23 มี.ค. 2022 เวลา 11:27 • การเมือง
การสร้างสันติภาพจะสามารถแก้ไขปัญหามากน้อยแค่ไหน
3
Sejauh Mana Usaha Perdamaian Dapat Menyelesaikan Masalah
********************
วารสาร Surat ฉบับที่ 84 มีนาคม 2022 (หน้าที่ 6)
แปลโดย : Shintaro Hara
ปาตานีเป็นรัฐแห่งหนึ่งที่มีอธิปไตยและได้รับฉายาว่าเป็นระเบียงแห่งเมกกะ ในสมัยรุ่งโรจน์นั้นเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อปี ค.ศ. 1785 (พ.ศ. 2328) ในสมัยรัชกาลที่ 1 สยามได้ยึดครองปาตานีและอำนาจการปกครองของกลันตัน เคดาห์และตรังกานูให้เป็นประเทศราช (tributary state) ที่ต้องส่งดอกไม้ทองเป็นเครื่องบรรณาการ
.
ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1789-1791 (พ.ศ. 2332-2335) การต่อต้านต่อการปกครองของสยามเกิดขึ้นหลายครั้งในปาตานี จนถึงในที่สุดปาตานีก็ถูกแบ่งออกเป็นหัวเมืองขนาดเล็ก 7 หัวเมือง ได้แก่ ปัตตานี สายบุรี (ตะลูบัน) หนองจิก ยะหริ่ง ยาลอ รามันและระแงะ เพื่อทำให้กำลังของคนมลายูอ่อนแอลงตามนโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง“ (divide and rule)
.
ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) ราชอาณาจักรมลายูถูกยกเลิก และรัฐบาลสยามดำเนินระบบเทศาภิบาลและนำนโยบายผสมกลมกลืนให้ชาวมลายูเป็นคนไทย ในปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) หลังจากการลงนามในสัญญากรุงเทพฯ (Angro-Siamese Treaty) ปาตานีตกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยาม (ประเทศไทยในปัจจุบัน) โดยไม่ได้รับการยินยอมจากประชาชนชาวมลายูในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนปาตานีรู้สึกไม่สบายใจจนถึงบัดนี้ และความไม่พอใจก็ไม่อาจจะหายไปจนถึงปาตานีบรรลุเอกราช
.
แท้จริงแล้ว ชาติมลายูปาตานี ตั้งแต่ตกในมือของสยามจนถึงวันนี้ ไม่เคยรู้สึกปลอดภัยและสงบสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีความขัดแย้งยังดำเนินอยู่ กองทัพไทยและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยดำเนินปฏิบัติการทางทหารอย่างโหดร้ายและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับมาตั้งแต่เกิดก็ตาม โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา สีผิว เพศ อายุหรืออาชีพ
ข้อที่ 4.1 ของกฎบัตรสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Charter) ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2551) ระบุว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างสันติเพื่อพัฒนาศักยภาพทุกอย่างของตน ทั้งทางด้านร่างกาย ปัญญา จริยธรรมและวิญญาณ โดยไม่เป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ (All persons have the right to live in peace so that they can fully develop all their capacities, physical, intellectual, moral and spiritual, without being the target of any kind of violence)
.
ความเดือนร้อนที่ประชาชนปาตานีกำลังประสบอยู่ในทุกวันนี้มีสองแบบ ได้แก่
1. การละเมิดสิทธิมนุษยชน และ
2. การปกครองที่ไม่เป็นธรรมหรือระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการและไม่เป็นประชาธิปไตย จึงทำให้คนปาตานีไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการปกครองและการบริหารจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
.
ความขัดแย้งอันยืดยาวนั้นทำให้ชาวมลายูมุสลิมปาตานีเป็นเหยื่อของการกล่าวหาเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ฝ่ายรัฐประกาศการบังคับใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่กฎอัยการศึกยังอำนวยอำนาจเบ็ดเสร็จแก่ฝ่ายความมั่นคง โดยฝ่ายความมั่นคงสามารถควบคุมผู้ต้องสงสัยเป็นเวลา 7 วัน ในส่วนของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไม่เกิน 30 วัน ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลาทั้งหมด 37 วันโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับตาม ป.วิ. อาญาจากศาล
ส่วนผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวก็ไม่มีสิทธิที่จะเจอกับทนายความหรือนักปกป้องสิทธิ และเจอกับครอบครัว นอกจากนี้ยังมีคำร้องเรียนจากผู้ที่เป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในช่วงที่ถูกควบคุมตัวที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ (ทหารและตำรวจ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ต้องสงสัยและก่อให้เกิดความเสียหายในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตในสังคม และการคุกคามความปลอดภัย ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายพิเศษก็เปิดโอกาสให้แก่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั่นเอง
.
(สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมี) การปกครองตนเองอย่างเป็นประชาธิปไตยโดยมีการเลือกตั้งสำหรับสภาปกครองท้องถิ่นตามครรลองประชาธิปไตย ที่สามารถแก้ไขปัญหาทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง เพราะคนในพื้นที่มีความเข้าใจต่อสภาพปัญหาและความต้องการของประชาคมปาตานีอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ ความมั่นคง ฯลฯ
.
ความพยายามในการสร้างสันติภาพจำเป็นต้องเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง แต่หากประเด็นสำคัญนี้ไม่ได้รับความสนใจ ปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ และสันติภาพก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นที่ปาตานี
.
.
หมายเหตุ : แปลจาก วารสาร Surat ฉบับที่ 84 มีนาคม 2022 (หน้าที่ 6) โดยชินทาโร่ ฮาร่า ซึ่งทาง The Motive เล็งเห็นถึงประโยชน์จากบทความดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพปาตานีจากมุมมองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ และได้รับอนุญาตการแปลความจากกองบรรณาธิการของวารสาร SURAT ซึ่งเป็นวารสารภาษามลายู (รูมี-ยาวี) ที่เผยแพร่อยู่ในต่างประเทศและพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในรูปของไฟล์พีดีเอฟ ในลักษณะของการส่งต่อในอีเมลล์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีในปัจจุบัน
.
#TheMotive
#รากเหง้าปัญหาปาตานี
#กระบวนการสันติภาพ
#Surat
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
โฆษณา