15 เม.ย. 2022 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
เทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในชีวิตประจำวัน
เป็นปัจจัยเร่งสำคัญอย่างหนึ่งต่อการเกิดนวัตกรรมทางการเงิน
Virtual Banking มาแล้ว...
รวมไปถึงระบบการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะการเกิดธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลแบบไร้สาขา หรือ Virtual Bank
1
ที่เริ่มมีกระแสให้พูดถึงในวงกว้าง ขณะที่ทางการในหลายๆ ประเทศ ก็ทยอยออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้ดำเนินการไปบ้างแล้ว จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ อาทิ
  • มาเลเซีย
  • สิงคโปร์
  • ไต้หวัน
  • ฮ่องกง
  • จีน
จะพบว่า การอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ภายใต้การออกใบอนุญาตของทางการโดยส่วนใหญ่จะมีแนวนโยบายที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ มุ่งส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน
โดยเปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่นๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น อันจะช่วยตอบโจทย์
  • 1.
    พฤติกรรมผู้บริโภค
  • 2.
    ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน
  • 3.
    ลดต้นทุนดำเนินงานจากสาขา
  • 4.
    และที่สำคัญคือ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินในเงื่อนไขที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SMEs หรือกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานจากสถาบันทางการเงินในระบบ (Unserved และ Underserved)
อย่างไรก็ดี ทางการในแต่ละประเทศก็มีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ Virtual Bank เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินในประเทศ
ขณะที่มีเกณฑ์การกำกับดูแลด้านความเสี่ยงเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม อาทิ
  • ด้านความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy)
  • สภาพคล่อง (Liquidity) แต่อาจไม่เข้มข้นเท่า Full Service Banks
นอกจากนี้ จะเป็นที่น่าสังเกตว่า เกณฑ์การออกใบอนุญาต Virtual Bank ของประเทศกรณีศึกษาจะมีเงื่อนไขของการทำแผนธุรกิจ และแผนการออกจากธุรกิจหรือ Exit Plan ในกรณีที่ธุรกิจไม่สบความสำเร็จด้วย
นั่นอาจเป็นเพราะ Virtual Bank ยังเป็นเรื่องใหม่ และผู้ประกอบการรายใหม่มักมีต้นทุนที่สูงมากในระยะแรก ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการกว่าจะถึงจุดที่คุ้มทุน ขนาดหรือการขยายการให้บริการในวงกว้างก็อาจต้องใช้เวลาไปอีกระยะหนึ่ง
จุดสนใจอีกประการ คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตของแต่ละประเทศส่วนใหญ่มักอยู่ในกลุ่มธุรกิจ e-Commerce, e-Market Place, TechFin, โทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ค
เนื่องจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการต่อยอดธุรกิจ Virtual Bank โดยเฉพาะความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลลูกค้า ทั้งข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลด้านพฤติกรรมที่จะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ได้ในอนาคต
ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคงเป็นกรณีของประเทศจีน อาทิ
  • WeBank
  • MyBank
ที่สามารถต่อยอดธุรกิจจากการที่มีฐานลูกค้าเดิมเป็นจำนวนมาก ทั้งในแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง WeChat (กรณี WeBank) และ e-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba (กรณี MyBank)
โดยทั้งสองแพลตฟอร์มมีฐานลูกค้าคนจีนใช้งานอยู่มากกว่าร้อยละ 75 ของประชากรจีนทั้งหมด ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า มาประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยืดหยุ่นขึ้น
เช่น นำพฤติกรรมของลูกค้าในด้านการใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คมาจัดทำ credit scoring แบบใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความรวดเร็วในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพียงแค่ไม่กี่นาที อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยี AI ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Virtual Bank ในจีนค่อนข้างประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา Virtual Bank ในจีนมีสัดส่วนสินเชื่อประมาณ
  • ร้อยละ 5 ของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน
  • และประมาณร้อยละ 7 ของตลาดสินเชื่อ SMEs ในจีน
เมื่อหันมามองฝั่งประเทศไทยในปัจจุบัน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็เริ่มมีทิศทางและแนวนโยบายที่จะเปิดให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยจะเปิดกว้างให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด
เพื่อให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้ารายย่อยสามารถเข้ามาใช้บริการทางการเงินในระบบอย่างเหมาะสม
โดยไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่สอดคล้องกับกรณีของต่างประเทศ ทั้งนี้ ลักษณะสำคัญของ Virtual Bank ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการ มีอยู่ 2 ประการหลัก ได้แก่
1) ต้องมีขอบเขตการประกอบธุรกิจเหมือนธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอย่างเต็มรูปแบบ และอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลความเสี่ยงเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม และ
2) ต้องจดทะเบียนจัดตั้งและมีสำนักงานใหญ่หรือบริษัทแม่ในไทย เพื่อให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจผ่านหน่วยงานในไทยได้
โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นี้
1
ซึ่งร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ อาทิ
  • การเข้าถึงเครือข่ายการชำระเงินกลางของธนาคารพาณิชย์
  • รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสำคัญที่หลากหลาย
  • หรือแม้กระทั่งเพดานดอกเบี้ยของการปล่อยสินเชื่อ
จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดหน้าตาและบทบาทของ Virtual Banking ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย ตลอดจน ผลกระทบต่อผู้เล่นดั้งเดิมอื่นๆ ในอนาคต
#KResearch #KBankLive
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock.com
โฆษณา