22 มี.ค. 2022 เวลา 07:00 • ธุรกิจ
ส่องค่าเทอม 10 โรงเรียนเอกชนชื่อดัง กทม. ผู้ปกครองจ่ายกันเท่าไหร่?
2
ส่องค่าเทอม 10 ร.ร.เอกชนชื่อดังใน กทม. เข้าเรียนชั้น ป.1 ผู้ปกครองต้องจ่ายเท่าไหร่ ขณะที่นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน เผยเหตุผลค่าเทอมแพง
1
วันที่ 21 มีนาคม 2565 โรงเรียนเอกชนถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้ปกครองในการส่งลูกเข้าเรียน เนื่องจากระบบการศึกษามีความหลากหลายมากกว่าโรงเรียนรัฐบาล รวมถึงสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่า มีการดูแล และให้บริการนักเรียนและผู้ปกครองอย่างทั่วถึง
เพราะพึ่งพาค่าธรรมเนียมจากผู้ปกครองเป็นหลัก ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกี่ยวกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ไม่ได้ส่งผลต่อการเรียนโดยตรง เช่น ค่าอุปกรณ์ เครื่องแบบ ฯลฯ
มีผลทำให้โรงเรียนเอกชนต้องสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ปกครอง ซึ่งเสมือนเป็นลูกค้าสำคัญ
“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจค่าเทอม 10 โรงเรียนเอกชนชื่อดังในกรุงเทพฯ ผ่านเว็บไซต์ และได้ทำการโทรสอบถามไปยังแต่ละโรงเรียนว่า หากเข้าเรียนระดับชั้น ป.1 จะต้องจ่ายค่าเล่าเรียน หรือค่าธรรมเนียมการศึกษาประมาณเท่าไหร่?
ทั้งนี้ แต่ละแห่งได้แจกแจงรายละเอียดแผนการเรียน และระบุค่าใช้จ่ายแตกต่างกันออกไป มีดังต่อไปนี้
1.โรงเรียนอำนวยศิลป์ : 400,000 บาท/ปี
2.โรงเรียนเพลินพัฒนา : ประมาณ 184,000 บาท/ปี
3.โรงเรียนสาธิตพัฒนา : 72,000 บาทต่อเทอม หรือ 144,000 บาท/ปี
4.โรงเรียนเซนต์คาเบรียล : ค่าแรกเข้า 90,000 บาท ค่าเทอม 30,000 บาท/เทอม หรือเฉลี่ย 60,000 บาท/ปี
5.โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย : โปรแกรมปกติ เทอม 1 ประมาณ 66,000 บาท เทอม 2 ประมาณ 45,000 บาท หรือเฉลี่ย 111,000 บาท/ปี แต่หากเป็น English Program (EP) เทอม 1 ประมาณ 158,000 บาท เทอม 2 ประมาณ 85,000 บาท เฉลี่ย 243,000 บาท/ปี
6.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย : โปรแกรมปกติ เทอม 1 ประมาณ 30,000-40,000 บาท เทอม 2 ประมาณ 38,000-39,000 บาท โดยรวมแล้วเฉลี่ยค่าเทอมที่ต้องจ่ายรายปีอยู่ที่ประมาณ 73,500 บาท/ ปี และมีค่าพิเศษอื่น ๆ อีก 24,000 บาท/ปี ถ้าหากเป็น English Immersion Program (EIP) ประมาณ 130,000 -140,000 บาท/เทอม
7.โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ : มี 3 แผนการเรียนได้แก่ Active Conversational English (ACE), Intensive Program (IP), Special Intensive Program (SIP) ซึ่งแต่ละแผน มีเรตค่าเทอมต่างกันรวมค่าธรรมเนียมแลกเข้าเฉลี่ยไม่เกิน 80,000 บาท/ปี
1
8.โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม : ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายในการศึกษาประมาณ 80,000 บาท/ปี
9. โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ : 70,000 บาท/ปี ถ้าหากเป็น English Program (EP) 250,000บาท/ปี
10.โรงเรียนราชินี : ประมาณ 37,744 บาท/ปี ยังไม่รวมค่าแลกเข้าประมาณ 1 แสนบาท
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมสถานศึกษาเอกชนจังหวัดนครราชสีมา และนายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
