยนชื่อวงจาก ซิลลี่ ฟูลลิช เป็น ซิลลี่ ฟูลส์ เนื่องจากเหตุผลที่ว่าชื่อเก่ายาวเกินไป
หลังจากอีพีชุดแรกของซิลลี่ ฟูลส์ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ไม่มีงานจ้าง สมาชิกวงต้องหยุดทำวงเป็นเวลา 1 ปี และแยกย้ายประกอบอาชีพอิสระแทนในช่วงนั้น
ในปี พ.ศ. 2541 พี่ป้อม - อัสนี โชติกุล ได้เปิดค่าย "มอร์ มิวสิค" ในสังกัดแกรมมี่ ข่าวการเปิดค่ายใหม่ ทำให้วงซิลลี่ ฟูลส์ มองเห็นโอกาสในการกลับมาสู่วงการเพลงอีกครั้ง จึงได้ลองนำเดโมไปนำเสนอ ปรากฏว่าเดโมที่ส่งไปผ่านการพิจารณา ซิลลี่ ฟูลส์ จึงได้เซ็นสัญญากับค่ายมอร์ มิวสิค และได้ออกอัลบั้มเต็มเป็นอัลบั้มแรก ชื่อว่า ไอ.คิว. 180 (I.Q. 180) ซึ่งมีเพลงดังในอัลบั้มนี้อย่าง "สู้ไม่ได้" และ "เมื่อรักฉันเกิด" โดยมียอดขายของชุดนี้จำนวน 40,000 ชุด ซึ่งถือว่าน้อยมากในยุคนั้น แต่กระแสตอบรับก็ดีขึ้นกว่าอัลบั้มอีพีพอสมควร
Cr. รูปภาพจาก panthip.com
ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการเปลี่ยนสมาชิกในตำแหน่งมือกลองภายในวงเกิดขึ้น โดยที่ 2 ชุดแรก ตำแหน่งกลองคือ เต้ย (กอบภพ ใบแย้ม) ได้เปลี่ยนมาเป็น ต่อ (ต่อตระกูล ใบเงิน) ก่อนจะออกอัลบั้มชุด แคนดี้แมน (Candy Man) ซึ่งอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ทำให้ ซิลลี่ ฟูลส์ เป็นที่รู้จักทั้งประเทศ มียอดขายถล่มทลาย และได้กลายเป็นวงร็อกระดับหัวแถวของประเทศทันที เพลงดังของวงในอัลบั้มนี้ คือ "อย่าบอกว่ารัก" "ฝัน" "นางฟ้า" "ไหนว่าจะไม่หลอกกัน" "เพียงรัก" และ "Hey"
ในปี พ.ศ. 2543 ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ออกอัลบั้ม มินต์ (Mint) ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ ซิลลี่ ฟูลส์ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากตั้งแต่ยังไม่ได้วางแผง จึงทำให้อัลบั้มชุดนี้มียอดจำหน่ายตลับเทปได้เกิน 1,000,000 ตลับ ซึ่งมีเพลงดังจากอัลบั้มชุดนี้ เช่น "จิ๊จ๊ะ" "ฟังดูง่ายง่าย" "คิดถึง" "150 c.c." "ไม่" และ "เพลงนี้เกี่ยวกับความรัก"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ออกอัลบั้ม จูซซี่ (Juicy) อัลบั้มนี้เพิ่มความหนักแน่นของเนื้อเพลงและดนตรีมากขึ้นกว่าชุดก่อน แต่ไม่หนักมากเหมือนอัลบั้มแรก ๆ (E.P. ถึง I.Q. 180) เป็นอัลบั้มที่ดนตรีนั้นตกผลึกและลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบ ในอัลบั้มนี้มีเพลงดัง อย่าง "บ้าบอ" "ผิดที่ไว้ใจ" "แกล้ง" "น้ำนิ่งไหลลึก" "ขี้หึง" "หน้าไม่อาย" และ "วัดใจ"
ซิลลี่ ฟูลส์ ได้เว้นการออกอัลบั้มไปราว 2 ปี ก่อนที่จะมีออกอัลบั้ม คิงไซส์ (King Size) ออกมาในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเพลงดังในอัลบั้มนี้ก็ได้แก่ "แล้วแต่แป๊ะ" "หนึ่งเดียวของฉัน" "คนที่ฆ่าฉัน" "ไม่หวั่นแม้วันมามาก" และ "น้ำลาย" แต่กระแสของความสำเร็จ เมื่อเปรียบเทียบกับสามอัลบั้มก่อนหน้านั้น ถือว่าอยู่ในระดับแค่ประคองตัว ไม่ถึงกับเปรี้ยงปร้างอะไรมาก
ในปี พ.ศ. 2549 โต นักร้องนำ ได้ออกมาแถลงข่าวเรื่องการลาออกจากวง ซิลลี่ ฟูลส์ เนื่องจากการทำงานของตนที่ขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม และความเห็นที่ไม่ตรงกันในบางเรื่องกับ ต้น, หรั่งและต่อ จึงออกจากวงไป ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการเพลงไทยในขณะนั้น และโตได้ไปตั้งวงดนตรีใหม่ใช้ชื่อว่า แฮงแมน (Hangman) ในเวลาต่อมา ซึ่งความสำเร็จก็อยู่เพียงแค่ในระดับที่น่าพอใจเท่านั้น
ส่วนต้น หรั่ง และต่อ ก็เลือกที่จะก้าวเดินต่อไปอีกเส้นทางหนึ่งภายใต้ชื่อวง "ซิลลี่ ฟูลส์" เหมือนเดิม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในวงนั้น กลายเป็นมหากาพย์ให้แฟนเพลงทั้งรุ่นเก่าและรุ่นหลังพูดถึง วิเคราะห์ วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียเบ่งบานอย่างนี้ แฟนเพลงบางกลุ่ม เลือกที่จะสนใจในประเด็นขัดแย้ง รอยร้าวของวง มากกว่าในเรื่องของดนตรี ซึ่งตรงนี้ผมไม่ขอกล่าวถึง
แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ภาพจำของซิลลี่ ฟูลส์ ในสายตาแฟนเพลงเดนตาย หรือแฟนเพลงทั่วไป ก็ยังคงยึดติดอยู่กับซิลลี่ ฟูลส์ ที่มีโตเป็นนักร้องนำ ดังนั้น ผมจึงขอเล่าแต่เพียงเรื่องราวของวงในยุคแรกเริ่ม จนถึงยุคเฟื่องฟู และลงท้ายด้วยการประกาศแยกวง ทิ้งไว้เพียงความสุข ความทรงจำดี ๆ ในวันเก่า ๆ นึกถึงภาพการแสดงสดที่โคตรมันส์ โยกกันลืมเหนื่อย โดยมีโตเป็นฟร้อนต์แมน
3. บิ๊กแอส (Big Ass)
Cr. รูปภาพจาก oknation.nationtv.tv
เริ่มจากการ ที่อภิชาติ พรมรักษา (หมู) และพูนศักดิ์ จตุระบุล (อ๊อฟ) เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยอยู่มัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 และได้ร่วมกันตั้งวงขึ้นมาแต่ไม่ได้จริงจังนัก จนกระทั่งเรียนจบมัธยมก็ได้แยกย้ายกันไป จากนั้นอ๊อฟก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างดุสิตจึงชักชวนเอกรัตน์ วงศ์ฉลาด (เอก ชื่อในวงการเพลง แด๊กซ์) ซึ่งเรียนอยู่ที่เดียวกันมาร่วมวงด้วย ขณะนั้นหมูที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ก็ชักชวนเอกรัตน์ รัตนปิณฑะ (ต้น) เพื่อนร่วมวิทยาลัยมาด้วยอีกคน แต่ทั้งสี่ยังขาด มือกลอง หมูจึงชวนขจรเดช พรมรักษา (แหลม ชื่อในวงการชื่อ กบ) น้องชายมาเสริมทีมมือกลอง และกลายมาเป็นบิ๊กแอส (Big Ass Bad Face)
ที่มาของชื่อ Big Ass Bad Face นั้นมีที่มาจากรูปร่างของ เอกรัตน์ วงศ์ฉลาด หรือ แด็กซ์ (อดีตนักร้องนำ) นั่นเอง
ในปี พ.ศ. 2540, บิ๊กแอสได้ออกอัลบั้มชุดแรก "Not Bad" ในปีพ.ศ. 2540 โดยมีเพลงดังอย่าง "ทางผ่าน" และ "ป่านนี้
ปีพ.ศ. 2543 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 "XL" มีเพลงดังอย่าง "ก่อนตาย" "ศักดิ์เอ๋ย" "รักเขาให้เท่าฉัน" และ "เธอเก็บฉันไว้ทำไม"
3 ปีต่อมา ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 "My World" มีเพลงดังอย่าง "ไม่ค่อยเต็ม" "เหตุผลง่าย ๆ" และ "ทิ้งไว้ในใจ"
ปี พ.ศ. 2547 บิ้กแอสได้ย้ายมาอยู่ค่ายจีนี่เรคคอร์ด และออกอัลบั้มชุดที่ 4 "Seven" มีเพลงดังอย่าง "ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก" "ดีแต่ปาก" "เกิดมาแค่รักกัน" "น้ำตา" "คนไม่เอาถ่าน" แต่เพลงที่ทำให้บิ้กแอสโด่งดังอย่างมากในอัลบั้มชุดนี้คือเพลง "เล่นของสูง" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพลงสัญลักษณ์ประจำวงบิ้กแอส และเป็นเพลงที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น
