Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมื่อวันวานยังหวานอยู่มิรู้ลืม
•
ติดตาม
12 มี.ค. 2022 เวลา 15:07
เมื่อวันวานยังหวานอยู่มิรู้ลืม : บทที่สาม
9 วงดนตรีร็อกยุค 90s ตอนปลาย (ภาคที่2)
Cr. รูปภาพจาก thetab.com
คำเตือน : บทความนี้มิใช่การจัดอันดับแต่อย่างใด หากแต่เขียนไปตามที่นึกได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นใครกันบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากความชอบส่วนตัว และวัดจากกระแสผู้ฟังในยุคนั้น ๆ
มาว่ากันต่อสำหรับบทที่สามในคอนเซ็ปต์ "เมื่อวันวานยังหวานอยู่มิรู้ลืม" ชื่อบทความว่า 9 วงดนตรีร็อกยุค 90s ตอนปลาย (ภาค 2) ซึ่งในภาคที่แล้วผมนำเสนอให้ทุกท่านได้อ่านกันก็มีจำนวน 3 วง ได้แก่ "โลโซ" "ซิลลี่ ฟูลส์" และ "บิ๊กแอส"
ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอที่เหลืออีก 6 วง จะมีวงใดบ้าง ขอเชิญติดตามได้ ณ บัดนี้ครับ
4. ฟลาย (Fly)
Cr. รูปภาพจาก Mixmaya.com
แมลงเพลงในช่วงกลางถึงปลายยุค 90s เป็นวงร็อกแปลก แหวกตลาด ซึ่งมีแบบอย่างการแต่งตัว กับทรงผมโล้นเตียนของ อี๊ด (สำราญ ช่วยจำแนก) นักร้องนำ และสมาชิกวงคือ แจ๊ค (คมจักร บุญรอด) กีตาร์ , เท็น (ประทีป บิดาเรือน) กีตาร์ , อ๊อบ (พันธ์วิวัฒน์ สโรบล) เบส , ชาลี (ชาลี สาลี่) กลอง และ วิน (ประวีณ เปี่ยมนิติกร) คีย์บอร์ด มีเพลงดังอย่าง "บิน" และ "ใบไม้" ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนั้น ฟลายเริ่มฟอร์มวงเล่นดนตรีอยู่ด้วยกันในผับที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อมีโอกาสเข้ามากรุงเทพ ก็ได้มาเล่นดนตรีอยู่ที่ผับ "นิวเคลียร์" อยู่ 1 ปี และ "โคล่า มิวสิก ฮอลล์" ต่ออีก 2 ปี ก่อนจะกลับไปเล่นดนตรีที่เชียงใหม่กันอีกครั้ง พร้อมกับทำเดโมเทป ไปเสนอกับค่ายเพลง ในที่สุดพวกเขาก็ได้มีผลงานออกมากับทางค่ายแกรมมี่ ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2539 กับอัลบั้มแรกที่ชื่อ "Fly 12 ปีก"
เมื่อประสบความสำเร็จจากอัลบั้มนี้อย่างท่วมท้น ฟลายจึงออกอัลบั้มพิเศษ เป็นการนำเพลงที่ได้รับการตอบรับดีในอัลบั้ม Fly 12 ปีก จำนวน 5 เพลง มาทำดนตรีใหม่ในแบบอคูสติก และเพลงที่แต่งขึ้นใหม่อีก 1 เพลง ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ชื่ออัลบั้ม "Fly Acoustic"
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 "แมลงเพลง" มีเพลงดังอย่าง "พายุในใจ" "คนขี้อิจฉา" และ "บัวช้ำ น้ำขุ่น" ได้รับความนิยมอยู่ในระดับที่ถือว่าน่าพอใจ
วงฟลายประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี พ.ศ. 2543 กับอัลบั้มชุดที่ 3 "Fly 2 K" โดยเฉพาะเพลง "ชาวนากับงูเห่า" ซึ่งอัลบั้มของพวกเขาในชุดนี้มียอดขายทะลุล้านตลับ ซึ่งต่อมาเพลงชาวนากับงูเห่า ได้กลายเป็นเพลงสัญลักษณ์ประจำวงนี้ไปในที่สุด และยังมีเพลงดังอย่าง "แพ้คนสวย" "อยากตบปากตัวเอง" และ "ยังไม่ไปไหน"
ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิก โดยอี๊ดลาออกจากวงเพื่อทำผลงานเดี่ยวในเพลงแนวลูกทุ่งลูกกรุงเพื่อชีวิต รวมถึงอัลบั้มเดี่ยวเพลงสตริงในสไตล์ป๊อบร็อค ภายใต้ชื่ออัลบั้ม บินเดี่ยว ในสังกัดเดิม ทำให้นักร้องนำถูกเปลี่ยนเป็น "เอ๊ด" อาวุธ นุชนิล มือเบสและนักร้องนำวง สิบล้อ เข้ามารับหน้าที่เป็นนักร้องนำในอัลบั้ม Modifly ซึ่งเป็นผลงานอัลบั้มชุดสุดท้ายก่อนที่จะยุบวง
หลังจากยุบวงแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 แจ็คซึ่งเป็นมือกีตาร์ได้ทำอัลบั้มเดียวในนาม "แจ็คคูล่า" ภายใต้สังกัดจีราฟ เรคคอร์ด ในเครือแกรมมี่ ส่วนอี๊ด อดีตนักร้องนำ ได้ตั้งวงดนตรีใหม่และออกอัลบั้มในนาม Daddy Dog ภายใต้สังกัดค่ายเพลงของตัวเอง ในปี 2551
5. ลาบานูน (Labanoon)
Cr. รูปภาพจาก sanook.com
เมธี (เมธี อรุณ) อนันต์ (อนันต์ สะมัน) และ สมพร (สมพร ยูโซะ) เรียนด้วยกันที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ก่อตั้งวงดนตรีชื่อ ลาบานูน เข้าประกวดดนตรีในรายการฮอตเวฟ มิวสิค อวอร์ด ปีที่ 2 พ.ศ. 2540 และเข้ารอบ 10 วงสุดท้าย ต่อมา ได้รับการชักชวนให้ทำเพลงกับค่ายมิวสิกบั๊กส์ ชื่อวงลาบานูน เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า "นมสด" เนื่องจากพวกเขาต้องการทำเพลงให้ออกมาเรียบง่ายเหมือนนมรสจืด ด้วยเหตุนี้วงจึงมีเครื่องดนตรีเพียงสามชิ้น และชื่อวงสะท้อนความเป็นอาหรับในเพลงของวง
