10 มี.ค. 2022 เวลา 07:32 • ธุรกิจ
แบรนด์หรู หนีพิษต้นทุนพุ่ง พาเหรดขึ้นราคาสินค้ายกร้าน
ภาพจาก AFP
ผลพวงจากวัตถุดิบและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าแบรนด์เนมหรูหลาย ๆ แบรนด์ในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น หลุยส์ วิตตอง, กุชชี่, แอร์เมส, บุลการี ฯลฯ ทยอยประกาศปรับขึ้นราคาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
1
กระทั่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลุยส์ วิตตอง ได้ประกาศขึ้นราคาชุดเดรส รองเท้า และกระเป๋าถือ
1
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของอีกหลาย ๆ แบรนด์ที่ทยอยประกาศปรับราคาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่บริษัทด้านวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ประเมินว่า ราคาสินค้าแบรนด์หรูจะเพิ่มขึ้น 6-7%
1
นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทแบรนด์หรูหลายรายได้เริ่มเข้าซื้อกิจการซัพพลายเออร์ เพื่อให้เข้าถึงวัสดุได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง
ล่าสุด สินค้าแบรนด์เนมสุดหรูในเมืองไทยก็ได้ทยอยปรับราคา เพื่อให้สอดรับกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามบริษัทแม่ และการปรับราคาสินค้าแบรนด์เนมครั้งนี้ยังลามไปถึง “แบรนด์เนมมือสอง” ด้วย และคาดว่าการปรับขึ้นราคาของสินค้าแบรนด์เนมดังกล่าวจะมีรูปธรรมให้เห็นเป็นระยะ ๆ ตลอดปีนี้
ปรับราคาหนีพิษต้นทุนพุ่ง
นางสาวโศภนา เลวิจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริษัทแปซิฟิกา ผู้ดูแลธุรกิจแบรนด์ชั้นนำในกลุ่มแฟชั่น บิวตี้ และไลฟ์สไตล์ในเครือกว่า 17 แบรนด์ อาทิ American Eagle, Birkenstock, Camper, Coach, Coccinelle, Furla, GEOX, IKON, Jurlique, Keds กล่าวว่า จากสถานการณ์ด้านต้นทุนที่สูงขึ้นในปัจจุบันทำให้สินค้าแฟชั่นในตลาดโลก รวมถึงในไทยเริ่มปรับราคาขึ้น
ในส่วนแบรนด์ในกลุ่มบริษัทแปซิฟิกาจะปรับขึ้นราคาขายตามบริษัทผู้ผลิตของแต่ละแบรนด์ที่ขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ทั้งในส่วนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าขนส่งต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่าง ๆ ในประเทศก็สูงขึ้น เช่น อุปกรณ์และมาตรการต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าจากโควิด-19 เป็นต้น ประกอบกับสินค้า luxury มีความต้องการจากลูกค้ามากขึ้น
2
ปัจจุบันแบรนด์ในกลุ่มบริษัทแปซิฟิกามี 2 แบรนด์ที่ได้ขึ้นราคาไปแล้ว ได้แก่ Birkenstock โดยปรับราคาขึ้นไปแล้ว 2 รอบ รวมประมาณ 20% ครั้งแรกเดือนตุลาคม 2564 และครั้งที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด มีเพียงลูกค้าจำนวนหนึ่งที่สอบถามเข้ามา
1
ส่วนอีกแบรนด์หนึ่ง คือ TAG Heuer ที่กำลังจะปรับราคาใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป โดยจะปรับขึ้นประมาณ 5% ทั่วโลก ซึ่งคิดว่าไม่น่ามีผลกระทบใด ๆ
ราคาใหม่ ไม่กระทบตลาด
นายโอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ รองประธานกรรมการ บริษัท พีพี กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นลักเซอรี่ อาทิ Givenchy, Loewe, Longchamp, Maison Kitsune, MCM, Off-White, Palm Angels, Roger Vivier และ Tory Burch เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา สินค้าของพีพี กรุ๊ป บางแบรนด์ได้ปรับราคาตามต้นทุนและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 5-10% ใน 2-3 แบรนด์ ได้แก่ Loewe, Longchamp, Tory Burch มีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
1
จากสาเหตุต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น เชื่อว่าปีนี้สินค้าแบรนด์เนมจะขึ้นทั้งหมด ซึ่งแบรนด์เนมปกติราคาบริษัทแม่กับราคาแต่ละประเทศ เวลาปรับขึ้นราคาจากฝั่งยุโรปกับประเทศไทยจะแตกต่างกันราว 20-35%
หลังการปรับขึ้นอาจจะมีผลต่อตลาดในช่วงสั้น ๆ ที่ทำให้ลูกค้าตกใจเล็กน้อย อาจจะมีการตัดสินใจมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเป็นการขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ลูกค้าก็จะเข้าใจ
1
สังเกตได้จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก แต่ตลาดลักเซอรี่ก็ยังเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในส่วนของประเทศไทยที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้
ตอนแรกคิดว่าอาจจะมีการปรับแผนใหญ่เพื่อรับมือกับโควิด-19 และการปรับขึ้นราคา แต่จากสัญญาณบวกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาทำให้มองว่าตลาดลักเซอรี่ของเมืองไทยยังเติบโตได้ดี แม้จะมีการปรับขึ้นราคา
นายโอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ รองประธานกรรมการ บริษัท พีพี กรุ๊ป
2
เทียบราคาใหม่ “หลุยส์-ชาแนล”
ภาพจาก AFP
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาจากการสำรวจราคาในประเทศไทยของแบรนด์ดัง อาทิ แบรนด์ Chanel และ หลุยส์ วิตตอง ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซอย่างเป็นทางการของแต่ละแบรนด์ พบว่ามีการปรับขึ้นราคาแล้ว
1
โดยในส่วนของ หลุยส์ วิตตอง (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2565) มีการปรับขึ้นราคา ตั้งแต่ 2,600-11,000 บาท อาทิ Louis Vuitton Mini Pochette Accessoires จากเดิม 17,700 บาท เป็น 24,300 บาท หรือปรับขึ้นประมาณ 6,600 บาท, Louis Vuitton Pochette Accessoires เดิม 34,100 บาท ปรับเป็น 42,000 บาท หรือปรับขึ้น 7,900 บาท, Louis Vuitton Mini Dauphine เดิมราคา 106,000 บาท ปรับเป็น 111,000 บาท หรือปรับขึ้น 5,000 บาท, Louis Vuitton Nice Nano เดิม 26,200 บาท ปัจจุบัน 28,800 บาท หรือปรับขึ้น 2,600 บาท Louis Vuitton Speedy 25 เดิมราคา 44,200 บาท ขยับมาเป็น 48,700 บาท ปรับขึ้น 4,500 บาท, Louis Vuitton Neverfull MM ราคาเดิม 55,500 บาท ปรับเป็น 66,500 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 11,000 บาท เป็นต้น
1
ขณะที่แบรนด์ Chanel (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2565) มีการปรับขึ้นราคาตั้งแต่ 44,500-47,000 บาท อาทิ รุ่น classic 10” เดิมขาย 270,500 บาท ปรับเป็น 315,000 บาท หรือปรับขึ้น 44,500 บาท ส่วนรุ่น Jumbo เดิมราคา 292,000 บาท ปรับเป็น 339,000 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 47,000 บาท, รุ่น Trendy CC ปรับจาก 183,000 บาท เป็น 214,000 บาท หรือปรับขึ้น 31,000 บาท
ภาพจาก AFP
หนุนสินค้ามือสองขายดี
นายวัฒนพล อุทยานะกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส ดับเบิ้ลยู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านแบรนด์เนมมือสอง “SF BRANDNAME” กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ร้านแบรนด์เนมมือสองถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น ทุกครั้งที่แบรนด์เนมปรับราคาขึ้น คนจะหันมาซื้อสินค้ามือสองมากขึ้น
1
ที่ผ่านมาหลังจาก ชาแนล, หลุยส์ วิตตอง ทยอยปรับขึ้นราคาก็จะทำให้ลูกค้าบางกลุ่ม ทั้งคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน หันมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือ 2 มากขึ้น สะท้อนดีมานด์ในตลาดที่มีมาก
และการปรับราคาของแบรนด์เนมส่งผลดีต่อร้านมือ 2 เพราะลูกค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนเริ่มทำงาน คนรุ่นใหม่ ที่กลายมาเป็นฐานลูกค้าหลักที่หันมาเล่นมือ 2 มากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับสินค้าแบรนด์เนมมากกว่าอดีต จากอดีตที่ซื้อทองคำ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เพื่อเก็งกำไร แต่ปัจจุบันมีแบรนด์เนมเข้ามาด้วย ทำให้กลุ่มลูกค้าเริ่มซื้อทั้งเพื่อใช้เองและเก็งกำไรมากขึ้น
ตอนนี้ 3 แบรนด์หลัก ทั้งชาแนล , แอลวี, บาลองเชียก้า ขายแทบหมดทุกสาขา โดยที่ผ่านมาร้านได้มีการปรับราคา 3 แบรนด์นี้เพิ่มขึ้น 10% (แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์ ทุกรุ่น) จากดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวบริษัทจึงเตรียมเปิดตัวสาขาใหม่ ที่เซ็นทรัล วิลเลจ ในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ เพื่อรองรับความต้องการ พร้อมทั้งโฟกัสการขายผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น
2
โฆษณา