Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สมุดบันทึกส่วนรวม
•
ติดตาม
22 มี.ค. 2022 เวลา 08:02 • ไลฟ์สไตล์
โพสต์นี้ไม่มีภาพประกอบ!
ภาพและความรู้สึกเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเยาว์ผุดขึ้นมาทันทีในขณะที่ได้ดูสารคดีเรื่องแม่น้ำท่าจีน ของ Thai PBS ทางยูทูบเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นประถม ที่โรงเรียนวัดท่าไชย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอสองพี่น้อง (เลยบ้านผมไปทางทิศตะวันตกเพียง 2-3 กิโลเมตรก็เข้าเขต อ.อู่ทอง และในระยะทางที่ไม่ต่างกันนี้ในทางทิศเหนือจะเป็น อ.บางปลาม้า
ตอนนั้นผมดูเหมือนว่า จะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หรือ 6 ราว ๆ นั้น …. ทุก ๆ เช้าขณะเดินทางไปโรงเรียนซึ่งห่างจากบ้านราว 1 กิโลเมตร จะเห็นรถตู้วิ่งมาจาก อ.สองพี่น้อง เพื่อมารับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านไปเรียนที่โรงเรียนอนุบาลในตัวอำเภอ โดยที่ข้างรถระบุชื่อโรงเรียนติดอยู่ด้วย …. โรงเรียนอนุบาลแม่พระประจักษ์
นอกจากชื่อที่ดูแปลกและแตกต่างจากโรงเรียนทั่ว ๆ ไปแล้ว ชื่อนี้ยังไม่คุ้นหูอีกด้วย และผมได้มาทราบในภายหลังว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนคริสต์ และที่โรงเรียนก็ยังเป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์อีกด้วย
ผมสงสัยและค้างคาใจมาตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมา เหตุไฉน อ.สองพี่น้องซึ่งเป็นท้องที่และอยู่ในสังคมชนบทจึงมีโบสถ์และโรงเรียนคริสต์ ใครเป็นคนนำเข้ามา เข้ามาได้อย่างไร และเข้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่
จนเมื่อได้ดูสารคดีดังกล่าว ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยและพึ่งพาลำน้ำท่าจีนและลำน้ำสาขาตั้งแต่ต้นน้ำที่ จ.ชัยนาท, สุพรรณบุรี, นครปฐม จนกระทั้งถึงปากแม่น้ำที่อ่าวไทยในเขต จ. สมุทรสาคร
สารคดีนี้นอกจากจะทำให้ผมที่รู้สึกรักและผูกพันกับบ้านเกิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ผมรู้สึกรักและหวงแหน จ.สุพรรณบุรีมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมให้กว้างและลึกยิ่งขึ้น
เท่าที่ผมเคยรับรู้และทราบมา นอกจากคนไทยเชื้อสายจีนที่ทำมาค้าขายอยู่ในตลาดต่าง ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีเพียงชาวกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติพุเตย อ.ด่านช้าง, ชาวลาวเวียงที่รวมตัวกันสร้างชุมชนของตนเองในหลายพื้นที่ของ อ.อู่ทอง และชาวไทยทรงดำหรือที่คนแถวบ้านผมเรียกว่า “ลาวโซ่ง หรือ โซ่ง” ที่อาศัยอยู่ใกล้รอยต่อระหว่าง อ.อู่ทอง และ สองพี่น้องเท่านั้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัย ในท้องที่ จ. สุพรรณบุรี
แต่ในสารคดี ยังได้พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ตั้งรกรากสร้างชุมชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเขต จ. สุพรรณบุรี เป็นต้นว่า ชาวลาวครั่ง ลาวพวน อาศัยอยู่ที่บ้านป่าสะแก ริมห้วยกระเสียวที่เป็นลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำท่าจีน ชาวญวน และชาวมอญในท้องที่ อ.สองพี่น้อง (และหลังจากที่ผมได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่าในท้องที่ จ. สุพรรณบุรีนั้น มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถึง 10 กลุ่ม ประกอบด้วย ชาวไทยพื้นถิ่น, ไทยเชื้อสายจีน, ไทยทรงดำ, เขมร, ญวน, มอญ, กะเหรี่ยง-ละว้า, ลาวเวียง, ลาวซี-ลาวครั่ง, ลาวพวน)
กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ แม้จะเป็นเรื่องจะทำให้ผมแปลกใจอยู่ไม่น้อยถึงการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ ในท้องที่ จ.สุพรรณบุรี แต่กลุ่มชาติพันธุ์ “ญวน” กลับเป็นกลุ่มที่ผมให้ความสนใจ และสร้างความประหลาดใจแก่ผมมากที่สุด
แม้จะทราบมานานว่า ใน จ.กาญจนบุรีซึ่งพื้นที่ ติดกับสุพรรณบุรีนั้นมีชาวไทยเชื้อสายญวนอาศัยอยู่มาก แต่ไม่คิด ไม่รู้ และไม่เชื่อว่าในท้องที่ จ.สุพรรณบุรี จะมีชาวญวนอาศัยอยู่ด้วย และที่ยิ่งไปกว่านั้น ชาวญวนกลุ่มนี้ อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.สองพี่น้อง อำเภอเดียวกับผม โดยอยู่ห่างจากหมู่บ้านที่ผมอยู่สมัยนั้นไปตามเส้นทางรถยนต์ ราว 18 กิโลเมตรเท่านั้นเอง
เมื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงทำให้ผมทราบว่า “ชาวญวนกลุ่มนี้เอง” คือผู้สร้างโรงเรียนและโบสถ์แม่พระประจักษ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนและโบสถ์คริสตศาสนา นิกายคาทอลิก ในท้องที่ ต. ต้นตาล ใกล้ๆ กับตลาดบางลี่
โดยที่คนในชุมชนสมาชิกราว 400 คนและอาศัยอยู่ในท้องถิ่นนี้มากว่าร้อยปี โดยบรรพบุรุษได้อพยพออกจากเวียดนามเพราะ ผู้นำยุคนั้นกวาดล้างผู้ที่มีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างออกไปจากความเชื่อกระแสหลัก แล้วมาตั้งรกรากที่ สามเสน กรุงเทพฯ ก่อนจะค่อย ๆ โยกย้าย มาตามลำน้ำ จากสามเสน มาเสนา และ สองพี่น้อง เนื่องจากหาเลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์น้ำ
และชาวญวนกลุ่มนี้เอง ที่เป็นผู้ให้กำเนิด “ปลาหมำ” ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อและเป็นหนึ่งในคำขวัญของ อ.สองพี่น้อง
“ชื่อมีคนน้อย อร่อยปลาหมำ เลิศล้ำพระสงฆ์ หลวงพ่อโหน่งพระเครื่อง รุ่งเรืองนาไร่ พระใหญ่โลกรู้ เสภาชั้นครู อู่น้ำอู่ปลา ราชินีนักร้อง สองพี่น้องบ้านเรา”
ซึ่งผมก็เพิ่งมารู้จากการค้นนี้เองว่า ปลาหมำ คือปลาร้าชนิดหนึ่ง ที่ทำจากปลาช่อนหรือปลาชะโด (เท่านั้น) และที่แตกต่างจากปลาร้าทั่วไป คือปลาช่อนหรือปลาชะโตที่นำมาทำปลาหมำนี้ จะต้องนำก้างออกให้หมด และแล่เป็นแผ่นบาง ๆ ก่อนแล้วจึงนำมาหมัก
จุดไต้ก็ตำต่อเลยทีเดียว….. ทั้ง ๆ ที่เป็นของฝากขึ้นชื่อจากอำเภอที่ตนเองอาศัย แต่กลับไม่รู้จักและไม่เคยทาน…. ทั้งที่อยู่อำเภอเดียวกันมาเนิ่นนาน แต่กลับไม่ล่วงรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มพี่น้องชาวญวน แต่เป็นเพราะความสงสัยใคร่รู้ที่ค้างคาใจในวัยเด็ก เกี่ยวกับที่มาที่ไปของโรงเรียนแม่พระประจักษ์ ….. วันนี้ทุกอย่างได้แจ้งประจักษ์พร้อมกับข้อมูลใหม่ที่ได้รับอีกมากมาย …. ขอบคุณ Thai PBS และเจ้าของข้อมูลต่าง ๆ ที่ผมได้พบจากการสืบหา
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย