20 มี.ค. 2022 เวลา 14:16 • หนังสือ
Originals || Done
Author || Adam Grant
Publish || 2015
หลังจากอ่าน Think Again เล่มดังไปก็ย้อนกลับมาอ่านเล่มที่ดังมาก่อนหน้านั้นจากคุณแกรนท์กันบ้าง ซึ่งเอาจริงๆปลายทางของหนังสือค่อนข้างคล้ายกันนะ คือว่าด้วย "ความคิดสร้างสรรค์" ในแบบที่หลุดออกจากกรอบเดิมๆ และสามารถเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ แต่เล่มนี้จะเน้นไปที่การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและบริบทโดยรอบที่ขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ [ หรือที่ในเล่มนี้จะเรียกว่า Originals หรือ ความคิดที่เป็นต้นแบบ ] - ในขณะที่ Think Again ค่อนข้างลงลึกที่เรื่องราวภายในจิตใจของตัวเราเอง ที่ขัดขวางไม่ให้เราเข้าถึงการสร้างความคิดต้นแบบได้
ความรู้สึกหลังจากอ่านจบก็คล้ายๆกับ Think Again นะ คือช่วงแรกของหนังสือดีงามและตื่นตาตื่นใจ ทำให้เราตาลุกวาวด้วยความอยากรู้อยากเห็นได้ แต่พอเข้าช่วงครึ่งหลังของหนังสือเราจะค่อนข้างหลุดโฟกัสและไม่สามารถรักษาระดับความตื่นเต้นเอาไว้ได้
หลังจากพินิจพิจารณาว่า ทำไมเราหลุดโฟกัสนะ ก็มาค้นพบเอาตอนทำย่อว่า เพราะเนื้อหาในเล่มเป็นบทนำ 1 บท และกล่าวถึงปัจจัยต่างๆที่ขัดขวางความคิดต้นแบบในบทที่เหลืออีก 7 บท ซึ่งแต่ละบทนั้นก็ไม่ได้มีความต่อเนื่องกันจนเรารู้สึกว่านำมาจัดกลุ่มรวมกันได้ยาก มันก็เลยกลายเป็นมีเรื่องราว 8 เรื่องวนเวียนในหัว ซึ่งเยอะเกินไป [ เพราะโดยปกติแล้วสมองจะทำได้ดีกับการจดจำเรื่องราว 3 เรื่อง - เช่นการแบ่งเบอร์โทรศัพท์เลขหลายหลักออกเป็น 3 ก้อน ]
ก็เลยกลายเป็นเล่มที่ทำย่อเหนื่อยและนานมาก เพราะพอทำเรียงไปตามบทจนเสร็จก็พบว่ามันมีความเชื่อมโยงบางอย่างกระโดดข้ามไปข้ามมาระหว่างบท เลยพยายามนั่งจัดกลุ่ม จัดเส้นเรื่องใหม่ แล้วก็ได้ออกมาดังต่อไปนี้เลยค่า
.
.
.
🌱 Part 1 - จุดเริ่มต้นของความเป็นต้นแบบ
🌥 กล้าได้กล้าเสีย หรือ รอบคอบ
แกรนท์เปิดเล่มด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองที่ได้ปฏิเสธการให้เงินลงทุนกับกลุ่มนักศึกษา 4 คน ที่ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพสำหรับขายแว่นตาออนไลน์ ในปี 2008 ยุคที่ยังไม่มีคำว่าสตาร์ทอัพ และการซื้อของออนไลน์ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก - แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า วอร์บีพาร์คเกอร์ กลายเป็นบริษัทดาวรุ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 - และความสงสัยที่ว่าทำไมตัวเองถึงได้มองผิดไปก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้
📌 หากอ้างอิงจากงานศึกษาเก่าที่มีชื่อเสียง ว่าด้วยการศึกษาความสำเร็จในหน้าที่การงานจากเบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ตที่พนักงานเลือกใช้ ซึ่งบ่งชี้ว่าคนที่ใช้โครมและไฟร์ฟอกซ์จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ใช้ไออีและซาฟารี เพราะพวกเค้าเหล่านั้นตั้งคำถามกับคุณภาพของสิ่งที่มีอยู่เดิม และแสวงหาสิ่งใหม่ที่ดีกว่าให้ชีวิต [ challenging the status quo ] - ผู้ก่อตั้งวอร์บีพาร์คเกอร์ทั้งสี่ย่อมสอบผ่าน เพราะเว็บขายแว่นตาออนไลน์ย่อมเป็นการท้าทายขนบเดิมๆอย่างกล้าหาญ
แต่ปัจจัยที่ทำให้แกรนท์รู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเด็กหนุ่มเหล่านั้นคือ... พวกเค้าไม่กล้าได้กล้าเสียพอที่จะทุ่มเททั้งชีวิตให้ธุรกิจใหม่ของพวกเค้า เด็กหนุ่มทั้งสี่ไม่ใช่แค่ไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อทุ่มเทให้ธุรกิจใหม่ แต่พวกเค้ายังใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปกับการฝึกงาน และยังวางแผนที่จะทำงานประจำที่มั่นคงต่อทันทีควบคู่ไปกับการสร้างวอร์บีพาร์คเกอร์ และเมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยที่ว่า พวกเค้าเป็นเด็กฉลาดมีความสามารถก็จริง แต่ก็ยังไม่เข้าขั้นอัจฉริยะ
ทั้งหมดนั้นทำให้สามัญสำนึกของแกรนท์ปฏิเสธที่จะวางเดิมพันกับพวกเค้า ก็เด็กๆที่ทำธุรกิจเหมือนงานอดิเรกแบบนี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไรกัน
📌 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แกรนท์ค้นพบว่าตัวเองคิดผิดไปถนัด เค้าก็กลับมาไตร่ตรองอีกครั้งว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่คนเรามีความเชื่อว่า คนที่กล้าเสี่ยงเท่านั้นจึงจะสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นตำนานได้ หรือ อัจฉริยะเท่านั้นที่จะค้นพบสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกได้ - [ แกรนท์ใช้คำว่า "เป็นต้นแบบ" ]
ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นมายาคติจากการรับรู้ข้อมูลด้านเดียวของบุคคลผู้เป็นตำนานต่างๆ แน่นอนว่าความคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ในระดับที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทและความกล้าหาญที่จะเสี่ยงทดลองอะไรใหม่ๆเป็นอย่างมาก แต่ที่บุคคลเหล่านั้นกล้าเสี่ยงแบบไม่น่าเชื่อในด้านหนึ่งของชีวิต เป็นเพราะว่าพวกเค้าล้วนมีหลักประกันอันมั่นคงอยู่ที่อีกด้านหนึ่งของชีวิตเช่นกัน
[ ที เอส อีเลียต ยังคงทำงานเป็นพนักงานธนาคารต่ออีกหลายปีหลังจากบทกวีของเค้าประสบความสำเร็จสูงสุด, ปิแอร์ โอมิดยาร์ ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ไปด้วยขณะที่สร้างเวบไซต์อีเบย์เป็นงานอดิเรก, ซารา เบลกลี ก็ยังคงทำงานเป็นพนักงานบริษัทต่อไปตอนที่เริ่มสร้างธุรกิจถุงน่องสแปงซ์, แม้แต่เฮนรีฟอร์ดก็เริ่มสร้างธุรกิจรถยนต์ไปพร้อมๆกับการทำงานเป็นหัวหน้าวิศวกรให้เอดิสัน, ถึงแม้ว่าครอบครัวของ บิลล์ เกตส์ จะร่ำรวยจนไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องปากท้อง แต่เค้าก็ยังเลือกพักการเรียน แทนที่จะลาออกไปเลย ในตอนที่เริ่มก่อตั้งไมโครซอฟต์ ]
📌 และในส่วนของความอัจฉริยะนั้น ก็กลับกลายเป็นโชคชะตาที่โชคร้ายมากกว่าที่จะโชคดี เด็กอัจฉริยะจำนวนมากเติบโตไปเป็นผู้เชี่ยวชาญอันเก่งฉกาจในสายอาชีพเฉพาะทางต่างๆ แต่กลับไม่เคยไปถึงจุดที่เป็นตำนานจากการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เพราะพวกเค้าถูกความคาดหวังมหาศาลจากครอบครัวและสังคมกดลงบนบ่าทั้งสองข้าง ว่าพวกเค้าไม่อาจก้าวพลาดในชีวิตหรือเดินผิดเส้นทางได้ - นั่นทำให้เหล่าอัจฉริยะกลายเป็นบุคคลที่กล้าเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มคนขี้ขลาดแต่ไม่มีอะไรจะเสียเสียอีก
.
.
.
⛅️ ไอเดียที่ดี เกิดจากไอเดียที่เยอะ
แต่แค่ความใจกล้าบ้าบิ่น [ เฉพาะเรื่อง ] ก็เพียงพอที่จะเข้าถึงความคิดที่เป็น "ต้นแบบ" ได้แล้วหรือ? คำตอบก็คือ ไม่ใช่อย่างสิ้นเชิง
เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเซกเวย์ [ บอร์ดเคลื่อนที่ไฟฟ้าที่มี 2 ล้อด้านซ้ายและขวา มีก้านบังคับคล้ายๆแฮนด์จักรยาน เคลื่อนที่ด้วยการยืนบนบอร์ดและถ่ายน้ำหนัก ] รวมไปถึงไอเดียบ้าระห่ำอีกมากมายก็ต้องกลายเป็นตำนานบทใหม่ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว - แล้วสิ่งที่เป็นจุดตัดระหว่าง "ความคิดบ้าๆ" กับ "ความคิดต้นแบบ" นั้นคืออะไรกัน?
📌 หลังจากศึกษาข้อมูลของบุคคลผู้ผลิต "ผลงานอันเป็นต้นแบบ" ในหลายแวดวง สิ่งที่ปรากฏชัดก็คือ พวกเขาเหล่านั้นผลิตผลงานออกมาเป็นปริมาณมากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆในแวดวงเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น งานเขียน ดนตรี ศิลปะ สิ่งประดิษฐ์ ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ - จากผลงานทั้งหมดที่เหล่าบุคคลต้นแบบได้รังสรรค์มาตลอดชีวิต ท่ามกลาง "ความคิดบ้าๆ" กองโต มีเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่กลายไปเป็น "ผลงานต้นแบบ" - [ เช่น จากสิทธิบัตรหลายร้อยรายการของเอดิสัน มีเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่กลายไปเป็นตำนาน ]
เหตุผลก็คือ ความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์จำนวนมาก และนำประสบการณ์เหล่านั้นมาพิจารณาร่วมกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ยิ่งประสบการณ์มากขึ้นเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความคิดแปลกๆใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น [ เพราะว่าคุณได้ลองทำอะไรที่ธรรมดาไปจนหมดแล้วด้วย ] และยิ่งคุณมีประสบการณ์จากแวดวงที่หลากหลายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่คุณจะสร้าง "ผลงานต้นแบบ" ออกมาได้มากขึ้นไปอีก [ เพราะคุณสามารถพิจารณาเหตุการณ์เดียวกันจากมุมมองของแวดวงอื่นๆได้ ] - แบบเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ที่มีงานอดิเรกในแวดวงศิลปะมีแนวโน้มที่จะได้รับรางวัลโนเบลมากกว่า
ในทางตรงกันข้าม การหมกมุ่นอยู่กับผลงานเพียงชิ้นเดียว และยึดมั่นอยู่กับแนวคิดตั้งต้นนั้นคือกับดักที่อันตรายที่สุดของนักสร้างสรรค์ เพราะจะยิ่งก่อให้เกิดอคติเข้าข้างตัวเองและความเสียดายในสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปแล้วที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น [ Confirmation Bias & Sunk Cost Effect ]
📌 อย่างไรก็ตาม การทุ่มเทพลังงานเพื่อผลิตผลงานใหม่ๆจนเสร็จสิ้นนั้นใช้ทรัพยากรมากเกินไป ดังนั้น เมื่อสร้างสรรค์ผลงานไปถึงจุดหนึ่งแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ การประเมินผลที่จะสามารถบอกได้ว่า เราควรพัฒนาแนวคิดนี้ต่อไป ปรับเปลี่ยนตรงจุดไหน หรือล้มเลิกไปทำอย่างอื่นแทนดี - และผลจากงานวิจัยก็พบว่า
- การประเมินด้วยตัวเองมักจะได้ผล "ดีเกินจริง" เพราะมนุษย์ทุกคนเข้าข้างตัวเองโดยสัญชาตญาณ และยิ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมั่นใจในตัวเองมากเท่านั้น
- การประเมินจากผู้บริโภค หรือ ผู้ประกอบการ มักจะได้ผล "แย่เกินจริง" เพราะพวกเค้าไม่ได้มีความเชี่ยวชาญและตัดสินจากความคุ้นเคย ดังนั้น แนวคิดที่แปลกใหม่จึงได้คะแนนน้อย ส่วนแนวคิดที่คุ้นเคยและได้คะแนนมาก มักจะเป็นแนวคิดที่ไม่แปลกใหม่ เป็นได้อย่างมากก็แค่แนวคิดใหม่ แต่ไม่สามารถกลายไปเป็นแนวคิดต้นแบบได้
- ผู้ผลิตผลงานในแวดวงเดียวกัน คือผู้ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะพวกเค้ามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากพอที่จะให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงสามารถให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาแนวคิดต่อไปได้
.
.
.
🌤 ความเร็วไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป
ความเชื่อถัดไปที่มักผูกโยงกับความคิดต้นแบบอย่างแนบแน่นก็คือ "ความได้เปรียบจากการเริ่มต้นเป็นคนแรก" [ first mover advantage ] ซึ่งถูกหล่อหลอมจากการที่สื่อและสังคมขับเน้นความยิ่งใหญ่ของการค้นพบอะไรบางอย่างเป็นครั้งแรกจนเกินจริงอยู่เสมอ
📌 อย่างไรก็ตาม ความเร็วก็เป็นอีกหนึ่งมายาคติจากการรับรู้เพียงด้านเดียวเช่นกัน เพราะเราได้รับการนำเสนอแต่ "ความสำเร็จของคนแรกที่กล้าหาญ" ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว อัตราความล้มเหลวของผู้ริเริ่มทำอะไรก่อนนั้นสูงกว่าความล้มเหลวจากการเป็นผู้ตามถึง 6 เท่า [ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ทำตัวเชื่องช้าจนมาเป็นที่ท้ายๆ จากตัวอย่างจำนวนมาก ผู้ที่นำแนวคิดแรกไปพัฒนาต่อยอด และนำเสนอมันเป็นคนที่ 2-3 ดูจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด - หลอดไฟของเอดิสันก็อยู่ในหมวดนี้เช่นกัน ]
การให้ความสำคัญกับความเร็วและการใช้เวลาอย่างคุ้มค่านั้นเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เพิ่งหล่อหลอมขึ้นในสังคมมนุษย์ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม หากย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้านั้น มนุษย์ให้ความสำคัญกับการ "รอคอย" มากไม่แพ้คุณลักษณะอื่นๆเลย - [ เห็นได้จากปรัชญาจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการมาถึงของ "ช่วงเวลาที่เหมาะสม" และบุคคลต้นแบบจำนวนมากในอดีต ก็มักจะใช้เวลาเนิ่นนานกับผลงานต้นแบบชิ้นเอกของตัวเองในรูปแบบของการ ทำๆหยุดๆ โดยเว้นช่วงไปทำงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาวินชี, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือแม้แต่ อับราฮัม ลินคอล์น ]
📌 แล้วอะไรคือความแตกต่าง ระหว่างการปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปแบบ "รอคอยช่วงเวลาที่เหมาะสม" กับการ "ผัดวันประกันพรุ่ง"
การผัดผ่อนที่สร้างประโยชน์นั้นจะต้อง "หยุดมือ แต่ไม่หยุดความคิด" เพราะในช่วงเวลาที่เราบังคับตัวเองไม่ให้ทำงานนั้นๆต่อแต่ยังคงตระหนักรู้ว่าจะต้องทำงานนั้นให้สำเร็จ เราจะค่อยๆนำข้อมูลและวัตถุดิบต่างๆรอบตัวเข้ามาผสมผสานกับความคิดที่ยังไม่เสร็จสิ้นของเรา และในบรรดาความคิดมากมายที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงเวลาที่เราหยุดมือ หนึ่งในนั้นอาจพัฒนากลายไปเป็นความคิดต้นแบบได้ - [ ซึ่งก็เป็นที่มาของความสำคัญของการมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ]
.
.
.
☀️ อะไรทำให้เกิดคนหัวขบถ
📌 ลูกคนรองๆมักจะเปิดรับแนวคิดต้นแบบ รวมไปถึงมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์แนวคิดต้นแบบมากกว่าลูกคนโต แต่แบบแผนของพฤติกรรมนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลำดับการเกิดหรือข้อจำกัดทางพันธุกรรม แต่เป็นผลกระทบจากการเลี้ยงดู
เพราะลูกคนรองๆมักจะถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้ต้องแย่งชิงทรัพยากรต่างๆจากพวกพี่ๆ รวมไปถึงต้องดิ้นรนหาวิธีการมีตัวตนที่ไม่ซ้ำกับพวกพี่ๆอีกด้วย และโดยมากแล้ว ลูกที่อยู่ในกลุ่มพี่ๆมักจะเลือกแนวทางที่ค่อนข้างเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของสังคม หรือใกล้เคียงกับพ่อแม่ ทำให้ลูกคนรองๆถูกบีบให้เลือกเส้นทางที่ออกจากกรอบมากกว่า - [ ความห่างกันของช่วงอายุส่งผลค่อนข้างมาก เช่น ลูกคนรองที่เกิดห่างกับพี่ๆในช่วงไม่เกิน 5 ปีมีแน้วโน้มที่จะมองว่าตัวเองต้องแข่นขันกับพี่ๆมากกว่า ในขณะที่ลูกคนรองที่เกิดห่างจากพี่ๆ 7 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มจะยึดถือเอาพี่ๆที่โตกว่าเป็นต้นแบบแทน เหมือนกับที่พี่คนโตยึดมักจะเอาพ่อแม่เป็นต้นแบบ ]
นอกจากนั้นลูกคนรองยังมีแนวโน้มที่จะได้รับการตามใจจากพ่อแม่มากกว่าด้วย ทำให้พวกเค้าเคยชินกับการทำตัวนอกกฎระเบียบ และไม่กลัวที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ เพราะมั่นใจว่าถ้ามีปัญหาก็จะได้รับการช่วยเหลือและคลี่คลายได้ในที่สุด
แบบแผนลูกคนรองนี้พบในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยศาสตร์ นักธุรกิจ หรือ นักกีฬา และในแวดวงที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงมากอย่างแวดวงเดี่ยวไม่โครโฟน คนที่ประสบความสำเร็จเป็นลูกคนเล็กมากกว่าลูกคนโตถึง 2 เท่า
📌 การเลี้ยงลูกแบบให้อิสระสามารถปลูกฝังลักษณะนิสัยของความเป็นต้นแบบได้ก็จริง แต่ความเป็นต้นแบบก็สามารถถูกนำไปใช้ได้ทั้งในทิศทางที่ดีและไม่ดี ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กๆเติบโตขึ้นโดยไม่กลายไปเป็นปัญหาของสังคมก็คือ "การมีอิสระที่อยู่ภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผล"
แทนที่จะตั้งกฏและการลงโทษจำนวนมาก พ่อแม่กลุ่มนี้จะเน้นการอธิบาย และสนุบสนุนให้เด็กๆพิจารณาด้วยตัวเองว่าการกระทำที่เป็นอิสระของตนนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ และกรอบความคิดที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กๆเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่ดีของสังคมก็คือ "การคิดถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้คนอื่น" - เมื่อเด็กๆเหล่านั้นโตขึ้น ถึงแม้ว่าพวกเค้าจะมีความหัวขบถสูง แต่ก็จะคุ้นเคยกับการไม่ใช้มันไปในทิศทางที่จะส่งผลเสียต่อบุคคลอื่น
[ ถึงแม้ว่าข้อมูลจะเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก แต่ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเป็นต้นแบบก็คือ "สภาพแวดล้อม" ที่เหมาะสม ซึ่งยังคงส่งผลต่อมนุษย์ทุกช่วงวัย - ดังนั้นอย่าลืมเลือกสภาพแวดล้อมที่ดีให้ตัวคุณเอง ]
.
.
.
🎋 Part 2 - ความโดดเดี่ยวของผู้เป็นต้นแบบ
การศึกษาต้นกำเนิดของความคิดที่เป็นต้นแบบทำให้เราพอจะรู้ว่า แท้จริงแล้วมนุษย์เราสร้างสรรค์แนวคิดแปลกใหม่ไปจนถึงหลุดโลกออกมาได้ง่ายมากกว่าที่คิด ดังนั้น สิ่งที่เป็นจุดตัดระหว่างบุคคลธรรมดากับบุคคลที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นบุคคลต้นแบบจึงไม่ใช่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นความสามารถในการ "ลงมือทำ" - [ turning ideas into action ]
เพราะถึงแม้ว่าคุณจะสามารถสร้าง "ความคิดต้นแบบ" ขึ้นมาได้สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะกลายเป็น "บุคคลต้นแบบ" ในทันที เพราะโดยปกติแล้ว ความคิดแปลกใหม่มักจะถูกปฏิเสธตามสัญชาตญาณค่าเริ่มต้นของมนุษย์ [ status quo ] และความยากลำบากถัดไปคือการทำให้ความคิดอันแปลกใหม่นั้นกลายเป็นที่ยอมรับ
[ ซึ่งวิธีการในการนำพาความคิดต้นแบบฝ่าพันอุปสรรคจนได้รับการยอมรับนั้น ค่อนข้างเทียบเคียงได้กับหลักการการโน้มน้าวใน Inflence เลย ]
.
.
.
🌥 สร้างความคุ้นเคยให้กับแนวคิดใหม่เสียก่อน :
จากสัญชาตญาณค่าเริ่มต้นของมนุษย์ [ ซึ่งฝังอยู่ใน system 1 ] มนุษย์มักจะปฏิเสธสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และมีแนวโน้มที่จะยอมรับสิ่งที่คุ้นเคยมากกว่า โดยความคุ้นเคยอาจมาในรูปแบบของการพบเจอบ่อยๆ หรือเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวที่รู้จักดีก็ได้ - [ ตอนที่บทไลออนคิงถูกนำเสนอในห้องประชุมเป็นครั้งแรก ผู้บริหารดิสนีย์พร้อมใจกันไม่ให้ผ่าน เพราะไม่คิดว่าการ์ตูนที่ไม่ได้สร้างขึ้นจากเทพนิยายจะขายดี แต่สุดท้ายไลออนคิงก็ฝ่าฟันไปสู่ขั้นตอนการผลิตได้หลังจากที่ทีมงานค้นพบความเชื่อมโยงว่ามันคือการ์ตูนที่มีเค้าโครงเรื่องคล้ายแฮมเล็ตในรูปแบบที่ใช้สิงโตแสดง ]
📌 การใช้ "ความคุ้นเคย" รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือการ "หาจุดร่วม" [ common ground ] ของสองกลุ่มที่ขัดแย้งกัน แต่การหาจุดร่วมใน "วิธีการ" จะได้ผลดีกว่า "เป้าหมาย"
เพราะเมื่อใช้เป้าหมายเป็นที่ตั้ง กลุ่มคนที่ถึงแม้จะมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันก็มักจะหันมาขัดแย้งกันเองในเรื่อง "ความเข้มข้น หรือ ความทุ่มเท" ที่มีให้แก่เป้าหมายนั้นๆ - [ นึกถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนับถือศาสนาแบบเคร่งกับไม่เคร่ง กลุ่มวีแกนและกลุ่มมังสวิรัติ รวมไปถึงกลุ่มการเมืองขั้วเดียวกันแต่ต่างเฉดกัน ที่มักจะมองว่าแนวคิดของอีกฝ่ายนั้นไม่เข้มข้นพอ หรือไม่ก็ สุดโต่งเกินไป ]
📌 ในทางกลับกัน กลุ่มที่ไม่ได้มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันเลย ก็มักจะไม่ค่อยนำเป้าหมายของพวกตนมาเปรียบเทียบกัน และถ้าสามารถหา "จุดร่วม" ใหม่ที่วางอยู่บน "วิธีการ" ที่คุ้นเคยได้ ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ หรือการยอมรับในแนวคิดใหม่ได้ - [ เพราะวิธีการเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับพวกเค้าเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต่างกัน ]
เช่น การเรียกร้องสิทธิสตรี ในอเมริกานั้นมีจุดเริ่มต้นที่สตรีหัวสมัยใหม่กลุ่มเล็กๆที่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียม แต่ปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งชัยชนะนั้นได้มาจากความร่วมมือกับกลุ่มสตรีที่ต่อต้านสิ่งมึนเมาซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมขนาดใหญ่ - ในขณะที่กลุ่มแรกต้องการมีสิทธิมีเสียงเทียบเท่าผู้ชาย กลุ่มที่สองต้องการเป็นเพียงภรรยาที่ดีที่จะไม่ถูกสามีขี้เมาทำร้าย
ความร่วมมือของทั้งสองเกิดขึ้นจากการใช้ "การออกไปเลือกตั้ง" เป็นจุดร่วม - แกนนำของทั้งสองกลุ่มมุ่งเน้นไปที่วิธีการ ว่าการออกไปแสดงพลังของผู้หญิงด้วยการเลือกตั้งจะทำให้ความต้องการของพวกเธอได้รับการใส่ใจมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าความต้องการของทั้งสองกลุ่มจะไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม [ แต่แน่นอนว่าความต้องการของพวกเธอต้องไม่ขัดแย้งกัน ]
📌 สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ "การหาจุดร่วม" ก็คือ "ทัศนคติแบบสุดโต่ง" - การยึดมั่นถือมั่นกับ "เป้าหมาย" ที่เข้มข้นเกินกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปมีแต่จะผลักให้บุคคลที่ไม่คุ้นเคยกับแนวคิดใหม่ยิ่งถอยห่าง [ เช่นแกนนำของกลุ่มสิทธิสตรีที่มองว่าผู้ชายทุกคนคือศัตรู ผลักให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เชื่อในบทบาทของชายและหญิงที่ต่างกันและต้องการเป็นภรรยาที่ดีไม่อาจร่วมมือกันได้ ] - ทางที่ดีกว่าคือการยอมประนีประนอมซึ่งจะช่วยให้เกิดการโน้มน้าวที่ทรงพลังมากขึ้น [ Influence ]
📌 ข้อควรระวังคือ ถึงแม้ว่าความคุ้นเคยจะช่วยให้แนวคิดใหม่ๆได้รับการยอมรับง่ายขึ้น แต่ให้เริ่มต้นจาก "ความแปลกใหม่" ก่อนเสมอ เพราะถ้าหากเราเริ่มต้นจากความคุ้นเคย สมองของเราจะจดจ่ออยู่กับค่าเริ่มต้นมาตรฐานจนไม่สามารถมีความคิดแปลกใหม่ได้ [ Priming Effect ] - ในขณะที่การเริ่มต้นด้วยสิ่งที่แปลกใหม่ หรืออาจจะไม่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้เราเกิดไอเดียที่แปลกแตกต่างได้มากกว่า [ ตามหลักการของความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากประสบการณ์ที่หลากหลาย ]
.
.
.
⛅️ อันตรายของการคิดตามกลุ่ม [ Group Think ]
📌 การคิดตามกลุ่ม หรือ การคล้อยตาม "บรรทัดฐานทางสังคม" เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ขัดขวางความคิดต้นแบบ และผู้คนยังเชื่อด้วยว่า ยิ่งความสัมพันธ์ภายในกลุ่มแน่นแฟ้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้พวกเค้าหลีกเลี่ยงที่จะขัดแย้งกันและทำให้แทบไม่มีความคิดที่แปลกแตกต่างเกิดขึ้นในกลุ่มเลย
อย่างไรก็ตามงานวิจัยพบว่า กลุ่มที่สนิทกันกลับทำได้ดีกว่า ในแง่ของการวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาเมื่อมีแนวคิดไม่ตรงกัน เพราะพวกเค้ามั่นใจว่าจะไม่ทะเลาะกันด้วยเหตุผลนี้ ในขณะที่กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันเพียงผิวเผิน จะสนับสนุนให้พฤติกรรมคิดตามกลุ่มนั้นรุนแรงขึ้น [ เช่นกลุ่มความเชื่อขนาดใหญ่ของคนที่ไม่รุ้จักกัน - ศาสนา - การเมือง ]
📌 จากการศึกษาบริษัทสตาร์ทอัพผ่านวัฒนธรรมองค์กรยอดนิยม 3 แบบ คือ แบบมืออาชีพ แบบดาวเด่น และแบบครอบครัว พบว่า ถึงแม้วัฒนธรรมแบบครอบครัว [ มีความผูกมัดทางใจและความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ] จะช่วยให้บริษัทผ่านวิกฤตในช่วงเริ่มแรกไปได้จนสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้มากที่สุด แต่กลับไม่สามารถเติบโตจนประสบความสำเร็จในระดับสูงได้ ในทางกลับกัน วัฒนธรรมแบบดาวเด่นอาจจะมีโอกาสล้มเลิกกิจการในช่วงเริ่มแรกมากกว่า แต่เมื่อผ่านไปได้แล้ว ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของอุตสาหกรรม [ กลายเป็นต้นแบบ ]
เหตุผลก็คือ ภายใต้หลักการที่ยึดความผูกพันธ์ทางใจเป็นที่ตั้ง องค์กรที่เน้นความกลมเกลียวมีแนวโน้มที่จะคัดแต่คนที่มีแนวคิดแบบเดียวกันเข้ามาในองค์กร และคัดคนที่มีความเห็นแปลกแยกออกจากองค์กร ซึ่งไม่เพียงทำให้ความกดดันที่จำเป็นจะต้องคล้อยตามกลุ่มรุนแรงมากขึ้น แต่ทำให้โอกาสที่จะมีความคิดที่แปลกใหม่หลากหลายในองค์กรลดลงด้วย
📌 ถึงอย่างนั้น การคล้อยตามกลุ่มก็ป้องกันได้ง่ายกว่าที่คิดมาก เพียงแค่เพิ่มบุคคลที่คิดต่างเข้าไปเพียง 1 คน ความสัมพันธ์ที่เคยแข็งแรงใน "กลุ่ม" ก็จะพังทลายลง เพราะเหตุผลที่มนุษย์ส่วนใหญ่คล้อยตามบรรทัดฐานทางสังคมคือ "ความกลัว" ที่จะต้องโดดเดี่ยว ไม่ใช่ "ความอยาก" ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่ง - ดังนั้น เพื่อนพ้องเพียงคนเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะปลุกจิตวิญญาณขบถในตัวคุณ
ซึ่งก็เป็นที่มาของการใช้กลยุทธ์ ทนายของปีศาจ [ Devil's Advocate ] ในองค์กรขนาดใหญ่ โดยให้พนักงานบางคนรับบทเป็นคนที่ต้องหาข้อมูลและเสนอความคิดที่ขัดแย้งกับแนวคิดหลักในการประชุมต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการ Re-Thinking จากมุมมองที่แปลกใหม่
แต่จากการศึกษาข้อมูลผ่านการทดลองใช้จริง ทนายของปีศาจ ไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่คาดหวังได้ เนื่องจากพนักงานในบริษัทต่างรับรู้ว่าพวกเค้าทำหน้าที่อะไร ซึ่งทำให้นอกจากจะทำให้พวกเค้าไม่เชื่อในแนวคิดที่แตกต่างกันนั้นแล้ว ยังทำให้พวกเค้าหลีกเลี่ยงที่จะโต้เถียงกับทนายของปีศาจอย่างเต็มกำลัง เพราะมองว่าบุคคลเหล่านั้นแค่ทำตามหน้าที่ [ ถูก system 1 ปิดการรับรู้ไปเลย ]
📌 วิธีที่ได้ผลกว่าคือการส่งเสริมให้องค์กรประกอบไปด้วย "ทนายของปีศาจตัวจริง" หรือก็คือบุคคลที่มีความคิดแตกต่างอย่างแท้จริง เพราะพวกเค้าจะ
ต่อสู้เพื่อแนวคิดของตัวเองอย่างถึงที่สุด และ บริดจ์วอเตอร์ก็คือองค์กรที่นำหลักการนี้ไปใช้อย่างจริงจัง ด้วยการส่งเสริมความไม่ลงรอยกัน ผ่านการสนับสนุนให้พนักงานกล้าคิดต่างและท้าทายขนบเดิมๆ [ อันเนื่องมาจากยังไม่ได้อ่าน Principle ซักที แต่จากเนื้อหาที่แกรนท์ยกมาก็คิดว่ามีความใกล้เคียงกับ Candor Policy ของ Netflix เป็นอย่างมาก ]
ในด้านตรงกันข้าม โพลารอยด์ เปลี่ยนจากองค์กรที่มีอนาคตไปสู่องค์กรที่แทบจะต้องออกจากตลาดเพราะไม่มีใครสามารถคัดค้านลัทธิบูชาแผ่นฟิล์มของผู้บริหารได้ ทั้งๆที่พวกเค้าสามารถคิดค้นการถ่ายภาพแบบดิจิตอล [ ซึ่งจะกลายไปเป็นผลงานต้นแบบในอนาคต ] ขึ้นมาได้ก่อนบริษัทอื่นๆ แต่กลับไม่เคยได้พัฒนาต่อยอด เพราะผู้บริหารเชื่ออย่างหมดใจว่าคนต้องการรูปถ่ายที่จับต้องได้มากกว่ารูปถ่ายในไฟล์ดิจิตอล
📌 อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ วัฒนธรรมการส่งเสริมให้พนักงานต้องหาวิธี "แก้ไขปัญหา" ให้ได้ก่อนที่จะนำ "ปัญหา" มารายงาน ซึ่งแพร่หลายเป็นอย่างมากในองค์กรขนาดใหญ่ เพราะการนำปัญหามาแจ้งให้ทราบโดยที่ยังไม่มีทางออกนั้นดูเหมือนคนไร้ความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมนี้กลับส่งเสริมให้ปัญหาจากการคิดตามกลุ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเรามักจะคล้อยตามการแก้ปัญหานั้นๆก่อนที่จะได้พิจารณาอย่างจริงจัง ทำให้การถกเถียงและแลกเปลี่ยนข้อมูลลดลง [ system 1 รีบกระโดดหาข้อสรุปที่ว่า ทุกอย่างดูปกติดี ]
.
.
.
🌤 เลือกกลุ่มเป้าหมายในการนำเสนอให้เหมาะสม
📌 จากอิทธิพลของการคิดตามกลุ่ม วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้แนวคิดใดๆได้รับการยอมรับก็คือการทำให้กลุ่มคนจำนวนมากยอมรับแนวคิดนั้น แล้วค่อยๆปล่อยให้กลไกของบรรทัดฐานทางสังคมทำหน้าที่ที่เหลือ
แต่แนวคิดต้นแบบไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านความไม่คุ้นเคย ดังนั้นตัวเลือกถัดไปคือการทำให้ผู้มี "อภิสิทธิ์" [ หรือผู้นำของกลุ่ม ] ยอมรับมันให้ได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นแนวคิดต้นแบบก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็น "ความกล้าหาญ" หรือ "ความคิดสร้างสรรค์" เมื่อผู้มีอภิสิทธิ์เข้ามาช่วยสนับสนุนแนวคิดนั้นๆ - [ การพาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งที่มี "อภิสิทธิ์" ก็ได้ผลดีเช่นกัน แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่ามาก ]
เพราะการทำตัวแปลกแตกต่าง หรือ ขัดต่อบรรทัดฐานทางสังคมนั้นสามารถถูกตีความไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว - การกระทำที่ดูเหมือนจะเป็น "ความคิดบ้าๆ" หรือ "พฤติกรรมแหกคอก" ถ้าหากถูกกระทำโดยบุคคลทั่วๆไปที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร ก็จะเป็นเพียงแค่ความคิดบ้าๆจากคนบ้าๆต่อไป แต่ถ้าหากถูกกระทำโดยบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือ ได้รับการยอมรับ หรือ มีพลังอำนาจ บางอย่าง ผู้คนก็มักจะตีความไปในรูปแบบของ "ความกล้าหาญ" หรือ "ความคิดสร้างสรรค์" ที่มีโอกาสกลายไปเป็น "ความคิดต้นแบบ"
[ ความล้มเหลวของ เซกเวย์ เองก็ได้รับผลกระทบจากหลักการข้อนี้เป็นอย่างมาก เพราะมันได้รับความเชื่อมั่นอย่างล้นหลามในฐานะสิ่งประดิษฐ์จากยอดนักประดิษฐ์แห่งยุค ดีน คาเมน แต่มันกลับไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะดีนเลือกที่จะพัฒนาเซกเวย์อย่างเป็นความลับสุดยอด ทำให้ไม่ได้รับคำวิจารณ์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่จำเป็นอย่างยานพาหนะและการคมนาคมเลย ]
ข้อควรระวังก็คือ การพยายามโน้มน้าวบุคคลที่มีอำนาจในระดับกลางๆมักไม่ได้ผล เนื่องจากพวกเค้ายังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของการคิดตามกลุ่มจากการแสวงหาความมั่นคงปลอดภัย และยังมีอำนาจไม่มากพอที่จะโน้มน้าวกลุ่มคนหมู่มากที่อยู่ในระดับต่ำกว่าด้วย
📌 การใช้บุคคลภายนอกมาช่วยโนมน้าวจะช่วยลดอคติของผู้ต่อต้านแนวคิดเป็นพิเศษ ถ้าหากว่าบุคคลภายนอกเคยเป็นกลุ่มต่อต้านมาก่อน เพราะพวกเค้าสามารถอธิบายข้อดีและข้อเสียจากมุมมองของทั้งผู้คิดค้นแนวคิดใหม่ และผู้ต่อต้านแนวคิดนั้นๆได้ ในคราวเดียวกัน - [ เหมือนกับที่กลุ่มสตรีต่อต้านสิ่งมึนเมาซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม เคยมองว่ากลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีเป็น "ขั้วตรงข้าม" มาก่อน แต่เมื่อพวกเธอหาจุดร่วมที่ตรงกันได้ ผู้นำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงชาวอเมริกันได้รับชั้ยชนะ เพราะเธอสามารถโน้มน้าวกลุ่มอนุรักษ์นิยมซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มหัวสมัยใหม่เป็นอย่างมากให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ]
.
.
.
☀️ เคล็ดลับอื่นๆที่จะช่วยผลักดันให้คุณสามารถไปถึง "ความเป็นต้นแบบ" ได้
📌 เริ่มต้นด้วยการเปิดเผยข้อเสียอย่างตรงไปตรงมา :
เนื่องจาก "ความคิดต้นแบบ" นั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เห็นได้โดยเด่นชัดอยู่แล้ว ดังนั้นผู้คนจึงมักจะจดจ่ออยู่กับข้อเสียเหล่านั้นและต้องการหลีกเลี่ยงโดยสัญชาติญาณ [ system 1 - Lose Aversion ] - แต่ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการเปิดเผยข้อเสียทั้งหมดก่อน ผู้คนก็จะรู้สึกไว้วางใจมากขึ้น และทุ่มเทความสนใจให้กับข้อดีของแนวคิดที่แปลกใหม่แทน
📌 เปลี่ยนความกังวลให้เป็นพลังงาน :
ท่ามกลางความรู้สึกหวาดกลัว ถ้ามีแนวโน้มว่าคุณมีโอกาสที่จะถอดใจและถอนตัว การเปลี่ยนความหวาดกลัวเป็นความตื่นเต้น หรือนำมุมมองที่ตลกเข้ามาแทนที่ [ มองโลกในแง่ดี ] จะช่วยกระตุ้นให้คุณอยากทำภารกิจมากยิ่งขึ้น
แต่ภายใต้ความหวาดกลัวแบบเดียวกัน ถ้าหากคุณมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่ถอนตัวอย่างแน่นอน การ [ มองโลกในแง่ร้าย ] จะช่วยให้คุณทำภารกิจได้ดีกว่า เพราะคุณจะคิดถึงทุกสถานการณ์เลวร้ายที่มีโอกาสเป็นไปได้เผื่อเอาไว้ และเมื่อเหตุการณ์จริงมาถึง คุณก็มีแผนรอรับมืออยู่แล้ว
📌 ใช้ความรู้สึกเร่งด่วนเข้ามากระตุ้น :
อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้คนเรากล้าเสี่ยง [ เพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบที่โดดเดี่ยว ] มากยิ่งขึ้น ก็คือการใช้ความรู้สึกเร่งด่วนเข้ามากระตุ้น หรือ ใช้หลักการ Lose Aversion ของคุณพ่อแดนนี่เข้ามาช่วย ด้วยการเปลี่ยนกรอบความคิดให้เรารู้สึกว่า "ถ้าไม่ทำ เราจะต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง"
📌 ระมัดระวังความโกรธให้ดี :
ความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า การระบายอารมณ์โกรธจะช่วยให้ความก้าวร้าวลดลงนั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ยิ่งเราระบายอารมณ์โกรธมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเพิ่มความกล้าหาญเชิงทำลายล้างมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่วิธีการที่ได้ผลดีกว่าคือการใช้ ความต้องการ "ช่วยเหลือ" ซึ่งจะสร้างความกล้าหาญในทางสร้างสรรค์แทน - [ ในประวัติศาสตร์การต่อต้านรัฐบาล การฉายภาพผู้นำเผด็จการที่ประชาชนเกลียดชังจะก่อให้เกิดความกล้าหาญในทางลบ หรือก็คือความโกรธและความโกลาหล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อขบวนการ กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของเซอร์เบีย จึงเลือกที่จะปลุกใจให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ด้วยการฉายภาพของประชาชนที่ถูกทำร้ายและมีชีวิตที่ยากลำบาก ซึ่งทำให้เกิดความกล้าหาญในทางบวกแทน ]
โฆษณา