12 มี.ค. 2022 เวลา 04:52 • ประวัติศาสตร์
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง : ผู้รักษา ผู้ทำลาย และผู้รังสรรค์อยุธยาขึ้นใหม่
วัดไชยวัฒนาราม สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากสมเด็จพระนเรศ หรือ สมเด็จพระนารายณ์ ที่ได้รับการขนานนามให้เป็นมหาราช มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและสร้างความรุ่งเรืองให้กับกรุงศรีอยุธยา หนึ่งในนั้นมีชื่อ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง
วัยรุ่นเลือดร้อนจากบางปะอิน
พื้นเพเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นบุตรขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีศักดิ์เป็นพระญาติในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยบรรพบุรุษของพระเจ้าปราสาททองเป็นคนบ้านบางปะอิน และเข้ารับราชการในราชสำนักตั้งแต่พระชนม์ 13 พรรษา
หนึ่งในพระประธานวัดชุมพลนิกายาราม นิวาสสถานสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
วีรกรรมที่โดดเด่นเมื่อครั้งพระเจ้าปราสาททองยังเจริญพระชนม์ 18 พรรษา สมัยดำรงตำแหน่งจมื่นศรีสรรักษ์ คือ การรวบรวมพรรคพวกเข้าไปทำร้ายพระยาแรกนาในพระราชพิธีพืชมงคล ทำให้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกริ้วจนขู่ประหารชีวิตออกญาศรีธรรมาธิราช ผู้เป็นบิดา จมื่นศรีสรรักษ์จึงออกมารับโทษจองจำ 5 ประการ (แขน ขา และคอ) และถูกจับขังคุกสักระยะหนึ่ง จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ พระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรทูลขอพระราชทานอภัยโทษ จึงได้รับการปล่อยตัว จากนั้นไม่นานก็ก่อเรื่องลอบปลงพระชนม์พระศรีศิลป์และพระองค์ทอง จนถูกพระเจ้าทรงธรรมคว้าพระแสงดาบญี่ปุ่นไล่ฟันจนบาดเจ็บก่อนถูกส่งเข้าคุกอีกครั้ง
ค.ศ.1622 พระเจ้าไชยเชษฐาที่ 2 แห่งกัมพูชาที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม พยายามแข็งข้อกับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมจึงส่งกองทัพปราบปราม จมื่นศรีสรรักษ์ขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อร่วมศึกกัมพูชาซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อของ “เสียมจังกาง” (ตามชื่อของภูเขาพนมจังกาง จังหวัดโพธิสัตว์) แม้จะไม่สามารถยึดกัมพูชากลับมาคืนมา แต่จมื่นศรีสรรักษ์ได้รบพุ่งอย่างสุดความสามารถ และเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับศิลปกรรมในกัมพูชา จนได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น “จมื่นสรรเพชญ์ภักดี” ครั้งพระชนม์ได้ 22 พรรษา
แต่แล้วจมื่นศรีสรรักษ์ก็ก่อเรื่องเป็นชู้กับพระชายาของพระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมจนเกือบถูกประหารชีวิต แต่พระราชมารดาและออกญาศรีธรรมาธิราชทูลขอลดโทษเป็นจำคุกลอดชีวิต แต่จำคุกได้เพียง 3 ปีก็กลับมารับราชการอีกครั้ง
ผู้รักษาเพื่อรอวันทำลาย
การกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งในพระชนม์ 25 ปี ทำให้จมื่นสรรเพชญ์ภักดีมีความรับผิดชอบและการประพฤติดีขึ้น จนได้รับพระราชทานตำแหน่ง “ออกญาศรีวรวงศ์” ผู้ดูแลรักษาพระราชวัง ทำหน้าที่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสด็จสวรรคตในเดือนธันวาคม ค.ศ.1628 ออกญาศรีวรวงศ์ทำหน้าที่รักษาราชบัลลังก์เพื่อส่งทอดจากพระเจ้าทรงธรรมไปยังพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสในพระเจ้าทรงธรรมเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมขจัดศัตรูของพระเชษฐาธิราชอย่างพระศรีศิลป์ จนได้พระราชทานตำแหน่งเป็น “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ขุนนางผู้มีอำนาจสูงสุดในราชสำนัก
แต่แล้วความทุ่มเทที่ให้ กลับทำให้พระเชษฐาธิราชไม่ไว้วางใจ เพราะขุนนางให้ความเคารพนับถือออกญากลาโหม จนนำไปสู่การรัฐประหาร ค.ศ. 1630 พร้อมอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาในพระเชษฐาธิราช ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่พระอาทิตยวงศ์ไม่สามารถว่าราชการได้ ออกญากลาโหมจึงขอมติจากบรรดาขุนนางในถอดพระอาทิตยวงศ์ออกจากความเป็นกษัตริย์ และมอบราชบัลลังก์ให้ออกญากลาโหมปกครองในพระนาม “สมเด็จพรเจ้าปราสาททอง” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1630 ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์สุโขทัยที่ปกครองอยุธยาได้ 61 ปี กับกษัตริย์ 7 พระองค์
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ออกญากลาโหมสุริยวงศ์
ผู้รังสรรค์อยุธยาขึ้นใหม่
เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษกและลบศักราชเพื่อสร้างความชอบธรรม สร้างวัดชุมพลนิกายารามบนพื้นที่บ้านบรรพบุรุษของพระองค์ สร้างวัดไชยวัฒนารามบนพื้นที่บ้านของพระองค์ สร้างพระที่นั่งศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงค์ ตามชื่อกรุงยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อในภายหลังเป็น “พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์”
รวมไปถึงการถ่ายแบบปราสาทบาปวนเพื่อสร้างปราสาทนครหลวงเพื่อพักประทับแรมครั้งเสด็จสักการะพระพุทธบาท ซึ่งวัดไชยวัฒนาราม พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ และปราสาทนครหลวง ล้วนเป็นการก่อสร้างที่มีแบบอย่างและแผนผังมาจากศิลปะกัมพูชาที่พระองค์เคยทอดพระเนตรเมื่อไปทำสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1622 นอกจากนี้ ความเชื่อทางจักรวาลวิทยาแบบฮินดูที่ได้รับจากเขมรยังส่งผลการสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพและการแห่พระบรมศพ ยังปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจนในสมัยของพระองค์ ซึ่งส่งต่อมาถึงปัจจุบัน
ในทางพระพุทธศาสนา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์และพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ (ปางทรมานพญามหาชมพู) เพื่อหวังจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานวัดหน้าพระเมรุ
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่สร้างพระที่นั่งนอกเกาะเมืองอยุธยาเพื่อแปรประราชฐานในฤดูร้อน ได้แก่ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ใกล้วัดชุมพลนิกายาราม ซึ่งการสร้างที่ประทับนอกเมืองนี้ส่งผลต่อการสร้างพระราชวังเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อีกด้วย
ตลอดระยะเวลาที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระชนม์ชีพ พระองค์ได้ผ่านสถานะการเป็น “ผู้รักษาราชบัลลังก์” สู่บทบาท “ผู้ทำลายราชวงศ์” และกลายเป็น ”ผู้สร้าง” รากฐานของศิลปกรรม, สถาปัตยกรรม และพิธีกรรม ดังที่เราได้พบเห็นในปัจจุบัน
ภาพแผนที่กรุงศรีอยุธยาโดยโจฮันเนส วิงบูนส์ และสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ที่มา
- ศานติ ภักดีคำ ดร.,เขมรรบไทย.กรุงเทพฯ:มติชน.2554.
- ศิลปากร, กรม, ประชุมพงศาวดารภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพงษ์ทอง ทองเจือ ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ 5 กันยายน พุทธศักราช 2515

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา