19 มี.ค. 2022 เวลา 05:27 • ความคิดเห็น
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดํารงค์ชีวิตตามสัญชาตญาณและปัญญาญาณผสมปนเปกันในตัว ส่วนสัตว์จะดํารงค์ชีวิตตามสัญชาตญาณอย่างเดียวเป็นหลัก เช่น การเอาตัวรอด การแก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบกันเอง ใช้พละกําลังแย่งชิงของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง ใช้กําลังยึดครองเป็นจ่าฝูง ผิดลูกผิดเมียกันเองในหมู่ญาติ และไม่มีสํานึกเรื่องผิดชอบชั่วดี
มนุษย์มีสติปัญญา มีการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รู้ถึงความดี ความชั่ว ความยับยั้ง ชั่งใจ ความรัก ความเมตตา ผ่านหลักศีลธรรม ศาสนา จารีต ประเพณี กฎหมาย และจะฝังอยู่ภายในจิตใต้สํานึกคอยควบคุมพฤติกรรม การกระทํา ไม่ให้สัญชาตญาณแบบสัตว์แสดงตนออกมา
สิ่งที่เหมือนกัน
- มีสัญชาตญาณแบบสัตว์อยู่ในตัวเหมือนกัน แต่ของมนุษย์จะอยู่ในจิตใต้สำนึกที่ลึกมากๆ เวลาปรกติจะไม่แสดงออก จะแสดงออกตอนที่ขาดสติและถูกครอบงำด้วยกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ
- มีขันธ์ เป็นองค์ประกอบเหมือนมนุษย์แต่อาจจะไม่่ครบแบบมนุษย์ พูดง่ายๆคือมีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน มีรูป(ร่างกาย), เวทนา (เจ็บปวดได้) , สัญญา (จําได้) , สังขาร (ปรุงแต่งได้), วิญญาณ(รับรู้) ยกเว้นพวกสัตว์ชั้นต่ำเช่น อมีบา, แบคทีเรียที่ไม่มีเวทนา, ไม่มีสัญญา ดังนั้นจะมีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ดีใจ เสียใจ เหมือนมนุษย์แต่ไม่มีสติ ปัญญาคอยควบคุม
สิ่งที่แตกต่างกัน
- สติปัญญาของมนุษย์พัฒนาได้ จากสัญชาตญาณแบบสัตว์เป็นความรู้และปัญญาในทางโลก เป็นความรู้สึกผิดชอบ ชั่ว-ดี มีความคิดแยกแยะสิ่งต่างๆ มีความยับยั้งชั่งใจ และสุดท้ายจิตมนุษย์สามารถพัฒนาให้เกิดปัญญาญาณ เพื่อความหลุดพ้นจากความเป็นมนุษย์หรือบรรลุธรรมได้
- มนุษย์มีสติและสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นเจตสิกประกอบในดวงจิต และปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้ในดวงจิตหรือจิตผู้รู้ แต่สัตว์มีสติสัมปชัญญะ เป็นไปตามสัญชาตญาณ ไม่อาจพัฒนาเป็นปัญญาได้
ดังนั้นไม่แปลก ที่เราอาจะเคยเห็นบางคนที่โหดร้ายทารุณเหมือนสัตว์ป่า เพราะจิตใต้สำนึกมันแสดงสัญชาตญาณของสัตว์ออกมา โดยไม่มีอะไรควบคุม มนุษย์เรานั้นคิดว่า ตัวเองพัฒนาแล้วทั้งร่างกายและจิตใจ เราสูงส่งกว่าและดีงามกว่า แต่เชื่อเถอะ ในสถานการณ์คับขันที่บีบให้เอาตัวรอด อย่างเช่น ในสงคราม , ความอดอยาก, กิเลสด้านมืดเข้าครอบงำ เราจะได้เห็นมันแสดงตัวออกมาแน่นอน พระพุทธเจ้าจึงใช้คําว่ากรรม จําแนกสัตว์ และไม่เว้นกับทุกชีวิตที่เกิดมาในวัฏสงสาร
โฆษณา