18 มี.ค. 2022 เวลา 09:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Science Breakthrough of the Year 2021
หน้าปกวารสาร Science ฉบับที่มาของบทความนี้
เพิ่งมีโอกาสได้อ่าน Breakthrough of the Year 2021 ของวารสาร Science ซึ่งเป็นการจัดอันดับที่ทำกันทุกปี ว่ามีความก้าวหน้าใหญ่ในเรื่องอะไรกันบ้าง และมักมีพ่วงท้ายความล้มเหลวแห่งปีมาด้วย
เรื่องใหญ่สุดที่วารสารเลือกขึ้นมาคือ การทำนายโครงสร้างโปรตีนได้นับเป็นพันๆ แบบ โดยอาศัย AI มาช่วย เรื่องการทำนายโครงสร้างและหน้าที่ของโปรตีนที่รู้ลำดับกรดอะมิโนว่าเรียงตัวกันยังไง ถือเป็น “ความใฝ่ฝัน” เรื่องหนึ่งทางชีวเคมีที่ฝันกันมานานแล้วนะครับ
ก่อนหน้านี้ก็เดากันได้คร่าวๆ รู้เป็นส่วนๆ ถ้าลำดับกรดอะมิโนไปซ้ำหรือคล้ายกับโปรตีนอื่นที่รู้แล้ว แต่ถ้าไม่ซ้ำ ก็ต้องตกผลึก เอาไปฉายแสงเอกซ์เรย์ แล้ววิเคราะห์การเลี้ยวเบนแสงว่า โปรตีนนั้นมีรูปร่างแบบใด จึงจะรู้ พวกนี้ลำบากและใช้เวลากับเงินทองเยอะครับ
การทำนายได้แบบนี้มีความสำคัญมาก เช่น ทำนายการกลายพันธุ์ของ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เป็นโรคโควิด-19 ได้ ก็เตรียมวัคซีนหรือยาล่วงหน้าได้ เป็นต้น
เรื่องอื่นที่น่าสนใจก็เช่น เทคนิคการอ่านรหัส DNA ก้าวหน้ามากจนสามารถใช้ DNA โบราณในดิน อายุเป็นหมื่นๆ หรือแสนปี มาตรวจว่าเป็น DNA คนหรือสัตว์ใด ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจจะเปลี่ยนความคิดของเราเกี่ยวกับบรรพบุรุษมนุษย์ได้ในอนาคต
ถัดไปก็เป็นเรื่อง พลังงานจากปฏิกิริยาฟิวชั่น ที่มีคนไทยโม้ๆ กันว่า จะผลิตไฟฟ้าขายประเทศเพื่อนบ้านนั่นแหละ เค้าก็สรุปสั้นๆ ว่า มันไม่เคยคุ้มทุนมาแต่ไหนแต่ไร เพราะพลังงานที่ใช้สร้างเลเซอร์ไว้ยิงประจุ มากกว่าพลังงานที่อะตอมหลวมรวมตัวกันเวลาสั้นๆ เสมอ
สรุปว่าขาดทุนมาตลอด
แต่...มีแนวโน้มว่า ด้วยการปรับปรุงหลายๆ อย่าง พลังงานที่ได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนพอจะตั้งความหวังได้ว่า อาจจะ “เท่าทุน” หรือ “กำไร” พลังงานได้ในอนาคตอันไม่ไกลนัก
(แต่ของไทยก็ยังโม้เกินไปอยู่นั่นเอง เพราะต่างประเทศทุ่มเงินมหาศาล ของเราไม่มีปัญญาทุ่มแบบเดียวกัน ไม่ต้องพูดถึงความรู้พื้นฐานและบุคลากรที่จะสร้างอุปกรณ์อีก ... ส่ายหน้าครับ)
ถัดมาอีกก็พูดถึง วัคซีนและยาโควิด-19
วัคซีน ก็เล่าถึงปัญหามากมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดการ โดยเฉพาะระดับนานาชาติ ความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึง ขณะที่ยาก็เล่าถึงยาที่ใช้การได้ค่อนข้างดีคือ molnupiravir กับยาจากไฟเซอร์ที่ผลค่อนข้างดีคือ PF-07321332 ที่ลดการต้องนอนโรงพยายบาลได้ถึง 89% หากกินภายใน 3 วันแรกที่เริ่มมีอาการ
อ้อ แล้วก็มีพูดถึง แอนติบอดีสำหรับโควิด-19 ด้วย ซึ่งใกล้จะได้ผลสรุประดับคลินิกเข้ามาทุกที ถือเป็นอาวุธลับอีกตัวเลือกหนึ่ง รวมกับวัคซีนชนิดพ่นที่เร่งทำกันทั่วโลก
อีกเรื่องที่น่าสนใจมากๆ คือ พูดถึงการใช้เทคนิค CRISPR รักษาผู้ปวยตาบอดแต่กำเนิด กับโรค TTR ที่ส่งผลกับระบบประสาทและหัวใจ มันพิเศษตรงที่ว่า เป็นการรักษาแบบฉีดสารเข้าไปในร่างกายเลย
ต่างกับก่อนหน้านี้ที่สำเร็จมาแล้ว แต่เป็นการนำเลือดออกมาแก้ไขภายนอก แล้วถ่ายกลับเข้าไป ทำให้รักษาโรคพันธุกรรมสำคัญ (ที่เดิมไม่มีทางรักษาได้เลย มีแต่ประคองไปตามอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยอายุสั้น) คือ โรคโลหิจจางแบบ ธาลัสซีเมีย และซิกเคิลเซลล์
ยังมีอีกหลายเรื่อง แต่ผมยังอ่านไม่จบ และสนใจน้อยหน่อย ดูจากหัวข้อเอานะครับ
A psychedelic PTSD remedy
NASA lander uncovers the Red Planet’s core
At last, a crack in particle physics’ standard model?
Embryo ‘husbandry’ opens windows into early development
Hope dims for climate target
Alzheimer’s drug prompts outrage
ขอปิดท้ายด้วย รายงานการสำรวจนักวิทยาศาสตร์ 321 คน ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับโควิด-19 พบว่า มากกว่าครึ่งโดนโจมตีเรื่องความน่าเชื่อ และ 15% โดนขู่ฆ่า!
เล่นเอาหลายคนถอดใจว่า จะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ อีกแล้ว
การสื่อสารวิทยาศาสตร์ บางทีก็เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับนักวิทยาศาสตร์นะครับ!!!
โฆษณา