14 มี.ค. 2022 เวลา 01:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดตสถานการณ์การลงทุน 14 มี.ค. 65 – In Brief
ภาพจาก Investing.com
ตลาดหุ้นโลก เคลื่อนไหวผันผวนท่ามกลางสงครามรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินต่อไป แม้ ปธน. Putin ของรัสเซีย กล่าวว่า การเจรจาระหว่างสองฝ่ายเริ่มมีทิศทางที่เป็นบวก แต่ถึงตอนนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าการเจรจาหยุดยิง ทำให้ความขัดแย้งประเด็นนี้จะกดดันตลาดต่อไป
สัปดาห์นี้ ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 15-16 มี.ค. ซึ่งตลาดมุ่งเป้าไปที่ “ความคิดเห็นของ Fed ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งยุโรป” รวมทั้ง “ทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต” ว่า Fed จะเร่งการขึ้นดอกเบี้ยมากน้อยขนาดไหน ถ้าได้อย่างไรแล้ว Mr. เต่า จะขอสรุปให้ฟังกันอีกครั้งครับ
สหรัฐฯ
• ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามในยุโรป โดยสภาคองเกรสผ่านงบช่วยเหลือพิเศษซึ่งรวมงบเพิ่มเติมมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อช่วยเหลือยูเครน และความกังวลว่า เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
• รมต. คลัง นาง Janet Yellen ซึ่งเป็นอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาเตือนว่า ทิศทางเงินเฟ้อในสหรัฐฯจะอยู่ในระดับสูงมากอีกปีในปีนี้จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมลรัฐมิชิแกน ปรับตัวลงในเดือน มี.ค. และเงินเฟ้อเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 40 ปีที่ +7.9%YoY
นาง Janet Yellen รมต.คลังสหรัฐฯ - ภาพจาก Washingtontimes.com
ยุโรป
• ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นสวนทางกับตลาดอื่นๆในวันศุกร์ หลังผู้นำรัสเซียและยูเครนส่งสัญญาณว่าการเจรจาเริ่มมีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในการเจรจารอบล่าสุดที่ตุรกี และรัสเซียได้ยิงอาวุธถล่มโรงพยาบาลในกรุง Mariupol ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนรวมทั้งเด็ก
• ผมยังมองว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งในยุโรปยังไม่จบ และจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นยุโรปต่อเนื่องจนกว่าจะมีการประกาศยอมแพ้หรือมีผู้เป็นตัวแทนไกล่เกลี่ยครับ**
• เหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นเดิม และส่งสัญญาณว่าจะลดการเข้าซื้อตราสารหนี้ทั้งหมดภายในไตรมาส 3 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ อย่างไรก็ตาม ECB มองสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นความเสี่ยงสำคัญที่กระทบยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั้ง เงินเฟ้อเยอรมนีเร่งตัวขึ้น และ GDPอังกฤษเร่งตัวดีกว่าคาด
ปธน. Putin ของรัสเซีย - ภาพจาก www.reuters.com/world/putin-sees-certain-positive-shifts-talks-with-ukraine-2022-03-11/
เอเชีย
• ตลาดเอเชียปิดตลาดทั้งบวกและลบ โดยตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวลง จากความกังวลการถอดหุ้นจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ (Delist) หลังจากที่ รัฐบาลสหรัฐฯประกาศรายชื่อ 5 บริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐฯผ่าน American Depository Receipts (ADR) ละเมิดกฎ Holding Foreign Companies Accountable Act (HFCAA) ไม่ส่งข้อมูลทางบัญชีให้สหรัฐฯตรวจสอบ ได้แก่ บริษัท Zai Lab, BeiGene, ACM Research, HUTCHMED และ Yum China โดยหากบริษัทไม่ส่งข้อมูลทางบัญขีให้สหรัฐฯเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน จะถูกถอดถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯทันที
• ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า จะมีบริษัทจีนอีกจำนวนมากที่เข้าข่ายถูกประกาศเพิ่มในรายชื่อในอนาคต เพราะกฎหมายจีนเองก็ห้ามบริษัทจีนส่งข้อมูลทางบัญชีให้ทางการสหรัฐฯเช่นกัน และถ้าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง คาดว่าบริษัทต่างๆจะทยอยถูกถอดจากสหรัฐฯเริ่มในปี 2024 นี้
• Mr. เต่า มองว่า ข่าวนี้กระทบ Sentiment ระยะสั้น และผลกระทบต่อบริษัทจะค่อนข้างจำกัดเพราะบริษัทใหญ่ๆในจีนหนีออกมาจดทะเบียนที่ฮ่องกงกันเยอะแล้ว เช่น Alibaba, Baidu, JD.com, Bilibili, Trip.com, Weibo, Nio และการถอดถอนหุ้นจะไม่กระทบปัจจัยพื้นฐานบริษัทเพราะ บริษัทส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าครับ
• ในทางกลับกัน ตลาดหุ้นอินเดีย ฟื้นตัวขึ้นมา +2.3% หลังราคาน้ำมันปรับตัวลง
ภาพจาก asia.nikkei.com/Business/Markets/Chinese-stocks-tumble-in-Hong-Kong-after-SEC-delisting-warning
น้ำมัน
• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง จากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างๆส่งสัญญาณพร้อมเพิ่มการผลิตน้ำมัน เพื่อควบคุมราคาน้ำมันที่แตะระดับสุดสุดในรอบ 14 ปีราว 130-140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้แรงหนุนเล็กน้อย หลังสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI สหรัฐฯ และ Brent ทะเลเหนือ อยู่ที่ 109.09 และ 112.67 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
 
• ทั้งนี้ มีการยิงจรวดมิสไซล์ 12 ลูก เข้าทำลายสถานที่สำคัญในเมือง Irbil ที่ตั้งอยู่ในแคว้นปกครองตัวเอง Kurdish โดยกลุ่มติดอาวุธ Revolutionary Guards ของอิหร่านอ้างตัวเป็นผู้ก่อเหตุ อาจเป็นแรงหนุนราคาน้ำมันได้ในระยะสั้นครับ
• ติดตาม รายงานภาวะตลาดน้ำมันรายเดือนขององค์กรด้านน้ำมันที่สำคัญ ได้แก่ OPEC และ IEA ซึ่งคาดว่า จะรายงานภาวะตลาดน้ำมันที่มีอุปทานล้นเกินต่อเนื่อง
สิ่งก่อสร้างในเมือง Erbil ได้รับความเสียหายจากการยิงมิสไซล์โดยกลุ่มติดอาวุธ Revolutionary Guard ที่สนับสนุนโดยอิหร่าน - ภาพจาก www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-13/iran-s-revolutionary-guard-said-it-conducted-iraq-missile-strike
ทองคำ
• ราคาทองคำ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว +1.2% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาทองคำขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งและร่วงลงมาท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ นักลงทุนเลือกถือครองทองคำในสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง ล่าสุด ราคาทองคำ อยู่ที่ 1,992 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์
• Mr. เต่ามองว่า สัปดาห์นี้ทองคำจะเคลื่อนไหวจากแรงส่งและแรงฉุดที่สำคัญ คือ สงครามยุโรป vs. การขึ้นดอกเบี้ย Fed ซึ่งคาดว่า สงครามในยุโรปน่าจะ “กระทบราคาทองคำมากกว่า” การขึ้นดอกเบี้ย Fed ที่ตลาดสะท้อนเข้าไปในราคาทองคำแล้วค่อนข้างมาก และทองคำจะยังเคลื่อนไหวใน “ทิศทางขาขึ้น” ต่อไปในสัปดาห์นี้ครับ
ภาพจาก CNBC.com
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีปิดเฉลี่ย -2.80%, ยุโรป STOXX600 +2.23%, จีน Shanghai -4.00%, ญี่ปุ่น -3.17%, อินเดีย Nifty 50 +2.37% และไทย -0.82%
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ GDP อังกฤษ, เงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐฯและจีน ที่เร่งตัวขึ้นในเดือน ก.พ. โดยเฉพาะเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เร่งตัวมากสุดในรอบ 40 ปีที่ +7.9%YoY จากราคาพลังงานและอาหาร, การใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Household Spending) เดือน ม.ค. ของญี่ปุ่นที่ +6.9%YoY
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้แก่ GDP ไตรมาส 4 ญี่ปุ่น ที่ขยายตัวเพียง +4.6%YoY น้อยกว่าคาด และผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) ที่เร่งตัวขึ้นเป็น 2.27 แสนราย
สิ่งที่น่าติดตาม ?
