20 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
“ยุน ซอก-ยอล” ประธานาธิบดีคนใหม่ กับอนาคตของ “เฟมินิสต์” ในเกาหลีใต้
จากคอลัมน์ "เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า" บนแอป 2read
ยุน ซอก-ยอล ฉลองชัยชนะหลังรู้ผลการเลือกตั้ง
เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา การเลือกตั้งในรอบนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในรอบ 5 ปี พร้อมความท้าทายท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 และรูปแบบการเลือกตั้งที่ยึดนโยบาย Social Distancing อย่างเคร่งครัด ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายสำนักข่าวว่าเป็นการเลือกตั้งที่เละเทะและมีการสาดโคลนกันไปมาระหว่างสองพรรคตัวเต็งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
บรรยากาศการเลือกตั้งในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ณ เมืองพาจู
แต่สุดท้าย เกาหลีใต้ ประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก ก็เพิ่งได้ “ยุน ซอก-ยอล” ตัวแทนจากพรรคพลังประชาชนที่เฉือนคะแนนจากพรรคคู่แข่งไปได้เพียง 0.73% ขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้นำคนนี้จะมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งภายในสังคมเกาหลี และนโยบายที่เกาหลีใต้จะมีต่อต่างประเทศด้วย
ลี แจ-มยอง (ซ้าย) และ  ยุน ซอก-ยอล (ขวา)
ว่ากันตามจริงแล้ว แม้การเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมากถึง 14 คน จาก 14 พรรคการเมือง แต่มีเพียงแค่สองพรรคการเมืองหลักเท่านั้น ที่เป็นตัวเต็งสำคัญ และใครๆ ก็รู้ว่า ไม่ทีมใดก็ทีมหนึ่ง จะต้องได้ตำแหน่งผู้นำประเทศในครั้งนี้ไป ทีมแรก คือพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) พรรครัฐบาลของมุน แจอิน ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ตัวแทนฝั่งเสรีนิยม คนรุ่นใหม่ (คนเกาหลีใต้มักเรียกพรรคนี้ว่า “พรรคสีฟ้า”) ส่วนอีกทีมคือ พรรคพลังประชาชน (People Power Party) พรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดก่อน ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ค่อนข้างชัดเจนในขนบแบบเดิม และมุ่งเน้นการหาคะแนนจากคนสูงอายุและผู้ชายเป็นหลัก (คนเกาหลีใต้เรียกว่า “พรรคสีแดง”)
ฐานคะแนนของพรรคประชาธิปไตยและพรรคพลังประชาชน แบ่งออกได้เป็นฝั่งตะวันออกและตะวันตกอย่างชัดเจน
สองพรรคดังกล่าว เป็นคู่แข่งที่ทำคะแนนสู้สี ผลัดกันแพ้ชนะมาโดยตลอด และในมุมฐานคะแนนของแต่ละพรรค ก็มีการแบ่งขาดกันอย่างชัดเจน โดยจังหวัดที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก จะเป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชาชน ในขณะที่เมืองทางฝั่งตะวันตกของเกาะ จะเป็นฐานเสียงให้กับพรรคประชาธิปไตย ส่วนในกรุงโซล เมืองหลวงนั้น ฐานเสียงของทั้งสองพรรค จะแบ่งกันแบบครึ่งๆ ไม่ชัดเจนอย่างในต่างจังหวัด
พรรคพลังประชาชนและยุน ซอก-ยอล
“ยุน ซอก-ยอล” กับนโยบายต่อต้านเฟมินิสต์
ยุน ซอก-ยอล ได้รับคะแนนโหวต 48.56%
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ผ่านมาก็คือ นอกเหนือจากนโยบายหาเสียงขายฝันด้านรัฐสวัสดิการ การปรับปรุงกฎหมายบางฉบับที่ดูล้าหลัง หรือการปฏิรูประบบการซื้อขายรวมถึงการเช่าที่ดิน แคมเปญที่ทั้งสองพรรคชูประเด็น และถือเป็นแคมเปญหลักที่ทั้งสองทีมใช้เพื่อดึงคะแนนนิยม คือนโยบายด้าน “เฟมินิสต์” โดยพรรคพลังประชาชนของยุน ซอก-ยอล ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าตนไม่สนับสนุนเฟมินิสต์มาโดยตลอด
ในมุมมองของยุน เฟมินิสต์หรือองค์กรขับเคลื่อนเพื่อเพศหญิงในเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชายและหญิงในสังคมแตกแยก และเป็นที่มาที่ทำให้อัตราการเกิดของประเทศต่ำ เพราะผู้หญิงสายเฟมินิสต์จะไม่นิยมแต่งงาน และคิดว่าตนสามารถยืนได้บนลำแข้งของตัวเอง ในขณะเดียวกัน กลุ่ม LGBTQ หรือคนรักร่วมเพศก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นหลักที่ยุนไม่สนับสนุน โดยเขาชูนโยบายหาเสียงที่ว่า หากได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศ ยุนจะยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัวทิ้ง เพราะเขามองว่า กระทรวงนี้ไม่สามารถทำให้ความเท่าเทียมในหญิงและชายเกิดขึ้นได้จริงและมักเอนเอียงไปทางเพศหญิงมากเกินไป
ยุนมองว่า คดีความรุนแรงทางเพศในหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น เกิดจากเพศหญิงให้การเท็จ โกหก และสร้างเรื่องว่าถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ผู้ชายเกาหลีใต้ส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมองว่าเฟมินิสต์เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเกาหลี ยุนจึงชูนโยบายที่ว่า หากจับได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเพศหญิงให้การเท็จหรือโกหกว่าถูกกระทำความรุนแรงจากเพศชาย จะเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแม้ในความเป็นจริง ที่ผ่านมา กระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัวได้รับงบประมาณเพียงแค่ 3 % จากงบฯ บริหารประเทศทั้งหมด และสถิติการกล่าวเท็จของโจทก์ฝ่ายหญิงก็มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับเคสความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในผู้หญิงเกาหลีใต้ แคมเปญของยุนในรอบนี้ก็ประสบความสำเร็จ และกวาดฐานคะแนนจากผู้ชายเกาหลี รวมถึงเหล่าอาจอชิ หรือคุณลุงที่ยังมีแนวคิดแบบขนบเดิมไปได้อย่างมากทีเดียว
กระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัวที่อาจจะถูกยุบในเร็วๆ นี้
“ลี แจ-มยอง” กับนโยบายส่งเสริมเฟมินิสต์ (ที่ไม่จริงเช่นกัน)
ลี แจ-มยอง ได้รับคะแนนโหวต 47.83% แพ้ยุน ซอก-ยอลไปเพียง 0.73%
ในมุมของทีมสีฟ้า หรือพรรคประชาธิปไตย ทีมรัฐบาลชุดเก่าของประธานาธิบดีมุน แจอิน ที่รอบนี้ส่งผู้ท้าชิงคือ “ลี แจ-มยอง” มาลงแข่ง พร้อมนโยบายหาเสียงที่ดูเปิดกว้างและเท่าเทียมทางเพศมากกว่า เป็นต้นว่า จะลดช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างเพศในสังคมเกาหลี ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเพศหญิงให้กว้างขวางขึ้น รวมถึงจะมีนโยบายต่อสู้เพื่อเพศหญิงในประเด็นการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน  แต่หากมองลึกลงไปในความเป็นจริงแล้ว นโยบายเหล่านั้น กลับสวนทางกับพฤติกรรมส่วนตัว และบุคคลใกล้ชิดของลีเอง เห็นได้จากการที่เขาเคยช่วยหลานชายแก้ต่างในคดีที่หลานชายฆ่าแฟนสาวและแม่ของเธอ รวมถึงมีนักข่าวจับได้ว่า ลูกชายของลี หรือ ลี ดงโฮ ได้เคยเข้าไปคอมเมนต์ในเชิงล่วงเกินทางเพศและไม่ให้เกียรติไอดอลวงเกิร์ลกรุ๊ปคนหนึ่งบนโลกออนไลน์
ดังนั้นหากว่ากันตามจริงแล้ว แม้พรรคที่ดูเหมือนจะมีความเป็นเสรีนิยมและเปิดกว้างมากกว่าอย่างพรรคประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย ความเท่าเทียม แต่สำหรับประเด็นเฟมินิสต์ พรรคประชาธิปไตยก็ยังคงไม่ได้เปิดกว้างจริง และเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม ไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเพราะการออกกฏระเบียบหรือนโยบายของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเท่านั้น แต่ตัวคนในสังคมเอง โดยเฉพาะเพศชาย ก็ยังคงมีมุมมองที่ว่าเฟมินิสต์คือปัญหา และอำนาจชายเป็นใหญ่ ยังคงเป็นเรื่องปกติที่ควรจะมีอยู่ต่อไป
ชายวัยทำงาน ฐานคะแนนสำคัญของยุน ซอก-ยอล
ป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง เบอร์1 ทีมสีฟ้า เบอร์2 ทีมสีแดง
ก่อนการเลือกตั้งไม่นาน ได้มีการจัดทำโพสต์สำรวจความนิยมในกลุ่มคนเกาหลีใต้ ว่าจะเลือกผู้เข้าชิงจากพรรคไหนมาเป็นประธานาธิบดี ผลสำรวจออกมาว่า กลุ่มชายวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี หรือพูดง่ายๆ คือกลุ่มวัยรุ่นหรือคนทำงานตอนต้น เทคะแนนนิยมให้กับยุน ซอก-ยอล พวกเขาให้เหตุผลว่า นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศที่ผ่านมาของมุน แจอินที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเพศหญิงในสังคม ทำให้พวกเขาเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขาจึงต้องการเลือกพรรคฝั่งตรงข้าม เพื่อขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปปัญหาเฟมินิสต์ที่เริ่มหนักขึ้นในมุมมองของพวกเขา
ขบวนผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องให้สตรีในเกาหลีใต้ผ่านแคมเปญ Me too และ with you
การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้
สำหรับในฟากฝั่งของกลุ่มผู้สนับสนุนเฟมินิสต์รวมถึงผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ต้องการความเสมอภาค ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวและประท้วงต่อจุดยืนและนโยบายของผู้เข้าชิงจากทั้งสองพรรค โดยกลุ่มเฟมินิสต์ได้นัดรวมตัวกันหน้าที่ทำการของพรรคทั้งสอง และประณามการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีแคมเปญกดขี่และฉวยโอกาสจากเพศหญิง
กลุ่มเฟมินิสต์และนักเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ
กลุ่มแอนตี้เฟมินิสต์ในปี 2018
แม้การเคลื่อนไหวทางภาคประชาชนจะเกิดขึ้น แต่หากเทียบกับพลังของชายเกาหลีที่พร้อมใจกันเลือกยุน ซอก-ยอล การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ดังกล่าว จึงเปรียบเหมือนกับการต่อสู้ที่ไร้ซึ่งอาวุธ เป็นเสียงเล็กๆ ที่ไม่มีคนสนใจ และไม่ต้องการสนใจ
ทั้งหมดนี้จึงอาจสรุปได้ว่า ทั้งแนวทางการสนับสนุนและเปิดกว้างในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การลดความรุนแรงในครอบครัวที่ฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการยอมรับใน LGBTQ ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายในสังคมเกาหลี และคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย กว่าปัญหาและเรื่องราวเหล่านี้จะถูกแก้ไข ยอมรับ เปิดกว้าง และเกิดความเท่าเทียมขึ้นจริงในสังคม เพราะโอปป้าในโลกความจริงกับในซีรีส์ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อ้างอิงข้อมูล
ภาพประกอบ
เรื่องโดย ธัญญ์พิศา กิ๊ฟ
โฆษณา