โต๊ะจีนการเมือง เอกภาพในจินตภาพ
.
ข่าวการเมืองช่วงนี้บนผิวน้ำเหมือนจะนิ่งไม่มีอะไร แต่ใต้น้ำก่อคลื่นกันมหาศาล รัฐบาลใช้จังหวะช่วงปิดสมัยประชุมสภาเช็กเสียง ส.ส. ก่อนถึงเดือนเดือด ‘พฤษภาคม’ ซึ่งมีทั้งการเปิดสภา และฝ่ายค้านมีสิทธิยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เคาะวันหย่อนบัตร 22 พฤษภาคมนี้ ที่บังเอิญตรงกับวันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร คสช.
.
ถ้าพูดถึงการครบรอบ 8 ปี ก็อย่าลืมว่ายังมีประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังเถียงกันว่าครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดในช่วงเดือนสิงหาคมนี้หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่ามีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดแน่นอน
.
การเมืองตอนนี้จึงต้องจับตาดูท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นพิเศษ ฝั่งประชาธิปัตย์ก็ต้องเดินเกมรัดกุมว่าจะกำหนดระยะเหมาะสมกับพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ. ประยุทธ์อย่างไร เพราะในการเลือกตั้งครั้งหน้าคู่แข่งโดยตรงของพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแย่งฐานเสียงเดิมของตัวเองไปได้เกือบหมด
.
ส่วนพรรคภูมิใจไทยค้นพบระยะเหมาะสมของตัวเองแล้วคือ ‘เกาะเอวสลับขี่คอ’ คือเกาะ พล.อ. ประยุทธ์ไว้ให้รัฐบาลยังเดินต่อไปได้นานที่สุด เพราะภูมิใจไทยพอใจอย่างมากกับเก้าอี้ รมต. ที่ได้รับจัดสรร ส่วนบางช่วงชี้ขาดกำหนดเกมการเมืองก็สลับมา ‘ขี่คอ’ อย่างล่าสุดการลงมติเลือกประธานกรรมาธิการแก้กฎหมายลูก แม้ สาธิต ปิตุเตชะ จากพรรคประชาธิปัตย์ จะเบียด ไพบูลย์ นิติตะวัน ขึ้นมาเป็นประธาน แต่ในวงการรู้กันดีว่าคนเดินเกมนี้คือพรรคภูมิใจไทย
.
แต่ท่ามกลางความนิ่งของผิวน้ำการเมือง รัฐบาลกำลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจที่เป็นผลจากโควิดและสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’
.
มรสุมนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเสียงความโกรธเกรี้ยวของประชาชน
.
และนี่คือ ‘เสียง’ ที่สำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาล