23 มี.ค. 2022 เวลา 12:00 • ท่องเที่ยว
เมื่อคนบาปอยากเป็นท้าวเวสสุวรรณ พระราชวังมหัศจรรย์จึงถือกำเนิดขึ้น
คืนวันหนึ่งในเวลาดึกสงัด พระวรกายของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์ถูกพันธนาการเอาไว้ พระโอษฐ์ถูกอุดด้วยผ้าพันอันแน่นหนา เหล่าทหารผู้ทรยศจับพระองค์ตรึงเอาไว้อยู่กับที่ พระสุรเสียงอันอู้อี้เล็ดลอดออกมาอย่างแผ่วเบา สายพระเนตรอันทุกข์ทรมานของพระองค์ผู้ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าเหนือหัวของผู้คนทั้งปวงเหลือบมองเหล่าอดีตข้าราชบริพารที่บัดนี้กลายเป็นพญามัจจุราชซึ่งพร้อมจะพรากพระชนม์ชีพไปได้ทุกเมื่อคล้ายกับจะทรงวิงวอนขอความเมตตา
แต่ไม่เป็นผล ชายฉกรรจ์กลุ่มนั้นผลักเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเข้าไปในช่องกำแพงที่เตรียมเอาไว้ ก่อนจะบัญชาให้นายช่างซึ่งรอเวลาอยู่โบกปูนปิดทับ ร่างของกษัตริย์ผู้เคราะห์ร้ายดิ้นทุรนทุรายอยู่ภายในกำแพงนั้น ก่อนที่ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของพระองค์จะขาดลงและสวรรคตอยู่ภายในกำแพงนั้นเอง
เจ้าชายกัสสปะยืนทอดพระเนตรเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยความสาแก่พระทัย เพราะในที่สุด สมบัติแห่งพระมหาราไชยศวรรย์ทั้งปวงแห่งเมืองลังกาก็ได้ตกเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว
🔵 พระเจ้ากัสสปะ : คนบาปแห่งประวัติศาสตร์ลังกา
ข่าวสยองขวัญว่าพระเจ้าธาตุเสนะถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยการฝังพระองค์ในกำแพงทั้งเป็นนั้นล่วงรู้ไปถึงหูของเจ้าชายโมคคัลลานะ รัชทายาทที่แท้จริงอย่างรวดเร็ว เจ้าชายหนุ่มมีเวลาไม่นานในการเสด็จลี้ภัยพร้อมด้วยพระราชมารดาซึ่งเป็นอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ผู้เคราะห์ร้ายลงเรือออกจากตอนเหนือของเกาะลังกาไปขึ้นฝั่งยังแผ่นดินอินเดียก่อนที่พี่ชายต่างมารดาผู้ละโมบจะส่งทหารมาตามสังหารได้ทัน
1
เจ้าชายกัสสปะไม่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์แม้แต่น้อย เพราะแม้ว่าจะทรงเจริญพระชนม์มากกว่า แต่ก็มีพระสถานะเป็นเพียงพระโอรสที่ประสูติจากพระสนมเท่านั้น แต่ด้วยอำนาจที่มี เจ้าชายกัสสปะชุบเลี้ยงเหล่าทหารและข้าราชบริพารผู้แปรพักตร์ไว้มาก เมื่อสบช่องสังหาร ราชบัลลังก์จึงตกเป็นของพระองค์อย่างง่ายดาย
เจ้าชายกัสสปะผู้ที่บัดนี้กลายเป็นพระเจ้ากัสสปะได้เถลิงอำนาจขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งลังกาทวีปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5 (พุทธศตวรรษที่ 11) พระองค์ทรงมั่นใจว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในลังกาทวีปนั้นได้ตกเป็นของพระองค์จนหมดสิ้นแล้ว ทรัพย์สมบัติใด ๆ ในโลกมนุษย์ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์ เมื่อมนุษย์คนหนึ่งได้ครอบครองสิ่งอันมีค่าทั้งหลายแล้ว ก้าวต่อไปก็คือการครอบครองสมบัติทั้งหมดในสวรรค์
เหล่าขุนนางข้าราชสำนักเพ็ดทูลว่า บัดนี้พระบุญญาธิการของพระองค์ได้ก้าวถึงที่เทวราชาแล้ว จึงสมควรที่จะสถาปนาพระองค์ให้เป็นท้าวกุเวรหรือ “ท้าวเวสสุวรรณ” เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งตามคติในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูที่ทรงนับถือ พระเจ้ากัสสปะได้ทรงฟังก็ผยองในพระราชหฤทัย และทรงคิดว่าในเมื่อพระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยบุญญามหาศาลควรที่มหาสมมติเทวราชดังนั้นแล้ว ก็ควรจะต้องมีพระราชวังอันยิ่งใหญ่เสมอฟ้าเสมอดินเป็นที่เฉลิมพระบารมีให้สมกับที่ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิ ไม่มีผู้ใดจะยิ่งยศยิ่งใหญ่เทียบเทียมได้
1
ภูเขาสีหคีรี
จึงได้ทรงเลือกทำเลสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ อันมีศูนย์กลางคือภูเขาสีหคีรี ซึ่งเป็นภูเขาหินโดดอันมีสัณฐานสง่างามคล้ายสิงห์ นามของภูเขาแห่งนี้ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ มหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงอนุราธปุระ ผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในแผ่นดินลังกาทวีป พระเจ้ากัสสปะทรงสั่งให้สร้างพระราชวังสุดตระการตาขึ้นบนยอดเขาแห่งนั้น ว่ากันว่าพระราชวังแห่งนี้อุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งสวยงามและความหฤหรรษ์บันเทิงทุกชนิด มีดอกไม้นานาพรรณเบ่งบานสลับสีอวดกัน มีสระน้ำสำหรับทรงสรงสนานชำระพระวรกาย มีหมู่พระวิมานน้อยใหญ่ให้เป็นที่ประทับ และมีโภคสมบัติมากมายสมกับที่พระองค์ทรงเป็นท้าวเวสสุวรรณผู้มั่งคั่งที่สุดทั้งในโลกสวรรค์และโลกมนุษย์
โบราณสถานพระราชวังบนภูเขาสีคิริยะ
พระเจ้ากัสสปะย้ายราชธานีจากอนุราธปุระมายังปราการอันมั่นคงแห่งสีหคีรี หรือที่รู้จักกันในชื่อปัจจุบันว่าเขาสีคิริยะ (Sigiriya Rock Mountain) ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูพร้อมทั้งได้ทรงปฏิเสธพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาดั้งเดิมของลังกาโดยสิ้นเชิง เชิงเขาสีคิริยะนั้นมีการป้องกันอย่างแน่นหนาด้วยกองกำลังของผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ไม่ให้มีศัตรูผู้หนึ่งผู้ใดสามารถล่วงล้ำเข้าไปในพระราชอาณาเขตได้
เมื่อถาวรวัตถุทั้งหลายได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคงดีแล้ว พระเจ้ากัสสปะในฐานะมหาเทวราชผู้ยิ่งใหญ่ ก็เสด็จขึ้นไปประทับอยู่บนพระราชวังแห่งเขาสีคีริยะเป็นการถาวรนับแต่บัดนั้นด้วยความยโสในพระทัยว่าบัดนี้พระองค์คือผู้ยิ่งใหญ่และมั่งคั่งกว่าผู้ใดในสากลจักรวาลโดยสมบูรณ์แล้ว
ทิวทัศน์เมื่อมองลงมาจากพระราชวังสีคิริยะ
🔵 ทำไมต้องเป็นท้าวเวสสุวรรณ
โดยทั่วไปแล้ว พระมหากษัตริย์ที่นับถือหรือได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูนั้น หากอยู่ในพระสถานะของความเป็นสมมติเทวราช มักจะทรงเป็นพระศิวะ พระวิษณุ หรือพระอินทร์ เพราะฉะนั้นการที่พระเจ้ากัสสปะทรงเลือกที่จะวางพระองค์อยู่ในพระสถานะของท้าวเวสสุวรรณจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์บอกเล่าและพงศาวดารของลังกาทวีป จะพบว่าพระเจ้ากัสสปะทรงกระทำปิตุฆาตแย่งชิงราชสมบัติของพระบิดาด้วยความละโมบ เพราะพระเจ้าธาตุเสนะนั้นทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มารุยัน (Maruyan