19 มี.ค. 2022 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
บาดแผลถูกใบพัดเรือ ควรมีลักษณะเช่นไร ?
1
⚖ การอ้างอิงพยาน "บาดแผล"
บาดแผล ถือเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่นำมาอ้างเป็นพยานในชั้นศาลได้
การพิสูจน์เรื่องบาดแผล ถือเป็นการพิสูจน์เรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งต้องอาศัยพยานผู้เชี่ยวชาญแพทย์ คือ ต้องนำแพทย์ไปเบิกความในศาลถึงเรื่องบาดแผล เช่น บาดแผลเกิดจากอะไร รักษาหายกี่วันเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก "บาดแผล" จัดเป็นวัตถุพยานอย่างหนึ่ง จึงอาจจะมีการอ้างบาดแผลอย่างพยานวัตถุก็ได้ โดยต้องนำตัวผู้เสียหายมาเบิกความเพื่อให้ศาลและคู่ความดูบาดแผลจริงๆ หรืออาจนำภาพถ่ายบาดแผลไปอ้างอิงต่อศาล โดยภาพถ่ายถือเป็นภาพจำลองวัตถุ (เป็นพยานวัตถุ) ไม่ใช่พยานเอกสาร
การพิสูจน์ว่าบาดแผลนั้นเกิดจากใบพัดเรือหรือไม่ จำเป็นต้องทราบกลไกการทำงานของใบพัดเรือ เพื่อประเมินรูปแบบของบาดแผลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (pattern of injury)
❤ กลไกการทำงานของใบพัดเรือ
Sketch of the propeller–wing arrangement (a) top view ...Underlying mechanisms of propeller wake interaction with a wing: J. Fluid Mech. (2021), vol. 908, A10. (ตัวอย่างภาพแสดงลักษณะใบพัดเรือและหางเสือ)
จากภาพบน มีใบพัดเรือและหางเสือ เมื่อใบพัดหมุนจะสร้างแรงบวกที่หน้าใบพัดและสร้างแรงลบที่ด้านหลัง และเมื่อหมุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆจะทำให้เกิดการหมุนวนของน้ำไปด้านหลังใบพัด ทำให้เรือเคลื่อนที่ไปด้านหน้าได้ (ทิศทางตรงข้ามกับลูกศรสีน้ำเงิน) โดยมีหางเสือเป็นตัวช่วยบังคับทิศทาง
ดัดแปลงภาพจาก Underlying mechanisms of propeller wake interaction with a wing: J. Fluid Mech. (2021), vol. 908, A10.
จากภาพ จะเห็นว่า เมื่อใบพัดเรือหมุนจะเกิดลักษณะคลื่นน้ำวนเป็นเกลียว (ไปทางขวา) และเมื่อเรือเคลื่อนไปข้างหน้า (ไปทางซ้ายในภาพ) น้ำที่หมุนวนก็จะเกิดเป็นเกลียวต่อเนื่องกัน หากมีส่วนใดของร่างกายไปขวางตอนเรือเคลื่อนไปข้างหน้าก็จะเกิดบาดแผลฉีกขาดลักษณะเป็นริ้วๆขนานกัน (เส้นสีแดงในภาพ) จากใบพัดเรือเฉือน
🚤 บาดแผลจริงที่เกิดจากใบพัดเรือ
ตัวอย่างบาดแผลที่เกิดจากใบพัดเรือขนาดเล็ก
ตัวอย่างบาดแผลจากใบพัดเรือขนาดใหญ่ Fig. 1. Case 1: (a) Propeller of the boat involved. (b) Multiple parallel chop wounds observed on the corpse. (c) Chop wounds evenly distributed on the right side. (d) Mutilated lower limb. จาก “Fatal propeller injuries: three autopsy case reports.” Journal of forensic and legal medicine 16 7 (2009): 420-3.
🖤สรุป ลักษณะเฉพาะของบาดแผลที่เกิดจากใบพัดเรือที่กำลังเคลื่อนที่ มีการฉีกขาดเป็นริ้วๆขนานกันหลายแผล ซึ่งอาจตื้นลึกต่างกันได้ ระยะห่างแต่ละแผลที่ขนานกันอาจต่างกันขึ้นกับขนาดใบพัด และอาจทำให้ตายหรือไม่ก็ได้
อย่างไรก็ตาม หากพบบาดแผลที่มีลักษณะเป็นริ้วๆขนานกันก็อย่าพึ่งปักใจเชื่อว่าเกิดจากใบพัดเรือ เพราะไม่ได้เฉพาะเจาะจงขนาดนั้น อาจเป็นวัตถุอื่นได้อีก
ในทางตรงข้าม หากไม่พบลักษณะบาดแผลที่มีลักษณะเป็นริ้วๆขนานกัน ก็ไม่สามารถตัดประเด็นเรื่องใบพัดเรือออกไปได้ เพราะใดๆในโลกล้วนไม่ 100% มันมีสิ่งที่เรียกว่า Atypical อยู่ด้วย (แหกคอก)
ดังนั้น ต้องพิจารณาบาดแผลเป็นรายๆไป (case by case) เทียบกับวัตถุที่อาจทำให้เกิดบาดแผลนั้นได้
อ้างอิง
-Ihama, Yoko, Kenji Ninomiya, Masamichi Noguchi, Chiaki Fuke and Tetsuji Miyazaki. “Fatal propeller injuries: three autopsy case reports.” Journal of forensic and legal medicine 16 7 (2009): 420-3. ( https://www.semanticscholar.org/paper/Fatal-propeller-injuries%3A-three-autopsy-case-Ihama-Ninomiya/872ad13cf1a369af0ef6c8acbc192b353443ede7 )
โฆษณา