24 มี.ค. 2022 เวลา 02:02 • ประวัติศาสตร์
“ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria)” คลังความรู้ที่มลายไปในกองเพลิง
“ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria)” เป็นหนึ่งในคลังที่เก็บความรู้ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และศิลปะที่โด่งดังในโลกโบราณ ก่อตั้งขึ้นโดยราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemaic Dynasty)
เริ่มตั้งแต่สมัย “ฟาโรห์ปโตเลมีที่ 1 โซเตอร์ (Ptolemy I Soter)” นครอียิปต์ก็ได้ทุ่มเทให้แก่การแสวงหาความรู้และศิลปะ โดยพระประมุขหลายพระองค์ นักปราชญ์และบัณฑิตอีกหลายคน ก็ได้ทุ่มเททั้งเงินและกำลังเพื่อเก็บรักษาความรู้ต่างๆ ไว้ในห้องสมุดแห่งนี้
ฟาโรห์ปโตเลมีที่ 1 โซเตอร์ (Ptolemy I Soter)
ในช่วงรุ่งเรือง สถานที่แห่งนี้ยิ่งใหญ่มาก ดังนั้น เมื่อห้องสมุดแห่งนี้ถูกทำลาย หลายคนจึงมองว่านี่คือโศกนาฏกรรมสำหรับมนุษย์เลยทีเดียว
แต่คำถามที่ว่า “จำนวนความรู้ที่ถูกทำลายไปพร้อมกับห้องสมุดมีมากขนาดไหน?” “ใครเป็นผู้ทำลาย?”
เราลองมาหาคำตอบกันครับ
ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 1 โซเตอร์ (Ptolemy I Soter) และเปิดดำเนินการเมื่อราว 260 ปีก่อนคริสตกาล
ถึงแม้ในเวลาต่อมา อเล็กซานเดรียจะผ่านเหตุการณ์มากมาย ทั้งร้ายและดี แต่ห้องสมุดแห่งนี้ก็ยังคงอยู่อย่างมั่นคง
ในเวลาต่อมา ห้องสมุดแห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนมือมาสู่อาณาจักรโรมัน และถูกส่งต่อมาอีกเรื่อยๆ ก่อนจะพบกับจุดจบในปีค.ศ.642 (พ.ศ.1185)
หลายคนอาจจะทราบว่าห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียนั้นล่มสลายจากเหตุไฟไหม้ หากแต่อันที่จริง ห้องสมุดแห่งนี้เคยผ่านเหตุการณ์ไฟไหม้มาแล้วถึงสองครั้ง
1
ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นจากฝีมือของ “จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)” แม่ทัพโรมัน ที่ในเวลานั้นกำลังเผชิญกับสงคราม และหาทางออกจากเมืองซึ่งถูกปิดล้อม
1
ซีซาร์สั่งให้วางเพลิงท่าเรือและขวางทางน้ำ หากแต่ไฟที่ไหม้ได้ลามมาถึงห้องสมุดอย่างรวดเร็ว
จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)
มีบันทึกว่ามีการคาดการณ์ว่าความเสียหายนั้น ทำให้ม้วนหนังสือเสียหายนับพัน
ครั้งที่สอง เกิดขึ้นในปีค.ศ.642 (พ.ศ.1185) ในเหตุการณ์การรุกรานของมุสลิมในอียิปต์ (Muslim Conquest of Egypt)
1
ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าในเวลานั้น มีม้วนหนังสือถูกเก็บรักษาไว้เป็นจำนวนเท่าไร เนื่องจากอเล็กซานเดรียก็ผ่านเหตุการณ์หลายๆ อย่างมานาน และม้วนหนังสือจำนวนมากก็น่าจะถูกเคลื่อนย้ายหรือขายให้แก่เมืองอื่นๆ ไปแล้ว แต่เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งที่สองนี้ ก็ได้ทำให้ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียต้องถึงจุดจบ
มีการประเมินว่าจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งแรก ได้ทำให้ม้วนหนังสือที่ถูกเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียเสียหายไปกว่า 40,000 ม้วน แต่บางแห่งก็บอกว่าจำนวนน่าจะสูงกว่านี้
นอกจากนั้น ยังมีข่าวลือว่าศัตรูของซีซาร์ได้นำส่งม้วนหนังสือส่วนตัวมาทางเรือเพื่อเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย
ข่าวลืออีกอย่างก็คือ “มาร์ค แอนโทนี (Marc Anthony)” และ “คลีโอพัตรา (Cleopatra)” ได้แอบเก็บม้วนหนังสือที่แอบนำออกมาจากอิตาลีกว่า 20,000 ม้วนไว้ยังห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อมีการประเมินรวมๆ โดยดูจากระยะเวลาที่ผ่านมานานหลายศตวรรษ และจำนวนหนังสือที่น่าจะเพิ่มขึ้น เท่ากับจำนวนหนังสือที่เสียหายก็น่าจะมีมากกว่า 500,000 เล่มแล้ว
1
ม้วนหนังสือบางม้วนก็เป็นหนังสือต้นฉบับ ในขณะที่บางม้วนก็เป็นฉบับที่คัดลอกมาจากเล่มอื่น และต่างก็ถูกทำลายไปจนหมด
ส่วนตัวเลขที่แน่นอนว่าม้วนหนังสือที่เสียหายไปมีจำนวนเท่าไร ก็ล้วนแต่เป็นการคาดเดา เนื่องจากบันทึกทุกอย่างในห้องสมุดล้วนแต่ถูกทำลายจนหมด
ชาวคริสต์ในยุคกลางมักจะโทษชาวมุสลิมว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียต้องถึงจุดจบ
หากแต่อันที่จริง ถึงแม้กองทัพมุสลิมจะเป็นผู้ที่ทำลายห้องสมุดนี้ หากแต่ในเวลานั้น ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียก็เริ่มจะไม่เป็นที่ตื่นตาตื่นใจดังแต่ก่อน
ความสำคัญของห้องสมุดแห่งนี้ได้ลดลง เงินทุนที่ใช้สนับสนุนก็ไม่ได้เยอะเท่าแต่ก่อน
1
แต่อย่างไรก็ตาม ห้องสมุดแห่งนี้ก็เป็นห้องสมุดที่สำคัญในประวัติศาสตร์ และอยู่มานานเกือบพันปี อีกทั้งเป็นขุมความรู้ที่สำคัญแห่งโลกยุคโบราณ
โฆษณา