18 มี.ค. 2022 เวลา 07:00 • ข่าว
#explainer เมื่อลิซ่า แห่ง BLACKPINK ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้เหล้ายี่ห้อชีวาส รีกัล ที่ต่างประเทศ พอมีคนไทยเอาข่าวมาโพสต์ กลับเตรียมจะโดนแจ้งความ เนื่องจากผิดกฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทำไมการโพสต์เฉยๆ ถึงผิดกฎหมาย รวมถึง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 คืออะไร ทำไมทั้งผู้ผลิตเหล้า-เบียร์ และประชาชนทั่วไป อยากให้โละทิ้ง workpointTODAY จะอธิบายทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 19 ข้อ
3
1) ในอดีต ประเทศไทยสามารถโฆษณาเหล้าเบียร์กันได้อย่างเสรี ภาพคนดื่มแอลกอฮอล์ หรือขวดเหล้า ขวดเบียร์ สามารถเอาขึ้นจอโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือบิลบอร์ดโฆษณาได้อย่างไม่มีปัญหา
2
ตัวอย่างเช่น ในปี 2541 เบียร์ลีโอ ออกโฆษณาชุด "เบียร์ผู้ว่า" โดยเล่าเรื่องงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาดื่มเบียร์ฉลองบนเวที หรือในปี 2544 เบียร์ช้าง ออกโฆษณาชุด "คนไทยหรือเปล่า" เอาแอ๊ด คาราบาวมาร้องเพลง พร้อมกับสโลแกนว่า 'กินแล้วภาคภูมิใจ เบียร์คนไทยทำเอง'
2
2) อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2551 ในรัฐบาลยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการออกกฎหมายใหม่ ชื่อ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในมาตรา 32 ของ พ.ร.บ. มีเนื้อความว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม"
4
อธิบายคือนับจากนี้ เหล้า-เบียร์ ไม่สามารถถูกโฆษณาได้ ห้ามเห็นโลโก้สินค้า ห้ามพูดถึงชื่อ ห้ามบอกว่ารสชาติเป็นอย่างไร ห้ามบอกว่ามีส่วนผสมอะไร โดยเจตจำนงของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องการป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย
4
3) เมื่อมีมาตรา 32 ออกมาแบบนี้ อุตสาหกรรมผลิตสุราและเบียร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ท้องถิ่น ได้รับผลกระทบทันที เพราะไม่สามารถโฆษณาให้ประชาชนได้เห็นด้วยวิธีใดๆ ได้เลย
3
ถ้าหากเป็นแบรนด์ใหญ่ ที่คนรู้จักชื่ออยู่แล้ว อาจใช้วิธีหลีกเลี่ยงด้วยการโฆษณาน้ำดื่ม-โซดา หรือแคมเปญอีเวนต์อื่นๆ แต่กับแบรนด์เล็กๆ ที่ไม่มีเงินทุนจะผลิตโปรดักต์อื่นๆ นั้น มาตรา 32 เป็นการตัดหนทางโฆษณาทันที เพราะทันทีที่ประชาสัมพันธ์ ก็จะเป็นการทำผิดกฎหมาย
3
4) กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกิดขึ้นในปี 2554 เมื่อบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ ติดแผ่นป้ายโฆษณารับสมัคร Sexy Leo Girl Season 5 ซึ่งในประเด็นนี้ มีความกำกวมว่า บริษัท บุญรอด ทำการ "โฆษณา" เบียร์ลีโอหรือไม่ เพราะในป้ายโฆษณามีเครื่องหมายของเบียร์ลีโอ ที่ตรงกับฉลากสินค้าชัดเจน แต่คำตัดสินจากศาลระบุว่า ลีโอในบริบทนี้ เป็นการจัดกิจกรรมพิเศษอย่างอื่น แต่ไม่ได้อวดอ้างสรรพคุณเชิญชวนให้ใครดื่มเหล้าเบียร์ ดังนั้นจึงไม่มีความผิด
4
5) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นว่า "การให้โฆษณาจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาได้ เพราะรายใหญ่นั้นคนรู้จักอยู่แล้ว ... แต่รายเล็กซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หวังรวยจากการทำธุรกิจนี้ แต่ทำเพราะชอบ กลับโฆษณาไม่ได้ ทำให้คนไม่รู้จัก และเกิดการผูกขาดต่อไป"
4
6) เช่นเดียวกับ สมาคมคราฟต์เบียร์ และเพจสุราไทย เคยนำรายชื่อประชาชน 11,169 คน ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยอธิบายว่า "กฎหมายตัวนี้ทำให้ผู้ผลิตรายย่อย ลำบากในการสื่อสารข้อมูลว่าคราฟต์เบียร์แต่ละตัว มีส่วนประกอบของอะไรบ้าง เช่นถั่ว หรือผลไม้บางชนิด เป็นข้อมูลตามจริงที่ควรพูดได้ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคระมัดระวังตนเอง หากแพ้ส่วนประกอบบางอย่าง"
7
"เบียร์รายย่อยที่ผลิตขึ้นมา ตอนนี้ไม่มีช่องทางในการสื่อสารไปยังผู้บริโภค ทำให้ประชาชนไม่รู้จักแบรนด์ใหม่ๆ เพราะมีกฎหมายตัวนี้ขวางอยู่"
7) ไม่เพียงแค่ผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่ชอบ แต่ในมุมของแบรนด์ใหญ่เองก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยผู้บริหารของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ ที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ ให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY ว่า "กฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนเอื้อผู้ผลิตรายใหญ่ กีดกันรายเล็ก แต่เอาจริงๆ แบรนด์ใหญ่ก็ไม่ต้องการ เพราะทำให้ตลาดแข่งขันกันยาก จะเปิดเครื่องดื่มใหม่ๆ ก็ทำได้ลำบาก เพราะไม่รู้จะสื่อสารยังไง มันจึงวนเวียนขายได้แต่สินค้าตัวเดิมๆ"
5
"นี่เป็นกฎหมายที่ไม่มีประโยชน์ คุณกีดกันไม่ให้โฆษณาเหล้าเบียร์เพราะกลัวคนไทยจะเห็น แต่เครื่องดื่มหลายๆ ยี่ห้อก็ไปโฆษณาจากต่างประเทศเอาก็ได้ แล้วก็ยิงโฆษณา บูสต์ให้คนไทยได้เห็น แค่นี้กฎหมายไทยก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เหมือนอย่างกรณีลิซ่า ถ้าชีวาส รีกัล โฆษณาที่เกาหลีแล้วบูสต์มาไทย ถามว่ารัฐบาลไทยจะไปทำอะไรได้ ห้ามลิซ่าก็ไม่ได้ ได้แต่บังคับให้คนไทยห้ามแชร์อย่างเดียว"
5
"พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการมัดมือมัดเท้าธุรกิจอย่างแท้จริง แถมเม็ดเงินโฆษณาแทนที่จะกระจายให้คนไทย ให้บริษัทโฆษณาไทย หรือให้สื่อในประเทศ เขาก็ไปจ่ายเงินซื้อสื่อในสิงคโปร์ หรือในลาว แล้วยิงบูสต์มาที่ไทย สุดท้ายคนไทยก็เห็นโฆษณาอยู่ดี คือโลกออนไลน์เดี๋ยวนี้มันไร้พรมแดนหมดแล้ว"
1
"ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้เหล้าเบียร์ถูกควบคุม ลองไปดูยอดขายแต่ละปีสิ มันก็ขึ้นตลอด แปลว่าเห็นชัดแล้วว่ากฎหมายมันไม่ได้ผล คนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าหน้าที่ที่ได้ค่าปรับและรางวัลนำจับแค่นั้นเลย"
3
ดังนั้นในมุมของผู้ผลิตทั้งแบรนด์เล็ก และแบรนด์ใหญ่ ต่างไม่เห็นด้วย และมองว่าการห้ามโฆษณาเบียร์ไม่ได้มีข้อดีอะไรที่เป็นรูปธรรมขนาดนั้น
8 ) ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่กับประชาชนก็มีผลกระทบจากมาตรา 32 ด้วยความคลุมเครือของกฎหมาย ในแง่ว่าการกระทำแบบใดถือว่ามีความผิดฐานโฆษณา
2
ตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ.2557 ที่ศาลจังหวัดตาก เคยมีคดีร้านอาหารแห่งหนึ่ง ได้ใช้กล่องกระดาษทิชชู่ และ ผ้ากันเปื้อน ที่มีโลโก้ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ตอนที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ยังไม่มีการขายแอลกอฮอล์เกิดขึ้น สุดท้ายคดีนี้ เจ้าของร้านถูกตัดสินว่าผิด เพราะศาลมองว่าเป็นการแสดงการโฆษณาแบบหนึ่ง
5
9) หรือกรณี ในปี 2560 ที่จังหวัดนครพนม ร้านขายของชำ ได้ติดป้ายผ้ากันแดดสีเขียว มีโลโก้คำว่า Chang Beer แล้วมีประโยคว่า "เบียร์เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรม" คดีนี้เจ้าของร้านถูกตัดสินว่าผิด เพราะร้านขายของชำ ตั้งอยู่ริมถนนที่ผู้คนสัญจรไปมา สามารถมองเห็นได้ง่าย ดังนั้นนี่ถือเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบหนึ่ง
5
10) สำหรับนักดื่มทั่วไป ก็มีปัญหากำกวมเช่นกัน ว่าถ้าเราดื่มเบียร์เฉยๆ แล้วชอบในรสชาติของมัน เราไม่สามารถโพสต์ในหน้าวอลล์ของตัวเองได้เลยหรือ หรืออย่าง กรณีลิซ่า แห่ง Blackpink ถ้าเราโพสต์ถึงศิลปินที่เราชอบ ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์แอลกอฮอล์ แบบนี้เราจะมีความผิดไปด้วยฐานโฆษณาหรือไม่?
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากกรมควบคุมโรคกล่าวว่า "ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปโพสต์ภาพคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่ไม่มีข้อความเชิญชวน อวดอ้างชักจูงใจ ก็จะไม่เป็นความผิด แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก อาจทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลเป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจคนไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม จึงไม่สามารถทำได้"
อย่างไรก็ตามแม้ นพ.นิพนธ์จะกล่าวแบบนั้น ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่ดี ว่าคำพูดแบบไหน ที่เรียกว่าชักจูงใจ สุดท้ายจึงอยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ว่าจะมองเรื่องนี้เป็นความผิดทางกฎหมายหรือไม่ และในประวัติที่ผ่านมา ประชาชนบางคนโดนหมายเรียกและโดนจับปรับ ทั้งๆที่ ไม่ได้มีเจตนาโฆษณาใดๆ เลย
1
11) สำหรับโทษปรับ จากมาตรา 32 หากโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ค่าปรับสูงถึง 50,000 ถึง 500,000 บาท ในขณะที่คดีเมาแล้วขับ มีค่าปรับเพียง 20,000 บาทเท่านั้น ทำให้เกิดคำถามว่าความผิดจากการโฆษณาควรจะมีโทษรุนแรงกว่าเมาแล้วขับจริงๆ หรือ และนี่เป็นบทลงโทษที่เกินสัดส่วนต่อการกระทำผิดหรือไม่
4
12) อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เงินค่าปรับส่วนหนึ่งจะแบ่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ ผู้แจ้งเบาะแสด้วย ทำให้มีการตั้งประเด็นว่า ยิ่งจับกุมเยอะๆ เจ้าหน้าที่รัฐยิ่งได้เงินเข้ากระเป๋าเยอะ แล้วจะสามารถตัดสินด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร เมื่อทุกอย่างตัดสินด้วยดุลยพินิจ อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันได้ตลอดเวลา
4
13) จุดที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ กฎหมายมาตรา 32 เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ในโลกยุคปัจจุบันที่เหล้า-เบียร์ มีวิวัฒนาการไปไกลแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา มียูทูบเบอร์ ชื่อ Whiskey Vault ทำแชนแนลคุยเรื่องวิสกี้อย่างเดียว ชี้ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบรนด์ มีผู้ติดตามมากกว่า 4 แสนคน ซึ่งที่ไทยก็ไม่สามารถมีอาชีพในลักษณะนี้ได้ เช่นเดียวกับอาชีพที่เกี่ยวกับเหล้า-เบียร์ ในทิศทางอื่นๆ ก็ไม่สามารถพูดถึงได้เช่นกัน เพราะจะเข้าข่ายผิดกฎหมายการโฆษณาได้
2
14) ในโลกออนไลน์มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อกฎหมายพยายามยับยั้งการโฆษณาเหล้า-เบียร์ขนาดนี้ แล้วภาครัฐสามารถลดปริมาณการดื่มของประชาชนได้จริงหรือไม่ และ ถ้ารัฐต้องการป้องกันเยาวชนจากการดื่มเหล้า ก็มีกฎหมายบังคับห้ามขายสุราให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีอยู่แล้ว ทำไมไม่ไปบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพแทน ซึ่งน่าจะเห็นผลชัดเจนกว่าการบังคับห้ามโฆษณา กับสิ่งที่ผู้คนก็ดื่มกินกันอยู่แล้ว
2
15) สำหรับในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็มีทั้งสองกลุ่ม คือกลุ่มที่โฆษณาแอลกอฮอล์กันเป็นปกติ เช่นสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ อย่างที่เกาหลีนั้น เหล่าเซเล็บมาโฆษณาเหล้า-เบียร์-โซจู กันเป็นปกติ ตัวอย่างเช่น โซจูยี่ห้อ Chamisul เคยจ้างศิลปินดังอย่าง IU และนักแสดงดัง ซง เฮ เคียว จากเรื่อง Full House เป็นพรีเซ็นเตอร์ โดยในโฆษณาก็พวกเธอก็ยกแก้วโซจู ทำท่าดื่มกัน โดยไม่มีดราม่าใดๆ
3
16) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะโฆษณาแอลกอฮอล์ได้อย่างอิสระ ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส, นอร์เวย์, ศรีลังกา หรือ รัสเซีย ก็มีกฎหมายห้ามเอาไว้ ที่รัสเซีย ไม่สามารถโฆษณาแอลกอฮอล์ผ่าน ทีวี, วิทยุ, อินเตอร์เน็ต, ขนส่งมวลชน และ บิลบอร์ดได้ หรือในฝรั่งเศส เวลาทีมฟุตบอลที่มีสปอนเซอร์เป็นเหล้าเบียร์ บนหน้าอกเสื้อ ไปเยือนสโมสรของฝรั่งเศสในเกมยุโรป ก็ต้องเอาสปอนเซอร์ออกเป็นการชั่วคราว เพราะผิดกฎหมายที่ฝรั่งเศส
1
อย่างไรก็ตาม ในทุกประเทศที่กล่าวมา กฎหมายไม่ได้ห้ามประชาชนทั่วไปในการโพสต์ เรื่องการดื่มเหล้า-เบียร์ ของตัวเอง
3
17) สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเพจสุราไทย เคยประกาศจุดยืนว่า รัฐควรยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ดังนั้นมาตรา 32 ของพ.ร.บ.แอลกอฮอล์ ที่มีข้อเสียมากกว่าข้อดี จึงควรถูกพิจารณาในการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเป็นการถาวร
4
18) แต่ก็ไม่ใช่ทุกฝ่าย ที่จะเห็นด้วยกับการยกเลิก มาตรา 32 ตัวอย่างเช่น เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) ระบุว่า "เพื่อป้องกันเด็กเยาวชน และประชาชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านความพยายามครั้งล่าสุดของสมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 32 เพื่อเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และเรียกร้องให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมา ได้รับผิดชอบสังคม จากผลกระทบของเครื่องดื่มมึนเมาอย่างไร"
2
19) สำหรับประเด็น พ.ร.บ. ควบคุมแอลกอฮอล์ในมาตรา 32 ยังคงต้องหาข้อสรุปกันต่อไป ว่าการมีอยู่ มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากันในยุคปัจจุบัน และในยุคนี้การห้ามโพสต์เรื่องเหล้า-เบียร์ ช่วยลดคนดื่มได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่
2
นอกจากนั้นทางภาครัฐ จะสามารถทำการจับกุมโปร่งใสจริงหรือไม่ ในเมื่อเจ้าหน้าที่เองก็ยังมีส่วนแบ่งรายได้ มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการจับกุมประชาชนอยู่ในทุกวันนี้
2
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตามรายการของ workpointTODAY
ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ
ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIe
โฆษณา