24 มี.ค. 2022 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์
พลังงานมีค่า ใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น ลดค่าใช้จ่ายได้นะ
12 วิธีประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่ายจากการใช้เตาหุงต้ม
ในวันที่ 1 เมษายน 2565 ราคาก๊าซหุงต้ม LPG กำลังจะเริ่มถูกปรับขึ้นแบบขั้นบันได ในอัตรากิโลกรัมละ 1 บาท 3 ครั้ง โดยราคาก๊าซหุงต้ม LPG จะเพิ่มจากถัง 15 กก. เดือนละ 15 บาท จากถังละ 318 บาท เป็น 333 บาทในเดือนเมษายน 348 บาทในครั้งที่ 2 และจะขึ้นไปถึง 363 บาทภายในปีนี้
ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2565 จะถูกปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร FT จากเดิมที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงแตะ 4 บาทต่อหน่วยกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งในส่วนของราคาก๊าซหุงต้มและค่า FT ที่ถูกปรับขึ้นนั้นเป็นผลกระทบมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ในวันที่ราคาพลังงาน ข้าวของเครื่องใช้ ค่าอาหาร ต่างทะยอยกันถีบตัวสูงขึ้น การทำกับข้าวทานกันเองในบ้านจะช่วยเซฟเงินในกระเป๋าได้เป็นอย่างมาก วันนี้ Lucky Flame จึงรวบรวมเคล็ดลับง่ายๆ 12 ข้อ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานประหยัดค่าใช้จ่ายยิ่งขึ้น ในการทำอาหารทานเองด้วยเตาหุงต้ม ไม่ว่าจะเป็น เตาแก๊ส หรือ เตาไฟฟ้า ก็ตาม
วิธีประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายจากการใช้เตาหุงต้ม
1) เลือกใช้เตาหุงต้มที่มีฉลากเบอร์ 5 มั่นใจได้ว่าประหยัดแน่นอน
เดี๋ยวนี้ เตาแก๊สก็มีเบอร์ 5 กันแล้วนะครับ การเลือกใช้เตาแก๊สที่มีเบอร์ 5 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเชิงความร้อน หรือหมายถึงว่าปริมาณแก๊สที่เท่ากัน ได้ความร้อนที่สูงขึ้นนั่นเอง โดยเตาแก๊สแรงดันต่ำที่ใช้กันในครัวเรือน ถ้ามีเบอร์ 5 จะให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเตาทั่วไปในท้องตลาด 10%-20% ขึ้นไปกันเลยทีเดียว
ในส่วนของเตาไฟฟ้า เช่นเดียวกัน เตาแม่เหล็กไฟฟ้าก็มีเบอร์ 5 แล้วนะครับ โดยเตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีเบอร์ 5 จะให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า 85% ซึ่งกินไฟแค่ชั่วโมงละ 5-7 บาท ที่ไฟแรงสุดเท่านั้นเอง
2) วางแผนการประกอบอาหารเป็นลำดับขั้นตอนก่อนเริ่มใช้เตา
การวางแผนการทำอาหารเป็นลำดับขั้นตอน และการเตรียมส่วนประกอบไว้พร้อมปรุงทันที จะช่วยลดเวลาสูญเปล่า ร่นระยะเวลาในการปรุงอาหารได้เป็นอย่างมาก
รู้หรือไม่ ว่าการลดช่วงเวลาสูญเปล่าขณะทำอาหาร อาจช่วยให้ประหยัดแก๊สได้มากถึงเดือนละ 1/20 ของถัง 15กก. กันเลยทีเดียว
3) นำอาหารแช่แข็งไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาหรือในอุณหภูมิห้องก่อนนำมาประกอบอาหาร
การนำอาหารแช่แข็งออกมาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้คลายความเย็นโดยธรรมชาติก่อนนำมาปรุงอาหาร จะช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการทำให้สุกได้ส่วนหนึ่ง
4) ควรใช้ขนาดของภาชนะที่เหมาะสมกับปริมาณอาหารที่ทำ
ไม่ควรภาชนะที่ใหญ่เกินปริมาณอาหาร หรือการตวงน้ำใส่หม้อที่ปริมาณเยอะเกินไป เนื่องจากมีความร้อนส่วนหนึ่งเสียไปกับภาชนะหรือน้ำส่วนที่ไม่ได้ใช้จริง
5) ไม่เปิดเตาทิ้งไว้ระหว่างเตรียมอาหาร
การเปิดเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้าทิ้งไว้ โดยที่ไม่ได้ใช้งาน ถือเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น
คำเตือน การเปิดเตาแก๊สทิ้งไว้โดยที่ไม่มีภาชนะคั่นกลาง อาจทำให้เครื่องดูดควันเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้
6) กรณีใช้เตาแก๊ส ควรเลือกขนาดหัวเตาที่เหมาะสมกับภาชนะ
ไม่ควรใช้ภาชนะก้นเล็กกับหัวเตาขนาดใหญ่ หากจำเป็นควรปรับไฟให้พอดีก้นภาชนะ ไม่ล้นก้นภาชนะออกไปลอยๆ เพราะสิ้นเปลืองแก๊สโดยใช่เหตุ และอาจก่อความเสียหายกับเครื่องดูดควันได้
7) ควรเลือกประเภทหัวเตาแก๊สให้เข้ากับการใช้งาน
ถ้าเน้นการต้ม นึ่ง ตุ๋น การเลือกใช้หัวอินฟาเรดจะประหยัดแก๊สมากกว่าแบบหัวทองเหลืองถึง 40% เลยทีเดียว
8) หมั่นสังเกตเปลวไฟจากเตาแก๊สอยู่ตลอด
ถ้าเปลวไฟเป็นสีน้ำเงินนิ่งๆ หมายถึง ระดับส่วนผสมของแก๊สพอดีกับอากาศ ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ให้ความร้อนสูงสุด และไม่มีเขม่าดำติดก้นหม้อให้รำคาญใจอีกด้วยวิธีแก้ไขเปลวไฟแดง ไฟลอย มีเขม่า
9) ทำความสะอาดหัวเตาแก๊สเป็นประจำ
หากไม่มีการทำความสะอาดหัวเตาแก๊สเป็นระยะๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาทางเดินก๊าซอุดตัน การเผาไหม้จะไม่สมบูรณ์ ประสิทธิภาพลดลง เกิดเขม่าและเปลวไฟผิดปกติจนอาจทำให้เตาเสียหายได้
10) กรณีใช้เตาไฟฟ้า ควรใช้ภาชนะก้นแบนที่พอดีกับเตาและใช้ภาชนะที่มีเนื้อโลหะรับความร้อนได้ดี
เนื่องจากเตาไฟฟ้าไม่สามารถแผ่ความร้อนผ่านอากาศได้เหมือนเตาแก๊ส แต่เป็นการนำความร้อนผ่านพื้นผิวสัมผัส (เตาเซรามิค) หรือการเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนที่ก้นภาชนะ (เตาแม่เหล็กไฟฟ้า) เราจึงควรเลือกใช้ภาชนะที่ก้นแบน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุดจากพื้นที่ผิวสัมพัสกับเตามากที่สุดนั่นเอง นอกจากนี้วัสดุที่เป็นโลหะจะนำความร้อนได้ดีกว่าภาชนะชนิดอื่นๆ ช่วยลดความร้อนสูญเสียได้เป็นอย่างดี
11) เลือกใช้เตาไฟฟ้าชนิดแม่เหล็กไฟฟ้าหรืออินดักชั่น
เตาแม่เหล็กไฟฟ้าจะมองไม่เห็นขดลวดความร้อน ให้ประสิทธิภาพการทำความร้อนที่สูงมากเทียบกับเตาเซรามิค เนื่องจากไม่มีความร้อนสูญเปล่าภายในเตาและหน้ากระจกสูงมากนัก โดยเตาแม่เหล็กไฟฟ้าเบอร์ 5 จะให้ประสิทธิภาพการทำความร้อนสูงถึง 85% ขึ้นไปเลยทีเดียว ในขณะที่เตาเซรามิคหรือขดลวดความร้อนจะมีประสิทธิภาพได้เพียง 50%-75% เท่านั้นเอง
12) ก่อนประกอบอาหารเสร็จ สามารถปิดสวิตช์เตาไฟฟ้า แล้วใช้ความร้อนที่สะสมอยู่แทนได้
เนื่องจากโลหะนำความร้อนได้ดี ก็สามารถเก็บความร้อนได้ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นภาชนะโลหะที่ใช้ร่วมกับเตาไฟฟ้านั้นจะคงความร้อนต่อไปได้หลังจากปิดเตาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพื่อประหยัดพลังงานได้อีกส่วนหนึ่งอีกด้วย
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก www.luckyflame.co.th
โฆษณา