22 มี.ค. 2022 เวลา 02:17 • ประวัติศาสตร์
“จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย (Nicholas I of Russia)” ผู้ที่ “วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)” ยกให้เป็น “ต้นแบบ (Role Model)” ของตน
ในเวลานี้ ข่าวที่กำลังร้อนแรงของโลก ก็คงไม่พ้นเรื่องราวของรัสเซียกับยูเครน
และชื่อที่เป็นที่พูดถึงบ่อยที่สุดในช่วงนี้ ก็คงไม่พ้นชื่อของ “วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)” ผู้นำรัสเซีย
แต่สำหรับบทความนี้ เป็นเรื่องของผู้ที่ปูตินยกย่องและยกให้เป็นต้นแบบของตน และจากการศึกษาเรื่องราวของบุคคลที่ปูตินชื่นชอบ อาจจะทำให้เข้าใจตัวตนของปูตินมากขึ้น
บุคคลนั้นคือ “จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย (Nicholas I of Russia)” ผู้ซึ่งปกครองรัสเซียตั้งแต่ค.ศ.1825-1855 (พ.ศ.2368-2398)
เราลองมาดูเรื่องราวของพระองค์กันครับ
วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)
“จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย (Nicholas I of Russia)” เสด็จพระราชสมภพในปีค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) โดยเป็นพระราชโอรสใน “จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย (Paul I of Russia)” และเป็นพระราชนัดดาใน “จักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนมหาราชินี (Catherine the Great)”
อันที่จริง พระองค์ไม่น่าจะได้ขึ้นครองราชย์ เนื่องจากพระองค์มีพระเชษฐาถึงสองพระองค์ หากแต่ “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexander I of Russia)” พระเชษฐาของพระองค์ ได้สวรรคตในปีค.ศ.1825 (พ.ศ.2368) โดยปราศจากพระราชบุตร ส่วน “แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน ปาฟโลวิชแห่งรัสเซีย (Grand Duke Konstantin Pavlovich of Russia)” พระเชษฐาอีกองค์ ก็ไม่ได้ตอบรับขึ้นครองราชย์ บัลลังก์จึงตกเป็นของพระองค์
1
จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย (Nicholas I of Russia)
หลังจากขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งรัสเซียที่ต้องเผชิญกับการปฏิวัติอย่างเป็นระบบ นั่นคือ “กบฏธันวาคม (Decembrist Revolt)” ในปีค.ศ.1825 (พ.ศ.2368)
เพื่อตอบโต้ จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ได้จัดตั้งกองกำลังตำรวจลับ รวมทั้งกองกำลังตำรวจแห่งชาติ
ตำรวจลับซึ่งอยู่ใต้การปกครองของจักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ได้ทำการแทรกแซงข้อมูลจากหลายๆ แหล่งเพื่อให้ได้ข้อมูล และหาทางจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้าน
หนึ่งในสิ่งที่จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ทรงนำมาใช้ ก็คือการเข้าแทรกแซงสื่อ มีการตรวจสอบสื่อทุกประเภท อีกทั้งยังให้มีการโฆษณาชวนเชื่อหรือโพรพากันด้าในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ
กบฏธันวาคม (Decembrist Revolt)
การโฆษณาชวนเชื่อในระบบการศึกษา ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์จักรพรรดิและคริสตจักรออร์ทอดอกซ์นั้นดูดี น่าเลื่อมใส และพระองค์ยังมีรับสั่งให้จับตาดูเหล่าผู้ต่อต้าน รวมทั้งการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และสั่งห้ามการสอนในสิ่งที่จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ทรงมองว่าเป็นแนวคิดที่อันตราย ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่พระองค์ทรงมองว่าอันตราย ก็คือ “ประชาธิปไตย”
1
นอกจากนั้น รัชสมัยของพระองค์ยังเป็นช่วงที่รัสเซียทำการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกใจให้ประชาชนคิดว่าชาวรัสเซียและชาวสลาฟ คือชาติพันธุ์ที่เป็นเลิศ เหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ
จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ได้แสดงความกดขี่ชาวยิวอย่างชัดเจน โดยพระองค์ทรงออกกฎ กำหนดว่าชายชาวยิวทุกคนต้องเข้ารับราชการในกองทัพรัสเซียเป็นเวลา 25 ปี
2
แนวคิดนี้ของพระองค์ ก็คือการล้างสมอง ทำให้ชาวยิวกลายเป็นรัสเซีย และผลที่ได้ ก็ทำให้ชาวยิวหลายคนเข้ามานับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่อีกจำนวนมากก็หนีออกจากรัสเซียไปที่อื่น
1
อีกจุดประสงค์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ก็คือการป้องกันไม่ให้ดินแดนต่างๆ ในรัสเซียได้รับเอกราช โดยพระองค์ทรงรวบอำนาจและระบบองค์กรต่างๆ เข้ามารวมศูนย์อยู่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ทรงปกครองรัสเซียอย่างเข้มงวด และมีการใช้กำลังทหารอย่างรุนแรงนอกอาณาจักร
นโยบายด้านต่างประเทศของพระองค์ก็ค่อนข้างจะแปลกและรุนแรง โดยพระองค์ทรงสนับสนุนการปฏิวัติหนึ่งครั้งในกรีซ หากแต่ก็ต้องการจะใช้กองทัพในการบดขยี้กลุ่มกบฏในเบลเยี่ยมและฝรั่งเศส
ในปีค.ศ.1831 (พ.ศ.2374) โปแลนด์คิดจะแข็งข้อ จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 จึงทรงส่งกองทัพรัสเซียมาปราบปราม
จากนั้น พระองค์ก็ทรงประกาศให้โปแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ในปีค.ศ.1848 (พ.ศ.2391) พระองค์ทรงส่งกองทัพไปปราบปรามกลุ่มปฏิวัติในฮังการี และพระองค์ยังทรงทำสงครามกับอีกหลายอาณาจักร ทั้งเปอร์เซียและจักรวรรดิอ็อตโตมัน และยังขัดแย้งกับดินแดนอื่นๆ
ในยุคค.ศ.1840 (พ.ศ.2383-2392) จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ทรงมีพระประสงค์จะแผ่อำนาจของรัสเซียไปยังกรีซและตะวันออกกลาง หากแต่ก็มีกองทัพตุรกีเป็นก้างขวางคอ
เพื่อที่จะเข้าควบคุมดินแดนในแถบนี้ จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 จำเป็นต้องส่งกองเรือจากทะเลดำเข้ามายังเมดิเตอเรเนียน
วิธีเดียวที่จะล่องเรือจากทะเลดำมาถึงเมดิเตอเรเนียน ก็คือต้องเข้ามาทางช่องแคบบอสพอรัสและช่องแคบดาร์ดาเนลส์ ซึ่งตุรกีควบคุมอยู่
1
ในปีค.ศ.1853 (พ.ศ.2396) จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ได้พยายามจะเข้าควบคุมช่องแคบทั้งสองด้วยการส่งกองเรือเข้าไป และทำการจมกองเรือตุรกี
การกระทำของพระองค์ สร้างความหวาดกลัวให้อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองชาตินี้ต่างก็มีผลประโยชน์ในตะวันออกกลาง
ในปีค.ศ.1854 (พ.ศ.2397) อังกฤษ จักรวรรดิอ็อตโตมัน ฝรั่งเศส และราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย ต่างก็รวมกลุ่มกันเพื่อยับยั้งรัสเซีย เช่นเดียวกับออสเตรียและปรัสเซีย ที่ก็ได้ตกลงจะร่วมมือกันเพื่อต้านรัสเซีย
ในไม่ช้า รัสเซียก็ตกอยู่ท่ามกลางชาติมหาอำนาจที่ต่างก็ต่อต้านรัสเซีย ซึ่งก็อาจจะไม่ต่างจากสถานการณ์ของรัสเซียในเวลานี้
ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็คือ “สงครามไครเมีย (Crimean War)”
1
สงครามนี้ สมรภูมิหลักอยู่ในไครเมีย โดยอังกฤษ ตุรกี อิตาลี และฝรั่งเศส ต่างก็ส่งทัพเข้ามายังไครเมียเพื่อยึดครองฐานทัพเรือของรัสเซียที่เซวาสโตโพล
ปลายปีค.ศ.1855 (พ.ศ.2398) กลุ่มสัมพันธมิตรต้านรัสเซียได้เข้ายึดครองเซวาสโตโพล โดยออสเตรียเองก็ขู่ว่าจะเข้าร่วมสงคราม
หากแต่จักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ก็ไม่ได้มีพระชนม์ชีพยืนยาวพอที่จะเห็นผลลัพธ์ เนื่องจากพระองค์สวรรคตไปก่อนในเดือนมีนาคม ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398)
ในปีค.ศ.1856 (พ.ศ.2399) “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Alexander II of Russia)” พระราชโอรสของจักรพรรดินิโคลัสที่ 1 และพระประมุของค์ต่อมาของรัสเซีย ได้ทรงลงนามใน “สนธิสัญญาปารีสปีค.ศ.1856 (Treaty of Paris 1856)” ทำให้รัสเซียต้องเสียอำนาจในตะวันออกกลาง รวมถึงช่องแคบดาร์ดาเนลส์
จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Alexander II of Russia)
จะเห็นได้ว่านโยบายด้านการต่างประเทศที่แข็งกร้าวของจักรพรรดินิโคลัสที่ 1 ได้นำพารัสเซียไปสู่สงครามและทำให้เกิดความสูญเสียต่างๆ ตามมา
และนี่คือเรื่องราวของพระประมุขผู้โด่งดังแห่งรัสเซีย และเป็นผู้ที่ปูตินยกย่องและยกให้เป็นแบบอย่างของตน
โฆษณา