11 มี.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป โครงสร้างราคาน้ำมันไทย เราจ่ายเงินให้ใครบ้าง ?
ไม่นานมานี้ เราน่าจะได้เห็นใครหลายคนแชร์ราคาน้ำมันวี-เพาเวอร์
จากปั๊มเชลล์ ทะลุ 50 บาทต่อลิตร ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมา
2
แต่โดยเฉลี่ยแล้วในปีนี้ หากเราเติมน้ำมัน ก็ยังคงแพงขึ้นราว 60%
ซึ่งก็น่าจะกระทบกับชีวิตประจำวันทั้งกับเรา และอีกหลายธุรกิจ
3
แล้วเคยสงสัยไหมว่า น้ำมัน 1 ลิตร ที่เราจ่ายไปนั้น เงินได้กระจายไปอยู่ที่ใครบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
ราคาขายปลีกนั้น แบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ
ส่วนแรกที่เราจ่ายก็คือ “ต้นทุนสินค้า” ซึ่งเป็นราคาของน้ำมันสำเร็จรูป โดยคิดจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นนั่นเอง ตรงนี้จะอ้างอิงตามราคาตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าใหญ่ของภูมิภาคเป็นหลัก
2
ส่วนนี้ราคาจะขึ้นลงตามราคาน้ำมันดิบโลกและค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมัน
1
ส่วนต่อมาก็คือ “ส่วนที่เราต้องจ่ายให้กับรัฐ” ในรูปแบบของภาษีและเงินสมทบทุนกองทุนต่าง ๆ ประกอบไปด้วย 6 ส่วนด้วยกัน ซึ่งมักเป็นอัตราคงที่ มีการปรับบ้างตามนโยบายในแต่ละช่วง
1
- ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีที่ภาครัฐเก็บจากสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยที่ผลิตหรือนำเข้า ซึ่งก็รวมถึงน้ำมัน โดยภาษีนี้จะถูกนำไปเป็นงบประมาณของภาครัฐ
1
- ภาษีเทศบาล ซึ่งคิดเป็นอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่ภาครัฐเก็บเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่จังหวัดที่โรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่
1
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกองทุนนี้ จัดตั้งเพื่อนำเงินไปรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในประเทศ
3
ในช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น รัฐจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชยเพื่อไม่ให้ราคาปลีกในประเทศสูงขึ้นมาก และในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลง กองทุนนี้ก็จะเก็บเงินค่าชดเชยกลับมาเข้ากองทุน
- กองทุนอนุรักษ์พลังงาน กองทุนที่จัดตั้งเพื่อนำเงินไปใช้ขับเคลื่อนงานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมไปถึงการนำเงินกองทุนไปใช้พัฒนาระบบขนส่ง สร้างถนน และการให้ทุนการศึกษาด้านพลังงานด้วย
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่อัตราร้อยละ 7 ของราคาขายส่ง เป็นภาษีที่เก็บโดยภาครัฐจากการขายสินค้าและบริการทุกชนิด เพื่อนำมาเป็นงบประมาณของภาครัฐ
และส่วนสุดท้ายก็คือ “ค่าการตลาด” ซึ่งจะมี VAT ของค่าการตลาดอีกด้วย
ค่าการตลาดก็คือ ส่วนต่างของราคาน้ำมันค้าปลีก หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กล่าวมา ซึ่งนับเป็นผลตอบแทนของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน
1
ซึ่งถ้าถามต่อไปอีกว่า ส่วนนี้คือกำไรสุทธิของสถานีบริการน้ำมันเลยไหม ก็ต้องตอบว่ายังไม่ใช่
1
เนื่องจากต้องนำมาหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจก่อน อย่างเช่น ค่าเช่าที่ดิน ต้นทุนสิ่งปลูกสร้าง ค่าขนส่ง ค่าน้ำไฟ ค่าจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ถึงจะเหลือเป็นกำไรสุทธิของผู้ประกอบการ
1
ทีนี้เรามาดูตัวโครงสร้างของราคาน้ำมันในความเป็นจริง
ตัวแรก ก็คือ ดีเซล
ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมากในภาคการขนส่ง
ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 ราคา 29.94 บาท
ราคาหน้าโรงกลั่น 37.06 บาท
ภาษีสรรพสามิต 3.2 บาท
ภาษีเทศบาล 0.32 บาท
กองทุนน้ำมัน -11.29 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.05 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า -1.315 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด -0.09 บาท
3
ซึ่งต้องบอกก่อนว่าช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงสถานการณ์ปกติ อย่างที่ทุกคนรู้ว่าเกิดสงครามขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้นมาก แถมยังมีความผันผวนสูง
ทำให้มีการพยายามตรึงราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจและประชาชนมากนัก
ตรงนี้เราจะสังเกตได้ว่า มีตัวเลขที่เป็นลบ อยู่ 3 ตัว คือ กองทุนน้ำมัน ค่าการตลาดของผู้ค้า และภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด แล้วแต่ละตัวมันมีความหมายว่าอย่างไร ?
ตัวแรกที่เป็นลบคือ กองทุนน้ำมัน
หมายถึง รัฐช่วยจ่ายให้เราเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 11.29 บาทต่อลิตรที่เราเติม
ตามนโยบายอุดหนุนการใช้น้ำมันดีเซลของรัฐบาล
2
ตัวต่อมาคือ ค่าการตลาดของผู้ค้า
1
หมายถึง ผู้ประกอบการไม่ได้อะไรเลย แถมยังช่วยจ่ายให้เราอีก 1.315 บาทต่อลิตร เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายโครงสร้างราคาน้ำมันค้าปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมัน
หรืออีกความหมายก็คือ ยิ่งขายน้ำมันประเภทนี้มากเท่าไร สถานีบริการน้ำมันก็ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาดนั้น ก็อ้างอิงตามค่าการตลาด
ทีนี้ เรามาดูโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน กันบ้าง
คราวนี้จะเทียบให้ดูสองตัวคือ แก๊สโซฮอล์ 95 และ E85
1
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 ราคา 40.15 บาท
ราคาหน้าโรงกลั่น 30.5 บาท
ภาษีสรรพสามิต 5.85 บาท
ภาษีเทศบาล 0.585 บาท
กองทุนน้ำมัน 1.02 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.66 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า -0.4460 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด -0.03 บาท
17
น้ำมัน E85 ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 ราคา 32.34 บาท
ราคาหน้าโรงกลั่น 26.84 บาท
ภาษีสรรพสามิต 0.975 บาท
ภาษีเทศบาล 0.0975 บาท
กองทุนน้ำมัน -4.53 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.64 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า 6.84 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด 0.48 บาท
เมื่อเทียบกันทั้งสองตัวนี้ เราจะเห็นว่าผู้ที่เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จะเป็นผู้จ่ายสมทบทุนเข้ากองทุนน้ำมัน ส่วนผู้ที่เติมน้ำมัน E85 นั้น จะมีกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยพยุงราคาเอาไว้
ต่อมาคือ ภาษีสรรพสามิตของ E85 ถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการผสมเชื้อเพลิงเอทานอล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐในสัดส่วนที่สูงกว่า จึงได้อัตราภาษีที่ดีกว่ามาก
และสุดท้ายก็คือ ค่าการตลาด ซึ่งปกติแล้วก็มักจะเป็นบวกทั้งคู่ เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการ แต่อย่างที่บอกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกในตอนนี้ไม่ปกติ
จากตัวเลขนี้ เราจะเห็นว่าผู้ประกอบการจะได้ค่าการตลาดจากการเติมน้ำมัน E85 เพื่อมาชดเชยส่วนที่มีค่าการตลาดติดลบให้กับผู้เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันที่ขายหน้าสถานีบริการน้ำมันในบ้านเรา
ซึ่งเราก็สามารถสรุปได้ว่า แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปสูงอย่างรวดเร็ว
ถ้าไม่นับสต็อกน้ำมันเดิมในสถานีบริการน้ำมันที่ค้างอยู่
การค้าปลีกน้ำมันในช่วงนี้ มันก็อาจไม่ได้สร้างกำไรอย่างมหาศาลให้กับเจ้าของสถานีบริการน้ำมันแต่อย่างใด.. แถมผลลัพธ์ของมันอาจตรงข้ามเสียอีก
2
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ล่าสุดเงินในกองทุนน้ำมันที่ช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน “ได้หมดลงแล้ว” และอยู่ในฐานะการเงินที่มีมูลค่าติดลบประมาณ 20,000 ล้านบาท กล่าวคือ กองทุนต้องกู้ยืมเงินจากรัฐบาลมาช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันเพิ่มเติม
5
หมายความว่าในอนาคต ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดลงแล้ว ราคาน้ำมันค้าปลีกในบ้านเราก็อาจไม่ได้ลดลงตามอีกสักระยะ เพราะต้องคอยชดใช้ในสิ่งที่กองทุนได้กู้ยืมเงินมา
1
ซึ่งก็น่าคิดว่าหากสถานการณ์ความขัดแย้งยังคงไม่สิ้นสุด
ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มจะยังคงแพงอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรกับกองทุนน้ำมันนี้
และถ้ากองทุนน้ำมันนี้แบกรับหนี้สินต่อไปไม่ไหว
ในวันนั้น ราคาน้ำมันค้าปลีกในบ้านเรา จะแพงขึ้นขนาดไหน..
4
โฆษณา