Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Fish Shop
•
ติดตาม
19 มี.ค. 2022 เวลา 04:45 • สัตว์เลี้ยง
กุ้งสวยงามที่มีขายกันในตลาดปลาสวยงามบ้านเราสามารถแบ่งได้เป็นสามจำพวก หนึ่งคือกุ้งแคระที่มีสีสันสวยงามตัวเล็กๆ สองคือกุ้งเครฟิชหรือที่เรียกกันว่าล็อบสเตอร์น้ำจืด และสามคือกุ้งที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติในบ้านเราอย่างเช่น กุ้งก้ามขน กุ้งก้ามลาย กุ้งเจ้าฟ้า กุ้งดีดขัน (น้ำกร่อย) ฯลฯ
วันนี้เราจะคุยกันถึงกุ้งตัวหนึ่งที่อยู่ในจำพวกที่สามคือพบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ชื่อที่เราเรียกกันในท้องตลาดคือ กุ้งแรดหรือกุ้งกล้วยหอม ในบทความนี้จะขอเรียกมันว่า “กุ้งแรด”
เครดิตภาพประกอบ http://nanocaridina.weebly.com/atyopsis-moluccensis.html
คำว่า “กุ้งสวยงาม” สำหรับคนที่ไม่คุ้นกับปลาสวยงามคงฟังดูแปลกหู เอาจริงถ้าแอดมินไม่ได้ทำอาชีพส่งออกปลาสวยงามก็คงนึกไม่ออกว่าเจ้ากุ้งสวยงามนี่มันคือยังไง คำถามแรกเลยคงถามว่า มันกินได้รึเปล่า ? คำตอบคือกินได้ครับ กุ้งทุกชนิดกินได้หมดแหละ
โดยธรรมชาติกุ้งนั้นเป็นสัตว์ดุร้าย มันกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าหรืออ่อนแอกว่า เวลากุ้งจะอัพไซส์ตัวเองมันต้องลอกคราบ และเมื่อมันลอกคราบกระดองของมันจะนิ่ม(หลักการเดียวกับปูนิ่ม) เมื่อกระดองมันนิ่มตัวมันก็เหมาะกับการถูกจัดเป็นโต๊ะจีนให้ตัวอื่นได้มาสุมหัวรุมสกรัมมันเป็นอาหาร ซึ่งธรรมชาติก็จะสอนให้สัตว์ที่พึ่งลอกคราบนั้นหลบซ่อนตัวจนกว่าเปลือกหรือกระดองมันแข็งดีก่อนจึงกลับมาเข้าสังคมและรอรุมกินโต๊ะเพื่อนตัวอื่นต่อไป
การต่อสู้กันของกุ้งจนก้ามขาดขาฉีกเป็นเรื่องธรรมดามาก พวกนี้พอลอกคราบอวัยวะเหล่านี้ก็จะงอกขึ้นมาใหม่เหมือนหางจิ้งจก แต่ว่าขนาดขออวัยวะนั้นจะเล็กเหมือนเมื่อแรกเกิด ต้องอาศัยการลอกคราบอยู่หลายทีกว่าขนาดจะกลับมาสมดุลกับอวัยวะอื่นที่ไม่ได้ชำรุดมาก่อน
แต่กุ้งแรดไม่เป็นแบบนั้น กุ้งแรดไม่กินเพื่อน กินแค่คราบที่เพื่อนลอกออกมาเพื่อเสริมแคลเซียม (กุ้งกินคราบเพื่อเสริมแคลเซียมนี่เรื่องจริงนะครับ) เวลาเลี้ยงกุ้งแล้วอยากเติมแคลเซียมให้กุ้งแค่เราเอายาสีฟันบีบลงไปก็ใช้ได้แล้ว (อันนี้ล้อเล่นครับ อย่าทำจริง)
ด้วยความที่ขาคู่หน้าสุดของกุ้งแรดไม่ได้เป็นก้ามเหมือนกุ้งชนิดอื่นๆ แต่ขาคู่หน้าสุดกลายเป็นแผงขนที่เอาไว้จับขี้ฝุ่นในน้ำรวมถึงสาหร่ายสีเขียวมากินเป็นอาหาร นอกเหนือจากการเป็นกุ้งสันติภาพแล้วก็เป็นพนักงานทำความสะอาดน้ำให้ใสขึ้นไปด้วย
พฤติกรรมของกุ้งแรดบางเรื่องก็ดูตลกและน่ารัก อย่างเช่นการเกาะกันเองจนกลมเป็นลูกบอล บางครั้งก็มาล้อมวงเป็นวงกลมและชูก้ามขึ้นด้านบนตรงทางน้ำไหลลงตู้เหมือนลูกเสือนั่งรอบกองไฟ คือมันมาดักรอทางอาหารตรงทางน้ำไหลเผื่อจะดักจับอะไรไปกินได้บ้างน่ะครับ
ขนาดเมื่อโตเต็มวัยแบบไม่นับรวมก้าม วัดจากปลายกรีถึงปลายหางเต็มที่ประมาณ 7-8 cm ตัวเมียจะตัวใหญ่กว่าตัวผู้ สีของมันมีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนไปถึงสีน้ำตาลเข้มจนเกือบจะเป็นสีส้ม บางครั้งก็เป็นสีเขียวอมฟ้าไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร และเมื่อมันเสียชีวิตจะล้มลงนอนตะแคงที่พื้นราบงอตัวและเปลี่ยนเป็นสีส้มเหมือนกุ้งที่ถูกลวก
ในแหล่งน้ำธรรมชาติกุ้งตัวนี้จะอยู่ในพื้นที่น้ำไหลแรง มีความสะอาดสูง พบมากในละแวกน้ำตก ชอบน้ำเย็นๆ กินสาหร่ายกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร สามารถพบได้ในภาคใต้ของประเทศเริ่มตั้งแต่สุราษฎธานี กระบี่ พังงา ไปจนถึงปัตตานี ทะลุออกไปมาเลเซีย สิงค์โปร์ ข้ามไปจนถึงบางเกาะของอินโดนีเซีย จริงๆตามชายแดนของไทยแถวระนองที่ติดกับพม่าก็มีในฝั่งพม่าเช่นกัน
