27 มี.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองเป็นที่ชื่นชอบในตลาดจีน
นมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อสุขภาพ เมื่อผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญด้านการรักษาสุขภาพมากขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ยอดจำหน่ายนมถั่วเหลืองในจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2563 ยอดจำหน่ายนมถั่วเหลืองในจีนสูง ถึง 111,581 ล้านหยวน หรือประมาณ 557,905 ล้านบาท (ราคาจำหน่ายนมถั่วเหลืองอยู่ที่ 9.25 หยวน/กิโลกรัม) ทำให้จีนกลายเป็นตลาดบริโภคนมถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เนื่องจากปริมาณการผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศของจีนลดลง ส่งผลให้ปริมาณนมถั่วเหลืองลดลงไปด้วย
ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตนมถั่วเหลือง ในปี 2564 เนื่องจากรายได้จากการเพาะปลูกถั่วเหลืองค่อนข้างน้อย ส่งผลให้เกษตรกรชาวจีนลดพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองลง โดยพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองของจีน ประมาณ 8,400 Hectares ลดลงร้อยละ 14.8 และมีปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองอยู่ที่ 16.40 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จากการสำรวจพบว่า อาหารเช้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ นมถั่วเหลือง (39.10%) ข้าวต้ม (26.40%) นม (20.30%) และอื่นๆ (14.20%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองเป็นตัวเลือกอันดับแรกในมื้ออาหารเช้าของชาวจีน
อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองในจีนยังคงต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาการของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มนมถั่วเหลือง สามารถแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
- ในยุค 1.0 : ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กและประเภทที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ เป็นหลัก โดยยังไม่มีมาตรฐานการผลิตอย่างเป็นระบบและครบวงจร กล่าวคือ กรรมวิธีในการผลิตนมถั่วเหลืองเป็นแบบง่ายๆ มีกลิ่นถั่วค่อนข้างแรง รสชาติฝาด มีกากถั่วเหลือง และสภาพแวดล้อมในการผลิตไม่ดีนัก จึงยากที่จะรับรองความปลอดภัย (ความสะอาด) ของวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์
- ในยุค 2.0 : กระแสนิยมของตลาดเริ่มหันไปสู่ผลิตภัณฑ์น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก แต่ยุค 2.0 กรรมวิธีในการผลิตก็ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากปัญหาด้านกลิ่นและรสชาติของเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองยังคงมีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการเก็บรักษาน้ำเต้าหู้/นมถั่วเหลืองค่อนข้างสั้นและเน่าเสียง่าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับรสชาติของสินค้า พร้อมทั้งขยายระยะเวลาในการเก็บรักษาคุณภาพสินค้า บางโรงงานได้เพิ่มสารอาหารอื่นๆ เข้าไปด้วย
- ในยุค 3.0 : เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองแท้ เป็นนมถั่วเหลืองที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย บรรจุนมถั่วเหลืองในบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยด้านอาหาร และเป็นเครื่องดื่มที่มีโปรตีนสูง
ตลาดนมถั่วเหลืองในจีนยังคงมีโอกาสเติบโตสูง
เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดนมถั่วเหลืองของเขตเศรษฐกิจ/ประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ปริมาณการบริโภคนมถั่วเหลืองที่มีบรรจุภัณฑ์โดยเฉลี่ยต่อหัวของประชากรจีนอยู่ที่ 1 กิโลกรัม/ปี เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณการบริโภค นมถั่วเหลืองที่มีบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยต่อหัวของฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ มากกว่า 10 เท่าขึ้นไป แสดงให้เห็นว่า ตลาดนมถั่วเหลืองในประเทศจีนยังมีโอกาสจะเติบโตสูงขึ้นอีกในอนาคต
หากพิจารณาในด้านการแข่งขัน พบว่า เกณฑ์การเข้าสู่ตลาดนมถั่วเหลืองในประเทศจีนไม่ค่อยสูง โครงสร้างการตลาดค่อนข้างกระจัดกระจาย และยังอยู่ในช่วงการแข่งขันระยะแรกๆ โดยตลาดหลักส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่ Pearl River Delta และ Yangtze River Delta หากพิจารณาด้านแบรนด์สินค้า พบว่าในปัจจุบัน แบรนด์ 3 อันดับแรก ที่ครองสัดส่วนตลาดนมถั่วเหลืองในจีน ได้แก่ Doubendou (20.7%), Vitasoy (16.9%) และ Weiyi (10.4%) โดย
แบรนด์ Doubendou ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาดนมถั่วเหลืองของจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยได้เปิดตัว ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลือง "Doubendou" ที่ไม่มีสารเติมแต่ง ซึ่งทำให้ตลาดเกิดการตื่นตัวอย่างรวดเร็ว และยอดจำหน่ายของบริษัทฯ ในปี 2560 สูงถึง 1,000 ล้านหยวน จวบจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ผลิตนมถั่วเหลือง จำนวน 4 ประเภทหลัก ได้แก่ นมถั่วเหลืองออร์แกนิก นมถั่วเหลืองบริสุทธิ์ นมถั่วเหลืองรสดั้งเดิม และนมถั่วเหลือง Weizhen ซึ่งครอบคลุมตลาดทั้งระดับล่าง ปานกลาง และสูง
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมโภชนาการด้วยการดื่มนมถั่วเหลือง ในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องดื่มนมถั่วเหลือง ได้แก่ แบรนด์สินค้า การใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณภาพ และการใช้กรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย
ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายในตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยควรแบ่งกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่ชัดเจน ขยายช่องทางการจำหน่าย สร้างแบรนด์สินค้า และพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังควรยกระดับส่วนผสมทางด้านโภชนาการให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
โฆษณา