โรงเรียนเอกชนมีกว่า 3,000 แห่ง เรตค่าเทอมมีหลายระดับขึ้นอยู่กับโปรแกรมการเรียนการสอนของแต่ละแห่ง อย่างโรงเรียนนานาชาติ ค่าเทอมจะเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่นสูงถึงหลักล้าน เพราะบางแห่งเป็นแบรนด์มาจากต่างประเทศ
ส่วนโรงเรียนเอกชนก็มีหลายแบบเช่นกัน ถ้าเป็นโปรแกรมพิเศษอย่าง EP (English Program) ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง
ขณะที่บางแห่งก็อาจจะเป็นโรงเรียนเน้นภาษาจีน ราคาก็จะต่ำลงมาจากนานาชาติ เริ่มต้นจากหมื่นกลาง ๆ ถึงแสนต้น ๆ
แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนทั่วไปก็มีหลายแบบเช่นกัน มีโรงเรียนเอกชนประเภทการกุศล ซึ่งมีนักเรียนราว 4-5 แสนคน คือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และโรงเรียนเอกชนสามัญทั่วไปซึ่งมีนักเรียนกว่า 1 ล้านคน เป็นประเภทโรงเรียนที่ต้องเสียเงิน ซึ่งค่าเทอมหรือค่าธรรมเนียมก็มีทั้งถูกและแพงแตกต่างกันออกไป โรงเรียนไหนมีนักเรียนจำนวนมากก็อาจจะเก็บถูกลง
ทำไมค่าเทอมแพง?
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่า จุดแข็งของโรงเรียนเอกชน คือดูแลนักเรียนดี ครูบุคลากรเกือบทุกแห่งจะมาโรงเรียนตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อรอรับนักเรียน และอยู่ถึง 2-3 ทุ่ม เพื่อรอส่งนักเรียน เพราะเข้าใจว่าผู้ปกครองบางคนก็อาจจะมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบในเวลาที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการฝากเด็กให้โรงเรียนดูแลจึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียน เพราะต้องยอมรับว่าโรงเรียนเอกชนพึ่งพาผู้ปกครองเป็นหลัก
ถ้าดูเรื่องงบประมาณ รัฐบาลไม่ได้ให้เงินอุดหนุน 100% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายรายบุคคลจะให้โรงเรียนเอกชนแค่ 60-70% เท่านั้น ก็เลยเกิดช่องว่างที่โรงเรียนต้องเก็บจากผู้ปกครอง 30%
ยกตัวอย่างโรงเรียนอนุบาล-ประถมศึกษาของรัฐบาล ที่เขาคาดการณ์ไว้ จะได้เงินอุดหนุนประมาณรายละ 15,000 บาท รัฐบาลจ่ายให้เต็มจำนวน ทั้งยังจ่ายเงินเดือนครูบุคลากรให้ด้วย
แต่เอกชนจะได้แค่ 70% ของ 15,000 บาท และยังต้องบริหารจัดการเงินเดือนครูเอง ซึ่งขั้นต่ำของเงินเดือนครูอยู่ที่ 15,000 บาท
“ผมอยากให้รัฐบาลซัพพอร์ตโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะตอนนี้เกิดวามเหลื่อมล้ำเยอะ อย่างน้อย ๆ ก็ค่าอาหารกลางวันนักเรียน นักเรียนไทยทุกคนต้องได้รับประทานอาหารกลางวันฟรี หากเป็นเช่นนั้นได้ก็จะช่วยประหยัดค่าอาหารกลางวันที่เราเก็บจากเด็กได้ประมาณเทอมละ 2,000 บาท”
เผชิญปัญหา 3 ด้าน
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหา 3 ด้าน ได้แก่
1.สถานการณ์โควิด บางโรงเรียนยังไม่ได้เปิดเรียนมากว่า 2 ปี
2.จำนวนเด็กที่ลดลง ทั้งอัตราการเกิดต่ำลง
3.เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ผู้ปกครองบางรายไม่มีกำลังส่งลูกเรียน
ในปี 2564 มีเด็กลดลงไปกว่า 4-5 หมื่นคนเป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้จากสภาพปัญหาที่กล่าวมา ส่งผลให้บางแห่งต้องปิดตัวลงไป ในช่วง 3-4 ปีย้อนหลังมานี้ มีโรงเรียนปิดตัวไปมากกว่า 100-200 แห่ง จาก 3,000 กว่าแห่ง เฉลี่ยปิดไปปีละ 10-30 แห่ง บางโรงเรียนยังไม่ปิดตัว
แต่ไม่มีนักเรียนมาเรียนเลย
อย่างเช่นโรงเรียนอนุบาลขนาดเล็ก เพียงแต่ไม่ได้แจ้งว่าปิดตัว
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมสถานศึกษาเอกชนจังหวัดนครราชสีมา และนายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.)
ค้างค่าธรรมเนียมเฉียดหมื่นล้าน
ปัจจัยที่ทำให้ต้องปิดก็มาจากหลายอย่าง เช่น เก็บเงินค่าธรรมเนียมไม่ได้ ตอนนี้ตัวเลขชะลอจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนของผู้ปกครอง รวมทั้งประเทศก็น่าจะเกือบหมื่นล้านบาท แต่โรงเรียนไม่ได้เร่งรัดเก็บมาก เพราะเข้าใจผู้ปกครอง
บางแห่งลดได้ก็ลด บางแห่งฟรีได้ก็ฟรี บางแห่งมีการคืนค่าธรรมเนียมให้ผู้ปกครองไปแล้วส่วนหนึ่ง ต้องช่วยกันเพราะอยากให้เด็กได้เรียน
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คาดการณ์ว่า ปีนี้นักเรียนโรงเรียนเอกชนน่าจะลดลงอีกเกือบ 1 แสนคน เพราะจากการสอบถามโรงเรียนทั้งประเทศ มีนักเรียนที่มาสมัครค่อนข้างน้อย ผู้ปกครองยังชะลอส่งลูกเรียน หรือบางรายอาจย้ายไปเรียนโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนท้องถิ่นตามสภาพการเงินที่เขาจ่ายไหว
ร.ร.เอกชน พึ่งพาผู้ปกครอง
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวอีกว่า ผมมองว่าครูโรงเรียนเอกชนเอาใจใส่นักเรียนดี และที่สำคัญไม่มีหน้าที่ต้องไปทำอย่างอื่น เช่น ทำวิทยฐานะ รับผิดชอบงานเอกสารอื่น ๆ เน้นสอนอย่างเดียว
อย่าลืมว่า โรงเรียนเอกชนอยู่ได้เพราะผู้ปกครอง ดังนั้นถ้าดูแลผู้ปกครอง ดูแลนักเรียนไม่ดี เขาก็จะไปจากเรา จริงๆ ค่าเทอมเอกชนแพงกว่าก็จริง แต่หลักสูตร EP ในโรงเรียนรัฐบาลบางแห่งแพงกว่าเอกชนก็มี
เสียงสะท้อนผู้ปกครอง
นางสาวกฤษฎาพร เดชาโรจนภัทท์ ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวแสดงความเห็นว่า ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนนั้นเป็นแบบบูรณาการ สอนตามวัยของนักเรียน
โดยส่วนตัวไม่ชอบให้ลูกของตนเองต้องเรียนแบบวิชาการเน้นท่องจำมากเกินไป เพราะเชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนก็อยากให้ลูกเรียนหนังสืออย่างมีความสุข
เช่นเดียวกับนางสุปราณี ไกรจันทร์ หนึ่งในผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชน ที่กล่าวไปในทางเดียวกันว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนจะเน้นไปที่การบูรณาการตามช่วงวัย หากเป็นระดับอนุบาล ประถม จะไม่ได้เน้นสอนเชิงวิชาการมากเกินไป
ขณะที่การสอนของโรงเรียนรัฐบาล เน้นสอนตามตำรา บางทีอาจทำให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า ซึ่งผู้ปกครองแต่ละคนก็ชอบไม่เหมือนกัน บางคนอยากให้ลูกเก่งวิชาการก็จะเลือกโรงเรียนรัฐบาล
โดยส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชนก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเด็ก และสภาพแวดล้อม ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเลือกโรงเรียนจากโลเคชั่นมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยชื่อเสียงของโรงเรียน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่าย
โดยส่วนตัวหากมีกำลังทรัพย์ก็พร้อมจะทุ่มเทจ่ายเพื่อการศึกษาให้ลูกอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้มองว่าการศึกษาไม่ควรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะเด็กทุกคนควรจะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
โฆษณา