13 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เส้นทางของ Ferdinand Marcos ตัวร้าย ผู้เป็นพ่อของ ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
ในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงสิ้นปีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่จะกำหนดทิศทางทางการเมืองของหลายประเทศต่อไป เนื่องจากจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น
1
ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ที่เป็นการลงจากตำแหน่งของอังเกลา แมร์เคิล ส่งต่อตำแหน่งสู่นายโอลาฟ ชอลซ์
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ที่พึ่งเกิดขึ้นไปเมื่อไม่กี่วัน ได้ผู้นำคนใหม่ “ยุน ซอกยอล” เข้ามานั่งเก้าอี้บริหารประเทศ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ที่ก็ต้องจับตามองว่า คุณมาครง จะสามารถชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองได้หรือไม่
และการเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคมนี้เช่นกัน ซึ่งก็มีประเด็นสำคัญที่ถูกถกเถียงกันไปอย่างกว้างขว้าง เมื่อผู้นำในโพลสำรวจความนิยมครั้งล่าสุด “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr)” หรือชื่อเล่นที่รู้จักกันว่า “บองบอง” เป็นลูกชายคนเดียวของอดีตผู้นำฟิลิปปินส์ที่เป็นตัวร้ายในสายตาของหลายคน
บุคคลนั้น ก็คือ เฟอร์ดินาน มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องราวที่เราจะเขียนถึงในบทความนี้
📌 เส้นทางการเมืองของมาร์กอสผู้พ่อ
บทบาทสำคัญในชีวิตที่ผลักดันให้มาร์กอสผู้พ่อประสบความสำเร็จในเส้นทางการเมือง คือ การเป็นวีรบุรุษจากสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบทบาทข้างต้นนี้ก็ช่วยผลักดันให้เขาได้ดำรงตำแหน่งในรัฐสภาของฟิลิปปินส์ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปี ค.ศ. 1949-1959 และวุฒิสภาในช่วงปี ค.ศ. 1959-1965 ก่อนที่เข้าจะก้าวเข้าสู่การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1965
(เกร็ดเล็กน้อย: อย่างไรก็ดี มีเอกสารจากทางสหรัฐฯ ออกมาบอกว่า คำกล่าวอ้างทางด้านการทหารของมาร์กอสที่เขาบอกว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่กล่าวเกินจริง)
ซึ่งเขาก็สามารถเอาชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของประเทศ และดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ
ตั้งแต่ปี 1965 - 1986 ซึ่งด้วยระยะเวลาดำรงตำแหน่งที่ยาวนานขนาดนี้ ก็ย่อมมีทั้งผู้ที่ชื่นชอบและผู้ที่ชิงชังในตัวเขา
โดยโครงการสำคัญที่สร้างความนิยมให้กับมาร์กอส มักจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยแรกๆ ที่เขาเป็นผู้นำ เช่น การลงทุนในสาธารณูปโภค สร้างถนน สถาบัน โรงเรียนต่างๆ และก็มีการทำการปฏิวัติการเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่ชนบท จึงทำให้เขามีคะแนนความนิยมในพื้นที่เหล่านี้มาก และก็ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในภาวะที่ดี
ซึ่งผลงานในสมัยวาระแรก ก็ยิ่งช่วยผลักดันให้เขามีคะแนนนิยมสูงขึ้น จนชนะการเลือกตั้งกับผู้สมัครอีกถึง 11 ราย ในปี 1969 ถือเป็นการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง
และในวาระการดำรงตำแหน่งที่สองนี้ ฟิลิปปินส์ได้เห็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) มากเกินกว่า 8% ในบางปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดมา ทำให้บางคนถึงกับเรียกการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต้นของรัฐบาลมาร์กอสว่าเป็นยุคทองทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์
1
แต่ในมุมมองของฝ่ายคนที่ชิงชังมาร์กอสก็แสดงความเห็นและหลักฐานที่ตรงกันข้ามกับภาพข้างบน โดยมีเหตุผลสำคัญที่บอกว่า การบริหารบ้านเมืองในยุคของมาร์กอสนั้นเต็มไปด้วยการโกงกินจากโครงการรัฐ และการเอื้อประโยชน์ให้กับคนสนิท ซึ่งตัวเลขการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นมา ไม่ได้กระจายอย่างชอบธรรมไปสู่คนรากหญ้าอย่างแท้จริง แต่ตกอยู่กับแค่ผู้นำและคนสนิท
1
โดยมีการประเมินกันว่า อาจจะมีสินทรัพย์ที่มาร์กอสได้รับจากการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้เงินที่นำมาใช้ในการลงทุนต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นการกู้ยืมมาจากต่างประเทศ จนทำให้หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งสูง จากก่อนหน้าที่มาร์กอสมารับตำแหน่ง ฟิลิปปินส์มีหนี้สาธารณะไม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ แต่เพิ่มมาเป็น 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1985 ซึ่งเป็นปีก่อนที่มาร์กอสจะลี้ภัย
1
เมื่อมีความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็เริ่มมีเรียกร้องต่อต้านมาร์กอสมากขึ้น จนเกิดเป็นการชุมนุม ซึ่งสุดท้ายก็นำมาสู่การประกาศกฎอัยการศึก โดยในช่วงที่ใช้กฎอัยการศึกก็กินเวลากว่า 9 ปี (ค.ศ. 1972 – 1981) ซึ่งก็การวิจารณ์กันว่า ในช่วงเวลานี้ทางรัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับประชาชนที่ไม่ชอบมาร์กอส จนเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับประชาชนฝ่ายต่อต้านมากขึ้น มากขึ้น
หลังจากเผชิญกับการประท้วงที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับปัญหาทางด้านสุขภาพ สุดท้ายมาร์กอสและครอบครัวก็ได้ตัดสินใจลี้ภัยไปที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกสามปีต่อมา เขาก็ได้เสียชีวิตลงที่นั่น
มีหนึ่งวิวาทะที่เขาเคยกล่าวเอาไว้ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ ตอบคำถามเกี่ยวกับคดีคอร์รัปชั่นของเขามีใจความว่า
“ผมได้ทำบาปมามากในชีวิต แต่การขโมยเงินจากรัฐบาลหรือประชาชนนั้นไม่ใช่หนึ่งในบาปเหล่านั้นที่ผมเคยกระทำ”
(I have committed many sins in my life. But stealing money from government, from the people, is not one of them.)
Ferdinand Marcos
📌 เส้นทางการเมืองของมาร์กอสผู้ลูก
หลังจากที่มาร์กอสผู้พ่อเสียชีวิต ครอบครัวทั้งภรรยาและลูกทั้งสามก็เดินทางกลับสู่ประเทศฟิลิปปินส์แบบเงียบๆ และก็กลับเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งภรรยาที่รับวุฒิสมาชิก ลูกสาวที่รับตำแหน่งผู้ว่าการ แต่คนที่สำคัญที่สุดที่กำลังไต่เต้า และมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นผู้นำคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ก็คือ ลูกชายคนเดียวจากลูกทั้งสามคนของอดีตผู้นำ อย่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ ที่หลายคนรู้จักเขาในชื่อ “บองบอง”
 
โดยโพลสำรวจความนิยมล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 60% บอกว่าจะเลือกเขาเป็นประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้
2
โดยเขามีคะแนนนิยมนำหน้าทั้ง รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Leni Robredo รวมถึงนักชกขวัญใจชาวฟิลิปปินส์อย่างแมนนี่ ปาเกียวด้วย
 
นอกจากนี้ ผู้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่ลงคู่กัน ซึ่งเป็นลูกสาวของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Sara Duterte-Carpio ก็มีคะแนนนำหน้าอันดับสองอยู่มากกว่า 20% เช่นกัน
(ในประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จะไม่ได้ทำการเลือกตั้งพร้อมกัน ทำให้บางครั้งเราอาจจะเห็นผู้นำสูงสุดสองคนของประเทศ มาจากคนละฝ่ายได้)
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ที่ในสายตาของชาวโลกอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมคนฟิลิปปินส์ถึงได้มีคะแนนความนิยมในบุคคลที่เป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลกได้ ซึ่งบทสัมภาษณ์ชาวฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งของ New York Times เมื่อปี ค.ศ. 2016 อาจจะกำลังบอกใบ้เราคำตอบของคำถามนี้ได้พอสมควรเลย โดยมีตัวอย่างบทสัมภาษณ์ เช่น
 
“ผมคิดว่ามาร์กอส คือ ประธานาธิบดีที่ดีที่สุดที่เราเคยมี ในตอนนั้นฟิลิปปินส์เป็นผู้นำของเอเชีย และเราได้รับความเคารพ” Richard Negre ชาวเมืองมะนิลาที่ “เกิดหลังยุคของมาร์กอสผู้พ่อสองปี” แสดงความเห็นไว้
 
หรือบทสัมภาษณ์ของ Imelda Orduna คุณครูเกษียณอายุวัย 70 ปี (ณ ตอนนั้น) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสถานการณ์บ้านเมืองไว้ว่า
2
“ชีวิตมันง่ายกว่านี้ ในยุคของมาร์กอส เรามีทั้งความสงบสุขและระเบียบวินัย การคอร์รัปชั่นก็อยู่ในระดับต่ำ”
นี่เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนออกมาว่า ชีวิตหลังมาร์กอส ประเทศฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างพุ่งพรวด อาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพชีวิตของคนรากหญ้าก็ไม่ได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเท่าที่เคยมีการวาดฝันไว้ บางอย่างจะยิ่งแย่มากกว่ายุคก่อนเสียอีก เช่น ปัญหาการเจรจาที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับผู้คนในฟิลิปปินส์
และก็ได้ตั้งคำถามในใจขึ้นมาว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบที่พวกเขาเคยเรียกร้องมา มันดีจริงหรือไม่?
ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากตอนหนึ่งจากบทความของ The Diplomat โดย Sebastian Strangio ที่ได้อธิบายเรื่องราวความนิยมที่หลั่งไหลกลับเข้าสู่ตระกูลมาร์กอสได้อย่างน่าคิด โดยมีใจความแปลเป็นภาษาไทยประมาณว่า
1
“การลบล้างภาพเลวร้ายของตระกูลมาร์กอสที่เกิดขึ้นกำลังทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจให้กับแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่า ตัวระบอบนี้ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ เพียงแค่จากการอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพที่จับต้องไม่ได้เท่านั้น แต่มันจำเป็นต้องส่งความกินดีอยู่ดีให้ถึงมือของประชาชนด้วย”
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา