11 มี.ค. 2022 เวลา 06:33 • ปรัชญา
ข้อเสียของการฟัง ‘คน’ พูด
“หัดฟังคนอื่นบ้างสิ อย่าเอาแต่ความคิดของตัวเองคนเดียว”
ประโยคคลาสสิกที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ แม้ทุกวันนี้จะมีการสนับสนุนให้ฟังตัวเองก่อนก็ตาม
แต่หากต้องทำงานกับคนหมู่มากย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องรับฟังคนอื่น หรือแม้แต่การรับข่าวสารจากช่องทางหรือบุคคลใดก็ตาม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราเลือกฟังโดยไม่รู้ตัว
“แม่บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าอย่าวางของเกะกะ ทำไมไม่ฟังแม่เลย”
“ฉันบอกแล้วว่าเพื่อนคนนี้คบไม่ได้ คุณก็ไม่ฟัง”
“คุณคิดว่าคุณถูกอยู่คนเดียว แต่ไม่เคยฟังผมเลย”
สังเกตได้ว่าประโยคเหล่านี้คำว่า ‘ฟัง’ ไม่ใช่แค่ปล่อยให้เสียงของอีกฝ่ายผ่านหู
แต่หมายถึงการใช้สติพิจารณาถึงเหตุผล อะไรผิด อะไรถูก ควรหรือไม่ควร
.
.
‘การฟัง’ ไม่ใช่แค่ ‘การได้ยิน’
การฟัง คือ การรับสารแล้วนำไปพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติอย่างเป็นกลาง
ถ้าจะใช้ภาษาโบราณหน่อยก็คือ “อย่าหลับหูหลับตาแล้วตัดสินเลย”
แต่เผลอเมื่อไหร่บางทีใจก็ตัดสินไปแล้วโดยลืมพิจารณา
เพราะปัจจัยที่ทำให้เราเลือกจะฟังหรือไม่ฟังไม่ก็คือ...ใครเป็นคนพูด
หลายคนเลือกที่จะไม่ยอมฟัง เพียงเพราะอีกฝ่ายคือคนที่เราไม่ชอบ เลยกลายเป็นว่าเราปิดกั้นการฟังไปแล้วโดยไม่พิจารณาเนื้อหาที่เขาพูด
.
.
จริงอยู่...อีกฝ่ายอาจจะเป็นคนไม่ดีในสายตาเรา แต่อย่าลืมว่าไม่มีใครไม่ดีตลอด 24 ชั่วโมง
ใช่...เขาอาจจะเป็นคนที่รสนิยมต่างจากเรา เป็นขี้เมา หรือแม้กระทั่งเป็นฆาตรกรฆ่าหั่นศพ
แต่ไม่มีใครกระทำสิ่งนี้ได้ตลอดเวลา
เป็นไปไม่ได้ที่คนจะฆ่าหั่นศพโดยไม่พักกินข้าวหรือไม่หลับไม่นอน อย่างน้อยตอนกินข้าวและตอนนอนหลับ เขาก็เป็นแค่คน ๆ หนึ่ง
นั่นหมายความว่า....
คนทุกคนมีดีและแย่ปะปนกันในตัวเอง
ไม่มีใครดีทั้งหมด หรือแย่ทั้งหมด...แม้แต่ตัวเราก็เช่นกัน
ดังนั้นหากเราจะเลือกฟังเพียงเพราะผู้พูดเป็นใคร อาจทำให้เราพลาดแง่คิดดี ๆ ไปอีกมุม
สรุปแล้ว...
การฟัง ‘คน’ พูด อาจไม่ได้ประโยชน์เท่ากับฟัง ‘เนื้อหา’ ที่พูด
สาระสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ “เขาเป็นใคร? ”
แต่อยู่ที่ “เขากำลังพูดอะไร? ”
หากฟังโดยพิจารณาตามเนื้อหาและตัดอคติส่วนตัวออกไป จึงจะได้รับสารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โฆษณา