ในปี พ.ศ. 2541 ลาบานูนออกอัลบั้มแรกชื่อ นมสด โดยมีซิงเกิลเปิดตัวคือ "ยาม" ในปี พ.ศ. 2542 ลาบานูนออกอัลบั้มชุดที่สอง 191 และมีซิงเกิล "191" และ "บังอาจรักเธอ" ที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศ อัลบั้มที่สามมีชื่อว่า คนตัวดำ วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2545 โดยสามอัลบั้มแรกขายได้ถึงหลักล้านชุด หลังจากนั้น ลาบานูนยังออกอัลบั้มอีกหลายอัลบั้ม ได้แก่ Clear (พ.ศ. 2546) สยามเซ็นเตอร์ (พ.ศ. 2548) และ 24 ชั่วโมง (พ.ศ. 2549)
ในปี พ.ศ. 2549 จากการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างของค่ายและหมดสัญญากับค่าย ลาบานูนจึงประกาศพักวงชั่วคราว เมธีเข้าสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ อนันต์ทำงานด้าน IT และสมพรย้ายไปตีกลองให้วงกะลา
ในปี พ.ศ. 2555 เมธีและอนันต์ ชวนเมย์ (ณัฐนนท์ ศรีศรานนท์) อดีตมือกลองจากวงอ็อบบลิเวียส กลับมารวมตัวกันและทำอัลบั้ม Keep Rocking และออกซิงเกิล "ประกันชั้น 3"
สองปีต่อมา พูนศักดิ์ จตุระบุล (อ๊อฟ) และขจรเดช พรมรักษา (กบ) จากวงบิ๊กแอส ชักชวนให้ย้ายมาที่ค่ายจีนี่เรคอร์ด และออกซิงเกิล "ศึกษานารี" ประสบสบความสำเร็จพอสมควร ซิงเกิลที่สองคือ "พลังงานจน" ซึ่งได้เปาวลี พรพิมล นักร้องลูกทุ่ง มาร่วมร้องรับเชิญให้ และมีการเผยว่าซิงเกิลที่ออกกับค่ายจีนี่จะรวมอยู่ในอัลบั้ม N.E.W.S.
ซิงเกิลที่สาม "เชือกวิเศษ" ได้สารัช อยู่เย็น นักฟุตบอลทีมชาติไทย มาร่วมแสดงในมิวสิกวิดีโอ ซิงเกิลประสบความสำเร็จทั่วประเทศ ทำสถิติเป็นเพลงที่ทำยอดผู้ชมในยูทูบถึง 100 ล้านครั้งเร็วที่สุดในประเทศไทย ใช้เวลา 2 เดือน และเป็นเพลงที่มีผู้เข้าชมในยูทูบมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย รวมถึงได้รับรางวัลซิงเกิลฮิตแห่งปีจากงานประกาศรางวัลเดอะกีตาร์แม็กอะวอดส์ 2016 ซิงเกิลที่สี่ "แพ้ทาง" มิวสิกวิดีโอเป็นการฉลองที่ "เชือกวิเศษ" ทำยอดผู้ชมได้ 200 ล้านวิว โดยนำนักแสดงวัยรุ่นสาว 6 คนมาร่วมแสดงในมิวสิกวิดีโอ มิวสิกวิดีโอเพลง "แพ้ทาง" มียอดผู้ชมถึง 100 ล้านวิวเช่นกัน ลาบานูนออกซิงเกิลที่หกจากอัลบั้ม ชื่อเพลง "ฉันก็คง" มิวสิกวิดีโอเผยแพร่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 วงลาบานูนได้จัดคอนเสิร์ต ลาบานูน คอนเสิร์ต เปิดกล่อง คอนเสิร์ตครบรอบ 20 ปี แสดงในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก
6. กะลา (KALA)
Cr. รูปภาพจาก sanook.com
กะลา เป็นวงดนตรีแนวซอฟต์ร็อก จากโรงเรียนวัดทรงธรรม จังหวัดสมุทรปราการ โดยวงเป็นที่รู้จักจากการเข้าประกวดวงดนตรีมัธยม ฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2540 แต่ตกรอบ 30 วงสุดท้ายจากวงเข้าประกวดทั่วประเทศกว่า200วง ต่อมากะลาได้กลับมาประกวดอีกครั้งกับฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ดส์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2541 โดยครั้งนี้ได้เปลี่ยนสมาชิกสองตำแหน่งคือกลองกับเบส และเข้ารอบ 10 วงสุดท้าย จนได้รับการชักชวนจากทางแกรมมี่ค่ายจีนี่เร็คคอร์ด โดยมีสมาชิกวงประกอบไปด้วย หนุ่ม (ยุทธพงษ์ แสงสุวรรณ) ร้องนำ , โต (มาโนช พิมพ์จันทร์) กีตาร์ , นุ (ธีรศักดิ์ อุ่มมล) เบส , รุส (ดารุส ปัญญา) กลอง
พวกเขาได้ออกอัลบั้มชุดแรก "กะลา" ในปี พ.ศ. 2542 มีเพลงดังอย่าง "แม่ครับ" "ไม่มาก็คิดถึง" และ "รอ"
ปี พ.ศ. 2544 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 "นอกคอก" มีเพลงดังอย่าง "ขอเป็นตัวเลือก" "อยากเกิดเป็นคนหลายใจ" และ "สัญญา"
ปี พ.ศ. 2546 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 "My Name Is Kala" มีเพลงดังอย่าง "My Name Is Kala" "เธอเป็นแฟนฉันแล้ว" และ "บอกสักคำ"
ปี พ.ศ. 2548 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 "สามัญ" มีเพลงดังอย่าง "เจ็บนี้มันลึก" "ปิดตา" และ "ถ้าเธอหลายใจ"
ปี พ.ศ. 2549 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 "Inside" มีเพลงดังอย่าง "ใช่ฉันหรือเปล่า" และ "กะลา (ใช่ไหม)"
ปี พ.ศ. 2551 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 6 "Minute" ซึ่งอัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของวงกะลายุคก่อตั้ง ซึ่งมีสมาชิกอย่าง นุ (มือเบส) ,โต (มือกีตาร์) และ รุส (มือกลอง) อัลบั้มชุดนี้มีเพลงดังอย่าง "4 นาที"
ปี พ.ศ. 2553 วงกะลาได้ฟอร์มวงใหม่อีกครั้งประกอบไปด้วยสมาชิกของวงรุ่นใหม่มากประสบการณ์อย่าง "เพชร" พงศภัค ทองเจิญ (อดีตมือกีตาร์วงไอแซ็ค) , "เขต" ปัญญา โกเมนไปรรินทร์ (มือเบสและนักแต่งเพลง) , สมพร ยูโซะ (อดีตมือกลองวงลาบานูน) และอัลบั้มชุดที่ 7 "4 share" มีเพลงดังอย่าง "หมดเวลาแอบรัก" "หนาวกว่าทุกคืน" "หยุด...เพราะเธอ" "ทำใจให้ชิน" และ "ไม่เห็นฝุ่น"
ปี พ.ศ. 2555 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 8 "Love Infinity" อัลบั้มชุดนี้ถือว่าเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของวงกะลา อัลบั้มชุดนี้มีเพลงฮิตอย่าง "นาฬิกาของคนรักกัน" "ใจเรายังคงตรงกันอยู่ไหม" "รักจะกอดเราไว้" "ทุกคืนได้ไหม" และ "เหตุผลข้อเดียว"
วงกะลาถึงจุดแตกหักในปี พ.ศ. 2557 ด้วยเหตุผลคือ "การทำงานไม่ตรงกัน" โดยยุทธพงษ์ได้แยกออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว อีกทั้งสมาชิกอันประกอบไปด้วย เพชร พงศภัค ทองเจริญ อดีตมือกีตาร์ของวงไอแซ็กซ์ , เขต ปัญญา โกเมนไปรรรินทร์ มือเบสและนักแต่งเพลง และ สมพร ยูโซะ อดีตมือกลองวง ลาบานูน ได้ไปก่อตั้งวงอโศกขึ้นมา ในสังกัดค่ายเพลงของพวกเขาเอง "โรดสตาร์" (Road stars)
7. พาราด็อกซ์ (Paradox)
Cr. รูปภาพจาก sanook.com
พาราด็อกซ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2537 โดยต้า - อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา (ร้องนำ/กีตาร์) นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความคิดที่จะตั้งวงดนตรีเพื่อร่วมกิจกรรมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาปีที่ 1 จึงได้ชวน สอง - จักรพงศ์ สิริริน เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือเบส โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวงโมเดิร์นด็อก ซึ่งเป็นวงดนตรีแนวออลเทอร์นาทิฟที่มีชื่อเสียงอีกวงหนึ่ง ทั้งสองคนได้ร่วมกันแต่งเพลงแนวลูกทุ่งชื่อเพลง "โรงหนังเก่า" ขึ้นเป็นเพลงแรก ต่อมาก็ได้ โน้ต - พรภัฏ ชีวีวัฒน์ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือกลอง
1 ปีต่อมา สมาชิกทั้งหมดตัดสินใจผลิตอัลบัมเป็นของตัวเอง เพื่อออกขายในงานกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ ต้าซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงมือกีตาร์จึงได้รับตำแหน่งนักร้องนำอีกตำแหน่ง และเนื่องจากประสบปัญหาในการจัดทำอัลบัม "หอยจ๊อ" จึงได้ตัดสินใจส่งเดโมเทปเพื่อเสนอแก่ค่ายเพลง
หลังจากที่ส่งเดโมเทปอัลบั้ม "หอยจ๊อ" ไปยัง อิสเทอร์นสกาย เร็คคอร์ดส ซึ่งเป็นค่ายเพลงเล็ก ๆ พวกเขาก็ได้โอกาสออกอัลบัมแรก "Lunatic Planet" พร้อมเปลี่ยนชื่อวงเป็น "พาราด็อกซ์" (Paradox) ด้วยซาวนด์ดนตรีและเนื้อหาเพลงที่แปลก แตกต่างจากวงดนตรีอื่น ๆ ในสมัยนั้น ทำให้พาราด็อกซ์ได้รับความนิยมพอสมควร โดยมีเพลงดังอย่าง "นักมายากล" "ไก่" และ "โรตีที่รัก" โน้ตจึงได้ชักชวนให้ บิ๊ก - ขจัดภัย กาญจนาภา มาช่วยเล่นกีตาร์เสริม และได้กลายเป็นสมาชิกวงอย่างเป็นทางการ แต่ต่อมาไม่นาน อิสเทอร์นสกาย เร็คคอร์ดส ก็ได้ปิดตัวลง โน้ตซึ่งสำเร็จการศึกษาจึงตัดสินใจแต่งงาน และเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐ รวมถึงมีสมาชิกอีก 2 คนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา พาราดอกซ์จึงว่างเว้นจากงานดนตรีไปกว่า 1 ปีเต็ม
หลังจากจากที่อิสเทอร์นสกาย เร็คคอร์ดส ได้ปิดตัวลง สมาชิกที่ยังเหลืออยู่จึงได้หันไปผลิตอัลบัม "แมลงวันสเปน" โดยจัดทำเป็นอัลบัมใต้ดิน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งชิ้นงานก่อนจบการศึกษา โดยบันทึกเสียงภายในห้องนอนของต้า โดยจัดทำออกมาเพียง 1,000 ม้วน (คาสเซ็ทเทป) ภายใต้ค่ายเพลงชื่อ ตาต้า เร็คคอร์ดส และอัลบัม Paradox & My Friends ซึ่งได้รวมเอาผลงานของเพื่อน ๆ ของสมาชิกในวงเอาไว้ด้วย
ต่อมาพาราด็อกซ์ได้มีโอกาสทำเพลงเพื่อรวมอยู่ในอัลบัม Intro 2000 ร่วมกับศิลปินอื่นในสังกัดจีนี่เรคคอร์ดส ซึ่งเป็นช่วงที่พาราด็อกซ์ยังขาดมือกลอง ในอัลบัมนี้จึงได้รุ่นน้องชื่อดำมาตีกลองแทนโน้ตให้ในเพลง "ท่ามกลาง" ไม่นานหลังจากอัลบัม Intro 2000 ทางพาราด็อกซ์ได้รับโอกาสให้ทำอัลบัมเต็มอีกครั้ง แต่เนื่องจากโน้ตยังอยู่ต่างประเทศ ต้าจึงชักชวน โจอี้ - เสรฐพร กฤดากร ณ อยุธยา ญาติผู้น้อง เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือกลอง และยังได้ชวนเพื่อนที่มีส่วนร่วมในงานดนตรีของพวกเขามาตั้งแต่อัลบัม "Lunatic Planet" คือ เก่ง - นัทธา กมลรัตนกุล มาช่วยร้องคอรัส และเพิ่มสีสันในการแสดงสด และ อ๊อฟ - ชาญณรงค์ วังเย็น มาช่วยร้องประสานแบบโหด ๆ ทำให้เกิดวงพาราด็อกซ์ที่สมบูรณ์
ในที่สุดพาราด็อกซ์ก็ได้ปล่อยอัลบัมเต็มออกมาในชื่อชุด Summer โดยมี "น้องเปิ้ล" เป็นเพลงเปิดตัว และ "ฤดูร้อน" ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักพาราด็อกซ์ในวงกว้าง รวมถึงเพลงที่นักศึกษาวิชาทหารรู้จักกันดีอย่าง "ร.ด.Dance" และภายในปีเดียวกันนั้น พาราด็อกซ์ก็ได้ออกอัลบัม "แค้นผีนรก" ซึ่งเป็นอัลบัมใต้ดินขึ้นมาอีก 1 ชุด ซึ่งถือเป็นอัลบัมใต้ดินชุดสุดท้ายของวง
ในยุคที่วงอิสระเป็นที่ยอมรับ หรือที่เรียกกันว่า ยุคอินดี้นั้น มีส่วนทำให้วงพาราด็อกซ์เป็นที่ยอมรับในตลาด จนเกิดอัลบัมพิเศษที่ชื่อ "On The Beach" ขึ้น โดยนำเพลงจากอัลบัม "Summer" และ "Lunatic Planet" มาร้องใหม่ และให้ศิลปินรับเชิญมาช่วยเรียบเรียงดนตรีในแบบอคูสติก พร้อม 2 เพลงใหม่คือเพลง "ดาว" และ "สงสัย"
ต่อมาพาราดอกซ์ได้ออกอัลบัม "On The Rainbow" ซึ่งแตกต่างจากอัลบัมก่อนหน้า เนื่องจากเพลงส่วนใหญ่ลดความแรงลงไปมาก แต่ทดแทนมาด้วยฝีมือที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยเน้นการทำดนตรีและท่วงทำนองที่สวยงาม พร้อมบทเพลงที่ไพเราะอย่างเพลง "รุ้ง" และ "เศษ" หรือ "กวีบทเก่า" ที่นำบทเพลงของวงนูโว มาเรียบเรียงใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง
นับจากอัลบัม "On The Rainbow" นี้ บทบาทในการทำอัลบัมของเก่งและอ๊อฟจะลดลงไป แต่ทั้งสองคนก็ยังมีส่วนช่วยในการทำเพลงอยู่เบื้องหลัง และเป็นกำลังสำคัญในการแสดงคอนเสิร์ตของพาราด็อกซ์อยู่เสมอ ๆ
ในปี2546เดียวกันพาราด็อกซ์ก็ได้ออกอัลบัม "Freestyle" ที่มีเพลงดังอย่าง "Sexy" "ทาส" และ "บอลลูน" พร้อมทั้งนำเพลงนักมายากล จากอัลบัม "Lunatic Planet" กลับมาทำใหม่อีกครั้ง
หลังจากอัลบัม "Free Style" เพียงไม่กี่เดือน พาราด็อกซ์ก็มีผลงานพิเศษที่ร่วมกับศิลปินอื่นอีกครั้งในชื่อ "ลิทเทิล ร็อก โปรเจกต์" ซึ่งเป็นการนำเพลงของวงในตำนานอย่าง "ไมโคร" กลับมาทำใหม่ตามแบบฉบับของแต่ละวงในอัลบัมนี้ ซึ่งพาราด็อกซ์มีผลงานอยู่ 2 เพลงคือ "มันก็ยังงง งง" และ "รักคุณเข้าแล้ว"
เมื่ออัลบัมเก่า ๆ ของพาราด็อกซ์เริ่มหายาก จึงมีการทำอัลบัม "Hit Me" ขึ้น ซึ่งเป็นผลงานรวมเพลงของพาราด็อกซ์ตั้งแต่อัลบัม "Summer" เป็นต้นมา และพาราด็อกซ์ก็ได้มีโอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์ "วัยอลวน4" โดยนำเพลงดังในอดีตอย่าง "เธอที่รัก" กลับมาเรียบเรียงใหม่ รวมถึงการนำเพลง "Let's Go Rider Kick" ซึ่งเป็นเพลงเปิดตัวของ ไอ้มดแดง V.1 มาเรียบเรียงใหม่เพื่อใช้สำหรับงาน ไอ้มดแดง Live Show In Bangkok
กลังจากเว้นช่วงจากการทำอัลบั้มเต็มไป 3 ปี พาราด็อกซ์ก็ได้กลับมาอีกครั้งกับอัลบัม "X (10 Years After)" ซึ่งเป็นผลงานที่ออกมาในช่วงครบรอบ 10 ปีของทางวง อัลบัมนี้มีการเพิ่มเพลงโบนัสถึง 12 เพลง รวมกับเพลงปกติอีก 10 เพลง เพลงทั้งหมดในอัลบัมนี้จึงมีถึง 22 เพลง เพลงที่เป็นที่รู้จักในอัลบัมนี้คือเพลง "ผงาดง้ำค้ำโลก" ซึ่งเป็นเพลงที่มีการนำคำต่าง ๆ มาพลิกแพลงจนกลายมาเป็นเพลงที่มีมุมมองที่แตกต่างจากเพลงทั่ว ๆ ไป "ส่งรักส่งยิ้ม" ซึ่งมีเนื้อหาที่ชวนให้ทุกคนหันหน้าสร้างรอยยิ้มให้กัน พร้อมทั้งเพลงจังหวะสนุก ๆ แบบย้อนยุคอย่าง "คิด" และ "มองตา" ส่วนเพลงโบนัสจะประกอบด้วยเพลงแนวทดลองโดยสมาชิกวงแต่ละคน เช่น "Escape" "นั่งยาง" และมีการนำเพลงใต้ดินมาใส่ไว้ เช่น "โรงหนังเก่า" ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ต้าและสองแต่งขึ้นมา
และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 พาราด็อกซ์ก็ได้ออกอัลบัมพิเศษในชื่อว่า "Paradox In Paradise" ซึ่งเป็นการนำเพลงตั้งแต่อัลบัม "On The Rainbow" มาร้องใหม่ และเรียบเรียงดนตรีในแบบเบา ๆ โดยศิลปินรับเชิญอีกครั้ง พร้อมด้วยเพลงใหม่ที่ชื่อ "ใครสักคน" และ "สิงห์รถบรรทุก" ซึ่งเป็นเพลงที่มีอยู่ในซีดีแบบ Special Edition เท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 วงพาราด็อกซ์ได้ออกอัลบัมใหม่ที่มีชื่อว่า "Parade" โดยรวมเพลงที่เป็นเพลงยอดนิยมในอดีตมารวมไว้ในอัลบัม และเพลงที่ไม่ได้อยู่ในอัลบัมของพาราด็อกซ์มาก่อนอย่างเพลง "กอดฉันไว้" "เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)" "เรดิโอ" และ "รสชาติแห่งความรัก"
ในปี พ.ศ. 2554 วงพาราด็อกซ์ได้ปล่อยซิงเกิ้ลชื่อว่า "หรรษาราตรี" ออกมาเป็นซิงเกิ้ลแรกสำหรับอัลบัมที่จะออกในปี พ.ศ. 2555 และเพลงซักซี้ดนึง ประกอบภาพยนตร์เรื่อง "Suck Seed ห่วยขั้นเทพ" รวมถึงออกอัลบัมพิเศษชื่อ "The Love Scene" เป็นอัลบัมรวมเพลงประกอบภาพยนตร์ และล่าสุดได้ปล่อยซิงเกิ้ลเพลง "คนบนฟ้า" และ "ปลายสายรุ้ง" ซึ่งเป็นเพลงที่อยู่ในอัลบัม "Day Dreamer" ที่วางแผนในช่วงเดือนธันวาคม
ในปี พ.ศ. 2556 วงพาราด็อกซ์ได้ปล่อยเพลงแนวร็อกและอินดี้ออกมาใหม่ ได้แก่ "ไม่มีเธอ (กล่องดวงใจ)" ซึ่งออกในช่วงเดือนมิถุนายน และในเดือนพฤศจิกายน ได้ปล่อยเพลง หลุมศพปลาวาฬ ที่ให้ข้อคิดและความเพลิดเพลินไปกับเพลงที่มีคำหลายคำที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาปะปนกันอย่างสนุกสนาน
8. พอส (Pause)
Cr. รูปภาพจาก nationtv.tv
วงพอส เริ่มจากที่ นอ-นรเทพ มาแสง มือเบสซึ่งเล่นดนตรีมาหลายชิ้น หลายแนว ทั้งดนตรีไทยและแจ๊ส ช่วงใกล้เรียนจบที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มีความจำเป็นที่จะต้องหาเพื่อนมาร่วมงานเพื่อทำโปรเจกต์ด้านดนตรี จึงชักชวน เอ-พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ ซึ่งทำเพลงไว้อยู่แล้วประมาณ 4 เพลง และไปหามือกลองมาเพิ่มคือ บอส-นิรุจ เดชบุญ ซึ่งเมื่อก่อนจะเล่นแซกโซโฟนเป็นอาชีพ แต่บังเอิญที่ตำแหน่งนี้ไม่มีคนเล่นก็เลยเปลี่ยนมาตีกลอง ส่วนนักร้องนำ โจ้-อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ ที่มีตำแหน่งนักร้องชนะเลิศการประกวดไทยแลนด์โค้กมิวสิกอวอร์ด ปี 2536
หลังจากนั้นสมาชิกวงก็ได้หมั่นฝึกซ้อมเพลงจนมีโอกาสได้ไปแสดงที่งาน "คอลเลจอาร์ติส" ของนิตยสารบันเทิงคดี โดยใช้ชื่อวงว่า "เดอะ เยิ้ม" ภายหลัง เอ มือกีต้าร์ ก็ได้ตั้งชื่อวงในการแสดงว่า "พอส" (Pause) ที่มีความหมายว่า "หยุด (ชั่วคราว/ชั่วขณะ)" จนทั้งสี่สมาชิกได้มีโอกาสไปเล่นโชว์ในงานของคลื่นวิทยุเพลงร็อค "ไพเรทเรดิโอ" ที่ฮาร์ดร็อคคาเฟ่ แล้วไปเข้าตาทางค่าย เบเกอรี่มิวสิก
พวกเขาทั้งสี่ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด อีกทั้งพวกเขาได้แสดงคอนเสิร์ตในนามศิลปินสังกัดเบเกอรี่มิวสิคที่คอนเสิร์ต "เบเกอรี่ออนเดอะร็อค" ที่ เอ็มบีเคฮอลล์ มาบุญครองเซ็นเตอร์ โดยเล่นเป็นวงเปิดให้ อรอรีย์ และ ซีเปีย ภายในงานคอนเสิร์ตครั้งนั้นชื่อของวงพอสได้เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก ก่อนที่ที่พวกเขาทั้งสี่จะเข้าห้องอัดทำอัลบั้มแรกก็ได้มีโอกาสร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับวงออลเทอร์นาทีฟ ซิลลี่ฟูลส์ และเพื่อนศิลปินค่ายอื่นคือ ออดี้ และ วิซาร์ท ในคอนเสิร์ตที่ชื่อ "ออลเทอร์นาทิฟปาร์ตี้ออนทัวร์"
ในปี พ.ศ. 2539 พวกเขาได้ปล่อยอัลบั้มชุดแรกของพวกเขา "พุช (มี) อะเกน (Push (Me) Again)" โดยความหมายโดยรวมของวงคือ หยุดชั่วคราว ส่วน พุช (มี) อะเกน ก็คือกดอีกทีก็คือเดินต่อไป โดยในอัลบั้มชุดแรกมีแนวเพลงป็อปร็อคผสม แร็พ โดยมีผลงานที่เป็นที่รู้จักอันได้แก่ "ยื้อ" "ไม่มีแล้ว" "ที่ว่าง" และ "มีเพียงเรา" โดยเพลงที่ว่าง เอ วงพอส ก็ได้แต่งเพลงนี้โดยอ้างอิงหนังสือ ปรัชญาชีวิต ของ ญิบรอน เคาะลีล ญิบรอน
2 ปีต่อมาพวกเขาปล่อยอัลบั้มชุดที่ 2 Evo & Nova ในปี พ.ศ. 2541 มีแนวเพลงที่สบายกว่าอัลบั้มแรก โดยในอัลบั้มนี้ไม่ประสบความสำเร็จอย่างมากนัก แต่มีผลงานที่เป็นที่รู้จักคือ "รักเธอทั้งหมดของหัวใจ" ที่ร่วมแต่งโดย บอย โกสิษพงษ์ เพื่อระลึกถึงน้องชายของโจ้ วงพอสที่ประสบอุบัติเหตุรถชน ซึ่งผลงานเพลงนี้ก็ได้ทำให้วงพอสเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
หลังจากปีถัดมาวงพอสก็ได้ปล่อยอัลบั้มชุดที่สาม Mild (2542) โดยในอัลบั้มนี้มีแนวเพลงป็อปสบาย ๆ โดยทั้งอัลบั้มมีผลงานอันเป็นที่รู้จักเกือบทั้งหมด หลังจากวางขายอัลบั้มชุดที่สามก็ได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีจนทำให้มีการออกอัลบั้มพิเศษขึ้นมา ภายใต้ชื่อว่า "Rewind 1996-2000" ซึ่งเป็นอัลบั้มรวมเพลงฮิตของวงพอส และในปี พ.ศ. 2543 โจ้ วงพอส นักร้องนำของวงก็ได้ออกอัลบั้มเดี่ยว โจ้ อัมรินทร์ - Simply Me ซึ่งเป็นอัลบั้มรวมรวบผลงานเพลงเก่าที่โจ้ชื่นชอบ ซึ่งอัลบั้มนี้ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
โดยในช่วงปี พ.ศ. 2545 วงพอสก็ได้มีการวางแผนถึงผลงานเพลงชุดใหม่ ก่อนที่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 วงพอสก็ได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากนั้น 4 วันต่อมา 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 มีคนพบศพของโจ้ วงพอสนักร้องนำของวงในอาคารซี-วันแมนชั่น ซ.สุขุมวิท 50 ย่านพระโขนง ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตายของโจ้ วงพอสในลิฟท์ โดยยังพบปืนขนาด 9 ม.ม. เข้าที่บริเวณขมับขวาทะลุซ้ายจำนวน 1 นัดเลือดไหลอาบท่วมตัวและเสียชีวิตในลักษณะนั่งคว่ำหน้าลงกับพื้น อีกทั้งยังพบปลอกกระสุนขนาดเดียวกันตกอยู่ในลิฟท์อีก 1 ปลอก ส่วนรายละเอียดของคดีนั้น ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในเรื่องนี้
ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้วงพอสได้ยุบตัวลงในวันเดียวกันนี้ และได้มีการออกอัลบั้ม อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ 2514-2545 ในปี 2545 ซึ่งเป็นการรวมรวบงานเพลงตั้งแต่เริ่มเข้าวงการโดยแต่ละเพลงไม่ได้อยู่ในอัลบั้มใดทั้งสิ้น ๆ เป็นผลงานในวาระโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงการจากไปของโจ้ วงพอสอีกด้วย
ในปี 2556 ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม หรือ ฟองเบียร์ ได้เชิญให้พอสกลับมาทำเพลงใหม่อีกครั้งโดยได้ร่วมงานกับ เอ๊ะ จิรากร สมพิทักษ์ ในเพลง สิ่งที่มันกำลังเกิด ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง อันโกะ กลรักสตอวเบอร์รี่ โดยหลังจากนั้นก็ได้เอ๊ะเป็นนักร้องนำในช่วงระหว่างออกทัวร์ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งในโอกาสครบรอบ 20 ปีวงพอส ทางค่ายมีเรคคอร์ดส ปล่อยวิดิโอโปรโมทซิงเกิล "รักอยู่รอบกาย" เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ที่ร้องโดย อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ อดีตนักร้องนำของวง ซึ่งอัดไว้เมื่อปี 2545 นำกลับมาให้แฟนเพลงได้ฟัง
และวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559 คอนเสิร์ต พอส รักอยู่รอบกาย แหม่ม คัทลียา กระจ่างเนตร ได้มาเป็นพิธีกรในคอนเสิร์ตนี้ด้วย
