Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กระทรวงการต่างประเทศ
•
ติดตาม
11 มี.ค. 2022 เวลา 10:01 • คริปโทเคอร์เรนซี
Web3 และอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัล
บิตคอย (Bitcoin) บล็อกเชน (Blockchain) และเมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติคำในภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” นวัตกรรมเหล่านี้กำลังเป็นที่จับจาตามองอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. ๒๐๔๐ (Putrajaya Vision 2040) ของเอเปค ที่มุ่งใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อสร้างประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง การจำหน่าย และการลงทุน
ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ภายใต้แนวคิดหลัก “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ไทยพร้อมเปิดพรมแดนเศรษฐกิจดิจิทัล และเชื่อมโยงสมาชิกเขตเศรษฐกิจเข้าหากัน กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับบริษัท Zipmex ถือโอกาสนี้ร่วมพูดคุยและหาแนวทางในการนำประเทศไทยไปสู่แนวหน้าของพื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัลแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
(ซ้าย) ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO บริษัท Zipmex (ขวา) นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ปัจจุบันเรากำลังจะก้าวสู่อินเทอร์เน็ตยุค ๓.๐ และก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีในอดีต โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะไม่เพียงแค่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แต่สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกันได้ (Digital Asset) ผ่านการแลกเปลี่ยนแบบไม่มีตัวกลางบนระบบบล็อกเชน ซึ่งสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่า ค่าใช้จ่ายถูกกว่า และง่ายต่อการติดตามทางภาษีมากกว่า เมื่อเทียบกับการแลกเปลี่ยนในรูปแบบเดิมที่มีตัวกลางอย่างธนาคารเป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาข้อมูลผิด ซึ่งอาจเกิดได้จากฝีมือมนุษย์ (Human Error) เพราะบล็อกเชนเป็นตัวดำเนินการและตรวจสอบโดยระบบคอมพิวเตอร์
ความแตกต่างระหว่างอินเทอร์เน็ตยุค ๑.๐ , ๒.๐ และ ๓.๐
แนวทางการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ
Metaverse หรือ จักรวาลนฤมิต เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะขยายโอกาสและทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมประชาคมโลกให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นบนพื้นที่โลกเสมือน ซึ่งเราอาจใช้ข้อดีของนวัตกรรมนี้ ลดทอนข้อจำกัดทางการเดินทาง เวลา สถานที่ หรือ ความกังวลต่อโรคระบาดในอนาคต หากมีความจำเป็น โดยจักรวาลนฤมิตสามารถที่จะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพบปะหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจของสมาชิกทั้ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจของเอเปค
ในส่วนของ NFT หรือ Non-fungible token ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนได้ ไม่สามารถปลอมแปลงได้ ในเชิงกฎหมาย NFT จึงถูกใช้เพื่อการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ (Proof of Ownership) อีกด้วย และด้วยเอกลักษณ์ดังกล่าว NFT จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อแปลงสินค้าต่าง ๆ ในรูปแบบของ NFT ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพกราฟฟิค วีดีโอ และเพลง
...จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงมาก แพลตฟอร์ม NFT อย่าง OpenSea มีการบันทึกปริมาณซื้อขาย NFT ๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๑.๖๓ แสนล้านบาท) สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตามข้อมูลจาก Dune Analytics และประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคอย่างไทยและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มี NFT Adoption มากที่สุด ในบรรดา ๒๐ ประเทศที่สำรวจ ศิลปินเจ้าของผลงานสามารถทำรายได้จากการขายงานบนแพลตฟอร์มนี้ได้ในระดับสูง ซึ่งในประเด็นนี้หากได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้อง Creator Economy (แพลตฟอร์มที่ให้ผู้สร้างคอนเทนต์เข้าไปสร้างเนื้อหา และสร้างรายได้จากความชื่นชอบและแพชชั่นของตัวเอง) จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ เป็นพื้นที่ทางการค้าการลงทุนที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ และไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการแบบเดิม
คุณสมบัติเด่นของ NFT
สำหรับประเทศไทยเอง มีหลายหน่วยงานที่พร้อมอ้าแขนรับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตยุค ๓.๐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่พร้อมเป็นหนี่งในตัวแสดง หรือผู้เล่น ของเวทีสกุลเงินดิจิทัล โดย ธปท. ได้เตรียมปล่อยสกุลเงินบาทดิจิทัล (CBDC) เป็นสกุลเงินที่ออกและควบคุมโดย ธปท. ส่วนทาง ททท. เองก็เตรียมเปิดตัว TAT Coin เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยุคใหม่
นอกจากภาคเศรษฐกิจแล้ว ภาคส่วนอื่น ๆ ก็จะได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตยุค ๓.๐ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ภาคการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดตัววิทยาเขตแห่งใหม่บนจักรวาลนฤมิต (Thammasat Metaverse Campus) เพื่อยกระดับประสบการณ์ และขยายโอกาสทางการเรียนรู้ ไปสู่ยุคของการศึกษารูปแบบใหม่ที่เหนือกว่าการเรียนในห้องเรียน
หลังจากที่เราได้เห็นถึงความกระตือรือร้น และการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ความฝันที่จะเห็นประเทศไทยไปยืนอยู่ในแนวหน้าของสมรภูมิเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคก็อาจจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
nft
apec
bitcoin
9 บันทึก
5
15
9
5
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย