Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิติศาสตร์บ้านๆ
•
ติดตาม
17 มี.ค. 2022 เวลา 23:05 • การศึกษา
ต้นทุนยุติธรรม
หรือ สิ่งที่ต้องจ่ายไปเพื่อแลกกับความยุติธรรม
วันนี้นำบทความมาจากเว็บไซต์สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดครับ
ผมได้อ่านบทความนี้แล้วน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาแชร์ต่อนะครับ
ความยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นได้จากกระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว หรือกล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม คือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง เพราะการที่จะดำเนินให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมได้ ก็ต้องมีต้นทุนเกินขึ้นมากมายทั้งที่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้ หรือไม่สามารถคิดเป็นต้วเงินได้
ยกตัวอย่างเช่น ผู้เสียหายซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างจากสถานีตำรวจไปหลายสิบกิโลเมตรถูกลักทรัพย์ มูลค่า 20,000 บาท การเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นเมื่อผู้เสียหายได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่ก็คือต้นทุนที่ต้องจ่ายไปในการเดินทางเช่นเดียวกัน อาจเป็นค่าน้ำมันรถ หรือค่าโดยสาร ค่าจัดเตรียมเอกสาร แล้วสิ่งที่ต้องเสียไปแน่ ๆ คือ โอกาสในการทำงานหารายได้ที่ต้องเสียไป และพลังงานในการเดินทางไปติดต่อแต่ละครั้ง
กว่าตำรวจจะทำการสืบสวนสอบสวนเสร็จก็มีกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร บางทีผู้เสียหายก็ต้องเดินทางไปที่สถานีตำรวจหลายครั้งเพื่อติดตามคดีของตนเองหลายครั้ง แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาในส่วนนี้ไปบ้างก็ตาม
เมื่อตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดได้ และทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ก็จะส่งสำนวนโดยทำความเห็นว่า "เห็นควรสั่งฟ้อง" หรือ "สั่งไม่ฟ้อง" ไปที่พนักงานอัยการ เพื่อให้พิจารณาความเห็นว่าคดีมีมูลหรือไม่ ถ้าคดีมีมูลพนักงานอัยการก็จะสั่งฟ้องคดี ในขั้นตอนนี้ แม้ผู้เสียหายไม่มีความจำเป็นที่จะมาติดต่อที่สำนักงานอัยการมากนัก นอกเสียจากเห็นว่าการดำเนินการของพนักงานอัยการจะดำเนินการนานเกินสมควรจึงเข้ามาติดตามสอบถามคดี มองเผิน ๆ ผู้เสียหายอาจจะไม่ได้เสียต้นทุนอะไรไปในขั้นตอนนี้มากนัก แต่อย่าลืมว่าระยะเวลาที่เนิ่นช้า ก็ไม่ต่างอะไรกับการเสียโอกาสของผู้เสียหายที่จะได้รับการชดใช้มากขึ้นเท่านั้น สำนักงานอัยการสูงสุด จึงมีนโยบายให้บางคดีที่มีความเหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถฟ้องในคดีที่ไม่มีข้อยุ่งยากได้ คือสามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในวันที่ตำรวจนำสำนวนไปส่งที่สำนักงานอัยการได้เลย เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินคดี
เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ต้องหา และลดระยะเวลาในการเยียวยาผู้เสียหายไปในตัว
แต่กระนั้นพอสำนวนขึ้นสู่ศาลแล้ว กว่าจะมีการดำเนินกระบวนพิจารณาเสร็จสิ้น ถ้าจำเลยรับสารภาพ ในคดีที่เป็นความผิดเล็กน้อยก็คงใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 วันในการพิจารณาคดี แต่ถ้าจำเลยปฏิเสธ ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาไปถึง 1-3 เดือนเลยก็ได้ เพราะมีหลายกระบวนการที่จะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ศาลเห็นการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งคู่ความจะต้องมีวันนัดที่ว่างตรงกันด้วย ทำให้เกิดความล่าช้าไปอีก และในการสืบพยานพนักงานอัยการก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเสนอตัวผู้เสียหายเองเป็นพยานเพื่อยืนยันการกระทำความผิด ทำให้ผู้เสียหายต้องเดินทางไปศาลซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของตัวเอง ทำให้เกิดต้นทุนที่เป็นตัวเงินอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
แม้ในที่สุดจะสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดในทางอาญาได้ แต่กว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในบางคดีก็อาจใช้ระยะเวลามากถึง 12 เดือน หรือกว่านั้น หลังจากนั้น
กว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย หรือได้รับการเยียวยาจากผลของคำพิพากษาอาจจะใช้เวลาถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้นก็ได้ เพราะถ้าจำเลยไม่ยอมชำระค่าชดใช้ความเสียหาย ก็อาจจะต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไปอีก กว่าจะเสร็จสิ้นก็ต้องดำเนินการไปอีกหลายขั้นตอน บางทีอาจทำให้ผู้เสียหายต้องจ่ายต้นทุนในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมมากเกินกว่าค่าเสียหายด้วยซ้ำไป
ฉะนั้น ผู้เสียหายก็คงต้องเลือกว่า จะยอมเสียต้นทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องตัวเงิน หรือเวลาในการทำมาหาได้ พลังงานร่างกาย รวมไปถึงต้นทุนทางเวลาไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในรัฐ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้ถูกลงโทษให้สาสม
หรือจะยอมไม่ดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม แล้วจ่าย "ต้นทุนยุติธรรมไป" โดยคิดว่ามันคือความโชคร้ายของตนเอง
หน่วยงานด้านยุติธรรมตอนนี้ก็พยายามที่จะหาทางลดต้นทุนยุติธรรมทุกขั้นตอน โดยอาจจะเป็นการชะลอฟ้อง หรือการพยายามไกล่เกลี่ยในความผิดเล็กๆ น้อยๆ ในทุกขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น และปัจจุบันหน่วยงานด้านยุติธรรมก็ยังพยายามหาวิถีทางลัดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริงให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริงต่อไป
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย