11 มี.ค. 2022 เวลา 02:52 • ปรัชญา
แนะนำตัวต่อโลก
อยากจะเปิดด้วยคำถามที่ว่า มนุษย์คนนึงจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้นานแค่ไหน
ช่วงวัยรุ่น เราเคยยึดถือแนวคิดที่ว่า ในเมื่อได้เกิดมาทั้งทีก็ต้องเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จให้ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงโลกและถูกจารึกชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์
ทำไมเราถึงคิดแบบนั้น เพราะเราอยากเป็นที่ยอมรับ และเส้นทางนั้นก็เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงาม เราจึงเห็นว่ามันดีงามตามไปด้วย
มนุษย์ไม่ได้นิยามสิ่งต่างๆ ตามที่ตนเข้าใจหรือตามที่เราอยากให้เป็น มนุษย์นิยามสิ่งต่างๆ ผ่านความเห็นของมนุษย์คนอื่นด้วย มนุษย์ไม่อยากถูกเกลียด มนุษย์อยากเป็นที่ยอมรับ มนุษย์อยากมีตัวตน อยากได้รับความสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องสามัญอยู่แล้ว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (มนุษย์ในที่นี้หมายถึงผู้เขียน)
ในทางตรงกันข้าม
มันเป็นเรื่องผิดรึเปล่าที่เราจะทำเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นดีเห็นชอบด้วยกับสิ่งที่เราทำ
เรากำลังพูดถึงขอบเขตของความถูกผิด
ถ้าเราชอบความรุนแรงก็ไม่ได้หมายถึงให้ฆ่าคนได้ มันมีวิธีที่เราใช้ความรุนแรงและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมได้ เช่น กีฬาต่อสู้
ถ้าเราเห็นข้างบ้านแก้ผ้า ใช้โซ่ล่ามกันบนเตียงแล้วใช้แส้ฟาดกันอย่างฟิน เราคงไม่กระโดดเข้าไปช่วยหรือโทร 191
เราเชื่อว่าบนโลกนี้ไม่มีความถูกผิดที่สมบูรณ์โดยตัวมันเอง ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ เรานิยามตามภาษาของมนุษย์ด้วยกันเอง ตัวเราจึงเลิกที่จะมองหาความถูกผิดสมบูรณ์ เพียงแต่พยายามมองให้เห็นถึงโครงสร้างของความถูกผิดว่ามันทำงานยังไง
มนุษย์คนนึงจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้นานแค่ไหน ?
คงไม่เกิน 60 ปีสำหรับเราและอาจสั้นกว่านั้น
เมื่อมองชีวิตให้กว้างอีกหน่อย เราก็เป็นแค่มนุษย์คนนึงในครอบครัว ครอบครัวนึง
ในโรงเรียน โรงเรียนนึง
ในมหาลัย มหาลัยนึง
ในจังหวัด จังหวัดนึง
ในประเทศ ประเทศนึง
ในยุค ยุคนึง
ในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์นึง
ในโลก โลกนึง
ในกาแล็กซี่ กาแล็กซี่นึง
ในบิ๊กแบง บิ๊กแบงนึง
ตอนที่เราเรียนวิชาปรัชญา เรารู้สึกทึ่งกับองค์ความรู้อย่างมาก ความทะนงตนหายไปพร้อมกับความรู้ใหม่ราวกับขายวิญญาณเพื่อแลกกับการได้เรียนรู้ เรื่องที่ตัวเองคิดว่ามันเจ๋ง เขารู้กันตั้งเป็นพันปีแล้ว แท้จริงความเป็นตัวเราอาจจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลยเมื่อเทียบกับความเป็นไปของโลกนี้
2
เมื่อรู้ได้ดังนั้นเราจึงนิยามชีวิตที่หลงเหลืออยู่บนโลกใหม่
แต่มนุษย์คนนึงไม่สามารถรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีกว่าอะไรแย่กว่า จนกว่ามนุษย์คนนั้นจะมีความรู้ใหม่เพื่อใช้เปรียบเทียบของเดิม เราไม่ต้องการหาคนถูกหรือฝ่ายผิด ไม่ต้องการความเหนือกว่าหรือด้อยกว่า การถกเถียงด้วยหลักเหตุผลจึงไม่มีความหมายสำหรับเรา
เรานิยามสิ่งต่างๆ เพราะเข้าใจความเป็นปัจเจก มันอาจจะผิดแต่เราก็จะมองว่ามันถูก เพราะมันเป็นปัจเจกที่ไม่ได้มีความหมายอะไร
เราเป็นใคร คือสิ่งที่เรานิยามตัวเอง
เรากำลังทำอะไร คือพฤติกรรมของเรา
เราจะไปที่ไหน คือจุดหมายที่หวังว่าจะได้อะไรสักอย่างเมื่อไปถึง
(เราเป็นใคร) ตั้งแต่เกิดมาเราก็นิยามสิ่งต่างๆ ตามที่เราถูกสอนหรือมีประสบการณ์เอาตัวรอดมา เราไม่รู้ตัว เพราะมันแนบเนียนมาตั้งแต่แรก เนียนยิ่งกว่าเนียน มันกลายเป็นตัวเรา กลายเป็นนิสัยของเรา เราเป็นอะไรบางอย่างของคนอื่นเสมอ และคนอื่นก็เป็นอะไรบางอย่างของเราเสมอเช่นกัน
เราต้องเป็นอะไรสักอย่าง เราจะเลือกที่จะไม่เป็นไม่ได้ หากเราไม่อยากทำอะไรเลย เราจะเป็นคนขี้เกียจสำหรับคนอื่น ส่วนจะเป็นคนขี้เกียจสำหรับตัวเองไหมนั้นขึ้นอยู่กับนิยาม แต่การเป็นอะไรบางอย่างเราจะเลือกเอาแต่ข้อดีอย่างเดียวไม่ได้ มันจะมีสิ่งที่ไม่อยากทำหรือข้อเสียซึ่งต้องเอาทั้งสองทาง
1
(เรากำลังทำอะไร) เราดำเนินชีวิตตามที่มนุษย์คนอื่นเห็นดี ผ่านนิยามของสังคมที่คอยตัดสินเราว่าอะไรควรอะไรไม่ควร บางครั้งเราก็เปลี่ยน บางครั้งเราก็ไม่ เราจำแนกพฤติกรรมมนุษย์ไว้หลายรูปแบบ มีหนังสือหลายเล่ม อาจารย์หลายคน ศึกษากันแต่เรื่องเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสนองสิ่งที่มนุษย์อยากได้ ทั้งหมดก็เพื่อดำเนินไป
(เราจะไปที่ไหน) จุดหมายที่ตัวเราตั้งขึ้นมาเอง บางครั้งปมด้อยในอดีตก็ตั้งให้เรา เราคิดว่าจะได้ความสุขที่ยิ่งใหญ่เมื่อไปถึงมัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่แสวงหาความสุข
มีคนที่ไปไม่ถึงเพราะตายก่อน
มีคนที่ไปถึงแล้วตั้งเป้าหมายใหม่
มีคนที่ไปถึงแล้วมีความสุข
มีคนที่ไปถึงแล้วไม่มีความสุข
มีคนที่มีความสุขระหว่างทางไป
และก็มีเท่าที่จะนึกได้ แต่มันก็จะมี
1
เวลาที่เราดูหนัง เราจะรู้สึกเกลียดหรือรักตัวละครในหนัง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนเขียนบทแต่งเรื่องไว้ยังไง จะแต่งให้คนรักก็ได้ จะแต่งให้คนเกลียดก็ได้
เราต่างแต่งชีวิตของเราเอง นิยามสิ่งต่างๆ ตามแต่ที่ตนเข้าใจ เราเลือกเอาที่มันชอบใจขั้นที่สุด
สุดท้ายก็ไม่พ้นเรื่องชอบไม่ชอบ เราเข้าหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ ไม่ต่างจากคนอื่น เพียงแต่อยู่ในรูปแบบของตัวเอง คงเป็นอะไรบางอย่างที่สร้างขึ้นมาเพื่อนับถืออยู่คนเดียว. .
เมื่อรู้ได้ดังนั้นเราจึงนิยามชีวิตที่เหลืออยู่บนโลกไปตามกฎเกณฑ์ที่เราสร้างขึ้นมาเอง แต่รูปร่างหรือตัวดำเนินเรื่องยังเป็นแบบมนุษย์และโลกอยู่ เพียงแต่วิธีเล่นต่างออกไป.. .
[ความหมายของรูปภาพในตอนต้น]
กระดูกแทนตัวตนที่หลงเหลืออยู่ (มันคงอยู่ถึงแม้ชีวิตจะตายไป)
ผีเสื้อแทนความคิด (มันสวยงามแต่ก็ตายไว)
เราไม่คิดว่า “ความคิด” เป็นของเราหรอกนะ
สิ่งที่เราสามารถคิดได้นั้นไม่ใช่ของเรา
ความคิดเป็นเพียงสิ่งที่หยิบยืมมา
ไม่ใช่ตัวตนที่เราต้องยึดติด
สุดท้ายแล้ว
เราก็ไม่เชื่อว่าเราถูกหรอกนะ เพราะวันนึงเราจะเปลี่ยนความถูกที่เคยเชื่ออย่างที่ผ่านๆ มา เพียงแค่รับรู้ว่าตัวเองกลวง นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับเรา.. .
โฆษณา