18 มี.ค. 2022 เวลา 11:28 • สิ่งแวดล้อม
“Saya de Malha” ทุ่งหญ้าทะเลที่ใหญ่เท่าสวิตเซอร์แลนด์
ภาพ "ทุ่งหญ้าทะเลที่ Saya de Malha" โดย รอยเตอร์
อธิบดีกรมประมงของไทย ได้รับร่างรายงานผลกระทบ “Impact Assessments of Bottom Trawl Fisheries on VME Indicator Species” จาก SIOFA หลังประเมินความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่เปราะบาง (VME) จำนวน 14 ชนิด ในพื้นที่ทำประมงอวนลากบริเวณ Saya de Malha Bank พบว่า มีความเสี่ยงในระดับต่ำ 3 ชนิด และมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง 11 ชนิด โดยในรายงานยังระบุว่า การทำประมงอวนลากไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลแต่อย่างใด
สำหรับ Saya de Malha Bank หรือเขตทะเลน้ำตื้นแนวไหล่ทวีป ที่มีระบบนิเวศเปราะบาง อยู่ในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ปัจจุบันมีเรือประมงอวนลากไทยที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงในเขตดังกล่าว โดย SIOFA จำนวน 4 ลำ
การประชุมสามัญประจำปีของภาคีสมาชิก ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 องค์กร The Deep Sea Conservation Coalition, DSCC ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) นำเสนอเอกสารเรื่อง “ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความหลากหลายทางระบบนิเวศจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank” พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดทำการประมงในบริเวณดังกล่าว จนกว่าจะมีการประเมินสภาวะทรัพยากรและพัฒนามาตรการที่ปกป้องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และชนิดสัตว์น้ำ รวมถึงหญ้าทะเล
จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ภาคีสมาชิกจึงเร่งรัดให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของ SIOFA ศึกษาข้อมูลในพื้นที่ Saya de Malha Bank เพื่อนำมาพิจารณาในการประชุมประจำปี คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (Scientific Committee, SC) ในเดือนมีนาคม 2565
ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2021 นักวิทยาศาสตร์ได้ออกสำรวจพื้นที่ในมหาสมุทรอินเดียที่ คาดว่าจะมีทุ่งหญ้าทะเลใต้น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยได้รวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของหญ้าทะเล การศึกษาพบประโยชน์ของหญ้าทะเลคือ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าที่ป่าไม้เก็บกักถึงสองเท่า หากหญ้าทะเลมีสุขภาพและการเจริญเติบโตที่ดี ก็จะสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 ออกจากสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่ง CO2 เป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของโลกสูงขึ้น
คณะสำรวจมหาสมุทรอินเดีย นำโดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ (Greenpeace) เดินทางไปยัง Saya de Malha ที่อยู่ใกล้กับหมู่เกาะสาธารณรัฐเซเชลส์ พบว่าทุ่งหญ้าทะเลที่ Saya de Malha มีขนาดเท่ากับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในยุโรป ห่างไกลจากชายฝั่งทะเล จึงได้รับการปกป้องจากมลภาวะและกิจกรรมการขุดเจาะ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
นักอนุรักษ์ยังพบว่า หญ้าทะเลที่นี่อยู่ใกล้ผิวน้ำ นั่นหมายความว่า ได้รับแสงแดดมากขึ้น เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพักพิงและเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์สำหรับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลหลายพันชนิด
Dimos Traganos นักวิทยาศาสตร์หลักของโครงการ German Aerospace Center ที่พัฒนาซอฟต์แวร์ค้นหาหญ้าทะเลด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของหญ้าทะเล มีผลกระทบอย่างมากต่อความพยายามในการจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่ทั่วโลก โดยนักวิจัยของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประเมินว่า หญ้าทะเลครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร กระจายอยู่ทั่วทุกทวีปยกเว้นที่แอนตาร์กติกา และยังพบข้อมูลสำคัญคือ ทุก 30 นาที หญ้าทะเลขนาดเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล จะถูกทำลายโดยกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีมลพิษจากการขุดเจาะและความเสียหายจากการประมง เป็นปัจจัยสำคัญ
โฆษณา