กุ้งแรดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atyopsis moluccensis (อ่านว่า อั้ต ยอป สิส มอ ลุค เอน สิส) แรกเริ่มเดิมที genus คือ Atya แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็น Atyopsis เพื่อให้ง่ายต่อการจำแนกว่ากุ้ง genus นี้พบเฉพาะในเอชีย ส่วนสปีชีย์ที่ชื่อ moluccensis มาจากชื่อเกาะของอินโดนีเซียที่เรียกว่า moluccas หรือที่เรียกกันว่า Maluku island ส่วนคำว่า ensis นั้นใช้เป็นคำต่อท้ายเพื่อให้รู้ว่ามาจากแหล่งไหน อย่างเช่น siamensis (สยาม เอน สิส) ก็แปลว่าพบในสยามประเทศ
ชื่อสามัญในไทยก็ตามที่กล่าวไว้ว่าเรียกได้ทั้ง กุ้งแรดและกุ้งกล้วยหอม ซึ่งทั้งสองชื่อนี่เดาไม่ออกเลยว่าท่านได้แต่ใดมา ส่วนชื่อสามัญภาษาอังกฤษนั้นมีหลายชื่อมากอย่างเช่น wood shrimp (ชื่อนี้ดีนะสื่อออกมาชัดเจนว่ามันเหมือนเปลือกไม้) filter shrimp (ชื่อนี้ก็ใช้ได้บอกคุณสมบัติของมัน) แล้วก็มี bamboo shrimp , rock shrimp, mountain shrimp, fan shrimp, Singapore shrimp และอีกมากมาย
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย คำว่า shrimp นั้นมาจากคำว่า skreppa เป็นคำโบราณในภาษาเยอรมัน หมายถึง คนผอม
การล่มสลายของตลาดกุ้งสวยงามที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัจจุบันมีเพียงกุ้งแรดเท่านั้นที่เป็นกุ้งจากแหล่งน้ำธรรมชาติและสามารถส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย สาเหตุนั้นเริ่มต้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสในกุ้งขาวเมื่อหลายปีก่อน
การเลี้ยงกุ้งขาวของไทยนับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นกอบกำ ในช่วงที่ไวรัสตัวนี้ระบาดและต่างชาติหยุดนำเข้าจากไทยนี่ใช้คำว่ากระทบกับเศรษฐกิจในระดับมหภาคเลยทีเดียว
นั่นทำให้กุ้งทุกชนิดจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบว่าปลอดไวรัส และสามารถสำแดงแหล่งที่มาที่ไปได้ชัดเจนว่ามาจากการพันธุ์หรือจับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อปลายทางตรวจพบการติดเชื้อหรือการเป็นพาหะก็จะสามารถตรวจสอบกลับมาจนเจอแหล่งที่มาได้ จะมาเพื่อยับยั้งหรือทำลายก็ว่ากันไป
ดังนั้นกุ้งที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติถ้าตัวไหนไม่ท้อปจริง ก็จะไม่มีเกษตรกรไปลงแรงทำแหล่งรวบรวมให้ถูกสุขลักษณะ เมื่อไม่ถูกสุขลักษณะก็ไม่สามารถยื่นขอเอกสาร “หนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ” และถ้าไม่มีเอกสารดังกล่าวนี้ก็ไม่สามารถยื่นขอ ”เอกสารรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ” แล้วก็เป็นผลให้ส่งออกไม่ได้นั่นเอง
นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมเดี๋ยวนี้เราไม่เห็น กุ้งก้ามขน กุ้งเจ้าฟ้า กุ้งก้ามลาย กุ้งดีดขัน และ ฯลฯ ไม่มีจำหน่ายในตลาดปลาสวยงาม ไม่ใช่ว่ามันผิดกฎหมาย แต่เมื่อไม่มีตลาดส่งออกรองรับ การจะไปลงทุนจับกุ้งพวกนี้มาแล้วรอขายปลีกมันก็ไม่คุ้มค่าแรง ตลาดตรงส่วนนี้ก็เลยสลายไปนั่นเอง
2
จนแล้วจนรอดแอดมินก็ยังไม่เคยได้ข่าวว่า กุ้งแรดที่ผู้ส่งออกไทยส่งไปมีการปนเปื้อนเชื้อหรือป่วยด้วยไวรัสอะนะ แต่ก็เข้าใจได้ว่าถึงมันจะไม่ป่วยแต่ก็สามารถเป็นพาหะในการนำพาได้เช่นกัน ครั้งสุดท้ายที่ได้ส่งออกกุ้งก้ามขนก็น่าจะนานสักสิบกว่าปีแล้วมัง ปกติก็หายากอยู่แล้ว นี่เลยไม่ต้องหากันอีกเลย แล้วตลาดกุ้งสวยงามที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติก็เอวังไปด้วยประการฉะนี้
#ปลาสวยงาม #กุ้งสวยงาม #กุ้งแรด
ปลาสวยงาม
บทความ
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย