20 มี.ค. 2022 เวลา 12:16 • การศึกษา
📌รู้หรือไม่ว่ามีนางในวรรณคดีที่ถูกด่าเปรียบเทียบกับต้นตำแย!!
ตำแยเจ้าเอ๋ยมันแสนคัน
จะเท่ามันคนนี้หามีไม่
กลากเกลื้อนขี้เรื้อนพรรไน
หยูกยาหาใส่ก็หายคัน
จากบทเสภาขุนช้าง-ขุนแผน
จากบทกลอนข้างต้น บางคนอาจสงสัยว่าตำแยคืออะไร? เดี๋ยวหมึกขออธิบายก่อนนะคะ
ต้นตำแย
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า ตำแย คือ ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Laportea interrupta (L.) Chew ในวงศ์ Urticaceae มีขนตามลำต้นและใบ เมื่อถูกเข้าจะคันและเป็นผื่นตามผิวหนัง, ตำแยตัวเมีย หรือ กะลังตังไก่ ก็เรียก.
ส่วนที่มีพิษของตำแย คือ ขนซึ่งมีพิษทำให้ระคายเคืองผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันมาก
แล้วทำไมคนสมัยก่อน
ถึงใช้ตำแยมาด่าผู้หญิงล่ะ?
จากบทกลอนที่หมึกยกตัวอย่างมา เป็นตอนที่ขุนแผนด่านางวันทองว่า ตำแยที่ว่าคัน ยังไม่คันเท่านางวันทองเลย ขนาดเป็นกลากเกลื้อนเมื่อใส่ยายังหายคัน
การที่คนสมัยก่อนใช้ตำแยมาด่าประชดประชันผู้หญิง อาจเป็นเพราะว่า เห็นหญิงนั้นมีสามีอยู่แล้วแต่ยังอยากร่วมหลับนอนกับชายอื่นอีก มักจะเรียกอาการนี้แตกต่างกันออกไป โดยหนึ่งในนั้นคือคำว่า คัน นั่นเอง
ดังนั้น จึงใช้ตำแยที่ว่าเมื่อถูกเข้าแล้วจะคัน มาด่าเปรียบเทียบให้เกิดความสะใจยิ่งขึ้นกับผู้หญิงสำส่อนที่อยากมีอะไรกับผู้ชายอื่นไปทั่ว ว่าคันเสียยิ่งกว่าตำแย นั่นเองค่ะ
สุดท้ายนี้ คนที่เคยอ่านวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่านางวันทองเป็นดั่งที่ขุนแผนว่าไว้หรือไม่...
อ้างอิง: ความหมายของคำว่าตำแย จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
โฆษณา