และมีนักร้องที่เป็นลูกศิษย์ของ บอย โกสิยพงษ์และนักร้องคนอื่น ๆ ที่มีวงพอสเป็นไอดอลและนำเพลงของวงพอสไปร้องคัฟเวอร์ตามคอนเสิร์ตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ป๊อด โมเดิร์นด๊อก นภ พรชำนิ บอย ตรัย โป้ โยคีเพลย์บอย ธีร์ ไชยเดช รัดเกล้า อามระดิษ บี พีระพัฒน์ คิว สุวีระ เบน ชลาทิศ มาเรียม B5 โตน โซฟา แสตมป์ อภิวัชร์ ตู่ ภพธร ลิปตา โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ วงเครสเชนโด้ เดอะบีกินส์ รูม 39 หนูนา หนึ่งธิดา สครับบ 25 Hours เอ๊ะ จิรากร ปราโมทย์ วิเลปะนะ ฯลฯ
ในปี พ.ศ. 2559 วงพอสได้จัดกิจกรรม PAUSE PLAY AGAIN เพื่อค้นหานักร้องนำคนใหม่ โดยเฟ้นท์ ประภาพ ตันเจริญ ได้รับเลือกให้เป็นนักร้องนำคนใหม่ และวงพอสได้ปล่อยซิงเกิลใหม่ล่าสุด ก็คือเพลง แค่ได้เป็นคนสุดท้ายที่เธอคิดถึง
9. โปเตโต้ (Potato)
Cr. รูปภาพจาก sanook.com
วงสุดท้ายในลิสต์นี้ เป็นวงเปิดหัวเพื่อเข้าสู่ยุค 2000s ซึ่งเป็นยุคที่วงดนตรีร็อกในยุคนั้นถึงจุดเฟื่องฟูอย่างสุดขีด มีวงดนตรีมากมายที่ประสบความสำเร็จให้ต้องพูดถึงนับไม่ถ้วน และที่ผมให้เครดิตกับโปเตโต้ให้อยู่ในลิสต์ เป็นเพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เห็นจะมีวงนี้ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่าใครเพื่อน
โปเตโต้เริ่มต้นขึ้นที่โน้ต (นันทำกร ฉ่ำใจหาญ) ปีย์ (ปีย์ชนิตถ์ อ้นอารี) และ บ๋อม (สุวาทิน วัฒนวิทูกูร) มีโอกาสร่วมงานกันครั้งแรกในการถ่ายโฆษณาโค้ก ด้วยเข้าตาเหล่าทีมงาน จึงได้เข้ามาสกรีนเทสต์ ที่แกรมมี่ โดยปีย์เป็นนักร้องนำ แต่ก็ยังขาดมือเบส จึงต้องทำการคัดเลือกนักดนตรีในตำแหน่งนี้กันอีกรอบ โดยนุช (อรนุช ตั้งเดชาวุฒิ) เป็นมือเบสหญิงที่เข้ามาคัดเลือกในครั้งนั้น ฝีมือของเธอถูกใจทั้งทีมงานและสมาชิกในวง นุชจึงกลายเป็นสมาชิกคนที่ 4 ในที่สุด และสมาชิกคนสุดท้ายของวงในช่วงนั้นก็คือ ปั๊ป (พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข)
อัลบั้มแรกของวงโปเตโต้มีชื่อเดียวกับวง ปรากฏตัวเมื่อปี พ.ศ. 2544 เน้นที่ลักษณะโดดเด่นคือ ความมันส์และตรงไปตรงมา มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่าง "เร็วมาก" และ "ทำนองที่หายไป" ทำให้ชื่อของโปเตโต้เป็นที่รู้จักของวัยรุ่นไทยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ "เธอไปกับใคร" ก็กลายเป็นอีกเพลงที่ได้รับความนิยมในทันทีที่ถูกเปิดทางสถานีวิทยุ หลังจากเสร็จสิ้นการทำงานเพลงชุดแรก นุช มือเบสซึ่งมีความจำเป็นในเรื่องการเรียน จึงขอลาออกจากวงไปเรียนต่อต่างประเทศ
ระหว่างการอัดอัลบั้มที่สองอยู่นั้น ปีย์ นักร้องนำและมือกีตาร์ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 แต่ก่อนที่ปีย์จะเสียชีวิต ก็ได้เริ่มทำผลงานอัลบั้มชุดที่ 2 ชื่อ โก...ออน (Go...On) ไปแล้วถึง 3 เพลง ได้แก่ เพลง "น้ำหอม" ที่ปีย์ได้อัดและร้องไว้จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเพลง "ไม่ให้เธอไป" ซึ่งปีย์ได้แต่งทำนองไว้ ส่วนเพลง "กล้าพอไหม" ได้ถูกเรียบเรียงใหม่
หลังจากที่ปีย์เสียชีวิตนั้น ทำให้วงได้หยุดชะงักลง ซึ่งต่อมาเพลงทั้งสามเพลงที่ได้รับการโปรโมทนั้นได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่วัยรุ่น และในขณะที่ปั๊ป บ๋อม และโน้ต ยังรักที่จะอยากเล่นดนตรีต่อไป ทั้งสามจึงตัดสินใจกลับมารวมวงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2546 และเดินหน้าทำงานเพลง เพื่อสานต่อความฝันของพวกเขาและปีย์ โดยการหาสมาชิกเพิ่มเติม โน้ตจึงได้ชักชวน โอม (ปิยวัฒน์ อนุกูร) มาเป็นมือเบส ซึ่งเคยเรียนอยู่ที่เดียวกันและเล่นดนตรีมาด้วยกัน ส่วนบ๋อมได้ติดต่อ วิน (รัตนพล เก่งเรียน) มือกีตาร์ ที่เคยเรียนดนตรีและร่วมแสดงดนตรีในงานโรงเรียนมาด้วยกัน เข้ามาเป็นสมาชิกเสริมคนสุดท้ายของวง จาก 3 เพลงแรกที่ทำค้างไว้ พวกเขานำมาสานต่อทิศทางของดนตรีให้ชัดเจนขึ้น ด้วยความต้องการเสียงดนตรีสด หนักแน่น แต่ผสมผสานความนุ่มนวลของเมโลดี้ และด้วยเสน่ห์เสียงของกอคูสติกกีตาร์
โปเตโต้ได้ออกอัลบั้มพิเศษ โฟกัส (Focus) ในปี พ.ศ. 2547 และโน้ตได้ออกจากวงเมื่อปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2548 วงได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 ไลฟ์ (Life) มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่าง "ปากดี" "ที่เดิม" "หวังดีเสมอ" "ภาษากาย" แต่เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในอัลบั้มชุดนี้เป็นเพลง "รักแท้ดูแลไม่ได้" ซึ่งต่อมาเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงประจำวงโปเตโต้ และเป็นเพลงดังที่รู้จักอย่างมากในหมู่วัยรุ่นเพลงหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2549 ได้ออกอัลบั้มรวมเพลงฮิตอย่าง "ขอบคุณที่รักกัน" โดยมีเพลงชื่อเดียวกันกับอัลบั้มได้รับความนิยมอย่างสูง
ในปี พ.ศ. 2550 ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 เซนส์ (Sense) มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่าง "เข้าทาง" "นี่แหละความเสียใจ" และ "ชีวิตที่ขาดเธอ"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 โปเตโต้ได้รับ กานต์ (กานต์ อ่ำสุพรรณ) มาทำหน้าที่เป็นมือกลองแทน บ๋อม ซึ่งออกจากวงหลังจากบันทึกอัลบั้ม เซนส์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 แต่เขาก็ได้ปรากฏตัวในการแสดงของวงเป็นครั้งคราว ทำให้โปเตโต้มีสมาชิก ได้แก่ ปั๊บ โอม วิน และกานต์
ในปี พ.ศ. 2551 วงได้ออกอัลบั้มพิเศษ รีเฟรช มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่าง "รักเธอไปทุกวัน" และ "อารมณ์สีเทา" และทางวงอัลบั้มชุดที่ 5 เซอร์เคิล (Circle) ในปี พ.ศ. 2551 มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่าง "ยื้อ" "แชร์" และ "ทนพิษบาดแผลไม่ไหว" ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 วิน มือกีตาร์ ได้ออกจากวง
ในปี พ.ศ. 2554 วงได้ออกอัลบั้มชุดที่ 6 ฮิวแมน (Human) มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่าง "เล่นลิ้น" "ไม่รู้จะอธิบายยังไง" "จำอะไรไม่ได้" "ง่าย ๆ" และ "เธอยัง"
และในปี พ.ศ. 2556 จึงได้ชูหั่ง (ทีฆทัศน์ ทวิอารยกุล) มาเป็นมือกีตาร์ของวงอย่างเป็นทางการ
ปี พ.ศ. 2556 ทางวงได้ปล่อยซิงเกิล "ระหว่างทาง" ออกสู่คนฟังเป็นครั้งแรก และไม่นานก็ได้ปล่อยซิงเกิลฮิตอย่าง "ฮู้ฮู" และ "กี่พรุ่งนี้" ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ปี พ.ศ. 2558 ได้ออกซิงเกิลฮิต อย่าง "สมดุล" "ทิ้งไว้กลางทาง" และ "รอย" โดยเวลานี้เป็นช่วงที่วงโปเตโต้กลับมาประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพลง "ทิ้งไว้กลางทาง" ซึ่งมียอดชมในยูทูปเกิน 100 ล้านวิวของผู้ชม
ปี พ.ศ. 2559 ได้ออกซิงเกิลฮิต "ตัวปลอม" มี 2 เวอร์ชัน สไตล์ โปเตโต้และลุลา
ปี พ.ศ. 2560 ได้ออกซิงเกิลฮิต "เธอทำให้ได้รู้" ร้องคู่กับ พี่ก้อง (สหรัถ สังคปรีชา) และ "ทุกด้านทุกมุม" โดยเพลงนี้ได้ร้องคู่กับ พี่ปู (พงษ์สิทธิ์ คำภีร์)
ปี พ.ศ. 2562 ได้ออกซิงเกิลฮิต "ยังคง"
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โปเตโต้ออกซิงเกิล "ทำนองที่มีเธอ" ซิงเกิลแรกในอัลบั้มที่ 8 Friends ซึ่งซิงเกิลนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เนื้อติดมัน ที่เปิดโอกาสให้แฟนเพลงร่วมส่งเนื้อเพลง ในอัลบั้มนี้ยังมีการเปิดตัว อั้ม (เกียรติยศ มาลาทอง) คีย์บอร์ด ในฐานะสมาชิกอย่างเป็นทางการ
จะเห็นได้ว่า ยังมีอีกหลายวงพอสมควรที่ผมไม่ได้พูดถึง เนื่องด้วยบางวงไม่สามารถหาข้อมูลได้ หรือถึงมีก็น้อยมาก แต่ก็อย่างที่รับปากไว้ตั้งแต่บทความก่อน ๆ ว่าผมจะรวบรวมวงดนตรีร็อกยุค 90s ที่ตกหล่นไป เอามาเขียนเป็นภาคผนวกอีกบทความหนึ่ง
สำหรับบทความหน้า แน่นอนครับว่าจะต้องเป็นวงดนตรีร็อกในยุค 2000s อย่างแน่นอน โปรดติดตามตอนต่อไปได้ครับ
ขอกำลังใจ รบกวนช่วยกดแสดงความรู้สึก กดติดตาม และคอมเม้นต์ได้ เพื่อเป็นแรงช่วยขับเคลื่อน ผลักดัน ให้เกิดกำลังใจในการผลิตบทความ รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปครับ ขอบคุณครับ🙂
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย (wikipedia)
อย่าเพิ่งตระหนกตกใจกลัวกับความตาย ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นอย่างนี้ เพราะความตายมันเดินกอดคอเคียงคู่กันมาตั้งแต่วันแรกที่เราเกิดแล้ว
I write as I think
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย