Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 มี.ค. 2022 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เทรนด์ตลาดแรงงานกับทางเลือกสู่ “อาชีพอิสระ” ใน Gig Economy
โควิด 19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างตลาดแรงงานไทย ภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งการผลิตและการทำงานหลายรูปแบบทั้งทำงานที่ออฟฟิศ (Onsite) และทำที่บ้าน (WFH) โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบต้องหาทางรอดเปลี่ยนอาชีพ บทความนี้[1] นำเสนอผลสำรวจว่าแรงงานยุคโควิด-19 สนใจเส้นทางอาชีพอะไร และการพัฒนาทักษะแรงงานให้ไปถึงเป้าหมายควรมีรูปแบบอย่างไร
3
●
แรงงานยุคโควิด 19 กับทางเลือกสู่เทรนด์ “อาชีพอิสระ” ใน Gig economy
1
ก่อนวิกฤตโควิด 19 เทรนด์การทำงานแบบฟรีแลนซ์ (Freelance) ในยุค Gig economy ที่ทำงานไม่ประจำ ทำงานหลายจ๊อบ มีอิสระ ในสหรัฐฯ เริ่มนิยมมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อตั้ง Freelancers Union ในปี 1995[2]
2
ส่วนใหญ่ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม (Platform economy) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ธุรกิจจับคู่ระหว่างผู้เสนอขายกับผู้เสนอซื้อในสินค้าและบริการ ผ่านกลไกช่องทางแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ โดยในปี 2015 สหรัฐฯ มีแรงงานฟรีแลนซ์อยู่ประมาณ 53 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมด
การประกอบอาชีพอิสระนับเป็นทางเลือกทางรอดหนึ่งของแรงงานยุคโควิด 19 สะท้อนจากผลสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรล่าสุด Q4-2021[3] ระบุว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้โครงสร้างการจ้างงานของไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ธุรกิจลดการจ้างแรงงานลง
3
และผลักดันให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ผู้ผลิตเร่งการใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่แรงงานคน[4] เพื่อให้กระบวนการผลิตไม่หยุดชะงักในช่วงของมาตรการ Social distancing
นอกจากนี้ เรายังเห็นเทรนด์ที่แรงงานจบใหม่มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ผู้เขียนสังเคราะห์ข้อมูลระดับลึกจากผลสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (Reskill/Upskill/Newskill) [5] ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจำนวน 1,425 คน พบว่าจากผู้ตอบข้อนี้ 1,381 คน เกือบ 60% ต้องการประกอบอาชีพอิสระ
5
โดย 4 อันดับแรกของอาชีพที่สนใจ คือ เกษตรกร Smart farmer 26% รองลงมาคือ ร้านขายอาหาร/ขายกาแฟ 24% ขายของออนไลน์ 19% และขับรถส่งของเดลิเวอรี 10% (รูป F.1)
ในมิติด้านการศึกษา พบว่าแรงงานที่จบปริญญาตรีสนใจประกอบอาชีพอิสระเป็นผู้ประกอบการรายย่อยขายของออนไลน์มากสุด น่าจะมาจากมีทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัล และใช้ทุนตั้งต้นไม่มากนัก ส่วนแรงงานที่จบมัธยมศึกษา/ปวช. สนใจเป็นเกษตรกร Smart Farmer มากกว่า ขณะที่ทั้งสองกลุ่มสนใจเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเปิดร้านขายอาหารและขายกาแฟในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน
1
●
ติดอาวุธทางปัญญา: Reskill/Upskill และความสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่
งานศึกษาในอดีต[6] พบว่าแรงงานตอนต้น (อายุ 15-29 ปี) ได้รับผลกระทบการถูกเลิกจ้าง/ ลดชั่วโมงทำงานจากวิกฤตโควิด-19 มากกว่าแรงงานผู้ใหญ่ (อายุ 30 ปีขึ้นไป) เนื่องจากมีสัดส่วนแรงงานในกลุ่มนี้ทำงานในธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหารและธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมากกว่า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วโลก
3
สอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานฯ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบกลุ่มใหญ่สุดคือ แรงงานอายุ 26-35 ปี (39%) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 36-45 ปี (26%)
สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการพัฒนาทักษะฝีมือแก่แรงงานกลุ่มนี้ไม่ว่าจะทำอาชีพเดิม หรือเลือกอาชีพใหม่เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการหารายได้ในระยะยาว
ผลสำรวจฯ (รูป F2) พบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 935 คน มีความต้องการรับการฝึกอบรมและการสนับสนุนเพิ่มเติม และอีก 50% ไม่ต้องการฝึกทักษะ ที่น่าสนใจคือ ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของ WEF กรณีของไทยที่จัดทำในปี 2018[7] (รูป F3) โดยระบุเพิ่มเติมว่า 30% ของคนทำงานทั้งหมดต้องพัฒนาทักษะ 1-6 เดือน และ 20% ต้องพัฒนาทักษะ 6 เดือนขึ้นไป
3
ทั้งนี้ ในกลุ่มแรงงานที่ต้องการฝึกอบรมพบว่า 60% ต้องการพัฒนาทักษะในงานเดิมเมื่อสถานประกอบการกลับมาเปิดดำเนินการ และ 40% เพื่อหางานใหม่ สะท้อนถึงดีมานด์การฝึกอบรมของลูกจ้างอย่างขนานใหญ่ในระยะข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ New skill sets .ในการทำงานรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นขึ้น รวมถึงการทำงานทางไกลด้วย
ทักษะสำคัญที่แรงงานต้องการเพิ่มเติม คือ (1) ด้านการบริหาร/ธุรกิจ/การตลาด (2) ทักษะการพัฒนาตนเอง (3) ภาษา (4) การขายสินค้าออนไลน์ และ (5) คอมพิวเตอร์และโปรแกรม ตามลำดับ
ขณะที่ด้านนายจ้างต้องการให้แรงงานพัฒนาทักษะระดับงานในหน้าที่ทั้ง Hard skill และ Soft skill (แก้ปัญหาเชิงซับซ้อนและการสื่อสาร) ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ภาษา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม การทำงานได้รอบด้าน และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
●
การยกระดับทักษะของฟรีแลนซ์ และสร้าง Fair Work Ecosystem
1
ปัจจุบันภาครัฐกับภาคเอกชน[8] ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเตรียมพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้จัดตั้ง 3 สถาบันที่ได้ดำเนินการแล้ว ด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและหุ่นยนต์ คือ สถาบัน AHRDA และ สถาบัน MARA และ ด้านทักษะดิจิทัล คือสถาบัน DISDA และอีก 2 สถาบันด้านการเกษตร Smart Farmer ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ด้านการเกษตรให้มีต้นทุนถูกลง
ในระยะข้างหน้า ยังมีความท้าทายด้านการพัฒนาทักษะอาชีพอิสระ 2 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่มทำงานฟรีแลนซ์ ที่มีแนวโน้มเติบโตครอบคลุมทั่วโลกไม่เฉพาะในอียูและสหรัฐฯ ในไทยงานฟรีแลนซ์ที่ใช้ทักษะระดับกลางและสูงรวมถึงทักษะดิจิทัลยังขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้อยู่มาก แตกต่างจากในต่างประเทศที่แรงงานฟรีแลนซ์กระจายในหลากหลายอาชีพและมีรายได้สูงกว่าของไทย เช่น ด้าน Web & Graphic Design มีสัดส่วน30% ด้าน Programming (19%) และ ด้าน IT (10%) (ข้อมูลรายงาน 2020 Freelancer Income Report)[9] (รูป F4)
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายของการสร้างระบบนิเวศน์การทำงานที่เป็นธรรม (Fair work ecosystem)[10] 5 ด้านหลักให้เกิดขึ้นด้วย คือ ค่าจ้าง สภาพการทำงาน (การป้องกันจากโรคระบาด) สภาพการทำงาน (กรณีเจ็บป่วย) สัญญาการว่าจ้าง และการบริหารจัดการ (Fair management)
2) กลุ่มผู้ประกอบรายย่อยทั้งด้านเกษตรและธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะความรู้ด้านบริหารธุรกิจ และการตลาดผ่านระบบออนไลน์ และการขาดเงินทุนเริ่มต้นและการลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยี เป็นต้น
เทรนด์อาชีพและความต้องการพัฒนาทักษะแรงงานย่อมปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน โดยได้สร้างความท้าทายต่อการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน หรือจะเป็นผู้ประกอบการ ย่อมส่งผลต่อการออกแบบระบบการศึกษาให้สอดคล้องกัน และสิ่งสำคัญคือ “การมีทักษะการเรียนรู้ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในชีวิตในยุคนี้”
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน :
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
ช่องทางติดตามอื่นๆ
Facebook:
https://www.facebook.com/bankofthailandofficial
Twitter:
https://twitter.com/bankofthailand
YouTube:
https://www.youtube.com/bankofthailandofficial
Instagram:
https://www.instagram.com/bankofthailand.official/
Line: @bankofthailand
อ้างอิง:
[1] เสาวณี จันทะพงษ์ (2022), "บทบาทและความท้าทายของสภาที่ปรึกษาพัฒนาแรงงานแห่งชาติต่อการพัฒนาทักษะแรงงานไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก", การสัมมนาไตรภาคีทางวิชาการเรื่อง "45 ปี สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาแรงงานของประเทศไทย" ศุกร์ที่ 11 ก.พ. 2565 ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ กระทรวงแรงงาน และ Zoom Cloud Meeting
[2] Sara Horowitz (2015), "Freelancers in the U.S. workforce," Monthly Labor Review, U.S. Bureau of Labor Statistics, October
[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2022), สรุปผลที่สำคัญสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2564
[4] สุชาติ พรชัยวิเศษกุล (2021), อธิบดีกรมการจัดหางาน รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงแรงงาน, บทความแนวโน้มตลาดแรงงานหลังประชาชนได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว, 24 พ.ค. 53ece25ca77fe3f407faaebe7c87db66.pdf (
doe.go.th
)
[5] แบบสอบถามและรายงานโครงการศึกษาวิเคราะห์เรื่อง “การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อยกระดับการทำงานและพัฒนาสู่อาชีพใหม่ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (ทุกกรณี) ปี 2564 จัดทำโดยสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
[6] เสาวณี จันทะพงษ์ (2021), ผลกระทบจากวิกฤต COVID ต่อกลุ่มแรงงานตอนต้น, รายงาน "แรงงานไทยในยุค COVID-19 รวมมุมมองต่อสถานการณ์แรงงานไทยในยุคโควิด 19" , CU-ColLaR, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (2564)
[7] World Economic Forum (2018), The Future of Jobs Report 2018, Insight Report, Centre for the New Economy and Society
[8] รายงานการประชุมสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ (2020), รายงานการประชุมคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 วันที่ 18 ธ.ค. (เอกสารโรเนียว) และ AHRDA (Automotive Human Resource Development Academy) และ MARA (Manufacturing Automation and Robotics Academy) (3) DISDA (Digital Skill Development Academy)
[9] Payoneer, 2020 Freelancer Income Report
[10] Fairwork (2020), The Gig Economy and Covid-19: Fairwork Report on Platform Policies, The Fairwork Project, Oxford Internet Institute, April
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตลาดแรงงาน
อาชีพ
77 บันทึก
26
114
77
26
114
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย