22 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • การเกษตร
ต้นไม้ที่เป็นโรคจะเกิดจากองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ พืชอาศัย เชื้อสาเหตุ เช่น เชื้อรา เชื้อแบททีเรีย เชื้อไฟโตพลาสมา และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตแพร่จำนวนและเข้าทำลายของเชื้อ วันนี้บ้านและสวนมีตัวอย่าง 7 อาการโรคพืชมาแนะนำกันค่ะ
แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการปลูกต้นไม้ ไม่แน่ใจว่าอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ของคุณ มีสาเหตุมาจากอะไรและมีวิธีการแก้ไขอย่างไร สามารถมาตรวจโรคพร้อมขอคำแนะนำได้ที่คลินิกโรคพืชโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ "รู้ทันโรคพืช" ฟรี!!!! ด้วยวิธีการง่ายๆ ข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
🔍ยกต้นไม้มาทั้งกระถาง
🔍ตัดชิ้นส่วนต้นไม้ที่เป็นโรคใส่ถุงพลาสติก
🔍ถ่ายภาพต้นไม้อย่างละเอียดทุกมุม ทั้งมุมกว้าง มุมแคบ รวมทั้งดินที่ปลูก
คลินิกโรคพืชเปิดรอต้อนรับผู้ที่มีใจรักต้นไม้และผู้ที่มีปัญหาในการปลูกต้นไม้อยู่ที่งานบ้านและสวน Select 2022 บริเวณโซนสำนักพิมพ์บ้านและสวน หน้าฮอลล์ 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 26-27 มีนาคม 2565 เวลา 10.30-11.30 น. และ 13.00-17.00 น. นะคะ
มาดู 7 อาการโรคพืชที่พบได้บ่อยๆกันค่ะ
โรคไรแดง (Red Spider Mite)
ไรแดงเป็นแมลงขนาดเล็ก มักซ่อนตัวอยู่ตามใต้ใบ ซอกใบ และคอยดูดกินน้ำเลี้ยง หากระบาดไม่มากมักไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็น จนระบาดมากทำให้ใบกล้วยไม้มีจุดกระสีน้ำตาลหรือสีสนิมเป็นปื้นใหญ่ เมื่อจับดูจะสาก ต่างจากปกติที่เรียบเนียน ถ้าเข้าทำลายที่ดอกจะทำให้ดอกเป็นลายด่าง ควรเลือกใช้สารป้องกันกำจัดหรือสารสกัดสะเดาฉีดพ่นติดต่อกันหลายครั้งจนกว่าจะหมดไป
เพลี้ยแป้ง (Mealybug)
เพลี้ยแป้งมักอาศัยอยู่ตามใต้ดินหรือรากพืช ไม่สามารถเคลื่อนที่เองได้ จึงมักพบมันอยู่กับพาหนะคู่ใจ อย่าง มดนั่นเอง ซึ่งการกำจัดเพลี้ยแป้งไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้นก็ควรกำจัดมดไปพร้อมกันด้วย โดยการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ฟิโปรนิล (Fipronil) อิมิคาคลอพริด (Imidacloprid) ไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran) ไวท์ออยล์ (Whiteoil) ปิโตรเลียมออยล์ (Petroleum Oil) เป็นต้น
โรคโคนเน่า - ใบเน่า (Rot)
เมื่ออากาศร้อนและความชื้นสูง เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้ดี ต้นไม้มักเป็นโรคโคนเน่า ใบเน่าได้ง่าย โดยเฉพาะต้นไม้ที่ขุดล้อมใหม่ ไม้คลุมดินที่มีลำต้นและใบอวบน้ำ ซึ่งจะเกิดจากเชื้อรา Phytophthora parasitica เข้าทำลาย ทำให้ลำต้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เน่าเละ มีปุยสีขาวปกคลุม ต้นเหี่ยวและตายในที่สุด วิธีการแก้ไขคือให้เด็ดใบทิ้งและฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น ออโธไซด์ เพื่อป้องกันการเกิดโรค
ราเขม่าดำ (Smut)
มักเกิดร่วมกับเพลี้ยแป้ง ซึ่งหากเกิดอาการไม่มาก สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีธรรมชาติคือ ตัดหรือเด็ดใบหรือสวนที่เป็นโรคไปทำลาย ส่วนวิธีปองกันคือ หมั่นตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงต่างๆ แต่หากระบาดมากก็ควรใช้สารเคมี เช่น ไดเทนเอ็ม- 45 แมนโคแซป หรือเทอร์ราโซล
ใบกาบของเฟินชายผ้าสีดาเป็นสีดำ
ธรรมชาติของเฟินชายผ้าสีดาเป็นพืชอิงอาศัย (Epiphytic Plants) หากอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม เช่น บริเวณที่ได้รับแสงแดดน้อยไป หรือได้รับน้ำมากเกินไป จะทำให้ภายในใบกาบชุ่มชื้นจนแฉะ มีสีดำคล้ำ หรือที่เรียกว่า “โรคก้นเน่า” หากปล่อยทิ้งไว้ เชื้อราอาจเข้าทำลายส่วนของตาและเหง้าจนต้นตายได้ วิธีแก้ไขง่ายๆ คือ หยุดให้น้ำสักระยะหนึ่ง ถ้าฝนตกหนักก็ย้ายมาแขวนในที่ไม่โดนน้ำฝน อากาศถ่ายเทสะดวก ได้รับแสงแดดมากขึ้น เพื่อให้น้ำระเหยจากใบกาบได้ดีขึ้น พร้อมกับจัดสภาพแวดล้อมให้มีความชื้นในอากาศเพียงพอ เมื่อรากแห้งมากอาจให้น้ำบ้างทุก 2 วัน ไม่นานก็จะผลิใบใหม่มาให้ชม
หนอนและแมลงกัดใบและดอก
การตัดแต่งกิ่งเป็นหัวใจของการเลี้ยงกุหลาบ จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ เพื่อให้กุหลาบแตกกิ่งใหม่ ส่วนปัญหาหนอนและแมลงกัดกินใบ ควรแก้ไขโดยเก็บหนอนออกก่อน แล้วจึงฉีดยาป้องกันและกำจัดหนอนและแมลง อย่าง สารสกัดจากสะเดา ผสมน้ำตามอัตราส่วนและผสมน้ำยาล้างจานเล็กน้อย เพื่อให้ตัวยาเกาะบนใบได้ดีขึ้น
1
บีโกเนียขอบใบไหม (Leaf Blight)
โดยพื้นฐานของต้นบีโกเนียแล้วชอบความชื้นในอากาศประมาณ 50 -60 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ได้รับความชื้นในช่วงนี้แล้วจะทำให้ขอบใบแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล ใบม้วนงอ ลักษณะไม่สวยงาม วิธีแก้ก็คือต้องเพิ่มความชื้นในพื้นที่ปลูก ด้วยการปลูกต้นไม้รอบๆ หากเป็นพื้นที่โล่งให้สร้างแนวกำแพงบัง แต่สิ่งที่ควรระวังคือ อย่าให้น้ำมากเกินไป เพราะ อาจจะทำให้พื้นที่ชื้นแฉะเกินความจำเป็น กลายเป็นที่มาของโรคอื่นๆ ตามมาได้
หากไม่แน่ใจว่าอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ของคุณ มีสาเหตุมาจากอะไรและมีวิธีการแก้ไขอย่างไร สามารถมาตรวจโรคพร้อมขอคำแนะนำได้ที่คลินิกโรคพืช บริเวณโซนสำนักพิมพ์บ้านและสวน หน้าฮอลล์ 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 26-27 มีนาคม 2565 เวลา 10.30-11.30 น. และ 13.00-17.00 น. นะคะ
หรือสามารถสั่งซื้อหนังสือ "รู้ทันโรคพืช" คู่มือดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเองโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ที่ >> https://www.naiin.com/product/detail/503096
ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ "รู้ทันโรคพืช"
เรื่อง : สรินดา
ภาพ : ฝ่ายภาพบ้านและสวน
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
1
โฆษณา