ตัวเลขสัปดาห์นี้มีค่อนข้างเยอะ และส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลขของสหรัฐฯ ดังนี้
(14 มี.ค.) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน ก.พ. ของจีน คาดว่าจะชะลอตัวลงเป็น +3.9%YoY จากเดือนก่อนที่ +4.3%YoY
(15 มี.ค.) ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) เดือน มี.ค. ของเยอรมนี คาดว่า จะลดลงเป็น 10.0 จุดจาก 54.3 จุด + ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะทรงตัวที่ +0.9%MoM
(16 มี.ค.) ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงเป็น +1.0%MoM จากเดือนก่อนที่ขยายตัวดีถึง +3.3%MoM + การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed meeting)
(17 มี.ค.) ดัชนีภาคการผลิตเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philly Fed Manufacturing Index) เดือน มี.ค. ของสหรัฐฯ คาดว่าดัชนีจะทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 15.0 จุด
(18 มี.ค.) ยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) เดือน ก.พ. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะลดลงเป็น 6.16 จาก 6.50 ล้านหลัง
ทิศทางตลาดสัปดาห์นี้ ?
ทิศทางตลาดสัปดาห์นี้ ผมมองว่า ตลาดจะยัง “เคลื่อนไหวผันผวน” และติดตามการประชุม Fed + ความขัดแย้งในยุโรปต่อไป
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เริ่มเห็นความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น Mr. เต่ามองว่า สภาวะตลาดแบบนี้ “หุ้นเติบโตจะเริ่มน่าสนใจมากขึ้น” เพราะ 1. ปรับตัวลงมาค่อนข้างเยอะ ณ ระดับปัจจุบัน (ลดลงราว -20% จากจุดสูงสุด) และ 2. มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนได้ดีในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ สามารถใช้โอกาสนี้ “ทยอยสะสมหุ้นเติบโต” เข้าพอร์ตได้บ้าง ทีละน้อยๆ เพราะคาดว่า ณ จุดนี้ ตลาดมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีกไม่มากแล้วครับ
ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น หุ้นวัฏจักร “เริ่มน่าสนใจลดลง” แต่ยังสามารถถือลงทุนต่อได้ แต่แนะนำ”รอสถานการณ์ต่างๆให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น” ก่อนจึงลงทุนเพิ่มครับ
สภาวะตลาดแบบนี้ ระมัดระวังในการลงทุนกันด้วยนะครับ
โชคดีในการลงทุนทุกท่าน รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
Mr.เต่า
**อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “Advanced Reading : สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบลงยังไง ?” วันที่ 9 มี.ค. 2022 ได้ที่ลิงค์ https://bit.ly/3tJ8Yp8 ครับ
ค้นหาบทความเต่าน้อยลงทุนผ่าน Facebook ได้อีกช่องทางที่
#อัพเดตการลงทุน #เต่าน้อยลงทุน
ติดตามเพจ “เต่าน้อยลงทุน” ได้ที่
Source: “Ballistic missiles hit Iraq’s Kurdish capital, Iran’s Revolutionary Guard claim responsibility” – CNBC.com
“Chinese stocks are down sharply on Thursday. Here’s what could be behind the decline” -CNBC.com
“Treasury secretary warns of ‘very uncomfortably high’ inflation for next year” – Washingtontimes.com
โฆษณา