23 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คนอเมริกันหลายล้านคน สูญเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทุกปี
1
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในอเมริกา ทำให้ประชากรหลายล้านคนสูญเสียเงินทุกปี...
แม้จะมีความพยายามในการจัดการกับปัญหาจากหลายภาคส่วน แต่มันก็ยากที่จะแก้ได้ โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพ” เหล่านี้มักจะมีที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศอินเดีย ที่ดันเป็นที่แหล่งของ “คอลเซ็นเตอร์ถูกกฎหมาย” ที่บริษัทอเมริกาชอบจ้างงานด้วย
📌 คนอเมริกาหลายล้าน ถูกหลอกให้โอนเงินโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์
อ้างอิงจาก Truecaller ที่เป็นแอพช่วยป้องกันและคัดกรองเบอร์โทรในมือถือ มีชาวอเมริกัน 56 ล้านคนที่ถูกหลอกหลวงให้โอนเงินโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในปี 2020 ซึ่งคิดเป็นถึง 22% ของประชากรทั้งประเทศ
1
และยิ่งพิจารณาความเร็วของการพุ่งขึ้นของตัวเลข จะยิ่งพบว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาที่น่ากังวลมาก โดยในปี 2014 ตัวเลขคนที่ถูกหลอกโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังอยู่ที่แค่ 17.6 ล้านคนเท่านั้น แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ขึ้นพุ่งมาอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะใน สองปีหลังในรายงานที่แสดงออกมา (ปี 2019-2020) ที่มีคนอเมริกาโดยหลอกเพิ่มขึ้ต่อปีมากกว่าสิบล้านคน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ของความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นตัวเงิน สถานการณ์ก็ดูจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยในปี 2020 มูลค่าเงินที่ถูกหลอกไป ตีกันว่า อาจจะมากถึง 19,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 650,000 ล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 33 บาท)
ยังมีอีกกราฟหนึ่ง ที่มีตัวเลขจากการสำรวจที่น่าสนใจ ก็คือ เหยื่อส่วนใหญ่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่ผู้สูงวัยที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี แต่กลับเป็นผู้ชายอายุ 18-44 และจากแบบสำรวจก็ยังชี้ด้วยว่า ผู้หญิงมีโอกาสถูกหลอกน้อยกว่าในภาพรวม
(อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก FBI แผนกคดีนี้ รายงานว่า ในปี 2019 ช่วงอายุของเหยื่อที่มีการแจ้งความเยอะที่สุด กลับเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ตามภาพจำที่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้สึก ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่า คนอายุน้อยโดยโกงแล้วไม่แจ้งความ หรือ แบบสำรวจของ Truecaller ครอบคลุมคนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ก็ไม่ได้แจ้งไว้ในรายงานอย่างชัดเจน)
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เราเห็นนี้นะครับ ทางหน่วยงานรัฐของอเมริกาก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาอยู่เช่นกัน ผ่านการสืบค้น ออกกฎหมาย หรือความพยายามป้องกัน แต่ปัญหามันก็มีความซับซ้อนพอสมควร เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ที่ตั้งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ ส่วนใหญ่ดันตั้งอยู่ที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดีย
📌 ที่ปลายสายจากอินเดีย
มีบทความใน New York Times Magazine ของ Yudhijit Bhattacharjee ที่พยายามค้นหาคำตอบว่า ที่ปลายสายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศอินเดียเป็นใคร และ ความยากลำบากในการจัดการกับปัญหาคืออะไร
เมื่อสืบย้อนกลับไป แก๊งคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพในประเทศอินเดีย เริ่มเติบโตมาพร้อมๆ กับตอนที่บริษัทเทคโนโลยีในอเมริกา เปิดตลาดมาหาแรงงานราคาไม่แพง ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เพื่อทำงานให้พวกเขา
โดยงานแรกๆ ที่มีการนำเสนอให้ทำ ก็ไม่ใช่งานอื่นใด แต่เป็นการจ้างคนอินเดียเพื่อเป็นคอลเซ็นเตอร์ในการตอบคำถามลูกค้า ซึ่งในตอนแรกก็เป็นไปแบบถูกกฎหมาย
ซึ่งการจ้างงานคนอินเดียเพื่อตอบคำถามทางโทรศัพท์ ก็ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ แก๊งมิจฉาชีพมองเห็นโอกาสในการจะตั้งคอลเซ็นเตอร์ที่ผิดกฎหมายขึ้นมา เพราะ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกความแตกต่างระหว่าง ที่ตั้งของคอลเซ็นเตอร์ที่ถูกกฎหมาย และ คอลเซ็นเตอร์ที่เป็นมิจฉาชีพในอินเดีย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการปราบปรามเกิดขึ้นเลย ที่จริงแล้ว ตำรวจอินเดียรวมถึงบริษัทและหน่วยงานในสหรัฐ ก็พยายามที่จะจัดการกับปัญหาคอลเซ็นเตอร์ที่คอยโทรไปหลอกเงินผู้คน อย่างไรก็ดี แรงจูงใจจากผลตอบแทนที่ได้รับ ก็ยังทำให้มีคนอยากเข้ามาลิ้มลองกับความเสี่ยงนี้อยู่เรื่อยๆ
มีประโยคหนึ่งที่คุณ Yudhijit สัมภาษณ์รองผู้บังคับบัญชาการตำรวจของ Kolkata ย้ำให้เห็นว่าความพยายามที่กำลังทำอยู่อาจจะยังไม่พอ เมื่อเขาบอกว่า
สิ่งที่แย่สุดของอาชญากรรมประเภทนี้ คือ
มันกำลังกลายเป็นกระแสในหมู่คนมากขึ้น
(The worst thing about this crime is that it’s becoming trendy)
คุณ Yudhijit ยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์ชายคนที่ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพด้วย และ ก็ทำให้เราเห็นว่า คนที่ทำอาชีพเหล่านี้กำลังมองว่า อาชีพที่ทำคือทางเลือกสู่ชีวิตที่ดีขึ้น
มีชายคนหนึ่งที่เธอสัมภาษณ์ เคยทำงานสุจริตในบริษัทยาแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือนละ 25 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเขาเข้ามาทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เขากลับได้รับเงินประมาณ 50 – 150 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับว่า เขาหลอกเงินคนได้เท่าไร แต่ตัวเองดังกล่าวไม่ใช่สำหรับทั้งเดือน แต่เป็นรายได้ของคืนเดียวต่างหาก
ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้จะไม่รู้สึกผิดเลยที่ไปโกงเงินคนอื่นมา แต่สุดท้ายการจะคิดถึงชีวิคใครสักคนที่อยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก ก็ยากกว่าการคำนึงถึงความลำบากของครอบครัวตัวเอง ที่ถ้าเขาไม่เลือกทำอาชีพนี้แล้ว ก็อาจจะไม่สามารถหางานที่มีเงินเพียงพอไขว่คว้าคุณภาพชีวิตที่ดี ดังที่เรารู้กันว่า อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก โอกาสก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับประชากรทุกคน
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน ก็คือ การบังคับฟ้องคดี ที่ต้องมีเจ้าทุกข์ร้องเรียนมาก่อนเท่านั้น ตำรวจถึงจะไปทลายกลุ่มแก๊งพวกนี้ได้ และเจ้าทุกข์เหล่านั้นก็ดันอยู่ไปอีกซีกโลก โดยมีครั้งที่ตำรวจพยายามจะเข้าไปจัดการทลายแก๊งด้วยตัวเองโดยไม่มีเจ้าทุกข์ สุดท้ายคดีก็ถูกยกฟ้อง
การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาซับซ้อนกว่าที่คิด แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่ผิด แต่เราก็อาจจะไม่กล้ายืนยันเช่นกันว่า ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นเขา เราจะเลือกทางเดินที่ผิดหรือเปล่า
และเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นอีกครั้งว่า หลายครั้งวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนยิ่งกว่า ก็อาจจะเป็นการที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั้งโลกขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นนั่นเอง..
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา