10 มี.ค. 2022 เวลา 11:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิธีสร้าง Risk-free portfolio พอร์ตที่ไม่มีความเสี่ยง
1
ต่อเนื่องจาก 2 ตอนที่แล้วที่เราได้อธิบายเรื่องของเบต้าและ CAPM ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักในการประเมินมูลค่าหุ้นและสร้างโมเดลพอร์ต เช่นการใช้ Modern Portfolio Theory (MPT) ที่ใช้เส้น Efficient Frontier รวมไปถึงการสร้าง Risk-free portfolio
Risk-free portfolio คือพอร์ตที่มีค่าเบต้ารวมเท่ากับศูนย์ ซึ่งถ้าแทนค่าในสมการ CAPM แล้วจะได้ผลตอบแทนคาดหวังของพอร์ตเท่ากับ Risk-free ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหมายความว่าเราจะได้ผลตอบแทนจากพอร์ตนี้เท่ากับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
ถ้าได้ผลตอบแทนเพียงเท่านั้น แล้วทำไมต้องสร้างพอร์ตหุ้น Risk-free ด้วย?
1
คำตอบคือมีหลายปัจจัยที่เราไม่ต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลตรงๆ เช่นสภาพคล่อง ความยากง่ายในการซื้อขาย มูลค่าขั้นต่ำในการลงทุน
1
การสร้าง Risk-free portfolio ในบทความนี้จะหมายถึงการหาน้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละตัว (จริงๆ แล้วเราสามารถผสมสินทรัพย์อื่นในพอร์ตได้ เช่นทองคำ bitcoin) โดยเราสามารถหาน้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวได้หลายวิธี เช่น Trial and error การใช้สมการคณิตศาสตร์ Partial differential equation โดยครั้งนี้เราจะใช้โปรแกรม Excel เข้ามาช่วยวิเคราะห์แบบง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน
เป้าหมายที่เราต้องการคือหาน้ำหนักการลงทุนแต่ละตัวที่ทำให้เบต้าเท่ากับศูนย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจไม่สามารถหาพอร์ตที่มีค่าเท่ากับศูนย์ได้อย่างสมบูรณ์ เราจึงอาจทำได้เพียงหาค่าเข้าใกล้ศูนย์มากที่สุดเท่านั้น
3 ขั้นตอนการสร้าง Risk-free portfolio เริ่มจากการหาข้อมูล และกำหนดชนิดสินทรัพย์ที่จะเลือกเข้าพอร์ต โดยครั้งนี้เรากำหนดให้เลือกหุ้นใน SET100
1. ดึงข้อมูลเบต้า เราใช้ตัวช่วยจาก efin StockPickup โดยใช้ฟังก์ชั่น Total Scan ในเมนู Scan และเลือกตลาดเป็น SET100 หาค่าเบต้าในระยะเวลา 90 วันย้อนหลัง แล้ว export ไฟล์ Excel
ดึงข้อมูลเบต้า เราใช้ตัวช่วยจาก efin StockPickup
2. เปิดไฟล์ excel ที่ดาวน์โหลดมา แล้วเพิ่มคอลัมน์ "C" Weight เป็นน้ำหนักการลงทุนเริ่มต้น กำหนดเป็น 1% สำหรับหุ้นทุกตัว และทำการหาค่าสัดส่วนเบต้าของหุ้นแต่ละตัวโดยเพิ่มคอลัมน์ "D" Beta Weight เป็นน้ำหนักเบต้าของพอร์ต ด้วยการคูณคอลัมน์ "B" และ "C" แล้วทำการหาผลรวมทั้งหมด (cell "C102" และ "D102")
กำหนด Weight เริ่มต้น
3. ใช้ฟังก์ชั่น Solver ในเมนู Data
  • กำหนดเงื่อนไขให้ cell "D102" มีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งก็คือการกำหนดเบต้าพอร์ตเท่ากับศูนย์
  • กำหนดให้เปลี่ยนแปลงค่าใน cell "C2" ถึง "C101" คือให้โปรแกรมคำนวณค่าน้ำหนักในคอลัมน์ C ให้ใหม่
  • กำหนดเงื่อนไขให้ cell "C102" มีค่าเท่ากับหนึ่ง ซึ่งก็คือการลงทุนในพอร์ต 100%
  • กด Solve เพื่อทำการคำนวณ
ฟังก์ชั่น Solver ในเมนู Data ของ Excel
หลังจาก Excel ทำการคำนวณเสร็จแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 วินาที ขึ้นอยู่กับความเร็วคอมพิวเตอร์ เราจะได้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นทั้งหมด 14 ตัวที่ทำให้พอร์ตมีค่าเบต้าเท่ากับศูนย์ เป็น Risk-free portfolio
Risk-free portfolio จาก SET100
ขอย้ำอีกครั้งว่า Risk-free portfolio นั้น
  • ไม่ใช่พอร์ตที่มีผลตอบแทนสูงสุด
  • ไม่ใช่พอร์ตที่ไม่มีการขาดทุน
  • แต่เป็นพอร์ตทางทฤษฎีที่ไม่มีความเสี่ยงที่เป็นระบบ เพราะเบต้าเท่ากับศูนย์
  • บนสมมติฐานที่ว่าเบต้าในอดีตจะยังเท่าเดิมในอนาคต
  • และโดยทั่วไปมักใช้ Risk-free portfolio วิเคราะห์ร่วมกับหลายสินทรัพย์ในพอร์ต (หุ้น bond ทอง commodities REIT crypto ...)
เราศึกษาเรื่องนี้เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจในการจัดพอร์ตในขั้น advance ขึ้นไป และยังสามารถปรับใช้ได้ในบางสถานการณ์
ซึ่ง Risk-free portfolio นี้ไม่ใช่ Risk parity ที่เราเคยนำเสนอ ถึงแม้จะมีแนวคิดใกล้เคียงกันคือปรับสมดุลของพอร์ตให้ได้ความเสี่ยงต่ำสุด
โดย Risk-free portfolio เป็นการลงทุนในพอร์ตที่ปราศจากความเสี่ยงที่เป็นระบบ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดความผันผวนของพอร์ต แต่มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงเท่ากับ Risk-free
ในขณะที่ Risk parity เป็นการหาน้ำหนักการลงทุนของสินทรัพย์ในพอร์ตให้มีความผันผวนต่ำสุด ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงที่เป็นระบบ และไม่เป็นระบบผสมกันอยู่ และผลตอบแทนอาจจะมากกว่า Risk-free
ในโอกาสถัดไป เราจะมาลอง optimize portfolio กันด้วย Efficient frontier กัน
โฆษณา