18 มี.ค. 2022 เวลา 02:32 • สุขภาพ
ลูกวัยรุ่น เข้ากับเพื่อนไม่ได้ แบบนี้ปกติมั้ย ?
ปัญหาของลูกๆ ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
.
ช่วงที่ผ่านมา อู๋ได้เจอกับผู้ปกครองที่พาลูกๆ อายุตั้งแต่ 12-18 ปี มาปรึกษาด้วยเรื่อง “การเข้าสังคม” ค่อนข้างมากเลยทีเดียวค่ะ
“ลูกเข้ากับคนอื่นไม่ได้เลยค่ะครู ไม่มีเพื่อนสนิท ไม่มีเพื่อนที่คุยด้วยได้ เวลาทำงานกลุ่มก็เปลี่ยนกลุ่มไปเรื่อย ๆเลย”
“ลูกผมเค้ากังวลเรื่องจะไปเจอเพื่อนครับ เค้าไม่รู้จะพูดกับเพื่อนยังไง ไม่รู้ว่าควรจะต้องทำตัวยังไง”
“เค้าคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันไม่รู้เรื่องค่ะครู เพื่อนสนใจอีกอย่าง เค้าสนใจอีกอย่าง เลยคุยกันไม่ได้ ลูกแม่เลยต้องแยกมาอยู่คนเดียว”
.
อ่านเผินๆอาจจะมองว่า ก็เป็นเรื่องปกติที่เด็กเค้าก็มีความสนใจไม่เหมือนกัน จึงอาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เพื่อนอาจจะนิสัยไม่ดีก็ได้ เลยทำให้ลูกเราไม่อยากคบ
สิ่งเหล่านี้ที่ตั้งข้อสงสัยก็เป็นไปได้ทั้งหมดค่ะ
.
แต่โดยทั่วไปของเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย ลักษณะทางสังคมของเด็กในวัยนี้จะเริ่มห่างจากพ่อแม่ และเพื่อนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของวัยรุ่น เวลาที่อยู่บ้านเด็กวัยรุ่นมักจะชอบอยู่ในห้องส่วนตัวตามลำพัง ไม่ชอบให้ใครรบกวน
แต่เวลาอยู่กับเพื่อนๆจะชอบช่วยเหลือให้คำแนะนำเพื่อนฝูง ชอบคบกันเป็นกลุ่มๆ ชอบให้เพื่อนฝูงยอมรับและยกย่อง ต้องการมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเพื่อนๆเพศเดียวกันในกลุ่ม ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ต้องการให้เพื่อนๆรู้สึกประทับใจในพฤติกรรมของตัวเอง และสังคมในกลุ่มเพื่อนจะกว้างขึ้น
โดยเด็กวัยรุ่นมักจะอยู่เป็นกลุ่ม การได้ทำกิจกรรมร่วมกันจะเป็นรากฐานความสัมพันธ์ทางสังคมในอนาคต การที่เด็กเห็นอกเห็นใจผู้อื่นพยายามจะช่วยผู้อื่น จัดเป็นวุฒิภาวะที่เจริญขึ้น รู้จักเป็นผู้ให้และผู้รับระหว่างเพื่อนในวัยเดียวกันดีขึ้น
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลางจะมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น จึงมักทำหรือแสดงความคิดไม่เหมือนกับคนอื่นๆเพราะเด็กต้องการเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนจะเริ่มลดน้อยลง
.
จากข้อมูลข้างต้นก็จะเห็นได้ว่า สังคมเพื่อนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญตามพัฒนาการทางด้านสังคมของวัยรุ่น แต่เมื่อไรก็ตามที่ลูกของเรา ไม่ได้เห็นว่าสังคมเพื่อนสำคัญหรือไม่ได้ต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่ได้ต้องการการยอมรับจากเพื่อน เมื่อนั้นอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกพ่อกับแม่ว่า ลูกของเราอาจเกิดปัญหาในด้านทักษะทางสังคม จนเป็นเหตุให้ต้องมาพบแพทย์ นักจิตวิทยา หรือ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือดูแลค่ะ
แต่หลายๆครอบครัวกว่าจะมองเห็นว่าลูกเริ่มมีปัญหาด้านทักษะทางสังคม ลูกก็เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว
“แล้วจะมีสัญญาณอะไรเตือนก่อนที่ลูกจะเกิดปัญหาด้านทักษะทางสังคมบ้างล่ะ?”
/
“คนเราเกิดมาพร้อมกับความต้องการสร้างความผูกพันกับผู้อื่นในแต่ละช่วงวัย”
จากข้อความข้างต้นพอจะบอกผู้ปกครองได้คร่าวๆว่า ผู้ปกครองเองสามารถสังเกตทักษะสังคมของลูกๆได้ โดยติดตามดูพัฒนาการแต่ละช่วงวัยโดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงวัยรุ่นค่ะ สามารถสังเกตพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกได้ดังนี้
•ในช่วงวัยแรกเกิด
เด็กทารกยังเดินไม่ได้ ต้องพึ่งพาแม่มาป้อนนมให้ เด็กๆจะเริ่มสร้างความผูกพันกับพ่อแม่ว่า เป็นที่พึ่งพาไว้ใจได้ เด็กวัยนี้จะยิ้มให้แม่ พ่อ หรือผู้เลี้ยงดู จะส่งเสียงหัวเราะ โต้กลับไปมา เมื่อโตขึ้นอีกสักหน่อยในวัยปลายขวบปีแรก เด็กเริ่มมีความสนใจร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น มองหน้าสบตาพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู ในวัย 1 ขวบ เด็กจะสนใจมองตามสิ่งที่ผู้เลี้ยงดูชี้ให้ดู จะชี้สิ่งที่ตนเองสนใจ และเริ่มเล่นบทบาทสมมุติง่ายๆได้ ในวัย 1 ขวบครึ่งถึง 2 ขวบ
หากสังเกตเห็นว่าลูกชอบเล่นคนเดียว ไม่มีหรือไม่สนใจที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ไม่มองหน้าสบตา ไม่ชี้บอกความต้องการ ไม่พยายามสื่อสารกับผู้อื่นด้วยท่าทาง ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ ไม่อวดของเวลามีของใหม่ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้อื่น ผู้ปกครองควรจะพาลูกไปพบกุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เพื่อประเมินว่าลูกมีความบกพร่องด้านสังคมหรือไม่ หากพบว่ามีความบกพร่อง แพทย์จะประเมินอาการ ช่วยให้คำปรึกษา และหาวิธีที่ช่วยเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับลูกได้
•ในช่วงวัยก่อนวัยเรียน
เมื่อเด็กพอเริ่มช่วยเหลือตนเองได้ เริ่มลุกเดินเองได้ พ่อแม่ก็จะคอยบอกว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ นำไปสู่การควบคุมตนเองซึ่งเป็นฐานสำคัญของทักษะทางสังคม เพราะในสังคมจะมีสิ่งที่เราทำได้ ทำไม่ได้ ควรทำและไม่ควรทำ
และเด็กในวัย 2 ปีจะเริ่มเล่นร่วมกับผู้อื่น แต่ต่างคนต่างเล่น และไม่ชอบแบ่งปัน เมื่อเริ่มโตขึ้นจนถึงวัย 3 ปี เด็กจะชอบเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มกับเด็กอื่นก็ได้แล้วแต่อารมณ์ สนใจของเล่นชนิดเดียวกันกับเด็กคนอื่น ชอบออกคำสั่ง
แต่หากสังเกตว่าลูกของเราแยกตัวเล่นคนเดียวเป็นส่วนมาก ไม่สนใจที่จะเล่นกับเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกัน พูดหรือหมกมุ่นกับบางสิ่งบาง หรือ ของเล่นบางชิ้นมากจนเกินไป อาจเป็นสัญญาณเตือนให้พ่อแม่ตระหนักเรื่องพัฒนาการทางสังคมของลูกแล้วค่ะ
•ในวัยเรียน
เมื่อเด็กๆเริ่มเข้าโรงเรียน เขาจะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับเด็กคนอื่น จากสังคมที่มีแค่ในบ้าน ผูกพันแต่กับคนในบ้าน เขาจะเริ่มเห็นว่ามันไม่ได้มีแต่ตัวของเด็ก มันมีคนอื่นๆอีกมากมาย สังคมเริ่มกว้าง มีกฎเกณฑ์ต่างๆมากขึ้นให้เรียนรู้และปฏิบัติตามเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเล่นเกมที่เป็นกติการ่วมกับผู้อื่นได้ รอคอยได้ รู้จักการแบ่งปัน สลับกันเล่นได้ ผลัดเป็นผู้นำและผู้ตาม เข้าใจกติกาการเล่น
แต่หากเด็กในวัยนี้ชอบที่จะเล่นคนเดียว ไม่เข้าใจกติการเล่น มักพูดแต่สิ่งที่ตนเองคิด หรือสนใจโดยที่ไม่สนใจฟังคนอื่น หรือ ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว สัญญาณเหล่านี้ก็อาจบ่งบอกถึงปัญหาด้านทักษะทางสังคมที่อาจตามมาได้ค่ะ
.
จากสัญญาณเตือนในแต่ละช่วงวัยข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไวไม่มากพอ อาจจะเข้าใจได้ว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเพียงลักษณะนิสัยของลูก หรือคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวโตขึ้นก็ดีเอง จนทำให้เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นหรือแก้ไขอย่างเหมาะสมตามวัย ทำให้เกิดปัญหาทางด้านทักษะทางสังคมของเด็กวัยรุ่นในระยะยาว จนส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของเด็กได้
แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ สังเกตเห็นพฤติกรรมของลูกแล้วเกิดความลังเลสงสัย ไม่มั่นใจว่าพฤติกรรมของลูกนั้นเป็นปกติที่เด็กๆคนอื่นเป็นกัน หรือ หรือเป็นพฤติกรรมที่ควรต้องรีบกระตุ้น แก้ไข อู๋แนะนำว่าให้ผู้ปกครองพาลูกๆไปพบกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อให้แพทย์จะประเมินอาการ ช่วยให้คำปรึกษา และหาวิธีที่ช่วยเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับลูก ซึ่งแพทย์อาจส่งต่อให้กระตุ้นพัฒนาการ หรือปรับพฤติกรรมกับนักวิชาชีพต่อ เช่น นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด หรือ กรณีที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร แพทย์อาจพิจารณาส่งต่อให้กับนักแก้ไขการพูดต่อไปค่ะ
“เด็กที่ไม่สามารถรู้สึกได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่สามารถทำตามกฎเกณฑ์ภายนอกได้ และไม่สามารถที่จะรู้สึกกลมกลืน เป็นส่วนหนึ่ง เด็กเหล่านั้นจะหาที่ทางของตัวเองไม่พบ และเกิดความสับสนในช่วงวัยต่อไป”
•เรียบเรียงโดย
นักจิตอูยอน
•แหล่งที่มา
- สภาพจิตใจของวัยรุ่น บทความโดย: แพทย์หญิงศรีประภา ชัยสินธพhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06062014-0847
- พัฒนาการด้านสังคมในเด็ก สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย บทความโดย พญ.ณิชา ลิ้มตระกูล กุมารแพทย์ด้านพฤติกรรมและพัฒนาการ
- หนังสือสังคมศึกษา Social skill โดย นพ.ณัฐวัฒน์ งามสมุทร , พญ.ศิริรัตน์ อุฬารตินนท์ ,พราวพรรณราย มัลลิกะมาลย์
โฆษณา