Dynasty) จึงทำให้เจ้าชายกัสสปะซึ่งเป็นพระโอรสที่ประสูติแต่พระสนมสามัญชนนั้นสำคัญผิดคิดว่าพระราชบิดาทรงมีทรัพย์สมบัติมาก ประวัติศาสตร์เล่าว่าก่อนจะลงมือสังหาร เจ้าชายกัสสปะได้นำพระราชบิดาของพระองค์ที่ถูกคุมขังอยู่ไปยังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ชื่อกาละเววา (Kalaweva) และรีดเอาความจริงว่าพระเจ้าธาตุเสนะทรงซ่อนสมบัติทั้งหมดเอาไว้ที่ไหน พระมหากษัตริย์ผู้เคราะห์ร้ายทรงบอกพระโอรสได้เพียงว่าพระองค์ไม่ได้ทรงมีทรัพย์สมบัติอะไรนอกจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ที่ทรงสร้างเอาไว้ให้ผู้คนได้ใช้สอย
เจ้าชายกัสสปะไม่เชื่อ โศกนาฏกรรมในหน้าประวัติศาสตร์ลังกาจึงเกิดขึ้น ชาวศรีลังกาบางส่วนเชื่อว่าสถานที่ที่เจ้าชายกัสสปะทรงฝังพระบิดาทั้งเป็นก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เอง
สำหรับท้าวเวสสุวรรณนั้น ในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูเรียกว่าท้าวกุเวร ในพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานเรียกว่าชัมภละ (และกลายเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง) หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า เรื่องราวของท้าวกุเวรปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของฮินดูตั้งแต่สมัยพระเวท (อินเดียโบราณยุคแรกสุด) เป็นต้นมา โดยท้าวกุเวรนั้นได้บำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลาหลายพันปีจนกระทั่งพระพรหมเห็นใจ จึงประทานพรให้เป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง และโลกบาลประจำทิศเหนือและปกครองหมู่ยักษ์
ประติมากรรม ท้าวเวสสุวรรณ  (ท้าวกุเวร : Kubera) คริสต์ศตวรรษที่ 11 พบที่รัฐกรณากฏะ ประเทศอินเดีย
สำหรับโลกบาลประจำทิศอื่น ๆ คือ ท้าววิรุฬหกผู้ปกครองกุมภัณฑ์ (ยักษ์แคระ) เป็นโลกบาลประจำทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ผู้ปกครองนาคเป็นโลกบาลประจำทิศตะวันตก และท้าวธตรฐผู้ปกครองคนธรรพ์เป็นโลกบาบลประจำทิศตะวันออก
สำหรับพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานที่ได้รับอิทธิพลไปจากศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูนั้น พระชัมภลโพธิสัตว์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความมั่งคั่งและโชคลาภ ทรงปราบปรามปีศาลและยักษ์มารได้ และทรงอยู่ในสถานะของการเป็นเทพผู้พิทักษ์ไม่ให้มาทำอันตรายแก่มนุษย์ได้ ดังนั้นในคติทางวัชรยานจึงเชื่อได้ว่าผู้บูชาพระชัมภละจะได้รับโชคลาภและรอดพ้นจากอุปสรรคภยันตรายทั้งปวง
ด้วยความหวังในโภคสมบัติเป็นที่ตั้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่พระเจ้ากัสสปะจะทรงอยากเป็นท้าวเวสสุวรรณ ถึงขนาดลืมบาปบุญคุณโทษ ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้ครองราชบัลลังก์สมความปรารถนา
พระชัมภลโพธิสัตว์
🔵 อวสานแห่งพระเจ้ากัสสปะ
แม้ว่าพระราชวังสีคีริยะจะตั้งอยู่บนยอดเขาสูง สามารถระวังภัยอันตรายที่จะเข้ามาจากทุกทิศทุกทางได้ก็จริง แต่จุดแข็งที่ว่านั้นก็ถือเป็นจุดอ่อนไปด้วยในตัว เพราะหากสีคีริยะถูกปิดล้อม นั่นหมายถึงบนนั้นจะไม่เหลือเสบียงอาหารใด ๆ ให้ประทังชีวิตได้เลย
และแล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อเจ้าชายโมคคัลลานะผู้ทรงศักดิ์และสิทธิ์ที่แท้จริงในราชบัลลังก์ได้ปรากฏพระองค์ขึ้นพร้อมกับกองทัพจำนวนมหาศาลที่พร้อมทวงคืนความเป็นธรรมที่ถูกแย่งชิงไปเมื่อสิบแปดปีก่อน กองทัพอันเข้มแข็งของเจ้าชายโมคคัลลานะปิดล้อมเมืองสีคิริยะทุกด้าน ในขณะที่ไพร่พลฝั่งพระเจ้ากัสสปะเริ่มอ่อนกำลังลงทุกที ข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าในช่วงเวลานั้นเมืองสีคิริยะที่เคยถูกวาดฝันให้เป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่กำลังถึงแก่ความเสื่อมในทุกด้าน เพราะพระเจ้ากัสสปะทรงคิดถึงแต่เรื่องราชสมบัติและอำนาจ โดยมิได้ทรงเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปเท่าใดนัก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ของเกาะลังกาเป็นพุทธศาสนิกชน ในขณะที่พระเจ้ากัสสปะทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูและเดียดฉันท์พระพุทธศาสนา เมื่อดวงประทีปแห่งชีวิตถูกคุกคาม ชาวลังกาจึงไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องมีพระเจ้ากัสสปะประทับอยู่บนพระราชบัลลังก์อีกต่อไป
1
ค.ศ.495 ไม่มีใครอยู่ข้างพระเจ้ากัสสปะอีกต่อไปแล้ว พระราชาใจบาปทอดพระเนตรสรรพศฤงคารอันมั่งคั่งทั้งหมดที่พระองค์ทรงแลกมาด้วยพระชนม์ชีพของพระราชบิดาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะปลิดพระชนม์ชีพพระองค์เองให้พระวรกายแน่นิ่งอยู่กับกองสมบัติพัสถานทั้งหมดที่พระองค์อยากได้ กองทัพของเจ้าชายโมคคัลลานะประสบชัยชนะและพระองค์ทรงได้เป็นพระเจ้ากรุงลังกาพระองค์ใหม่ตามสิทธิธรรมอันสมควรในที่สุด
1
สีคิริยะในฐานะมรดกโลก
หลังจากความมืดมนอนธการทั้งหลายได้ผ่านพ้นไป พระเจ้าโมคคัลลานะ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ทรงอุทิศพื้นที่สีคิริยะเดิมให้เป็นพระอารามแก่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา จากการขุดค้นทางโบราณคดีในเวลาต่อมาทำให้ทราบว่าอันที่จริงแล้วก่อนที่พระเจ้ากัสสปะจะทรงสถาปนาพื้นที่สีคิริยะให้เป็นพระราชวังนั้น บริเวณนี้มีชุมชนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล และมีเสนาสนะของวัดในพระพุทธศาสนาในบริเวณนี้มาก่อนแล้ว
เวลาผ่านมา พื้นที่ที่เคยเป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่และมั่งคั่งนี้ก็ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นอนุสรณ์สถานของคนบาปที่ไม่มีใครสนใจจะเข้าไปเยี่ยมเยือน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1831 อังกฤษได้เข้าครอบครองลังกาเป็นอาณานิคม พันตรี H.Forbes ได้เข้ามาสำรวจบริเวณนี้และพบความลับอันสุดมหัศจรรย์ในป่าลึก เขาได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบริเวณนี้ไว้อย่างละเอียดแต่ไม่สามารถจะขึ้นไปบนยอดเขาได้ จนกระทั่งค.ศ.1853 A.H.Adams และ J.Bailey พร้อมกับชนพื้นเมืองอีกสองคนได้ขึ้นไปสำรวจ ต่อมา H.C.P. Bell อธิบดีกรมโบราณคดีศรีลังกาได้ค้นพบทางขึ้นสู่พระราชวังทางทิศตะวันออก ได้เริ่มบูรณะจิตรกรรมทั้งหลายตั้งแต่ ค.ศ.1894 เป็นต้นมา สำหรับจิตรกรรมทั้งหมดนั้นเชื่อว่ากันมีอยู่ประมาณ 500 ภาพ ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพเก่าแก่ถึงรัชกาลของพระเจ้ากัสสปะ แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 22 ภาพเท่านั้น และบางภาพก็อยู่ในสภาพที่ลบเลือน
ระบบชลประทานบนยอดเขาสีคิริยะ
ภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดคือภาพนางอัปสรซึ่งกำลังถือดอกไม้จะบูชาเทพยดา โดยมีนางกำนัลเป็นคนรับใช้เดินตาม ปริศนาหนึ่งก็คือเพราะเหตุใดนางอัปสรผู้เป็นนายจึงได้เปลือยท่อนบนในขณะที่คนรับใช้สวมใส่เสื้อผ้า นักประวัติศาสตร์ศิลปะกลุ่มหนึ่งให้ความเห็นว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะจิตรกรอาจจะต้องการสื่อว่านางอัปสรนั้นสวมใส่พัสตราภรณ์ที่เนื้อละเอียดมาก บางเบาเหมือนควันประหนึ่งว่ามิได้สวมอะไรเลย จึงทำให้รังสรรค์ภาพจิตรกรรมออกมาเป็นดังที่ปรากฏ และการมีภาพนางอัปสรรายล้อมอยู่รอบเขาสีคิริยะก็อาจจะเป็นการขับเน้นเชิงสัญลักษณ์ให้ภูผาแห่งนี้เป็นสรวงสวรรค์แห่งท้าวเวสสุวรรณได้สมจริงยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากภาพจิตรกรรมแล้ว บริเวณรอบเขาสีคิริยะยังมีจารึกภาษาสิงหลโบราณมากมาย บ้างก็เป็นบทกวีที่ประพันธ์เอาไว้เกี่ยวกับนางอัปสรที่อยู่รอบพระราชวังแห่งนี้
นางอัปสรที่ภูเขาสีคิริยะ
“The ladies who wear golden chains on their breasts beckon to me. Now I have seen these resplendent ladies, heaven has lost its appeal for me.” (English translation by Dr.Senerat Paranavitana, 1956) : เหล่านางอัปสรที่สวมกรองศอทองคำได้เรียกข้าพเจ้า เมื่อได้พบเห็นนางเหล่านี้ แม้แต่สรวงสวรรค์ก็สิ้นเสน่ห์สำหรับข้าพเจ้าเสียแล้ว
แม้ว่าพระราชวังแห่งสีคิริยะจะสร้างขึ้นด้วยโศกนาฏกรรมและน้ำมือของคนบาป แต่ก็ถือเป็นสุดยอดการวางผังเมือง ระบบวิศวกรรม และระบบชลประทานของชาวสิงหลโบราณที่สามารถสร้างพระราชวังขนาดยักษ์พร้อมสาธารณูปโภคใช้สอยครบครันบนพื้นที่สูงได้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงได้ประกาศยกย่องโบราณสถานพระราชวังสีคิริยะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเมื่อ ค.ศ.1982 และทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ต้องห้ามพลาดสำหรับผู้ที่ไปเยือนศรีลังกาในปัจจุบัน
ผมมีโอกาสเดินทางไปที่ภูเขาแห่งนี้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.2014 วันนั้นบนพระราชวังลมกระโชกแรง ฟ้ามืดครึ้มด้วยเมฆดำ และมีฟ้าแลบแปลบปลาบ บรรยากาศชวนให้ผมนึกถึงวันสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระเจ้ากัสสปะ ไม่แน่ว่าในห้วงเวลาอันสำคัญนั้นพระองค์อาจจะทรงคิดได้ว่าแท้ที่จริงแล้วทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เป็นของสมมติ ในชีวิตหนึ่งของคนเราอาจไม่ได้ต้องการทรัพย์สมบัติมากมายขนาดนั้น และสุดท้ายแล้วเราทุกคนทั้งหลายก็อาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าชีวิตที่ร่มเย็น ได้เป็นที่รักของผู้คนรอบข้าง และเป็นสุขได้ด้วยใจของเราเองที่รู้จักพอ
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา