16 มี.ค. 2022 เวลา 11:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Metaverse คืออะไรกันแน่ และเราจะเอื้อมไปถึงมันยังไง
หากทุกคนร่วมมือกัน เราหวังว่า เรากำลังมาถูกทาง
แน่นอนว่าคุณคงเคยได้ยินคำว่า “Metaverse” ผ่านหูกันมาแล้ว แต่อาจยังมีความสงสัยว่า Metaverse คืออะไร ซึ่งในปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีมากมายต่างพูดถึงมัน อย่างบริษัทในชื่อเดิม Facebook ที่เรารู้จักกันดี เชื่อมั่นในเรื่อง Metaverse อย่างมากจนถึงขนาดเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Meta” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการดำดิ่งสู่โลกออนไลน์ยุคใหม่อย่างสุดตัว
เราคงหาคำจำกัดความง่าย ๆ ของ Metaverse ไม่ได้ ต้นกำเนิดของคำคำนี้ ต้องย้อนกลับไปในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Snow Crash เขียนโดย Neal Stephenson ในปี 1992 ในนิยายเรื่องนี้ มีโลกอีกใบที่ให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการจำลองเป็นตัวละคร อย่างอวาตาร์นั่นเอง ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด ในนิยายยังมีการพูดถึงอสังหาริมทรัพย์เสมือนจริงด้วย
ถ้าจะพูดกันให้ง่ายที่สุด Metaverse คือเรื่องของ Virtual Reality (VR) เทคโนโลยีที่พยายามสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้นมาใหม่ เพื่อดึงให้ผู้ใช้งานออกจากโลกความจริงไปสู่โลกเสมือน และ Augmented Reality ซึ่งคือเทคโนโลยีที่เอาวัตถุจากโลกเสมือนอย่างเช่น ภาพ วิดีโอ หรือเสียงเข้ามาผสานกับสภาพแวดล้อมของโลกจริงที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา (บางครั้งเราเลยเรียกรวมกันเป็นคำว่า “Extended Reality”)
อย่าง Facebook ตั้งแต่ก่อนจะเปลี่ยนชื่อก็ได้ประกาศให้โลกรู้ว่าเอาจริง ด้วยการซื้อ Oculus ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างชุดหูฟัง Virtual Reality แถมตอนนี้ Meta ยังสร้างแผนกชื่อ Reality Labs ซึ่งสร้างอุปกรณ์มากมายไม่ว่าจะเป็น ชุดหูฟัง VR แว่นตาอัจฉริยะ และคาดว่าท้ายสุดเราจะมีแว่นตา Augmented Reality เหมือนอย่างในเรื่องคนเหล็ก Terminator ที่หุ่นสังหารเวลามองอะไรก็จะมีข้อมูลที่เราต้องการแสดงให้ดูหมด เช่น มองเสื้อก็รู้ขนาด ที่มา หรือราคาในทันที
1
แต่ Metaverse ยังมีนัยยะความหมายอื่น ๆ อีก เช่น อวาตาร์ของเราจะเป็นแค่ตัวเดียวหรือหลาย ๆ ตัว โดยจะสามารถไปปรากฏข้ามค่ายบริษัทหรือข้ามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ แบบเดียวกับตัวคุณสามารถไปที่ Starbucks ในวันถัดมาไปร้าน McDonalds และก็ไปร้านอาหารสุดหรูในอีกวัน บางทีในอนาคตอวาตาร์ของคุณในเกมนึงอาจจะเดินออกจากเกมนั้นและไปโผล่ในอีกงาน Event นึงของอีกบริษัทหนึ่งก็ได้
Metaverse ยังเกี่ยวกับเรื่องการค้าแถมบางคนก็ยังเอาไปผูกกับเรื่องสกุลเงินดิจิทัลอย่างเช่น Bitcoin ไปเลย อวาตาร์ที่ไม่ใช่คนจริง ๆ แต่กลับใช้เงินได้ และยังไม่พอ Metaverse ยังสามารถหาเงินได้ด้วย เช่น อวาตาร์ตัวนั้นอาจช่วยจัดหาของ สินค้าหรือให้บริการต่าง ๆ ใน Metaverse เหมือนกับที่คุณขับรถคันเดียวกันหรือสวมเสื้อผ้าชุดเดียวกันจากที่นึงไปอีกที่นึง อวาตาร์ใน Metaverse ก็สามารถหนีบสินค้าดิจิทัลติดตัวไปจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่งก็ได้เหมือนกัน
นาทีนี้ บางส่วนของ Metaverse ก็เกิดขึ้นแล้ว
ถึงแม้อาจจะเป็นแค่เศษส่วนนึงแต่ Metaverse ปรากฏตัวให้เราเห็นตั้งนานแล้ว เช่น ตั้งแต่ปี 2003 Second Life ได้อนุญาตให้ผู้ใช้สร้างอวาตาร์เพื่อเล่นเกม อวตาร์ของเราสามารถเข้าร่วมการประชุมได้ ทำธุรกิจก็ได้ หรือแม้แต่ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เสมือนจริงก็ได้อีกด้วย บริษัททั้งใหญ่เล็ก เช่น IBM, Reuters, NPR หรือบริษัทอื่น ๆ อีกมากมายก็จริงจังมากเช่นกัน ถึงขนาดมีการสร้างที่ดิน สร้างตึก ไปตั้งสถานที่ฝึกอบรม และอสังหาริมทรัพย์มากมายในแพลตฟอร์ม Second Life ตั้งแต่ตอนนั้น
ผลิตภัณฑ์หลาย ๆ อย่างเช่น ชุดหูฟัง Oculus VR ของ Meta, แว่นตาเสมือนจริงของ Microsoft HoloLens และผลิตภัณฑ์ VR และ AR นี่เป็นตัวอย่างเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ยุค Metaverse แม้ว่าบางอย่างดูจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับ Metaverse ขนาดนั้น แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนสนับสนุนการเปิดโลก Metaverse
แพลตฟอร์มเกมเป็นตัวอย่างแรก ๆ ว่า Metaverse ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งความสนใจใน Metaverse มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Microsoft ยอมจ่ายเงิน 69 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อ บริษัท เกม Activision Blizzard Roblox แพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักพัฒนาโปรแกรมทั่วโลกสามารถสร้างเกมแบบ Interactive ที่สนุกสนานหลายล้านคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยผู้เล่นสามารถสร้างอวาตาร์ที่สามารถออกไปเที่ยว ชนแก้ว พูดคุย และจ่ายเงิน (ใช้สกุลเงิน Robux) กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ในโลกเสมือนจริงได้ ผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าคล้าย Metaverse อีกอย่างหนึ่งคือ Pokémon Go เกม AR ยอดนิยมที่ช่วยให้ผู้เล่น สามารถโต้ตอบกับภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็คือเจ้าตัวโปเกม่อนเนี่ยแหล่ะ มารวมกับโลกความเป็นจริงผ่านกล้องของสมาร์ทโฟน
ใครก็ตามที่ใช้ Zoom หรือเครื่องมือการประชุมทางวิดีโออื่น ๆ ถือว่าเริ่มเข้าสู่โลก Metaverse เช่นกัน จริงอยู่ที่การประชุมออนไลน์ จะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับอวาตาร์ แต่มันคือการประชุมในโลกเสมือน คอมพิวเตอร์สามารถสร้างฉากหลังอะไรที่เราเลือกตอนประชุม ซึ่งตัวผมเองก็เคยเข้าประชุมออนไลน์แล้วเจอเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าที่ประชุมอยู่ที่บ้าน แต่เลือกใช้ฉากหลังเป็นสถานที่ต่าง ๆ เช่น Co-working Space ชายหาด ร้านกาแฟ เป็นต้น
นอกจากนี้บางยังใช้ฟิวเตอร์ เพื่อเปลี่ยนหน้าตาตัวเอง หรือบางคนเล่นใหญ่ขนาดเปลี่ยนร่าง แปลงเป็นสัตว์ไปเลยก็มี ฟิวเตอร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของพวกแอปโซเชียลมีเดียเช่น Instagram และ Snapchat ซึ่งอาจพูดได้ว่า มันช่วยให้ผู้คนมองเห็นโลกความจริงที่เปลี่ยนไปจากเดิม ถึง Snapchat (แอพไว้คุยกันคล้ายๆ line, whatapps แต่มีลูกเล่นเรื่องความเป็นส่วนตัวเยอะกว่าเช่น เมื่อเปิดอ่านจะลบข้อความทันทีที่อ่าน ใครแคปหน้าจอ ก็จะมีแจ้งเตือน ซึ่งฮิตมากที่อเมริกา ยุโรป) และ Instagram ยังไม่ใช่ Metaverse แต่นี่ก็คือหนึ่งในก้าวที่เราเข้าใกล้ Metaverse มากขึ้น
จักรวาล Metaverse จะเดินไปทางไหน
ยังไม่มีใครตอบได้ว่า วิวัฒนาการของ Metaverse จะเป็นยังไง แต่เรารู้ว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งใช้เงินหลายพันล้านในการนำเสนอแนวคิดของตนเองว่ามันจะเป็นอย่างไร อย่าง Apple ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกในแง่ของมูลค่าตลาดกล่าวว่า กำลังพัฒนาแว่นตา AR และบริษัทเองก็มีอุปกรณ์พวก AR ที่ไว้ใช้กับ iPhone และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทแล้วด้วย
หรือที่ผมกล่าวไว้ก่อนแล้วว่า Microsoft ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าอันดับสองของโลก กำลังพัฒนาแว่นตา HoloLens AR และก็ยังมีแพลตฟอร์มเกม X-Box นอกจากนี้ Microsoft ยังได้เข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard (บริษัทด้านวิดีโอเกม) เรียบร้อยแล้ว
ถึงแม้ Google จะไม่ค่อยพูดถึง Metaverse แต่นี่คือหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่เปิดตัวแว่นตา AR และแม้ว่า Google Glass จะยังไม่กลายเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่มีวางขายทั่วไป แต่ก็มีเวอร์ชั่นสำหรับองค์กรที่ Google โปรโมทโดยที่เน้นไปที่การใช้งานทางธุรกิจ เช่นเดียวกับ Microsoft ที่มี HoloLens ซึ่งเหมาะกับการใช้ในองค์กรมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป
ในส่วนของ Snapchat ที่เริ่มต้นจากการผลิตกล้องที่สวมใส่ได้ที่ชื่อว่า Spectacles ซึ่งรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ก็มีฟังก์ชั่น Augmented Reality ด้วย แม้ว่าผมจะไม่มีข้อมูลเเรื่องนี้มากนัก แต่คาดว่าบริษัทจะนำอุปกรณ์ของเขามาใช้ร่วมกับ Snapchat แบบจัดเต็มแน่นอน เหมือนอย่างที่บริษัท Meta ที่ท้ายที่สุดก็ได้นำชุดหูฟัง Virtual Reality เข้าไปใช้ใน Instagram, Facebook และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ที่ Meta มีอยู่อย่างแน่นอน
ความกังวลและความหวัง
การหลอมรวม Metaverse เข้ากับ Social Media ก็เปรียบเสมือนการทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงค่อย ๆ จางหายไป บางทีอาจจะเป็นเรื่องดีที่ผู้คนสามารถสำรวจมุมมองอื่น ๆ ของตัวเองผ่านโลกเสมือนจริง เขาอาจทดลองเปลี่ยนเพศหรือแก้ไขความสามารถทางกายภาพ รวมถึงอาจทำอะไรที่เกินขอบเขตที่พวกเราทำได้ในโลกจริง แต่ผมก็ยอมรับว่าสิ่งนี้มีความน่ากลัวอยู่นิด ๆ เพราะทุกวันนี้จำนวนผู้คนที่ใช้ชีวิตในโลกเสมือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง Augmented Reality และ Virtual Reality อาจถูกใช้โดยพวกหัวรุนแรง สร้างทฤษฎีสมคบคิดหรือชักนำผู้คนโดนมีจุดประสงค์แอบแฝง เช่น ชักนำในการเลือกตั้ง ทำให้ความคิดและพฤติกรรมที่รุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติได้
ในฐานะคนทำงานด้านความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งทำให้ผมสามารถจินตนาการถึงอันตรายทุกประเภทที่อาจมาจาก Virtual Reality, Augmented Reality, Crypto และเรื่องอีกมากมายจาก Metaverse ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ ConnectSafely องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ผมเป็นผู้นำองค์กรอยู่ พยายามทุกวิถีทางที่จะลดความอันตรายเหล่านี้ เราทำคู่มือและเอกสารอื่น ๆ เพื่อแนะนำผู้ปกครองและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับวิธีใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Metaverse ในปัจจุบันและอนาคตอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ เรายังใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มี เพื่อให้ Meta, Google, Snap, Roblox up และบริษัทอื่น ๆ ที่เราร่วมงานด้วยสร้างและรักษาความปลอดภัย รวมถึงความเป็นส่วนตัวในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Metaverse
ถึงตอนนี้ผมเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่าโลกที่มี Metaverse จะเดินไปทางใด แต่รู้แน่ ๆ คือการมาของ Metaverse จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ความรู้ และทุก ๆ อย่าง เหมือนกับตอนที่โลกเริ่มมี WWW ในทศวรรษที่ 1990 เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ Social Media ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ตัวผมเองที่เป็นคนกระตืนรือร้นและมองโลกในแง่ดี อยากบอกว่าบางทีมันอาจจะเป็นเวลาที่เหมาะเจาะที่เราจะช่วยกันสร้าง Metaverse ในรูปแบบที่จะไม่ไปสร้างปัญหากับอินเทอร์เน็ตอย่างที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนทั้งภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล องค์กรสนับสนุน และผู้ใช้ทั้งหมดทำหน้าที่ของเราให้ดีทั้งบนโลกจริงและโลกเสมือน
บทความโดย Larry Magid
เนื้อหาจากบทความของ The Mercury News
แปลและเรียบเรียงโดย วิน เวธิต
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร
โฆษณา