23 มี.ค. 2022 เวลา 05:00 • ปรัชญา
การรับ Feedback ไม่ง่ายอย่างที่คิด
“Feedback is a gift” ถือเป็นประโยคสำคัญที่หลายต่อหลายองค์กรพยายามนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดการกระตุ้นให้ทุกคนกล้าที่จะมอบข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าแก่เพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณสมบัติด้านต่างๆ ของพวกเขาทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว
ในอีกมุมหนึ่งก็เปรียบเสมือนการเน้นย้ำให้เราพร้อมที่จะรับคำแนะนำที่มีประโยชน์จากเพื่อนร่วมงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในบริบทของงานทั้งหมด เพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนาตนเองให้มีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น
ถ้าถามว่าทำไมเราจึงควรทั้งเป็นผู้ให้และผู้รับ Feedback จากที่ทำงาน คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในเรื่องของการพัฒนาบุคคลในทุกภาคส่วนขององค์กร และการสร้างความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับบริบทที่เกิดขึ้นภายในองค์กรมากยิ่งขึ้น
พอเป็นภาพแบบนี้แล้ว หลายคนก็มักจะเกิดข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้วการให้และรับ Feedback มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเชิงของการทำงานเพียงอย่างเดียวรึเปล่า
คำตอบคือ “ไม่ใช่”
เพราะเรื่องการให้และรับ Feedback ก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงกับคนใกล้ตัวหรือใครสักคนที่เรามีความสนิทสนม
ถามว่าผมเคยได้เรียนรู้ ฟัง หรืออ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องการเป็นผู้ให้และผู้รับ Feedback ไหม คำตอบคือตั้งแต่เริ่มใช้ชีวิตในวัยทำงาน ก็คลุกคลีกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย อีกทั้งส่วนตัวยังเคยทำงานอยู่ในองค์กรที่มี Feedback เป็นวัฒนธรรมหรือ DNA ของการทำงาน
ในแง่ของการใช้ชีวิตทั่วๆ ไป ผมเองก็เคยมีโอกาสได้เป็นผู้ให้ Feedback แก่ทั้งเพื่อนสนิท พี่ที่เรียนปริญญาโทด้วยกัน และน้องๆ ที่รู้จักกันในช่วงที่ทำกิจกรรมในสมัยปริญญาตรี
ถามว่ายากตรงจุดไหนไหม สำหรับผมมันอาจจะมีแค่เพียงการทำจิตใจให้เป็นกลางและลดอคติให้ได้มากที่สุด ประกอบกับการพยายามบอกความจริงหรือการกระทำที่พบเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่หักหาญน้ำใจอีกฝ่ายมากจนเกินไป
ทว่าในมุมกลับกัน หากถามว่าผมมีโอกาสได้เป็นผู้รับ Feedback อย่างจริงจังสักกี่ครั้ง คำตอบที่ได้ก็คือมีหลายครั้งเช่นกัน แต่คงมีไม่เกินสัก 3 ครั้งที่เป็น Feedback ที่ผมได้ตกตะกอนอย่างถ่องแท้ และปรับปรุงตัวเองเพื่อเป็นคนที่มีวุฒิภาวะในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น
ช่วงแรกๆ ของการเป็นผู้รับ Feedback บอกตรงๆ ว่ามันรู้สึกอึดอัดมาก ถ้าให้เปรียบเป็นภาพมันเหมือนกับตัวผมต้องไปนั่งอยู่ในห้องเย็น ที่แต่ละประโยคมันเหมือนย้ำเตือนกับเราในเชิงว่า “ยังทำสิ่งนั้นได้ไม่ดีนะ ต้องปรับปรุงและแก้ไขมันซะ”
แต่พอเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มมีความรู้สึกที่ดีต่อการรับ Feedback มากขึ้นๆ
ทว่ามีการรับ Feedback 1 ครั้ง ที่ผมรู้สึกว่ามันยากลำบากสุดๆ กว่าจะก้าวผ่านมันได้ เพราะมันเป็นการได้รับคำแนะนำที่กระแทกถึงความรู้สึกและความเชื่อลึกๆ ในจิตใจ
ว่าง่ายๆ นิสัยส่วนตัวของผม ไม่ใช่คนคิดร้ายกับใคร แต่บางทีคิดอะไรก็พูดเลยโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟัง
คือถ้าว่ากันตามตรง ผมไม่ได้เจตนาอะไรแอบแฝงหรือต้องการที่จะทำให้ใครสักคนรู้สึกไม่ดี
มีหลายคนเริ่มรู้สึกว่าผมพูดหรือแสดงออกบางพฤติกรรมในลักษณะที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครกล้ามาพูดคุยหรือตักเตือน
จนกระทั่งพี่ชายคนหนึ่งได้โทรศัพท์มาหาผมเป็นการส่วนตัว แล้วเปิดด้วยคำถามที่ว่า “รู้ตัวรึเปล่าว่าไปพูดหรือทำอะไรให้ใครสักคนไม่พึงพอใจรึเปล่า”
ผมก็ตอบไปตามตรงว่า “ไม่น่าจะมีอะไรแบบนั้นนะครับ”
แล้วพี่คนนั้นก็อธิบายกับผมอย่างยาวนานมากว่า “พี่รู้ว่านายไม่ได้เป็นคนเลวร้าย และการพูดก็ไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้รู้ว่าไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่จะคิดเหมือนเรา ฉะนั้นพูดอะไรก็ลองคิดเยอะๆ และพยายามแสดงออกถึงวุฒิภาวะให้มากขึ้น”
บอกตรงๆ ว่าหลังจากที่ได้ยินประโยคนี้ ผมแทบช็อกไปเลย แต่ว่าก็บอกพี่เขากลับไปว่า ผมไม่รู้จริงๆ และไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีเลย
พอไปสำรวจในจิตใจของตัวเองในตอนนั้นก็พบว่า เหมือนมีบางอย่างมาท้าทายความมั่นใจในเรื่องของการทำความรู้จักผู้อื่นแบบสนิทสนม และทักษะการพูดของผมเป็นอย่างมาก
สุดท้ายบทสนทนาวันนั้นก็จบลงตรงที่พี่เขาพูดว่า “พี่ไม่รู้หรอกนะพูดไปแล้วนายจะเกลียดเราไหม แต่เพราะเห็นเป็นน้องชายจริงๆ เลยอยากพูด และหวังว่าจะเห็นนายเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต”
เอาตรงๆ หลังจากวางสาย ผมนี่นั่งซึมไปชั่วขณะหนึ่ง แถมมีความคิดอยู่ในใจลึกๆ ว่า “สุดท้ายแล้วเรายังสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อยู่ไหม”
ผมไม่ได้รู้สึกสิ่งที่พี่คนนั้นบอกกล่าวมันเป็นเรื่องไม่จริงเลยแม้แต่น้อย กลับกันผมแค่ยังงงๆ เฉยๆ ว่าแล้วควรจะทำยังไงต่อ
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้กับตัวเองจากเหตุการณ์นี้คือ การรับ Feedback มันไม่ได้ยากที่การรับฟังสิ่งที่อีกคนหนึ่งพูด หรือการวางแผนที่จะพัฒนาตนเองในขั้นต่อไป
แต่มันยากที่จะยอมรับว่าตัวเราเองมีจุดบกพร่องที่เรามองไม่เห็น หรือ Blind Side
ถ้าเปรียบเป็นภาพมันก็เหมือนกับการที่เรามั่นใจแล้วว่าชิ้นงานที่เราทำมันเป๊ะและดูดีที่สุดแล้ว แต่จู่ๆ ก็เหมือนมีคนลุกขึ้นมาบอกเราว่า “จุดนั้นยังไม่โอเค”
ไม่ใช่ทุกคนที่เวลามีใครมาบอกว่า “เธอไม่โอเคตรงนั้น หรือมีจุดที่ควรปรับปรุงตรงนี้” แล้วจะสามารถจัดการกับอารมณ์ได้
ทว่าอย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่าหากมีใครสักคนมาพูดคุยหรือให้ข้อเสนอแนะอะไรกับเรา สิ่งแรกที่ควรมีคือ “สติ”
ไม่ว่าจะในแง่ของการเท่าทันอารมณ์ตัวเอง และแง่ของการยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
มาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าให้สรุปเรื่องการรับ Feedback มันคงจะยากที่ฟันเฟืองแรกที่สำคัญที่สุด นั่นคือการยอมรับความจริง หรือยอมรับปัญหาว่าเป็นปัญหาจริงๆ
เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราไม่ได้มองหรือตระหนักถึงสิ่งที่เป็นปัญหาว่าเป็นปัญหา เมื่อนั้นความคิดของเราก็จะปิดกั้นหนทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
สุดท้ายแล้ววันนี้ถามว่าผมเองเป็นคนที่ไม่สร้างปัญหาหรือความหนักใจให้ใครจากการพูดไหม ผมเองก็คงไม่กล้าตอบอย่าง 100% ว่าคำพูดของตัวเองจะไม่สร้างบาดแผลให้ใคร
อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่าสิ่งที่พี่ชายคนนั้นได้ให้ข้อคิดและ Feedback มา มันได้เปลี่ยนวิธีการคิดให้ผมคิดก่อนพูดมากขึ้น และระมัดระวังถึงสิ่งที่จะตามมาจากทั้งคำพูดและการกระทำของตัวเอง
และจากประโยคสุดท้ายก่อนที่พี่จะวางสายไปในวันนั้น
คำตอบของผมในวันนี้คือ “ความรู้สึกที่ผมเคารพพี่จากวันแรกที่ได้รู้จักกันจนกระทั่งถึงวันนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย และก็ดีใจมากๆ ครับที่ตอนนี้เรายังสามารถพูดคุยและคอยช่วยเหลือกันและกันในสถานการณ์ต่างๆ”
สามารถติดตาม Huatoa - หัวโต ได้อีกช่องทางบน
โฆษณา