1 เม.ย. 2022 เวลา 12:00 • การศึกษา
ขอแนะนำเทคนิคจัดการตารางเวลาอย่างมืออาชีพใน 3 นาที !
1. รายครึ่งปี: ทำเป้าหมายให้ชัดเจนเหมือนแผนธุรกิจ
อันดับแรกให้กำหนดเป้าหมายการเรียนก่อน เช่น “จะเรียนรู้เทคนิคการขายจนเก่งและเปิดสัญญาการขายให้ได้เพิ่มขึ้น 1-5 เท่า” ถ้าสิ่งไหนที่ทำสำเร็จได้ง่ายจะใช้เวลาสัก 3 เดือนก็ได้ และควรตั้งกำหนดเวลาไว้นานสุดไม่เกิน 1 ปี
2. รายเดือน : จัดสรรงานด้วยตารางที่คำนวณย้อนกลับ
ต่อมาให้กำหนดงานโดยคำนวณย้อนกลับจากเป้าหมายในครึ่งปีหลัง เราต้องคิดว่าจะทำอะไรไปจนถึงวันไหนจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าอยากสอบใบรับรองให้ได้ในครึ่งปีหลัง ก็ต้องจัดแบ่งหน้าที่อย่างการทำข้อสอบเก่า อ่านหนังสือเรียน หรือไปติวที่สถาบัน ด้วยการจัดสรรสิ่งเหล่านี้ในแต่ละเดือน นอกจากนี้ต้องกำหนดว่าจะอ่านหนังสือเตรียมสอบให้จบภายในกี่วันด้วย ถ้าอยากอ่านให้จบภายใน 2 สัปดาห์ก็ต้องทำตารางเวลาด้วยการแบ่งหัวข้อสารบัญออกเป็น 14 ส่วน และจัดสรรลงในตารางเวลาทั้ง 14 วัน เคล็ดลับคือให้เผื่อวันว่างไว้สัก 1 วันเพื่อชดเชยวันที่ทำได้ไม่ตามเป้า
3. รายสัปดาห์: กำหนดให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
เมื่อจัดสรรตารางเวลาในแต่ละเดือนแล้ว ถัดไปก็มาถึงการจัดตารางเป็นรายสัปดาห์ เช่น “กำหนดการประจำวัน” อย่างการประชุม การนัดหมาย หรือการใช้เวลากับครอบครัว ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีจัดการตารางเวลาแตกต่างกันไป สิ่งที่อยากแนะนำในการจัดตารางเรียนคือ ควรใช้รูปแบบที่เรียบง่ายที่สุดเพียงแบบเดียวตลอดทั้งสัปดาห์ เพราะการทำให้เป็นกิจวัตรนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับการเรียนแบบสบาย ๆ แต่ทำได้อย่างต่อเนื่อง
4. รายวัน : จัดสรรเวลาในการนำเข้าข้อมูล
ให้เขียนสิ่งที่ต้องทำใน “ชีวิตส่วนตัว” ลงไปในตารางเวลาด้วยโดยกำหนดให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น อ่านหนังสือการตลาดวันละเล่ม
5. ลงทุนกับตัวเองในช่วงเช้า
ตอนเช้ามีประโยชน์มากมาย การตื่นเช้าช่วยปรับนาฬิกาชีวิตในการนอน สมองของเราจะโล่งและรับข้อมูลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ช่วงเวลาตั้งแต่เช้าจนถึงก่อนเริ่มงานตอน 9 โมงยังเป็นช่วงที่เรามีสมาธิเพราะไม่มีอะไรมารบกวนอีกด้วย จึงเป็นเวลาที่เหมาะกับการเรียนมากที่สุด
6. เติมเต็มช่วงเวลาแห่งการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
คือการใช้เครื่องทุ่นแรงที่ทำให้คุณลงทุนครั้งเดียวได้ผลกำไร 2 ทาง ตัวอย่างเช่น เวลาในการทำงานถือเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่คุณจะทำงานไปด้วย และพัฒนาความสามารถของตัวเองไปพร้อมกัน ถ้าคุณอยากเรียนรู้ทักษะทางธุรกิจ ก็ให้ลองตรวจสอบดูว่าการทำงานของเราสามารถใช้เป็นช่วงเวลาแห่งการหว่านพืชหวังผลในที่เดียวกันสำหรับการเรียนได้ไหม
7. สร้าง“ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้” หลังเลิกงาน
การพบปะผู้คนถือเป็นการเรียนรู้แบบควบทั้งการนำเข้าและส่งออกข้อมูล หลังเลิกงานให้นัดเจอเพื่อนร่วมงานแบบที่จะกลายเป็น “ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้” ดีกว่า แม้การไปสังสรรค์ตามร้านกินดื่มกับเพื่อนที่บริษัทจะเป็นเรื่องผ่อนคลาย แต่การนัดกินข้าวกับใครสักคนที่เราสามารถเรียนรู้จากเขาได้ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต
8. กำหนด “เวลาแห่งการท่องจำ” ก่อนนอน
ถ้าก่อนนอนเราสร้างความทรงจำเข้าไปในหัวแล้วทบทวนอีกครั้งทันทีหลังตื่นนอน สิ่งนั้นจะถูกฝังลงไปในสมอง ดังนั้นจึงควรจัดตารางเวลาก่อนนอนให้เป็น “ช่วงเวลาแห่งการท่องจำ” โดยใช้กลไกการทำงานของสมองเป็นตัวช่วย นอกจากนี้ เรายังสามารถวางการ์ดคำศัพท์ไว้ใกล้ ๆ หมอน เพื่อสร้างนิสัย “การท่องจำก่อนนอน” ได้อีกด้วย
เทคนิคดี ๆ จากหนังสือ "สำเร็จสบายสบาย เพราะเรียนรู้ไวแบบคนขี้เกียจ"
นะโอะยุกิ ฮนดะ เขียน
กมลวรรณ เพ็ญอร่าม แปล
สำนักพิมพ์ Amarin HOW-TO
โฆษณา