21 มี.ค. 2022 เวลา 16:29 • ประวัติศาสตร์
แปลก!!! พบกับนวัตกรรมของชาวอินเดียที่ใช้ล่องน้ำเมื่อ 100 ปีก่อน
ขอย้อนไปเมื่อช่วงปี 1900 “เจมส์ ริคอลตัน” นักเดินทางชาวอเมริกัน เดินทางไปยังประเทศอินเดียและออกสำรวจบันทึกวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ ของชาวอินเดีย ครั้งหนึ่งเขาเดินทางไปยังหมู่บ้านห่างไกลที่ตั้งอยู่บนเนินเขาแคว้นปัญจาบ ในเทือกเขาหิมาลัย และพบกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่กำลัง “เป่าลมเข้าไปในหนังวัวให้พอง” ภายหลังทราบว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่คือ “เรือหนังวัว”
นี่เป็นนวัตกรรมแบบดั้งเดิมของชาวอินเดียในการล่องข้ามแม่น้ำและลำธาร ก่อนที่จะมีการสร้างสะพานและเรือ ซึ่งภูมิประเทศของที่นี่ค่อนข้างสูงชันและลาดเอียง ทำให้แม่น้ำและลำธารจะค่อนข้างลึกและไหลเชียว การจะล่องข้ามแม่น้ำด้วย “เรือหนังวัว” ต้องฝึกฝนมาอย่างดี โดยวิธีการก็คือ จะพาดลำตัวขวางไปกับเรือหนังวัว และใช้ขา+ไม้พายสั้นในการบังคับทิศทาง ซึ่งหากไม่ชำนาญมีโอกาสที่เรือหนังวัวจะพลิกคว่ำได้
สำหรับวิธีการทำเรือหนังวัวนั้น ริคอลตันอธิบายเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ : เริ่มจากลอกหนังวัวออก - นำหนังที่ได้ไปฝังดินประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้หนังอ่อนตัวเล็กน้อย - จากนั้นก็ขูดขนออก - เย็บหนังช่องเปิดให้สนิท - เทน้ำมันลงไปภายในเพื่อรักษาสภาพไม่ให้เน่าเปื่อย - จากนั้นเป่าลมเข้าไปให้พองเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้ มันยังถูกพัฒนามาเป็นแพที่สามารถใช้ขนส่งคนหรือสินค้าข้ามแม่น้ำได้ด้วย โดยจะนำเรือหนังวัวหลาย ๆ ตัวมาผูกต่อกันเป็นแพ วิลเลียม มัวร์ครอฟต์ ผู้ที่เดินทางไปทั่วอินเดีย กล่าวว่า “วิธีการดังกล่าว มันสามารถบรรทุกคนกว่า 300 คน รวมทั้งม้าและล่ออีกกว่า 16 ตัวข้ามแม่น้ำได้”
จริง ๆ นวัตกรรมนี้ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยชาวอินเดียเป็นชนชาติแรก แต่มีหลักฐานว่ามันถูกใช้มาตั้งแต่ยุคสมัยเมโสโปเตเมียโบราณ ซึ่งเป็นรูปปั้นนูนต่ำที่แสดงภาพทหารอัสซีเรียกำลังว่ายน้ำโดยมีหนังพองเล็ก ๆ หนุนอยู่ โดยรูปปั้นนี้เคยประดับไว้ที่วังของกษัตริย์ เมื่อราว ๆ 883-859 ปีก่อนคริสตกาล (ตอนนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ) นอกจากนี้ ทหารของ "เจงกีส ข่าน" รวมถึงชาวโรมันและอาหรับก็ใช้เทคนิคนี้ในการล่องข้ามแม่น้ำลำธารเช่นกัน
โฆษณา