16 มี.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
LTCM ประวัติยาวนานก็ใช่ว่าจะตลอดไป
=== กับกองทุนที่ไม่เคยขาดทุนเลย ===
แม้แต่ไตรมาสเดียว
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน เราอาจนึกถึงคำนี้บ่อยๆ เวลาต้องวิเคราะห์ใครสักคนว่าเขามีความน่าเชื่อถือพอหรือนิสัยดีพอได้ตลอดรอดฝั่งไหม รวมถึงในแวดวงการลงทุนก็ด้วย ที่หากใครมีผลตอบแทนเติบโตต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และยาวนานพอ ก็น่าจะแปลว่าคนๆ นั้นมีความเก่งใช้ได้เลย
แต่ในทางกลับกัน มันไม่ได้แปลว่าใครสักคนที่ลงทุนเก่งมาตลอดจะไม่สามารถพ่ายแพ้ได้เลย หรือยิ่งกว่านั้นคือที่ผ่านมาคนๆ นั้นอาจแค่โชคดีก็ได้ เหมือนที่เคยเกิดกับกองทุน Long Term Capital Management ที่ครั้งหนึ่งเคยทำผลตอบแทนได้กว่าปีละ 40%
กองทุน Long Term Capital Management (LTCM) ก่อตั้งขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 3 คน และมีทีมนักวิเคราะห์อีกนับร้อยที่อยู่ในแวดวงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ในเวลานั้น กองทุนส่วนใหญ่มักมีทีมงานสายการเงินเป็นหลัก แต่ LTCM เชื่อว่าด้วยคณิตศาสตร์นี่แหละจะสามารถไขความลับของความสุ่มในโลกการลงทุนได้ กองทุนนี้ก็คิดถูกนะครับ ด้วยโมเดลอะไรบางอย่างที่เขาใช้ ทำให้กองทุน LTCM ทำกำไรได้สูงลิ่วตั้งแต่เปิดตัวเลย
ปี 1994 กำไร 20%
ปี 1995 กำไร 43%
ปี 1996 กำไร 41%
ตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนจนถึงช่วงปี 1997 กองทุนไม่เคยมีผลการดำเนินงานขาดทุนแม้แต่ไตรมาสเดียวด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกถ้าหากจะมีเงินหลั่งไหลเข้ามาลงทุนด้วยจำนวนมาก
แต่ก็อย่างที่เรารู้ ทุกวันนี้ LTCM เหลือเพียงแค่ชื่อในวิกิพีเดีย เพราะกองทุนล่มสลายไปในปี 1998 พร้อมผลขาดทุนมหาศาล เนื่องจากการใช้เงินกู้มากเกินไป ช่วงที่ใช้เงินกู้สูงสุดนี่ใช้ประมาณ 100:1 ได้ครับ คือมีเงินบาทเดียว แต่ใช้เงินกู้ไป 100 หากราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนเหวี่ยงแม้แต่นิดเดียว ก็ทำให้เงินทุนจริงๆ ของกองทุนเหวี่ยงได้อย่างรุนแรง
นอกจากนั้น สินทรัพย์หลักที่กองทุนเข้าไปพัวพันด้วยจะเกี่ยวข้องกับตราสารหนี้เป็นส่วนใหญ่ (ไปเทรดสเปรดและสวอป) ที่ดูเหมือนจะค่อนข้างปลอดภัยและไม่น่าเหวี่ยงมาก (ก็มันคือตราสารหนี้ คงไม่น่าเหวี่ยงเยอะกว่าที่มันสมองของเราคำนวณได้หรอก)
แต่พอถึงปี 1998 รัสเซียชักดาบพันธบัตรของตัวเอง จนส่งผลให้ตลาดพันธบัตรโลกปั่นป่วน ความเสี่ยงที่บรรดาหัวกะทิในกองทุนนี้เคยคำนวณไว้ก็แหกกฎกระจุย
ลองคิดเล่นๆ ว่า การที่เราเห็นกองทุนสักกองหนึ่ง หรือใครสักคนที่ทำผลตอบแทนได้เป็นบวกติดต่อกันทุกๆ ไตรมาสติดต่อกันร่วม 4-5 ปี ไม่มากก็น้อยที่เราคงมีความเชื่อว่าเขาคนนี้เก่งจริง ยิ่งบวกกับหลักการที่ดูมีความรู้ คำพูดที่ดูน่าเชื่อถือ ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในฝีมือของคนนั้นเข้าไปใหญ่
แต่แม้ประวัติในอดีตจะสวยงามขนาดไหน ก็ไม่ได้แปลว่าความสวยงามนั้นจะคงอยู่ตลอดไป เหมือนที่เกิดกับ LTCM
ปล. อ้างอิงจากหนังสือ TAO of Charlie Munger ในภายหลังผู้ก่อตั้งของกองทุน LTCM ก็ยังไปเปิดกองทุนต่อนะครับ แต่ขาดทุนเหมือนเดิม
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ เซียนหุ้นยังรู้พลั้ง
#สั่งซื้อหนังสือ "เซียนหุ้นยังรู้พลั้ง : Big Mistakes" เรื่องราวของนักลงทุนชั้นเซียนกับการลงทุนที่แย่ที่สุดของพวกเขา ได้ที่
เว็บ INVESTING ลด 15%#ค่าส่งเพียง18บาทเท่านั้น
ร้านหนังสือของนักลงทุน
โฆษณา