ปลายปี พ.ศ. 2548 BIG ASS มีผลงานเพลงพิเศษ ในอัลบั้ม "วันฟ้าใหม่" โปรเจกต์พิเศษต้อนรับปีใหม่ โดยได้ร่วมงานกับวงร็อครุ่นน้องอย่าง "บอดี้แสลม" ในเพลง "เรา"
ปี พ.ศ. 2549 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 "Begin" มีเพลงดังอย่าง "ข้าน้อยสมควรตาย" "ปลุกใจเสือป่า" "คนหลงทาง" และ "พรหมลิขิต"
ปี พ.ศ. 2551 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 6 "Love" มีเพลงดังอย่าง "รัก" "ฝุ่น" "หัวใจ" "ชีวิตฉันไม่ได้เป็นของเธอ" "ส่งท้ายคนเก่า ต้อนรับคนใหม่" และ "อย่างน้อย"
ปี พ.ศ. 2554 ได้ออกซิงเกิลฮิตอย่าง "ทุ้มอยู่ในใจ" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ "Suck Seed ห่วยขั้นเทพ" ซึ่งขับร้องโดย อ๊อฟ บิ้กแอส โดยต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงด้วยเช่นกัน
แต่ต่อมามีข่าวว่า แด๊ก อดีตนักร้องนำให้สัมภาษณ์ว่าถูกสมาชิกในวงบีบออกจากวง สิ้นสุดวงดัง และได้เจ๋ง เดชา โคนาโล มาทำหน้าที่ร้องนำแทน
Cr. รูปภาพจาก bangkokbiznews.com
ปี พ.ศ. 2556 ได้ออกอัลบั้ม EP. "แดนเนรมิต" โดยมีเพลง "แดนเนรมิต" "เท่าที่มี" "ลมเปลี่ยนทิศ" "ดนตรี...เพื่อชีวิต" และ "ทนไม่ไหว" อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มชุดแรกภายใต้เสียงร้องของเจ๋ง แต่อัลบั้มชุดนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยที่มีเพียงแค่ 5 เพลงเท่านั้น
ปี พ.ศ. 2557 พวกเขาได้มีโอกาสร้องเพลงประกอบซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ้น ซีซั่น 2 อย่างเพลง "อาบน้ำร้อน" โดยซีรีส์เรื่องนี้เป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่วัยรุ่น และเพลงนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นเช่นกัน
ปี พ.ศ. 2558 พวกเขาได้เริ่มออกอัลบั้มชุดที่ 7 "The Lion" โดยปล่อยซิงเกิลโปรโมทมาก่อน 3 เพลง คือ "เพลงรักของคนแพ้" "รักเหอะ" และ "ไม่เดียงสา" ตามลำดับ
ปี พ.ศ. 2560 พวกเขาได้ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 7 "The Lion" มีทั้งหมด 11 เพลง
พวกเขายังคงเดินอยู่บนเส้นทางดนตรีที่พวกเขารัก โดยไม่มีทีท่าว่าหมดไฟหรืออิ่มตัวแต่ประการใด แต่ในยุคปลาย 90s คาบเกี่ยวจนถึงยุค 2000 s นั้น พวกเขาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นวงดนตรีที่อยู่แถวหน้าของประเทศ เป็นที่จดจำและพูดถึงของวัยรุ่นในยุคนั้นที่เล่าต่อ ๆ กันมาจนถึงในยุคปัจจุบัน
สำหรับบทความนี้ เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนอัดให้หมดทั้ง 9 วง แต่เนื้อหาที่แน่นชนิดที่จะลดทอน ตัดตรงไหนออกไปไม่ได้เลย และระยะเวลาในการอ่านคงจะยืดยาวจนชวนน่าเบื่อเป็นแน่ ผมจึงตัดสินใจแบ่งออกเป็น 2 ภาค เพื่อให้การอ่านบทความนั้นได้ข้อมูลเน้น ๆ โดยที่ไม่ยืดเยื้อน่าเบื่อจนเกินไป จากชวนน่าสนใจ ก็อาจจะกลายเป็นว่ามานั่งอ่านข้อมูลทางวิชาการไปเสียฉิบ เปรียบเสมือนอาหารที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณค่า และรสชาติ คงหมดอร่อยแน่ ถ้าเสิร์ฟหลาย ๆ จานมากเกินไป ติดตามภาคต่อไปได้ใหม่ ในบทความหน้า สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย (wikipedia)
ผิดครั้งแรกเป็นครู แต่ถ้าผิดครั้งที่สองน่ะเป็นควาย
I write as I think
โฆษณา