10 มี.ค. 2022 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป “ความเสี่ยง” ทุกรูปแบบ ที่หุ้นทุกตัว ต้องเจอ
1
สำหรับการลงทุนในหุ้น สิ่งที่อยู่คู่กับผลตอบแทนก็คือ ความเสี่ยง
ไม่ว่าเราจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่คาด หรือการได้กำไรมากกว่าที่คิด
ก็ย่อมมีส่วนผสมของความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น
บางคนอาจจะเลือกความเสี่ยงมาก ๆ เพื่อลุ้นเอากำไรเยอะ เพราะเคยได้ยินประโยคคลาสสิกมาว่า “High Risk High Return”
ในขณะที่บางคนยอมได้ผลตอบแทนน้อย แลกกับความเสี่ยงที่ต่ำลงมา
แล้วในทางทฤษฎีแล้ว ความเสี่ยงที่หุ้นทุกตัวต้องเผชิญ มีอะไรบ้าง
เราจะพอมีวิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านั้น ได้บ้างหรือไม่ ?
2
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในวิชาการเงิน ความเสี่ยงของหุ้นถูกแบ่งได้อย่างกว้าง ๆ 2 แบบ คือ
- ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic Risk)
- ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (Unsystematic Risk)
“ถ้าหากอยู่ในกระแสลมแรง แม้แต่หมูก็ยังบินได้”
ประโยคดังกล่าว เป็นคำเปรียบเปรยของคุณ Lei Jun ประธานบริษัท Xiaomi
ซึ่งสามารถนำมาอธิบายความหมายของ ความเสี่ยงที่เป็นระบบ ได้เป็นอย่างดี
หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ความเสี่ยงที่เป็นระบบ ก็คือ ความเสี่ยงที่กระทบกับหุ้นทุกตัวในขณะนั้น
ไม่ว่าบริษัทจะทำธุรกิจอะไร มีพื้นฐานดีหรือแย่แค่ไหน จนในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk)” ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
2
ความเสี่ยงประเภทนี้ มักจะเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจทั้งโลก หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ
เช่น สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย, วิกฤติเศรษฐกิจ หรือการเกิดโรคระบาด
1
แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563 ก็เช่นกัน
ในตอนนั้นดัชนี SET ของไทยร่วงจาก 1,473 จุด เหลือ 1,129 จุด
ปรับตัวลดลงมากกว่า 23% ภายใน 3 สัปดาห์
ขณะที่ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกาก็ร่วงจาก 3,257 จุด เหลือ 2,305 จุด
ปรับตัวลดลงมา 29% ภายใน 4 สัปดาห์
เรียกว่าในช่วงนั้น ไม่มีหุ้นตัวไหนที่หนีจาก “ความเสี่ยงด้านตลาด” ไปได้เลย
นอกจากโรคระบาดแล้ว นโยบายทางการเงินและการปรับขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ย
ก็รวมอยู่ใน “ความเสี่ยงด้านตลาด” ด้วย ซึ่งในบางครั้ง ก็ให้ผลลัพธ์เป็นบวก ได้เช่นกัน
1
จะเห็นได้จากตอนที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ QE และจะคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ
ดัชนี S&P 500 ก็เดินหน้าบวกต่อเนื่อง จาก 2,290 จุดในเดือนมีนาคม ขึ้นสู่ 4,605 จุดในเดือนตุลาคม หรือมากกว่า 100% ภายใน 7 เดือนเท่านั้น จนหลายคนถึงกับบอกว่า ในช่วง 7 เดือนนี้ เลือกหุ้นตัวไหนก็กำไรไปเสียหมด
1
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองย้อนไปที่พอร์ตการลงทุนของตัวเอง
แล้วก็น่าจะเกิดคำถามว่า ทำไมหุ้นที่เราถืออยู่ ไม่เห็นบวก 100% อย่างที่ว่าเลย ?
3
ที่เป็นแบบนั้นก็อาจจะเป็นเพราะว่าความเสี่ยงอีกประเภท ที่มีชื่อว่า “ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ”
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ความเสี่ยงเฉพาะตัวของหุ้น หรือเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม หรือเฉพาะในแต่ละประเทศ
3
ตัวอย่างความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ก็เช่น Regulatory Risk หรือ “ความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลที่กระทบกับบางธุรกิจ”
1
อย่างที่เห็นชัดที่สุดในปี 2021 ก็คงเป็นตัวอย่างของประเทศจีน ที่มีนโยบายป้องกันการผูกขาด
รวมถึงลงดาบปรับเงินบริษัทขนาดใหญ่ของจีนอย่างมหาศาล
ส่งผลให้หุ้นของบริษัท Alibaba, Tencent, Meituan ถูกเทขาย
มูลค่าบริษัทต่างร่วงลง 50% ถึง 60% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ภายหลังการประกาศนโยบาย
2
อีกตัวอย่างจากนโยบายรัฐบาลจีน ก็คือการออกกฎให้สถาบันกวดวิชา
เปลี่ยนเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร ก็ได้ทำให้หุ้นในกลุ่มธุรกิจติวเตอร์
อย่าง New Oriental และ TAL ร่วงลงมากกว่า 90% เช่นกัน
2
ในทางตรงกันข้าม หากเป็นนโยบายสนับสนุนธุรกิจ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกิจพลังงานสะอาด หุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก พลังงานไฟฟ้า ก็อาจจะปรับตัวขึ้นได้ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา
2
นอกเหนือจากความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลแล้ว
อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ก็คือ Business Risk หรือ “ความเสี่ยงด้านธุรกิจ”
ตัวอย่างเช่น
- ความเสี่ยงจากโมเดลธุรกิจ เช่น บริษัทประกันภัย ที่อาจจะคำนวณความคุ้มค่าระหว่างเบี้ยประกันกับวงเงินชดเชยอย่างไม่สมดุลกัน จนทำให้เกิดผลขาดทุนมหาศาล
2
- ความเสี่ยงจากคู่แข่งทางธุรกิจ เช่น Meta เจ้าของ Facebook หรือ Netflix ที่ถูกแพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง TikTok เข้ามาแย่งเวลา และดึงความสนใจจากผู้ใช้งาน จนยอดผู้ใช้งานทั้ง Facebook และ Netflix มีการเติบโตชะลอตัวลง
4
- หรือต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบและค่าจ้างพนักงาน เช่น Starbucks ที่แม้จะเป็นบริษัทที่มีอำนาจต่อรองสูง แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านต้นทุนเมล็ดกาแฟที่เพิ่มขึ้นได้เลย
ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น
เพราะในหลายธุรกิจยังมี Financial Risk หรือ “ความเสี่ยงด้านการเงิน” ด้วย
1
โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงไม่นานมานี้ เกิดขึ้นกับ China Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E Ratio สูงถึง 5 เท่า
3
จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนเสียความเชื่อมั่น และราคาหุ้นก็ร่วงไปถึง 90% จากจุดสูงสุด
1
นอกจากนั้นแล้ว ความเสี่ยงด้านการเงินก็ยังครอบคลุมไปถึงการบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสดด้วย
ซึ่งในช่วงวิกฤติโควิด 19 ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องกลายมาเป็นจุดวัดกึ๋นของแต่ละบริษัทเลยว่า ในวันที่บริษัทมีรายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ทุกวัน ผู้บริหารจะมีวิธีบริหารจัดการ ให้บริษัทผ่านวิกฤติไปได้อย่างไร
3
โดยความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะถูกนำมาประเมินสุขภาพด้านการเงิน ออกมาเป็นเครดิตเรตติงของบริษัท
ซึ่งหากเรตติงไม่ดี มันก็จะวนกลับมาทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมมาขยายธุรกิจสูงขึ้น
1
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบนี้ จะเกิดขึ้นกับเฉพาะบางบริษัทเท่านั้น
และก็มีทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบ ต่างกันไปตามแต่ละสถานการณ์
แล้วมีวิธีไหนบ้าง ที่เราจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ ?
หนึ่งในวิธีที่ถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างก็คือ “การกระจายการลงทุน”
เพราะในทางทฤษฎีแล้ว การกระจายการลงทุนหลายตัว (อย่างน้อย 15 ถึง 20 ตัว)
เราจะสามารถลดความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ หรือความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละบริษัทได้มากพอ
และเหลือไว้เพียงแค่ความเสี่ยงด้านตลาดเท่านั้น ที่อย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงมันไม่ได้
2
การที่กระจายการลงทุน แล้วสามารถลดความเสี่ยงเฉพาะตัวได้ ก็เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ใดกระทบกับธุรกิจหนึ่ง มันก็จะไม่ได้ส่งผลกระทบกับอีกธุรกิจที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนของเรา ทำให้ความเสี่ยงนั้นถูกจำกัดให้น้อยลงมาก
ตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นของบริษัทที่ได้รับผลกระทบ ราคาลดลงไปครึ่งหนึ่ง แต่เราถือหุ้นตัวนั้นไม่ถึง 5% ของพอร์ต หุ้นตัวนั้นก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนของเรา มีมูลค่าลดลงไม่เกิน 2.5% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การกระจายการลงทุน ต้องกระจายไปในธุรกิจที่ไม่สัมพันธ์กัน ไม่เช่นนั้นถ้าเราลงทุนในธุรกิจคล้ายกัน ก็จะพากันล้มหมด ถ้ามีเรื่องใดกระทบกับอุตสาหกรรมนั้น
1
และถึงแม้ว่าเราจะกระจายการลงทุน เราก็ไม่ควรกระจายมากเกินไป
ไม่เช่นนั้น เราก็จะขาดการโฟกัสในแต่ละธุรกิจ ทำให้เราเลือกธุรกิจที่ไม่ดีเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุน ซึ่งมันอาจจะแย่กว่า การยอมไม่กระจาย แต่เน้นลงทุนเฉพาะธุรกิจดี ๆ ก็เป็นได้..
3
โฆษณา