23 มี.ค. 2022 เวลา 13:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปรัชญาการลงทุนของผม (My Investment Philosophy)
"ผมขอถอนตัวได้มั๊ยครับ" เป็นคำถามจากลูกชายของผม ที่ไม่อยากลงแข่งว่ายน้ำในงานกีฬาสีของโรงเรียน ผมไม่มีคำตอบให้เขา แต่ถามกลับไปว่าทำไมจึงอยากถอนตัว เขาตอบตามภาษาเด็กว่า ไม่อยากทำและไม่มั่นใจ
หลังจากได้ยินคำตอบแล้ว ผมบอกเขาไปว่า เขาสามารถถอนตัวได้นะ เพราะเป็นสิทธิของเขา แต่อยากให้เขาลองดู เพราะที่ผ่านมาตอนผมไปดูเขาเรียนว่ายน้ำ ก็ดูมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก
เขากลับไปนั่งคิด แล้วก็ไม่ได้ไปขอถอนตัวกลับครู วันแข่งรู้สึกเกร็งและประหม่า แต่ในท้ายที่สุด เขาก็ทำผลงานออกมาได้ดีจนตัวเองรู้สึกแปลกใจและดีใจมาก วันนั้นเขากลับมาบอกผมว่า ปีหน้าผมจะลงแข่งอีก
"ผมขายหุ้นออกแล้วไปถือเงินสดแทนดีมั๊ย" เพื่อนสนิทชาวเวียดนามถามผมระหว่างผมปั่นจักรยานในโรงยิม ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ตลาดมีการปรับตัวลงมาอย่างหนักมาก
ผมตอบเพื่อนผมไปว่า นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาขายหุ้น แต่เป็นช่วงเวลาที่เข้าซื้อหุ้นมากกว่า แต่เพราะผมรู้ว่าเพื่อนผมคนนี้ไม่ชอบเสี่ยง ผมจึงแนะนำให้ถือหุ้นเอาไว้เหมือนเดิม เพราะเขาลงทุนระยะยาวและลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนดัชนีอยู่แล้ว และมีการเติมเงินเข้าไปทุกเดือนโดยอัตโนมัติ เพราะนี่เป็นพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเขา
ผ่านมาอีก 1 เดือน ตลาดเริ่มฟื้นตัว แม้จะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ถ้า switch ออกไปตอนนั้นก็คงเสียดายไม่ใช่น้อย
การถอนตัวออกไปในช่วงวิกฤติมักไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก สำหรับการลงทุนก็เช่นกัน
ในยามที่ตลาดผันผวนอย่างหนัก เหมือนในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่จะทำให้เราฝ่าฟันพ้นวิกฤติไปได้ อยู่ที่ความมั่นคงในปรัชญาการลงทุนของเรามากแค่ไหน
สำหรับผม ปรัชญาการลงทุนของผมคือการลงทุนในบริษัทที่ดีมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว ผมเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า Grade A Company
ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ ผมก็ไม่เคยคิดที่จะขาย นอกเสียจากว่า ผมคิดผิด หรือ สัดส่วนของบริษัทนั้นในพอร์ตสูงเกินไปจนต้องลดสัดส่วนลง
ผมมองการลงทุนของผม เหมือนการสะสมสแตมป์ กล่าวคือ หาบริษัทเกรด A หรือมีศักยภาพที่จะกลายเป็นบริษัทเกรด A หลายๆบริษัท แล้วถือกระจายเก็บสะสมไว้ ปล่อยให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ศักยภาพของบริษัท
การวิเคราะห์มูลค่าหุ้นของผมจะใช้ DCF เป็นหลักเพื่อหาจุดเหมาะสมในการเข้าลงทุนระยะยาว เพราะเป็นการบังคับให้เรามองพื้นฐานของกิจการทั้งหมด เราต้องมีความเข้าใจในกิจการเป็นอย่างดีจึงจะสามารถสร้าง DCF model ที่สมเหตุสมผลขึ้นมาได้ พูดง่ายๆคือ แต่ละตัวเลขที่เราใช้ใน DCF เราต้องตอบตัวเองได้ว่า ทำไมถึงใช้ค่านี้
เมื่อเราถูกบังคับให้มองพื้นฐานของกิจการ เวลาส่วนใหญ่ที่เราใช้ไปจะอยู่ที่การศึกษาพื้นฐานของกิจการ เช่น business model, สภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม, competitive advantage เป็นต้น ซึ่งเปรียบไปก็เหมือนกับการจะไปว่ายน้ำหรือไปวิ่งแข่ง ที่เราต้องซ้อมอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการลงทุน การซ้อมอย่างสม่ำเสมอคือการหาความรู้เพิ่มเติมในกิจการที่เราลงทุนหรือสนใจจะลงทุนนั่นเอง
ท้ายสุด นักลงทุนแต่ละท่านจะมีวิธีการลงทุนที่เฉพาะและเหมาะกับตัวเอง สำหรับผม ผมคิดว่า วิธีที่ผมเขียนไว้ข้างต้นเหมาะกับชีวิตของผม ไม่ว่าจะเป็นการมีเวลาสำหรับครอบครัว เวลาสำหรับการดูแลสุขภาพตนเอง และเวลาที่ได้ไปทำงานในสิ่งที่เราสนใจและอยากทำครับ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ
โฆษณา