13 มี.ค. 2022 เวลา 04:55 • ข่าว
ชันสูตรศพซ้ำ จะได้อะไร ?
Image by kalhh from Pixabay
🍉🍉🍉 จากข่าวเห็นว่าจะมีการขอชันสูตรศพซ้ำคดี "แตงโม" เลยอยากรู้ว่าทางผู้ขอนั้นติดใจประเด็นใด และได้หาข่าวที่เกี่ยวข้อง จึงพบว่า
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานทนายคลายทุกข์ ซอยรามอินทรา 52/1 นายกฤษณะ ศรีบุญพิมพ์สวย ทนายความแม่แตงโม ภนิดา ศิระยุทะโยธิน ได้เดินทางมาพบกับ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา ที่ปรึกษากฎหมายคดีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา เพื่อมารับหนังสือการขออายัดศพแตงโม เพื่อให้นางภนิดา ลงนาม ก่อนยื่นให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ เพื่อขอให้อายัดศพและทำการชันสูตรพลิกศพใหม่ โดยในใจความของร่างหนังสือนั้น มี 2 ประเด็นที่ยังสงสัยในคดี ดังนี้
1. เนื่องจากว่าข้าพเจ้า มีความเคลือบแคลงสงสัยในสาเหตุการตาย ว่าเกิดจากความประมาทหรือเกิดจากการกระทำโดยเจตนาของผู้ต้องหา และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ นอกจากนี้ สังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการตายของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ว่า เกิดจากการฆาตรกรรมหรือไม่
2. มีญาติของผู้ต้องหาบางคนเป็นญาติกับนายตำรจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ข้าพเจ้าและสังคมเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการพิสูจน์ศพของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
แม่แตงโม
การชันสูตรศพซ้ำในประเทศไทยไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในคดีนี้ แต่ในอดีตมีมาแล้วหลายคดี เช่น คดีนายห้างทอง (ปี 2548) ที่มีการชันสูตรกันถึงสามครั้ง คดี“น้องหญิง” (ปี 2561) คดี "ลัลลาเบล" (ปี 2562) เป็นต้น
ส่วนมากญาติต้องการชันสูตรศพซ้ำ เพราะ ผลการชันสูตรครั้งแรก ไม่ตรงตามที่ตน "คาดหวัง" ไว้
ซึ่งสิ่งที่คาดหวังไว้นั้น คือ "การฆาตกรรม" หากผลการชันสูตรครั้งแรกไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นฆาตกรรม ก็เตรียมตัวว่า ต้องมีการชันสูตรครั้งที่สองแน่นอน
แน่นอนว่า การชันสูตรสองครั้งหรือมากกว่าสองครั้ง สามารถทำได้ ในมุมมองของญาติเอง ย่อมต้องการความเชื่อมั่นว่า การชันสูตรครั้งแรกน่าเชื่อถือ จึงต้องอาศัยความเห็นหมอคนอื่นมายืนยัน (second opinion) ส่วนในมุมมองของแพทย์ผู้ชันสูตร ย่อมเห็นว่า เป็นการดีเพราะมีคนช่วยดูซ้ำแล้ว (แม้จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมไม่มาก) แต่ก็มีข้อจำกัดด้วย ลองฟังความเห็นของแพทย์นิติเวชดู...
กรณีการตรวจชันสูตรศพอีกครั้ง ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เนื่องจากศพจมน้ำมาแล้วกว่า 2 วัน จึงทำให้สภาพผิวหนัง และอวัยวะบางส่วนเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิม ขณะเดียวกัน เมื่อมีการผ่าชันสูตรในครั้งแรกแล้ว จะทำให้อวัยวะในร่างกายส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในลักษณะเดิม เนื่องจากแพทย์ต้องทำการตัดชิ้นเนื้อในอวัยวะนั้น ทำให้การตรวจสอบอีกรอบไม่เห็นถึงความผิดปกติของอวัยวะนั้นหลังการเสียชีวิต แต่หากนำมาชันสูตรอีกรอบจะต้องมีภาพถ่ายจากทีมชันสูตรครั้งแรก ที่เป็นถ่ายภาพถ่ายอวัยวะก่อนทำการผ่าตัดในแต่ละจุดเพื่อประกอบการประเมิน และต้องใช้ความชำนาญของแพทย์เพื่อตั้งข้อสังเกตความผิดปกติในแต่ละจุด ซึ่งรวมถึงความผิดปกติในสถานที่เกิดเหตุด้วย
นายแพทย์ทศนัย พิพัฒนโชติธรรม หัวหน้าสาขานิติเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 จากข่าว https://www.dailynews.co.th/news/846967/
ในความเป็นจริง แม้มีการชันสูตรโดยการผ่าศพครั้งแรกไปแล้ว แต่หากแพทย์นิติเวชเอง หรือตำรวจ หรือญาติ ยังมีข้อสงสัยบางประการ ก็สามารถนำศพกลับมาผ่าซ้ำได้ (เย็บไปแล้ว จึงต้องแกะด้ายที่เย็บออก หรือดูแค่บาดแผลที่ส่งสัย) ในสถาบันเดียวกัน ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาเสมอเรื่อยๆ แต่เนื่องจากคดีนี้ ญาติไม่เชื่อถือผลการผ่าของสถาบันแรก ก็เลยต้องร้องขอสถาบันอื่นเข้ามาผ่าต่อ (second autopsy หรือ Re-autopsy)
แล้วทำไมจึงชันสูตรศพซ้ำได้ ?
การชันสูตรพลิกศพทำได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 148-156
โดย ป.วิ.อ. มาตรา 148 บัญญัติว่า เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย
การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ
(1) ฆ่าตัวตาย
(2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(4) ตายโดยอุบัติเหตุ
(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
และ มาตรา 129 บัญญัติว่า ถ้าเป็นกรณีกระทำความผิดอาญา ห้ามฟ้องผู้ต้องหาไปยังศาลถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จสิ้น (กรณีฆาตกรรม)
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ ในคู่มือการดำเนินงานชันสูตรพลิกศพ กระทรวงสาธารณสุข (http://203.157.213.6/nitikarn/web/images/Manual/perform%20postmortem%202561.pdf)
อย่างกรณี "แตงโม" นั้นเข้าข่ายเป็นกรณี สงสัยตายโดยอุบัติเหตุ (เบื้องต้น) หรือตายโดยยังมิปรากฏเหตุได้ จึงเข้าข่ายกรณีตายโดยผิดธรรมชาติ ต้องชันสูตรพลิกศพ (โดยทั่วไป พบศพในน้ำอย่างกรณีนี้ มักจะเข้าข้อ 3 หรือ 4 ไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ว่าไม่ใช่ และกฎหมายมาตรา 148 นี้ก็ไม่ได้ระบุพฤติการณ์ว่าต้องเป็นตามนี้ จริงๆ เพราะเป็นการระบุข้อบ่งชี้เบื้องต้นเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการชันสูตร ส่วนเมื่อชันสูตรแล้วพฤติการณ์ที่ตายจะเป็นอย่างไร ก็ว่ากันอีกเรื่อง)
การชันสูตรศพก็ต้องเริ่มจาก ตรวจศพ ณ ที่พบศพ และหากยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้ (ซึ่งก็ทำให้ไม่ทราบพฤติการณ์ที่ตายด้วย) ก็ต้องส่งไปผ่าศพยังสถาบันที่มีแพทย์นิติเวชปฏิบัติงานอยู่
🔪การผ่าศพก็ถือเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอย่างหนึ่ง
โดยปกติ ก็จะผ่ากันครั้งเดียว ตามอำนาจของกฎหมาย ป.วิ.อ. มาตรา 151 คือ
"ในเมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้" เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพก็คือ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนั่นเอง
หากผลการผ่าศพออกมาแล้วทุกฝ่ายพอใจ (ต้องบอกอย่างนี้จริงๆ เพราะหากไม่พอใจ ก็ไม่จบ) จะมีการสรุปสำนวนและส่งฟ้องผู้ต้องหา (หากเป็นคดีฆาตกรรมและรู้ตัวผู้ต้องหา)
แต่หากไม่จบ ก็อาจมีการผ่าศพซ้ำ โดยแพทย์นิติเวชสถาบันอื่น ก็แล้วแต่พนักงานสอบสวนจะส่งไป (ส่วนมากก็แล้วแต่ญาติต้องการ)
พนักงานสอบสวนอาจใช้ ป.วิ.อ. มาตรา 151 นี้ก็ได้ เพราะมาตรานี้ก็ไม่ได้ระบุว่าให้ส่งไปที่ไหนและส่งได้กี่ครั้ง เพราะถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนสอบสวน (คงต้องดูระเบียบตำรวจอีกที เพราะอำนาจสอบสวนนั้นขึ้นกับพื้นที่ด้วย และระเบียบอื่นๆที่ถูกกำหนดในหน่วยงานของตำรวจเอง ไม่ใช่ป.วิ.อ. ที่เป็นกฎหมายหลัก)
หรือจะใช้อำนาจตามข้อกฎหมายอื่นๆได้อีก เช่น
ป.วิ.อ. มาตรา 244 "ถ้าศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เห็นจำเป็นเนื่องในการไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณา หรือสอบสวน ที่จะต้องตรวจศพ แม้ว่าจะได้บรรจุหรือฝังแล้วก็ตาม ให้มีอำนาจสั่งให้เอาศพนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจได้ แต่การกระทำตามคำสั่งดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงหลักทางศาสนา และไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงอย่างอื่น (มาตรานี้ใช้ได้ทั้งกรณีที่มีการชันสูตรพลิกศพแล้วหรือยังไม่มีการชันสูตรพลิกศพ)
⚰ในกรณีอื่นๆที่อาจมีการขุดศพตรวจ กรณียังไม่เคยมีการชันสูตรพลิกศพและศพถูกฝังแล้วก็ทำได้ (ไม่ใช่กรณีแตงโม) คือ ป.วิ.อ. มาตรา 153 ถ้าศพฝังไว้แล้ว ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพ ขึ้นเพื่อตรวจดูเว้นแต่จะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือจะเป็นอันตรายแก่อนามัยของประชาชน เช่น หากปรากฏว่าศพหนึ่งถูกวินิจฉัยว่าตายทั่วไปตามธรรมชาติ (ซึ่งแน่นอนไม่มีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายแต่แรก) แต่ต่อมามีคนสงสัยว่าถูกฆ่า ก็อาจมีการขุดศพขึ้นมาชันสูตรได้
แต่ไม่ใช่แค่ญาติเท่านั้นที่มีอำนาจขอให้ผ่าศพซ้ำ !!!
เพราะโดยปกติขั้นตอนการตรวจศพถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 155 วรรคแรก ซึ่งเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานของฝ่ายรัฐที่เป็นโจทก์ไม่ใช่การสืบพยานของฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ดังนั้น ถ้าผู้ต้องหามีข้อระแวงว่าการชันสูตรพลิกศพจะไม่ถูกต้องและเป็นธรรม ผู้ต้องหาย่อมมีเหตุที่ต้องการจะตรวจพิสูจน์ศพโดยผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนเพื่อเตรียมหักล้างพยานโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ และ 237 ตรี ซึ่งถือเป็นการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นก่อนฟ้องคดีต่อศาลหรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่ถึงวันสืบพยานตามปกติ
ดังนั้น หากอนาคตปรากฏว่า กลายเป็นคดีฆาตกรรม และมีการจับผู้ต้องหา แล้วถูกฟ้องแล้ว (มีฐานะเป็นจำเลย) จำเลยก็อาจขอชันสูตรศพซ้ำได้อีก นี่ยังไม่จบ...
แล้วจะผ่าซ้ำไปถึงเมื่อไร อีกกี่ครั้ง เมื่อไรจะจบ ?
ก็จนกว่าจะได้ผลสรุปว่าเป็น คดีฆาตกรรม เอ้ย...ไม่ใช่
จริงๆก็จนกว่าจะคลายข้อสงสัย ที่อาจเกิดจากญาติหรือพนักงานสอบสวน (ซึ่งก็คงถูกกดดันจากสื่อและ social ทั้งหลาย) กฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพก็ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้มาก ก็ต้องเอาเรื่องการสอบสวนมาใช้ เพราะการชันสูตรพลิกศพถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน จึงนำมาใช้โดยอนุโลมได้ ในเรื่องการสอบสวนก็กำหนดไว้กว้างๆ คือ
ป.วิ.อ. มาตรา 131 บัญญัติ "ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา" เห็นไหม กว้างมากจริงๆ
ทีนี้ ลองดูกรอบเวลากำหนดบ้าง เพราะการจะพิสูจน์อะไรก็ควรคำนึงถึงเงื่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด
ในกฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ ป.วิ.อ. มาตรา 150 วรรคแรกนั้นเป็นการชันสูตรกรณีออกตรวจ ณ ที่พบศพ ซึ่งแพทย์ต้องทำรายงานชันสูตรให้เสร็จภายใน 7 วัน ขยายเวลาได้ 2 ครั้งๆละ 30 วัน (รวมเป็น 67 วัน)
แต่นั่นเป็นรายงานที่ไปตรวจ ณ ที่พบศพ ไม่ใช่กรอบระยะเวลาในการออกรายงานการผ่าศพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 152 ดังนั้น ในความเป็นจริงแพทย์ผู้ทำการผ่าศพจะออกรายงานภายในกี่วันก็ได้ ตรงนี้กฎหมายมีช่องโหว่ จริงๆจึงควรไปแก้กฎหมายกำหนดให้ชัดเจน (แต่ในทางปฏิบัติ การออกรายงานชันสูตรพลิกศพของแพทย์ก็จะใช้กรอบเวลา 67 วันโดยอนุโลมแหละ เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้าเกินควร)
จะไปเอาระยะเวลาส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพให้อัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 วรรคสี่ ก็ไม่ได้ เพราะกรณีนั้นใช้ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (สมัยก่อนเรียกวิสามัญฆาตกรรม)
ดังนั้น จะอยากผ่ากี่ครั้งก็ผ่าไปเถอะ เอาที่สบายใจ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม งบประมาณที่จะต้องใช้ ชั่งน้ำหนักกับผลที่จะได้ตามมา (ข้อเท็จจริงที่จะได้เพิ่มเติม)
เพราะการชันสูตรศพหนึ่งเคสก็ต้องมีการใช้งบประมาณของรัฐ ทั้งค่าส่ง lab ตรวจอะไรต่างๆมากมาย ค่าตอบแทนบุคลากร เป็นต้น
หากต้องชันสูตรศพซ้ำจริงๆ ก็ต้องดำเนินการแนวทางปฏิบัติในการผ่าศพ กรณีการร้องขอให้ผ่าซ้ำ (Reautopsy Guideline) ของราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
http://www.rcthaipathologist.org/album/pdf/a2bfdde241feb0cbc71ef6dc3a5964fa.pdf
จริงๆก็อยากรู้เหมือนกันว่าคดีนี้จะจบลงอย่างไร และพอคดีจบประชาชนก็คงจะรู้ได้แล้วว่า ที่ใครพูดหรือให้ความเห็นอะไรไว้ อะไรคือ "ขยะวงการ" อะไรคือ "ความเชี่ยวชาญจริง"
อ้างอิง
-"เปิด 2 เหตุผลที่ยังเคลือบแคลง ขออายัดศพ "แตงโม" ไว้ชันสูตรซ้ำ" PPTV https://www.pptvhd36.com/news/อาชญากรรม/167932
-"ญาติยอมรับผลชันสูตร ‘ลัลลาเบล’ รอบสอง..." https://workpointtoday.com/bell-7
-กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ ในคู่มือการดำเนินงานชันสูตรพลิกศพ กระทรวงสาธารณสุข (http://203.157.213.6/nitikarn/web/images/Manual/perform%20postmortem%202561.pdf)
-"‘หมอทศนัย’ชี้ชันสูตรศพ ‘แตงโม’ ซ้ำยาก น่าสงสัยร่องรอยแผลบนใบหน้า..." https://www.dailynews.co.th/news/846967/
-แนวทางปฏิบัติในการผ่าศพ กรณีการร้องขอให้ผ่าซ้ำ (http://www.rcthaipathologist.org/album/pdf/a2bfdde241feb0cbc71ef6dc3a5964fa.pdf)
โฆษณา