16 มี.ค. 2022 เวลา 03:29 • สัตว์เลี้ยง
สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้หลายชนิดมีเทคนิคการล่าเหยื่อด้วยการพรางตัวให้กับสภาพแวดล้อม นึกแบบเร็วๆตัวแรกก็ต้องกิ้งก่าคามิลเลียน (อ่านยังนี้รึเปล่าหว่า) ที่เปลี่ยนสีของตัวเองให้กลืนกับสภาพแวดล้อมที่เกาะอยู่ พอมีเหยื่อหลงมาในระยะทำการก็ตวัดลิ้นออกไปจู่โจมอย่างรวดเร็ว และเหยื่อก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย
หรือเอาแบบใกล้ตัวหน่อยก็นึกถึงจิ้งจกที่เปลี่ยนสีได้นิดนึง กับคางคกที่พรางตัวเองให้เหมือนก้อนดินเพื่อหลบซ่อนหรือดักซุ่มรอจังหวะการล่าเหยื่อที่เหมาะสม แล้วปลาล่ะ ? มีปลาที่มีทักษะในการพรางตัวเพื่อล่าเหยื่อมั๊ย ?
มีครับมีอยู่หลายชนิดเลยที่มีทักษะในการพรางตัวเพื่อรอจู่โจมเหยื่อ แต่มีปลาอยู่ประเภทหนึ่งที่เรียกว่าเข้าขั้นเซียนเป็นเต้ยในเรื่องนี้ บทความนี้ขอเสนอตอน “ปลาเสือดำ”
เครดิตภาพประกอบ https://acquariofiliaconsapevole.it/pesci_nandus_nebulosus
ปลาชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลปลา Nandus (อ่านว่า แนน ดัส) กล่าวคือเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ลำตัวแบนข้าง หัวโต ตากลมโต ปากกว้าง สามารถยืดหดกล้ามเนื้อช่วงขากรรไกร ทำให้ปากมีขนาดกว้างขึ้นและพุ่งจู่โจมฮุบเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ครีบหลังมีแผงเดียวแต่แบ่งเป็นสองตอน ส่วนแรกเป็นก้างแข็งส่วนหลังหลังเป็นก้านอ่อน กระจัดกระจายอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ในประเทศไทยพบอยู่สองชนิด
เดิมทีในตลาดปลาสวยงามไม่ทราบมาก่อนว่าปลาแนนดัสในบ้านเรามีสองชนิด เราเข้าใจกันมาช้านานว่าปลาแนนดัสที่เรามีเป็นชนิดเดียวกับที่เจอในอินเดีย บังคลาเทศและพม่า ที่ใช้ชื่อว่า Nandus nandus ซึ่งมันก็ไม่แปลกหรอกครับเพราะแนนดัสนั้นหน้าตาแต่ละชนิดคล้ายกันมาก
ในภายหลังจึงพบว่าปลาที่พบในไทยนั้นเป็นคนละชนิดกันจึงมีชื่อวิทยาศาสตร์เป็นของตัวเองว่า Nandus nebulosus ส่วนชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันในบ้านเรานั้น รวบรวมมาได้ดังนี้ เสือดำ เสียจิต บ่มีจิต(อีสาน) เสือปรือ(นครสวรรค์) เสือลายเมฆ นางคง และดุมชี แต่ละท้องที่ก็มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นกันไป
หลังจากนั้นอีกนานหลายปีก็พบข้อมูลใหม่ขึ้นอีกว่า อ้าว... มันมีสองชนิดในประเทศเรานี่หว่า หน้าตาคล้ายกันเสียจนแยกลำบากก็เลยกลายเป็นว่ามีปลาแนนดัสสองชนิดในบ้านเรา แต่ว่าชื่อสามัญที่เคยถูกเรียกกันมาก่อนก็ไม่ได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจนแล้ว ชื่อทั้งหมดก็เลยถูกเรียกแทนปลาทั้งสองชนิดไปเลยในตลาดปลาสวยงาม
ปลาที่ถูกจำแนกแยกออกมาก็ได้รับชื่อใหม่ว่า Nandus oxyrhychus ปลาชนิดนี้พบในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ในขณะที่ปลาที่ได้ใช้ชื่อเดิมต่อไปอย่าง Nandus nebulosus พบในภาคใต้ไล่ไปจนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงภาคตะวันออกของบ้านเรา ที่พีคในพีคคือ ที่จังหวัดชลบุรีเราสามารถพบปลาสองชนิดนี้ได้ในแหล่งน้ำเดียวกัน
จากจุดนี้ของบทความจะขอเรียก N. nebulosus ว่า “เสือดำ” ส่วน N. oxyrhynchus ว่า “เสือลายเมฆ” เพื่อง่ายต่อการกล่าวถึง
แอดมินรับประกันได้เลยว่า ถ้าเราไม่จับปลาทั้งสองชนิดขึ้นใส่ในขวดโหลเพื่อพิจารณา เซียนแค่ไหนก็ให้คำตอบไม่ได้หรอกว่ามันเป็นปลาชนิดไหน ปลาชนิดเดียวกันลวดลายข้างลำตัวยังไม่เหมือนกันทุกตัวเลย ถ้าให้ไปมองตาเปล่าในแหล่งน้ำธรรมชาตินี่ไม่มีทางแยกได้แน่นอน
ความต่างที่พอจะเห็นได้ของปลาสองชนิดนี้คือ “ปลาเสือดำ” จะมีแนวโค้งของหัวและสันหน้าผากงุ้มลงมาถึงปลายจงอยปาก และปากก็จะสั้นทู่กว่าปลาเสือลายเมฆ ...จุดต่างที่พอจะเห็นได้ก็มีเท่านี้แหละจ้ะ
ในธรรมชาติเราจะพบปลาเสือดำในจุดน้ำตื้น อาศัยในจุดน้ำไหลเอื่อยจนถึงนิ่ง ใกล้ริมตลิ่งในจุดที่มีใบไม้แห้งร่วงหล่นทับถม และลอยเกลื่อนกลาด น้ำเป็นในบริเวณนั้นเป็นสีชาจากการทับถมของใบไม้แห้ง ปลาเสือดำจะพรางตัวอยู่ตามกองใบไม้เพื่อล่าเหยื่อ อาหารในธรรมชาติคือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลงน้ำ มีขนาดโดตเต็มวัยประมาณ 8 ซม.
ตัว Genus ที่ชื่อว่า nandus นั้นแผลงมาจากภาษาเบงกาลี คำว่า Nanda เป็นคำที่ใช้เรียกปลาชนิดหนึ่ง (แต่เป็นปลาคนละชนิดกับเสือดำนะครับ) ส่วนสปีชีย์มาจากภาษาละติน nebulosus แปลว่า เมฆหมอก ขะมุกขะมัว ในที่นี้อ้างอิงถึงลวดลายและสีสันข้างลำตัวของปลาเสือดำ
ชื่อสามัญในภาษาต่างชาติของปลาชนิดนี้คือ “leaf fish” และก็เหมือนกับภาษาไทยตรงเดิมทีนึกว่ามีปลาแค่ชนิดเดียว แล้วในภายหลังก็พบว่าอ้าวมีหลายชนิดนี่หว่า ก็เลยต้องเติมคำต่อท้ายเพื่อจำแนกว่ามาจากตรงไหน ซึ่งเจ้าปลาเสือดำของเรานั้นมีชื่อเต็มยศว่า Malayan leaf fish ตามตำแหน่งที่พบในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ปลาชนิดนี้ในตลาดส่งออกไม่นับว่าเป็นปลาขายดี แต่ก็ขายได้อย่างต่อเนื่องในปริมาณไม่มากนัก โดยกลุ่มลูกค้าที่สนใจสั่งออเดอร์จะเป็นกลุ่มที่ไม่เน้นปลาสีสัน งงมั๊ยครับว่าปลาไม่มีสีสันแล้วจะซื้อไปทำอะไร ? คำตอบก็คือผู้เลี้ยงบางส่วนให้ความสนใจกับพฤติกรรมหรือลักษณะประหลาดของปลาบางชนิดโดยมองว่าเป็นเสน่ห์และน่าสงสัย
เสน่ห์ของปลาเสือดำอยู่ที่การพรางตัวและการล่าเหยื่อของมัน ปลาชนิดนี้นับเป็นปลากินเนื้อขนาดเล็ก ต้นสกุลนั้นอยู่ร่วมกับปลากะพง มีคุณลักษณะและพฤติกรรมคล้ายปลาเสือตอ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการยืดหดขากรรไกร รวมถึงการล่าเหยื่อในแนวดิ่ง
ปลาทุกชนิดในตระกูลแนนดัสหรือที่เรียกกันว่าปลาใบไม้นั้นมีคุณสมบัติการเป็นผู้ล่าที่พิเศษอยู่สามประการคือ ลวดลายบนตวสำหรับการพรางตัว ความอดทนในการตัวเลียนแบบใบไม้แห้ง และขากรรไกรที่สามารถยืดหดเข้าออกได้อย่างเร็วในหลักเสี้ยววินาที
จากรายละเอียดที่ให้ไว้ข้างต้นถึงจุดอาศัยของปลาเสือดำว่าอยู่ในน้ำนิ่ง อันที่จริงแล้วสรีระของปลากลุ่มแนนดัสสามารถอาศัยอยู่ในจุดน้ำไหลแรงได้นะครับ เป็นปลาที่เคลื่อนที่รวดเร็วว่องไว เพียงแค่มันเลือกแล้วว่ามันจะอยู่ในจุดน้ำนิ่ง เพราะอะไร ?
ก็เพราะว่าจุดน้ำนิ่งนั้นใบไม้มันไม่ปลิวครับ พอน้ำไหลเอื่อยหรือน้ำหยุดนิ่ง ใบไม้มันก็ไม่ปลิวไปไหน ใบที่จมก็จมอยู่อย่างนั้น ใบที่ลอยก็ไม่ได้ปลิวไปตามทางน้ำ และน้ำที่ถูกใบไม้ทับถมก็กลายเป็นสีชา ตัวปลาเสือดำก็เป็นสีน้ำตาล รวมกันทั้งหมดมันทำให้ปลาเสือดำดูคล้ายกับใบไม้เป็นอย่างยิ่ง
วิชาพรางตัว เครดิตภาพประกอบ https://wiki.nus.edu.sg/display/TAX/Nandus+nebulosus+-+Leaf+Fish
แต่ที่เด็ดของเด็ดคือ มันแกล้งทำตัวให้เป็นใบไม้ได้ด้วย ลอยเฉยๆ นิ่งๆ ลอยข้างๆใบไม้แบบเราก็แค่ใบไม้อีกใบ รอคอยอย่างอดทน รอแล้วรออีก รอจนเหยื่อเข้าระยะทำการ แล้วเหยื่อก็หายวับไปราวกับมีเวทมนตร์ หายไปอยู่ในท้องของปลาเสือดำ ด้วยขนาดปากของปลาเสือดำนั้นสามารถกินปลาที่มีขนาดครึ่งหนึ่งของตัวมันเองได้เลยทีเดียว
การเลี้ยงปลาสวยดำในตู้ปลาสวยงามจำเป็นต้องมีขอนไม้หรือจุดซ่อนตัวเพื่อลดความเครียดให้กับมัน ปลาที่สามารถเลี้ยงร่วมกันนั้นควรมีขนาดใหญ่เกินครึ่งหนึ่งของปลาเสือดำ ก็จะหลุดพ้นจากการเป็นเหยื่ออันโอชะ ปลาเสือดำนั้นโตค่อนข้างช้าสามารถฝึกทานอาหารแห้งได้ไม่ง่ายนัก
ถ้าตู้ปลาของคุณมีพันธุ์ไม้น้ำปกคลุมหนาแน่น แอดมินขอแนะนำให้คุณมองปลาเสือดำก่อนปล่อยลงตู้ให้ดี เพราะหลังจากลงตู้ไปแล้วไม่ใข่เร่องง่ายที่เราจะหามันเจออีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณปล่อยปลาเล็กปลาน้อยลงไปเพราะคิดว่าเจ้าเสือดำนี่คงเสียชีวิตไปแล้วพบว่า ปลาจิ๋วตัวน้อยหายไปทีละตัวสองตัวก็มั่นใจได้เลยว่า เจ้าปลาเสือดำยังอยู่ในตู้ของคุณ อยู่ในเงามืดสักแห่งนึง เปลี่ยนจากปลาน้อยกลายเป็นนินจา !!
#ปลาสวยงาม #ปลาเสือดำ
โฆษณา