Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
แมงปอท่องโลก
•
ติดตาม
14 มี.ค. 2022 เวลา 19:32 • ท่องเที่ยว
Ukraine (ยูเครน)...มหาวิหารเซนต์โซเฟีย มรดกโลกแห่งเคียฟ EP.13
เมื่อเร็วๆ นี้เราอาจได้ยินชื่อของมหาวิหารเซนต์โซเฟีย (St.Sophia Cathedral) อันเก่าแก่ แห่งกรุงเคียฟอยู่บ่อยๆ เนื่องจากหลายคนเป็นกังวลว่ามหาวิหารแห่งนี้อาจถูกทำลายไปพร้อมๆ กับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังปะทุอยู่ในตอนนี้
Photo Cr.askideas.com
มหาวิหารเซนต์โซเฟียตั้งอยู่บริเวณจัตุรัสโซเฟีย ที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเคียฟ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ.1990 ถือเป็นมรดกโลกแห่งแรกของยูเครน และยังเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของยูเครนอีกด้วย
จัตุรัสโซเฟีย Photo Cr.st-sophia.org.ua
หอระฆังบริเวณทางเข้ามหาวิหารเซนต์โซเฟีย
หอระฆังสีฟ้าขาวสไตล์บาร็อกสูง 76 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1699-1706...ในปัจจุบันเป็นทางเข้าหลักของมหาวิหารเซนต์โซเฟีย สามารถเดินขึ้นไปด้านบนของหอระฆังได้ เราจะเจอระฆังใหญ่น้ำหนักประมาณ 13 ตัน ที่ถูกหล่อขึ้นในปีค.ศ.1705 และชั้นบนสุดภายใต้โดมทองได้ติดตั้งดาวสีเหลือง (Star of Bethlehem) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคริสตจักรออโธด็อกซ์
ภายในหอระฆังที่มีทางเดินขึ้นไปถึงยอดโดม Photo Cr.ukrainetrek.com
ในส่วนของตัวมหาวิหารเอง สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 ในสมัยของผู้ปกครองคนสำคัญสองคนแห่งอาณาจักรเคียฟรุส หรือคีวานรุส คือเจ้าชายวลาดิเมียร์ (ปีค.ศ.980-1015) และลูกชายของเขา เจ้าชายยาโรสลาฟ (ปีค.ศ.1016-18 และ 1019-54) ที่เป็นต้นกำเนิดของการนับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธด็อกซ์ของอาณาจักรแห่งนี้ โดยมีการทำพิธีล้างบาปหรือศีลจุ่มที่แม่น้ำ Dnipro (Dneiper)
มหาวิหารเซนต์โซเฟีย Photo Cr.askideas.com
ศาสนาคริสต์นิกายออโธด็อกซ์มีต้นกำเนิดจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล (เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นโรมันตะวันออกในสมัยนั้น
มหาวิหารเซนต์โซเฟียจึงถือเป็นศาสนสถานออโธด็อกซ์ที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรแห่งนี้ ที่นี่เคยเป็นที่พำนักของบิชอปและยังเป็นสถานที่ฝังศพของผู้ปกครองเมือง รวมถึงเจ้าชายยาโรสลาฟด้วย
มหาวิหารเซนต์โซเฟียและหอระฆังในฤดูหนาว Photo Cr.askideas.com
ด้านในของมหาวิหารมีภาพเฟรสโกโบราณที่ได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่อง ภาพโมเสก แท่นบูชา แกลลอรี่ และโลงศพหินอ่อนของเจ้าชายยาโรสลาฟ แต่น่าเสียดายที่พระศพจริงดั้งเดิม (กระดูก) ได้ถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา
มีการบันทึกว่าพระศพถูกส่งไปทำการวิจัยในปีค.ศ.1939 โดยไม่ได้รับการบันทึกว่ามีการส่งคืนจนกระทั่งปีค.ศ.1964 จากนั้นในปีค.ศ.2009 ได้มีการเปิดโลงศพอีกครั้งและพบว่ามีโครงกระดูกผู้หญิงอยู่ภายในโลง
เอกสารที่ระบุรายละเอียดการฝังศพในปีค.ศ.1964 อีกครั้งนั้น ถูกปลอมแปลงเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าพระศพของเจ้าชายยาโรสลาฟได้สูญหายไป จึงได้มีการสืบหาข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและฝังศพในครั้งดังกล่าว โดยได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนแต่เป็นไปในทางที่มีการซ่อนพระศพไว้ในช่วงที่กองทัพนาซีบุกยึดกรุงเคียฟในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และจากนั้นก็สูญหายทั้งหมด หรือถูกขโมยและส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโบราณวัตถุทางศาสนามากมายถูกเก็บรักษาไว้เพื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์
ด้านในของมหาวิหาร
ด้านในของมหาวิหาร
ด้านในของมหาวิหาร
โลงศพดั้งเดิมของเจ้าชายยาโรสลาฟ
ในส่วนของชั้นสามจะเป็นแกลลอรี่ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ภาพเฟรสโก ภาพโมเสก จิตรกรรมฝาผนังบางส่วนของมหาวิหาร ฯลฯ
โบราณวัตถุบางส่วนที่จัดแสดงในแกลลอรี่ของมหาวิหาร
มหาวิหารเซนต์โซเฟียเคยตกเป็นของมองโกลในปีค.ศ.1240 และได้ถูกละเลยจนทรุดโทรมมายาวนานหลายศตวรรษ หลายครั้งที่รอดพ้นจากการทำลายล้างอย่างหวุดหวิดผ่านสงครามและความวุ่นวายทางการเมือง
ในศตวรรษที่ 18 มีการปรับปรุงมหาวิหารให้เป็นสไตล์บาร็อก มีการขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น มีการสร้างอาคารโดยรอบและมีการตกแต่งเพิ่มเติม
Photo Cr.European Medieval Heritage FB
ในศตวรรษที่ 19 ได้เริ่มมีการบูรณะฟื้นฟูจิตรกรรมฝาผนัง กระเบื้องโมเสก รูปปั้นแกะสลัก และมีการปิดทองรูปไอคอนต่างๆ
ภาพเฟรสโกที่เป็นจิตรกรรมฝาผนังในมหาวิหารมีพื้นที่รวมกันถึง 3,000 ตารางเมตร และกระเบื้องโมเสก 260 ตารางเมตร การบูรณะซ่อมแซมและฟื้นฟูจึงกินเวลายาวนาน และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิต่างๆ มาโดยตลอด
มหาวิหารเซนต์โซเฟียในช่วงใบไม้เปลี่ยนสี
มหาวิหารเซนต์โซเฟียแห่งเคียฟ รอดพ้นจากการทำลายล้างทางศาสนาในสมัยโซเวียต และกลายเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของยูเครน ซึ่งรวบรวมความรู้และภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวยูเครนในช่วงสหัสวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม โบสถ์แห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโบสถ์จริงๆ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่ปีค.ศ.1934 แต่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาจนถึงปัจจุบัน
ในปีค.ศ.2020 มูลนิธิ Zagoriy ร่วมกับบริษัทยา Darnitsa และ InterChem ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์มหาวิหารเซนต์โซเฟียและอาคารโดยรอบ ซึ่งได้นำนวัตกรรมจากสวิตเซอร์แลนด์ที่เรียกว่า ระบบ BioDry มาใช้ปรับสมดุลความชื้นภายในอาคารที่มีมากเกินไป เป็นกระบวนการทำให้แห้งตามธรรมชาติ โดยติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถทำงานด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า
ระบบ BioDry ช่วยปรับระดับความชื้นที่เหมาะสม ยืดอายุและช่วยรักษาตัวอาคารให้สามารถคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์จนถึงคนรุ่นต่อไปได้ เทคโนโลยีนี้ใช้สำหรับฟื้นฟูโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญทั่วโลก ระบบนี้ได้รับการติดตั้งใน Palazzo Montecitorio ในกรุงโรม, พิพิธภัณฑ์ Enzo Ferrari ในโมเดนา และปราสาท Malbork ในโปแลนด์
1
ชมคลิป กดที่รูปภาพด้านล่าง 👇
youtube.com
St. Sophia of Kyiv
The Zagoriy family through Zagoriy Foundation has donated EUR 65 000 to preserve Ukrainian Saint Sophia Cathedral and the complex of adjoining monastic build...
หลังจากที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน เราก็ได้แต่หวังว่ามหาวิหารอันงดงาม อายุพันกว่าปีแห่งนี้ จะอยู่รอดปลอดภัยได้อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับชาวยูเครน
ติดตาม EP ก่อนหน้านี้ได้ที่ 👇
Ukraine (ยูเครน)...เดินเล่นบรรยากาศชิลๆ ในกรุงเคียฟ EP.12
https://www.blockdit.com/posts/622472d14519d9e7602942c4
Ukraine (ยูเครน)...ปราสาทในตำนานแห่งลวิฟ Lviv EP.11
https://www.blockdit.com/posts/620f7645b14aee8b3cbc5ee8
Ukraine (ยูเครน)...ชุมชนยิวในเมืองลวิฟ Lviv(ภาคต่อ) EP.10
https://www.blockdit.com/posts/6207a156e7a29ec63456b5a2
travel
lifestyle
culture
2 บันทึก
6
2
6
2
6
2
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย