21 มี.ค. 2022 เวลา 10:19 • ดนตรี เพลง
ตัวโน้ตในความทรงจำ : Icon 90s
อาเต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์
Cr. รูปภาพจาก sanook.com
อาเต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ผู้มีคุณูปการมหาศาลของวงการเพลงของประเทศไทย เป็นโปรดิวเซอร์ นักดนตรี นักแต่งเพลงในตำนาน เป็นผู้ปฏิวัติวงการเพลงไทยให้ไปสู่ยุคทองแห่งความเจริญรุ่งเรือง และผู้ริเริ่มความทันสมัยของดนตรีสมัยใหม่ให้กับประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกแนวเพลงสตริงอันทันสมัยให้กับการเพลงไทย ผู้นำแนวเพลง ร๊อค ป๊อบ แดนซ์ โมเดิร์นแจ๊ส ฟังค์ ฯลฯ เข้ามาเป็นที่นิยมในไทย เป็นผู้ปลุกปั้นศิลปินให้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เป็นบุคคลตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจของนักร้องนักดนตรีของเมืองไทยมากมายจวบจนสมัยนี้
เรวัต พุทธินันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพ เรวัตเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนาวาตรีทวีและนางอบเชย พุทธินันทน์ และเขายังมีน้องชายต่างมารดาอีก 1 คน คือ ดิเรก พุทธินันทน์ (ต่อง) แต่ไม่ได้เข้าวงการบันเทิง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเช่นกัน) เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อไปนี้จะขออนุญาตเรียก "อาเต๋อ" เหมือนที่แฟนเพลงในยุคผมหลาย ๆ ท่านเรียกกันคุ้นปาก
อาเต๋อหัดเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยบิดาบังคับให้เรียนแซกโซโฟน เขากับเพื่อน ๆ โรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งวงดนตรี ชื่อ Dark Eyes ต่อมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น Mosrite และเข้าประกวดในงานของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปี พ.ศ. 2508 และ 2509 ขณะเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2510 ได้ร่วมกับเพื่อนตั้งวง Yellow Red (เหลือง-แดง คือสีประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เพื่อนในวงคนสำคัญคือ ดนู ฮันตระกูล และจิรพรรณ อังศวานนท์
ต่อมาอาเต๋อ ได้ร่วมกับเพื่อนจากธรรมศาสตร์ (นภศักดิ์ มณีสุข "นภ" มือกีตาร์) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เฉลิมเกียรติ อมรสิงห์ "กอ" มือกีตาร์ , กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา "จ๊อด" มือเบส) ตั้งวง The Thanks รับแสดงตามงานต่างๆ เน้นดนตรีร็อค อาเต๋อรับตำแหน่งร้องนำและ คีย์บอร์ด ร่วมกับ ปรเมศวร์ วัชรปาณ "ตี๋" มือกลอง
เพื่อนร่วมวงคนหนึ่งคือ กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา วง The Thanks มีชื่อเสียงได้เล่นสลับกับวงดิอิมพอสซิเบิ้ล ตามไนท์คลับต่าง ๆ
หลังเรียนจบ อาเต๋อได้รับการชักชวนให้ร่วมวงดิอิมพอสซิเบิ้ล และเดินทางกับวงไปแสดงที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ในตำแหน่งนักร้องนำและเล่นคีย์บอร์ด เมื่อวงดิอิมพอสซิเบิลประกาศยุบวง เมื่อ พ.ศ. 2520 เขาตั้งวง โอเรียนเต็ลฟังก์ เล่นดนตรีฟังก์ ร่วมกับวินัย พันธุรักษ์ เล่นประจำที่โรงแรมมณเฑียร และตระเวนเปิดการแสดงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในระหว่างนั้นอาเต๋อได้ศึกษาการเขียนเพลงและดนตรีเพิ่มเติม
ในปี พ.ศ. 2526 เรวัตร่วมกับ เพื่อนจากจุฬาฯ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ เขาทำหน้าที่ดูแลด้านการผลิตเพลง ใช้เทคนิคการสร้างศิลปินแบบสากล คือขายทั้งความสามารถและภาพพจน์ ทำให้ผลงานของบริษัทประสบความสำเร็จแทบทุกชุด
อาเต๋อมีเอกลักษณ์ประจำตัวอีกหนึ่งอย่างคือ ชอบไว้หนวด
ผลงานเพลงของอาเต๋อ มีดังต่อไปนี้
ปี พ.ศ. 2526 อัลบั้ม "เต๋อ 1" มีเพลงดังอย่าง "ที่แล้วก็แล้วไป" "เจ้าสาวที่กลัวฝน" และ "ยิ่งสูงยิ่งหนาว"
ปี พ.ศ. 2528 อัลบั้ม "เต๋อ 2" มีเพลงดังอย่าง "ดอกไม้พลาสติก" "มันแปลกดีนะ" และ "กำลังใจ"
ปี พ.ศ. 2529 อัลบั้ม "เต๋อ 3" มีเพลงดังอย่าง "สองเราเท่ากัน" "สมปองน้องสมชาย" และ "คงจะมีสักวัน"
และปี พ.ศ. 2530 อัลบั้มซึ่งเป็นการรวมเพลงที่ได้รับความนิยมในทุกอัลบั้มที่ผ่าน ๆ มาของอาเต๋อ จัดทำเป็นอัลบั้มพิเศษ อันเป็นต้นแบบวงการเพลงไทยในยุคถัดมา ที่เราเรียกกันว่า "อัลบั้มรวมฮิต" ใช้ชื่อชุดว่า "ชอบก็บอกว่าชอบ" มีการแต่งเพลงใหม่ขึ้นมาอีก 2 เพลง บรรจุไว้ในอัลบั้มนี้คือเพลง "ชอบก็บอกว่าชอบ" และ "อย่างน้อยก็คิดดี"
อาเต๋อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยก่อนหน้าที่จะทราบข่าวร้าย มีการตรวจพบก้อนเนื้อขนาด 6 เซนติเมตรในสมอง และได้เดินทางไปรักษาตัวอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ในวัย 48 ปี ที่โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพมหานคร
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย (wikipedia)
ปัญหาทุกอย่างมีเอาไว้แก้ ไม่ได้มีเอาไว้กลุ้ม
I write as I think
โฆษณา