27 มี.ค. 2022 เวลา 13:00 • การเกษตร
มารู้จักสูตรสมุนไพรไล่แมลง ป้องกันศัตรูพืชที่ระบาดหนักในช่วงฤดูร้อนกันเถอะ
ช่วงฤดูร้อนของเมืองไทย โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ต้นไม้และพืชผักที่ปลูกต้องเผชิญกับโรคพืชและศัตรูพืชต่าง ๆ ที่มักเข้าทำลายพืชในสภาพแวดล้อมแบบนี้
แมลงศัตรูที่ชอบเข้าทำลายพืชปลูกในฤดูนี้ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่อากาศมีอุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ แมลงศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กจะชอบเข้าทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงที่ส่วนเจริญใหม่ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน หรืออยู่ใต้ใบพืช ตัวอย่างแมลงศัตรู ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรต่างๆ เป็นต้น
ใครเจอปัญหาแมลงศัตรูพืชมาเป็นทัวร์ลงแปลงผักในช่วงหน้าร้อน การใช้พืชสมุนไพรไล่แมลงช่วยกำจัดเป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่าย ปลอดภัยต่อคน และมั่นใจได้ว่าผักที่ปลูกปลอดสารพิษ ทั้งยังหาได้ง่าย ราคาถูก ปลูกได้ในสวนไม่ว่าจะเป็นตะไคร้หอม ขมิ้นชัน สะเดา ข่า พริก พริกไทย
แต่จะใช้อย่างไรให้ได้ผล วิธีการฉีดพ่นสารเหล่านี้ก็สำคัญ ควรทำในช่วงเช้าหรือเย็น โดยฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม โดยเฉพาะใต้ใบพืชซึ่งมักเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ของแมลงศัตรูพืช ควรใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรแต่ละสูตรสลับกันไป ไม่ควรใช้สารสกัดสูตรเดียวติดต่อกัน เพราะอาจทำให้แมลงเกิดการดื้อยาได้
ว่าแล้วลองใช้สูตรสมุนไพรไล่แมลงทั้ง 4 ที่เราแนะนำนี้ ช่วยชีวิตผักในสวนให้ปลอดภัยจากแมลงในช่วงหน้าฝนกันเลย
สูตรที่ 1 ขมิ้นชัน
นิยมนำมาประกอบอาหาร ลักษณะเป็นพืชล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดินมีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีแสดจัด ให้กลิ่นหอมเฉพาะตัวมีสรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้
วิธีเตรียมและการใช้
1 ตำขมิ้นปริมาณครึ่งกิโลกรัมให้ละเอียด
2 นำขมิ้นที่ตำละเอียดแล้ว ไปผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 - 2 วัน
3 กรองเอาแต่น้ำจะได้สารเข้มข้น จากนั้นนำสารนี้ไปผสมกับน้ำ 8 ลิตร
4 นำไปฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณทรงพุ่มต้น ที่เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืช
ประสิทธิภาพ
เหง้าของขมิ้นมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยขับไล่และกำจัดแมลงได้หลายชนิด ได้แก่ หนอนกระทู้ผัก หนอนผีเสื้อ ด้วงงาช้าง แมลงวันทอง มอด และไรแดง
สูตรที่ 2 : สะเดา
เป็นไม้ยืนต้นที่เจริญเติบโตง่าย นิยมนำใบและดอกมาประกอบอาหาร มีสรรพคุณสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายและแก้ไข้ นอกจากนี้ยังนำมาทำเป็นสารไล่แมลงได้ผลดีทีเดียว
วิธีเตรียมและการใช้
1 เก็บใบแก่ของสะเดาสดมาสัก 2 กิโลกรัม ตำให้ละเอียด
2 นำใบสะเดาที่ตำจนละเอียดแล้ว มาแช่ในน้ำ 20 ลิตร (หรือ 1 ปี๊บ) หมักทิ้งไว้นาน 12 - 24 ชั่วโมง
3 ใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำหัวเชื้อ ส่วนกากที่เหลือนำไปทำปุ๋ยหมัก ใส่ต้นไม้ได้
4 อัตราส่วนการใช้ ให้ผสมน้ำหัวเชื้อ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร แล้วนำไปผสมสารจับใบ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน และแชมพู โดยใส่เพียงเล็กน้อย (เพื่อให้สารจับกับใบพืชได้ดีขึ้น)
ประสิทธิภาพ
สารสกัดจากสะเดามีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง ยับยั้งการเจริญเติบโต ป้องกันและกำจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ย จักจั่น ด้วงหมัดผัก หนอนใยกะหล่ำ หนอนใยผัก หนอนกอ หนอนชอนใบ และหนอนกระทู้
สูตรที่ 3 : สะเดา ข่า ตะไคร้หอม
พืชทั้งสามชนิดนี้หาได้ง่าย แต่ละชนิดมีสารออกฤทธิ์แตกต่างกันไป จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย
วิธีเตรียมและการใช้
1 สับใบสะเดา ข่า และตะไคร้หอม อย่างละ 1 กิโลกรัมให้ละเอียด
2 นำส่วนผสมทั้งสามอย่างมาตำรวมกัน
3 นำส่วนผสมทั้งหมดไปผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 1 คืน
4 กรองเอาน้ำหัวเชื้อที่ได้ นำไปผสมน้ำในสัดส่วน 1 : 1
5 ฉีดพ่นทุก 7 วันในตอนเย็น
ประสิทธิภาพ
สารสกัดจากสะเดามีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง สารสกัดจากข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยในข่าก็มีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ และกำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ส่วนตะไคร้หอมมีสาร verbena oil, lemon oil และ Indian melissa oil มีฤทธิ์ในการไล่แมลงศัตรูพืช ได้แก่ ผีเสื้อกะหล่ำ หนอนคืบ หนอนชอนใบ หนอนกระทู้ หนอนใยผัก เพลี้ยอ่อน และแมลงวันทอง รวมถึงช่วยป้องกัน โรคราดำ โรครากเน่าและโคนเน่าได้ด้วย
สูตรที่ 4 : พริก พริกไทย ดีปลี
สูตรนี้เน้นนำพืชที่มีสารรสเผ็ดร้อนมาผสมรวมกัน นอกจากช่วยทำลายแมลงแล้ว ยังป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ด้วย
วิธีเตรียมและการใช้
1 บดพริกสด พริกไทยสด และดีปลีสด อย่างละ 1 กิโลกรัมให้ละเอียด
2 นำส่วนผสมทั้งหมด ไปผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักนาน 3 - 5 วัน
3 กรองเอาแต่น้ำหัวเชื้อ โดยอัตราส่วน การใช้ให้ผสมน้ำหัวเชื้อปริมาณ 200 - 500 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
4 นำไปฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มต้น ทุก 3 - 5 วัน
ประสิทธิภาพ
ผลพริกสุกมีคุณสมบัติในการฆ่าแมลง ส่วนเมล็ดพริกมีสารฆ่าเชื้อรา พริกไทยมีน้ำมันหอมระเหยและแอลคาลอยด์ มีสารรสเผ็ด (Chavicine) และสารที่มี กลิ่นฉุนเผ็ดร้อนคือ Piper Acid ส่วนดีปลีมีน้ำมันหอมระเหย สูตรนี้มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ได้แก่ มด เพลี้ยอ่อน หนอนคืบ หนอนไช และไล่แมลงผีเสื้อ รวมถึงช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัส
เรื่องและภาพ : สำนักพิมพ์บ้านและสวน
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา