22 มี.ค. 2022 เวลา 08:52 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังพลิกโฉมตลาดพลังงานโลก หลังองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ออกมากล่าวเตือนว่า โลกอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุปทานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ หากรัฐบาลมอสโกลดกำลังการผลิตน้ำมันลง
ตลาดยังคงอยู่ในอาการหวั่นวิตก หลังราคาน้ำมันดิบเบรนท์ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานโลกขยับตัวขึ้น 4% เมื่อวานนี้ที่ $112 ต่อบาร์เรล หลังเหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นของซาอุดิอาระเบีย และการผลักดันให้ประเทศใน EU เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย
แคนาดา, สหรัฐฯ, UK และออสเตรเลียได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบประมาณ 13% ของการส่งออกของรัสเซีย และจากสถานการณ์ในปัจจุบันก็อาจทำให้ EU กระโจนเข้ามาร่วมวงจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
รมว.ต่างประเทศของลิทัวเนียออกมากล่าวไว้เมื่อวันอาทิตย์ว่า มันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ เช่นเดียวกับทางไอร์แลนด์ที่ส่งสัญญาณออกมาล่าสุดว่าพร้อมให้การสนับสนุนแนวทางแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย
ยิ่งไปกว่านั้นปธน. โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯยังมีกำหนดการที่จะไปเยือนยุโรปภายในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมการประชุมกับ NATO, กลุ่มผู้นำ EU และการประชุมของกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งประเด็นเรื่องพลังงานก็เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการร่วมหารือกันในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ EU ก็มีการร่างแผนที่จะลดการนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียในปีนี้โดยการมองหาแหล่งซัพพลายเออร์ใหม่, เร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน และขยายเวลาของการใช้งานถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น
ยังมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยเยอรมนีที่เป็นลูกค้าแก๊สรายใหญ่สุดของรัสเซียกำลังจะมีความคืบหน้าในข้อตกลงครั้งสำคัญของการซื้อแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) จากกาตาร์
QatarEnergy กิจการรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของกาตาร์ออกมาเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รมว.เศรษฐกิจของเยอรมนีได้กล่าวยืนยันเรื่องแผนการพัฒนาอย่างเร่วด่วนเกี่ยวกับสถานีรับจ่ายแก๊ส LNG ในประเทศทั้งหมด 2 แห่ง
ในขณะที่ IEA ซึ่งมีหน้าที่คอยติดตามแนวโน้มในตลาดพลังงานทั่วโลกโดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็กำลังพยายามผลักดันหลาย ๆ รัฐบาลให้พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ
ทางองค์กรได้นำเสนอแผนการลดความต้องการน้ำมันแบบฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ก่อน เช่น การลดความเร็วของการขับขี่บนถนนเส้นหลักลงอย่างน้อย 6 ไมล์/ชม., การทำงานจากที่บ้าน 3 วัน/สัปดาห์ และการไม่ใช้รถยนต์ในเขตเมืองตอนวันอาทิตย์
สำหรับแนวทางอื่น ๆ ในแผนฉุกเฉิน ได้แก่ การเพิ่มการใช้รถร่วมกัน, การใช้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟที่มีตู้นอนแทนเครื่องบิน, หลีกเลี่ยงการเดินทางเพื่อธุรกิจทางอากาศเมื่อทำได้ และการสร้างแรงจูงใจให้เดิน, ขี่จักรยาน และใช้บริการขนส่งสาธารณะ
IEA ยังได้กล่าวย้ำว่า หากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเต็มที่ จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดลง 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 4 เดือน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณของน้ำมันที่รถยนต์ทุกคันในจีนใช้ไป
References :
โฆษณา